วัยเด็กของหลายคนอาจเคยมีโลกในจินตนาการที่เต็มไปด้วยแฟนตาซี ความฝัน ความสนุกสนาน จนเมื่อชีวิตย่างเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โลกใบนั้นกลับค่อยๆ ถูกแทนที่ด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบอันหนักอึ้ง ทำให้เผลอลืมความสนุกในวัยละอ่อนไปเสียง่ายๆ แต่สำหรับ ‘ปอม’ – สุวรรณวิชัย เสียงสุวรรณ นักวาดภาพประกอบเจ้าของนามปากกา 3land แม้จะผ่านการทำงานด้านศิลปะมากว่า 9 ปี แต่เขาก็ยังคงสนุกกับการถอดโลกในจินตนาการออกมาเป็นคาแร็กเตอร์สุดจี๊ดในสีสันสดใส จนสไตล์ของเขาไปเตะตาแบรนด์ดังระดับโลก และเกิดเป็นโปรเจ็กต์คอลแลบสนุกๆ มากมาย
ตอนเห็นรูปที่คุณวาดครั้งแรก เรารู้สึกว่ามันมีพลังงานความสนุกแผ่ออกมาเยอะมาก พลังนี้มีที่มาจากไหนและเกิดขึ้นได้อย่างไร
ตอนเด็กๆ ผมชอบเล่นเกมบอยของนินเทนโด ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่พอเล่นมากๆ ที่บ้านก็ไม่ค่อยชอบ ถึงขั้นห้ามไม่ให้เล่น พอไม่รู้จะทำอะไรก็เลยวาดรูปขึ้นมาเป็นเกมแทน จากเกมบอยก็เริ่มหันมาเล่นเกมในกระดาษที่ตัวเองวาด แล้วก็เริ่มสนุกขึ้นจนทำมาเรื่อยๆ ตั้งแต่ประถม มัธยม จนโต
ตอนนี้เวลาทำงานมันเลยเหมือนผมเล่นเกมตลอดเวลา เพราะมันสนุก พี่โลเลเคยบอกว่างานศิลปะของเขาเหมือนอาหารที่อร่อยจนต้องกินเรื่อยๆ ไม่อยากหยุด แต่สำหรับผม งานศิลปะของผมมันเหมือนเกมที่ทำให้อยากเล่นกับมันตลอดเวลา มีการสร้างตัวคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ ทีนี้พอคาแร็กเตอร์มันเยอะจนไม่รู้จะเอาไปไว้ที่ไหน ผมจึงสร้างโลกๆ หนึ่งขึ้นมาชื่อว่า 3land เป็นโลกที่ผมเก็บงานศิลปะของตัวเองไว้ทั้งหมด และเนื่องจากผมเป็นคนไม่ค่อยวาดคาแร็กเตอร์เดิมซ้ำๆ ผมจึงสนุกกับการสร้างโลกใบนี้มาก
ข้างในโลก 3land มีอะไร และตอนนี้มีจำนวนประชากรกี่คนแล้ว
3land ไปคล้องกับคำภาษาไทยคือ ไตรภูมิ ไตรคือเลข 3 ส่วนภูมิคือ Land เป็นอีกมิติหนึ่งซึ่งเป็นดินแดนในจินตนาการของผม ส่วนประชากรตอนนี้ก็มีอยู่หลายพันคนแล้ว และยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (ยิ้ม)
3land เหมือนโลกในจินตนาการที่คนส่วนใหญ่มีตอนเด็กๆ หรือเปล่า
ใช่ ผมเคยอ่านเจอในหนังสือว่า พอโตขึ้น เราจะไม่ค่อยจริงจังกับการเล่นเหมือนเด็กๆ แล้ว ไม่ค่อยตื่นเช้าขึ้นมาเล่น ไม่ค่อยสนุกกับสิ่งรอบตัวเหมือนตอนเด็ก ซึ่งตรงนี้มันเกี่ยวกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนไป อย่างตอนเด็กๆ เราจะชอบอยู่กับโลกของเรา จับรถของเล่นมาบินได้ จับโมเดลตัวนั้นตัวนี้มาต่อสู้กัน มันสนุกมาก ความคิดเรามันเปิดไปได้ทุกอย่างแบบไม่มีขีดจำกัดเลย แต่พอโตมาเราส่วนใหญ่เป็นแบบนั้นกันไม่ได้แล้ว ซึ่งผมก็ไม่แน่ใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น ในขณะที่ผมเองมองว่าตัวเองยังเป็นอย่างนั้นอยู่ตลอดเวลา ผมเห็นตัวเองตอนแก่ อีก 10 หรือ 20 ปี ผมก็คงเป็นคนที่สนุกกับความคิดตัวเองอยู่
คำที่เราเห็นบ่อยมากในงานของคุณคือ Adventure ทำไมถึงให้ความสำคัญกับการผจญภัยนัก
เหมือนเราได้ผจญภัยอยู่ในดินแดนที่เราสร้าง ได้เดินไปเห็นตัวการ์ตูนตัวนี้ตัวนั้นแล้วเกิดความคิดว่า ‘เฮ้ย ตัวนี้เท่ดี ตัวนี้ตลกว่ะ’ บางทีเราวาดเองขำเองก็มีเหมือนกันแบบ ‘เฮ้ยเพี้ยน ติ๊งต๊องดีว่ะ’ ทำให้เราปรับอารมณ์ตัวเองได้เลย หรือบางทีเรากินลูกชิ้นแล้วก็ปิ๊งคิดมาว่า เฮ้ย ลูกชิ้นมันเป็นคาแร็กเตอร์ได้นะ แค่เอาขามาใส่ก็เป็นได้แล้ว การวาดภาพของเรามันจึงเป็นเหมือนการผจญภัยในรูปแบบหนึ่ง
การสร้างคาแร็กเตอร์แต่ละตัวของคุณได้รับแรงจูงใจมาจากอารมณ์ภายในหรือเหตุการณ์ภายนอกมากกว่ากัน
ผมเป็นคนที่เริ่มทำงานศิลปะแบบ abstract มาก่อน คาแร็กเตอร์ของผมมันเลยบิดได้ทุกอย่าง (หยิบสมุดสเก็ตช์มาเปิดให้เราดู) เช่น เวลาผมสร้างคาแร็กเตอร์ขึ้นมาสักตัว มันจะไม่สามารถมาจากฟอร์มเก่าๆ ที่เคยมีได้ เพราะผมอยากทำให้มัน abstract ที่สุด แล้วพอวาดไปเรื่อยๆ มันเหมือนนักดนตรีที่อิมโพรไวส์ไปสักพักจนรู้สึกว่า นี่แหละเป็นเมโลดี้ที่เหมาะสม ผมก็อิมโพรไวส์จนเจอคาแร็กเตอร์ที่เหมาะสมเหมือนกัน
บางครั้งมันก็เกิดจากเหตุการณ์ภายนอกด้วย แต่ผมไม่ค่อยใช้อารมณ์หรือคอนเซ็ปต์ในการทำงานเท่าไหร่ ผมคิดว่าตัวเองเหมือนเด็กที่กางสมุดวาดรูปและสร้างคาแร็กเตอร์เล่นไปเรื่อยๆ แต่ละตัวเริ่มจากการอิมโพรไวส์ทั้งหมด โดยที่ไม่ต้องสเก็ตช์หรือร่างอะไรมาก เหมือนมีแค่ฟอร์มอยู่ในหัวว่า ตาเป็นแบบนี้ จมูก ปาก เป็นแบบนี้ แล้วค่อยๆ เอามันมาประกอบกัน
แต่เมื่อวาดรูปเป็นอาชีพ อาจมีทั้งคนที่เข้าใจและไม่เข้าใจคาแรกเตอร์ที่คุณวาด แล้วคุณเองแคร์การรับรู้ของคนภายนอกมากแค่ไหน
ผมไม่เคยถามคนอื่นเลยว่ามองงานผมยังไง ผมเองก็อาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำมั้ง อย่างพี่ต๊อด เสลดทอย เราก็จะคิดถึงรูปจู๋เป็นอย่างแรก ถ้าพี่โลเลก็จะเห็นเป็นเส้นๆ แต่สำหรับผม ผมไม่รู้เหมือนกันว่าคนอื่นเห็นเป็นยังไง อาจจะเป็นคาแร็กเตอร์เยอะๆ เป็นบ้านเมือง ประมาณนั้น จริงๆ แล้วผมคิดว่าเราไม่จำเป็นต้องพยายามสร้างสไตล์ให้คนจดจำขนาดนั้น ชื่อเสียงหรือการเป็นที่รู้จักมันก็สำคัญถ้าจะทำเป็นอาชีพ แต่ผมคิดว่า ถ้าเราทำมันไปเรื่อยๆ ด้วยรูปแบบของเราเอง พอวันหนึ่งมันชัดเจนขึ้น มันก็กลายเป็นรูปแบบของเราที่คนจะจดจำแล้วให้คำนิยามมันเอง ส่วนตัวแล้วผมไม่ได้โฟกัสเรื่องการนิยามตัวเอง ผมโฟกัสอย่างเดียวคือทำแล้วมันสนุก
เคยมีช่วงเวลาไหนที่คุณหยุดวาดภาพบ้างไหม
ผมเคยหยุดวาดภาพไปหนึ่งปี ตอนนั้นผมไม่อยากทำแล้ว เพราะมันหาเงินไม่ได้ ทำไปก็ไม่ป๊อป คนไม่รู้จัก เหมือนรู้สึกว่างานเราอยู่ผิดที่มาตลอด เลยไปลองทำอย่างอื่นอย่างถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ แต่พอหยุดทำไปสักพักก็ เออ ช่างเถอะ มาวาดต่อดีกว่า มันไม่ไหว เพราะทำอย่างอื่นแล้วมันไม่ใช่เลย การวาดภาพยังมาวนเวียนในชีวิตผมตลอด พอกลับมาวาดวันแรกผมร้องไห้เลย วาดอะไรก็ไม่รู้ ใช้ทุกสีที่มี ละเลงใส่กระดาษเลย ซึ่งมันทำให้ผมมีความสุขมาก คิดว่าคงไม่แยกจากการวาดภาพอีกแล้ว
กลับมาวาดภาพอีกครั้งแล้วเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรไหม
รู้สึกรักงานตัวเองมากกว่าเก่า แล้วรู้ว่าเราต้องการอะไรมากที่สุดในชีวิต ก็เลยขอกับตัวเองไว้เลยว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก เคยคิดถึงขั้นคิดว่าถ้าวันหนึ่งผมมือขาดจะเป็นยังไง ตอนนี้เลยฝึกวาดภาพมือซ้ายได้แล้ว ถ้ามือขวาเจ๊งก็ใช้มือซ้ายวาดแทน หรือจะวาดพร้อมกับ 2 มือเลยก็ได้ (หัวเราะ) เพราะผมอยากสนุกกับงานไปตลอด ผมไม่รู้หรอกว่าใครเฝ้ารองานผมบ้าง เพราะทุกคนก็มีชีวิตในแบบตัวเอง ผมไม่คิดว่าตัวเองเป็นศูนย์กลางในการทำงานอาร์ตที่ใครจะต้องมาเฝ้ารอชื่นชมผลงาน เพราะฉะนั้น ถ้าผมสนุกกับมันไปเรื่อยๆ ผมก็มีความสุขกับชีวิตมากแล้ว แล้วถึงวันหนึ่งมันก็อาจจะสนุกพอที่จะเอาไปให้คนอื่นดูได้ แค่นี้เอง
แต่ก็มีข้อเสียนะ เพราะปัจจุบันนี้ผมไม่คนไม่สนุกกับอะไรอย่างอื่นแล้ว ต่อให้เล่นเกม ฟังเพลงชิลๆ หรือดูหนังก็พะวักพะวนว่าเมื่อไหร่มันจะจบ เพราะอยากไปวาดรูปมาก รู้สึกว่าเวลาผ่านไปตั้ง 2 ชั่วโมงน่าจะวาดรูปได้สักรูป (หัวเราะ) ฟังดูโอเวอร์นะ แต่ผมว่าผมเสพติดการทำงานแบบนี้ไปแล้ว พอกลับมาวาดรูปแล้วมันสบายใจ
เราเห็นคุณไปได้ร่วมงานกับแบรนด์ต่างประเทศดังๆ อย่าง Monocle, Nike และ Samsung คุณต้องปรับเปลี่ยนตัวเองบ้างหรือเปล่า
ผมโชคดีมากที่ผมแทบไม่ต้องปรับอะไรเลย เหมือนเขาเห็นงานผมเป็นแบบนี้แล้วก็ทักมาคุยด้วย ส่งโปรเจ็กต์มา และปล่อยให้ผมทำในแบบที่เป็นผมได้เลย แน่นอนว่ามีการปรับแก้บ้าง แต่ผมก็ได้อิสระมากๆ เช่นกัน
การนำศิลปะไปอยู่กับธุรกิจมันไปลดทอนคุณค่าอะไรบ้างอย่างไหม หรือจริงๆ แล้วมันไปด้วยกันได้
มันไปด้วยกันได้ อย่าง Hello Kitty เขาก็ทำคาแร็กเตอร์ขึ้นมาก่อน แล้วทำผลิตภัณฑ์ที่อิงกับคาแร็กเตอร์ทีหลัง แต่บ้านเรายังไม่มีใครมาทำตรงนี้อย่างจริงจัง เพราะอาจจะมองว่ามันขายยาก โดยส่วนตัวแล้วผมกลับรู้สึกว่า ยิ่งเอางานศิลปะไปต่อยอดอย่างถูกที่ถูกทาง ศิลปินมีส่วนร่วมหลักในการทำแบรนด์ มันยิ่งส่งเสริมและเพิ่มคุณค่าให้กันและกันเสียอีก ไม่ได้เสียหายเลย แน่นอนว่างานบางอย่างมันเอาไปคอลแลบกับทุกอย่างบนโลกไม่ได้ ศิลปินหรือแบรนด์เองก็ต้องเลือกให้เหมาะสมด้วย
ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีศิลปินเก่งๆ ตั้งเยอะ แต่ทำไมศิลปะมันยังไม่เข้ามาผสมผสานกับชีวิตประจำวันหรือการสร้างแบรนด์เท่าไหร่
เวลาไปต่างประเทศ เราจะเห็นเลยว่าศิลปะมันสอดแทรกอยู่ในทุกอย่าง มีการ์ตูนอยู่ในหลายๆ ที่ อย่างตอนไปญี่ปุ่น ผมสามารถคุยเรื่องการ์ตูนกับแม่แฟนได้อย่างสนุกสนาน ทั้งชินจัง ดราก้อนบอล เขารู้หมด โดยที่ไม่ได้จำกัดว่าการ์ตูนเป็นเรื่องของเด็กเท่านั้น เขามองเห็นการ์ตูนคาแร็กเตอร์ในทุกๆ อย่าง ซึ่งแตกต่างจากผู้ใหญ่ไทยที่อาจมองว่าการ์ตูนคือเรื่องของเด็ก เรื่องไร้สาระ
ส่วนแบรนด์ต่างๆ ในไทยก็อาจยังไม่รู้ว่าการใช้ศิลปินมาร่วมงานอย่างถูกต้องเป็นยังไง แล้วใช้ยังไงให้มีคุณค่า ไม่ใช่ใช้ให้ศิลปินรู้สึกว่าได้ตังค์เฉยๆ แล้วจบ เพราะมันเกิดความรู้สึกนี้กับเพื่อนๆ ในวงการเยอะมาก เหมือนทำงานเอาเงินอย่างเดียว แต่มันไม่ได้เพิ่มคุณค่าไปในงาน อาจจะเป็นเพราะต่างประเทศเขาทำกันมานาน แต่ในไทยมันโตช้าไปหน่อย ซึ่งก็อาจต้องเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลากันต่อไป