ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ | คุณประโยชน์ของสังคมที่มาพร้อมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในหลวง รัชกาลที่ 10

งานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 10 ที่กำลังจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 พฤษภาคมนี้ คงทำให้ประชาชนทั่วประเทศปีติสุข และได้รับความรู้ดีๆ มากมาย เพราะทั่วทั้งประเทศมีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของงานพระราชพิธี ตั้งแต่พิธีพลีกรรม การตักน้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 76 จังหวัด เพื่อนำมาเป็นน้ำสรงพระมรุธาภิเษกและน้ำอภิเษก มาจนถึงในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นโอกาสเพียงหนึ่งครั้งในชีวิตของหลายใครที่จะได้ใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ได้เป็นส่วนหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ และสักครั้งในชีวิตที่จะได้เห็นความจริงนี้ใกล้ตา

โอกาสเช่นนี้เป็นเหตุผลเดียวกันกับ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ ศาสตราภิชานประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เลือกที่จะปัดฝุ่นความรู้ รื้อตำราโบราณ มาอธิบายใหม่เพื่อดำรงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมเก็บเกี่ยวความทรงจำอันมีค่านี้ เพื่อบันทึกไว้ให้ลูกหลานสืบต่อไป

 

 

ทำไมเราต้องเรียนรู้เรื่องงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

     เพราะการที่คนเราจะมาอยู่รวมกันเป็นประเทศชาติบ้านเมืองได้นั้น ล้วนแล้วมีปัจจัยที่เป็นเครื่องปรุงแต่งให้บ้านเมืองและคนในชาติมีความมั่นใจในตัวตน รู้จักรากเหง้าของตัวเอง ก็จะเดินต่อไปข้างหน้าได้

     ยกตัวอย่างประเทศจีน ประวัติศาสตร์ชาติยาวนานกว่าพันปี ญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน ผมไม่ได้บอกว่าทั้งสองประเทศนั้นจะต้องวนเวียนอยู่แต่ประวัติศาสตร์แล้วต้องหยุดนิ่งอยู่กับที่ เขาก็สามารถก้าวเดินไปข้างหน้าได้ เขาแน่ใจในการมีตัวตนที่ชัดเจน สังเกตได้ว่า เวลาที่เราไปญี่ปุ่น เราจะรู้สึกได้ทันทีว่านี่คือญี่ปุ่น เมืองจีนก็เช่นกัน หลายอย่างยังคงโบราณ แต่หลายอย่างก็ทันสมัย รวมไปถึงวิธีคิด วิธีการสื่อสารกันเองของคนในชาติ

     เมืองไทยเองก็มีประวัติศาสตร์ที่สำคัญ และมีองค์ความรู้ดั้งเดิมที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ผมจึงมองว่า การเรียนรู้ที่จะรักษาขนบธรรมเนียมของบ้านเมืองเราเอาไว้ เป็นเรื่องที่ควรทำเพราะมีคุณประโยชน์สำหรับคนรุ่นใหม่และรุ่นหลังจากนี้

 

แสดงว่างานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในปีนี้ได้สร้างการรับรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย งานพิธีการใหญ่ขนาดนี้จึงกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคนได้ง่ายๆ

     อาจจะเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในบริบทเดิม อย่างเรื่องการให้และการรับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งหน้าที่ของสื่อสาธารณะเองก็มีข้อมูลและวิธีการสื่อสารแบบใหม่ๆ อย่างในปัจจุบันก็มีการถ่ายทอดสดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นหน้าที่ของโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรียกได้ว่าเป็นการถ่ายทอดสดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย เพราะเมื่อปี พ.ศ. 2493 ซึ่งเป็นปีที่มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในตอนนั้นประเทศไทยยังไม่มีโทรทัศน์ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้เห็นงานสำคัญ หากจะได้ชมก็คงมาดูกันตามหน้าหนังสือพิมพ์ หรือได้มีโอกาสย้อนกลับไปดูในวันที่เทคโนโลยีสมัยใหม่พร้อมแล้ว

    นี่คือการสร้างมิติใหม่ๆ แน่นอนว่า พิธียังอยู่เหมือนเดิม แต่การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชนและชาวไทยทุกคนรู้ใกล้ หรือสัมผัสได้กับพิธีการเหล่านั้นเปลี่ยนไปจากเดิม อย่างการเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครในวันซ้อม ทางราชการอนุญาตให้มีการบันทึกภาพได้ แต่ห้ามเซลฟี เพราะจุดเด่นอยู่ที่ตัวเอง กลายเป็นว่าพระเจ้าอยู่หัวเป็นฉากหลัง ก็ไม่เหมาะสมตามธรรมเนียมไทย คิดดูว่าเราไปเฝ้ารับเสด็จพระองค์ ไปรอชมพระบารมีของพระองค์ ความโดดเด่นของงานจะต้องอยู่ที่พระองค์ไม่ใช่หรือ แต่หากจะถ่ายภาพเพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานในความทรงจำก็ทำได้

     ย้อนกลับไปในสมัยก่อน การถ่ายภาพไม่ใช่เป็นเรื่องที่ใครจะทำได้ เพราะกล้องก็แพง ฟิล์มก็แพง ไหนจะล้างฟิล์ม แล้วอัดรูปอีก ก็เป็นเรื่องจำเพาะมากๆ แต่บัดนี้เราทุกคนสามารถถ่ายภาพบันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีที่หลากหลายได้ด้วยตัวเอง สิ่งต่างๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างจารีตประเพณีดั้งเดิมกับยุคสมัยใหม่ที่สอดคล้องกันและกันได้เป็นอย่างดี

 

นั่นหมายถึงงานพระราชพิธีได้สนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของราษฎรทุกย่อมหญ้า

     ผมคิดว่า ผู้คนในชาติจะรู้สึกว่าได้มีส่วนร่วมกับพระราชพิธีมากขึ้น จากแต่ก่อนที่เป็นเรื่องของคนในรั้วในวังมียศถาบรรดาศักดิ์เท่านั้น ประชาชนไม่อาจรับรู้รับเห็นขั้นตอนก่อนจะมาเป็นพระราชพิธี บัดนี้คุณเองก็จะเห็นว่าประชาชนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ อาชีพใดๆ ก็ตามแต่ทั่วหัวระแหงของประเทศ ได้มีส่วนร่วมในการเสกน้ำตามวัดต่างๆ ซึ่งเห็นได้ว่าแต่ละที่ก็มีคนเรือนหมื่นที่ตั้งหน้าตั้งตามาเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งนี้ และหากคุณได้มีโอกาสไปพูดคุยกับคนเหล่านั้น ผมเชื่อว่าพวกเขาต่างจะรู้สึกยินดีและภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานประวัติศาสตร์ เพราะไม่มีใครทำนายอนาคตได้เลยว่า พระราชพิธีนี้จะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อไหร่ อาจจะอีก 70 ปีข้างหน้า หรือไม่กี่สิบปีข้างหน้า ก็ไม่มีใครรู้ได้ แต่ที่ทุกๆ คนรู้ก็คือวันนี้ ปีนี้ ตอนนี้ โอกาสนั้นมาอยู่ตรงหน้าแล้วต้องรีบคว้าเอาไว้

 

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในครั้งนี้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

     พระราชพิธีบรมราชาภิเษกไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง พระราชพิธีและขนบธรรมเนียมประเพณียังเหมือนเดิม แต่เป็นการมาอธิบายกับสังคมไทยใหม่อีกรอบมากกว่า โดยเฉพาะเรื่องการตักน้ำอภิเษกในช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา หากเราย้อนกลับไปดูแหล่งตักน้ำอภิเษกทั้งหลายในอดีต ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคกลาง เพราะการคมนาคมในสมัยก่อนไม่สะดวก การที่จะไปเอาน้ำจากภาคอื่นๆ มาร่วมพิธีคงไม่ได้ แม้กระทั่งมาจนถึงต้นรัชกาลที่ 9 เมื่อ 69 ปีก่อน แหล่งตักน้ำในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็ยังมาจากแหล่งน้ำสำคัญๆ อยู่

     เวลาผ่านไป เมืองไทยเจริญมาจนถึงทุกวันนี้ แหล่งตักน้ำอภิเษกได้ขยับขยายไปทุกจังหวัด และมีแหล่งตักน้ำใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งผมเองได้ฟังจากรุ่นน้องที่เป็นอาจารย์อยู่จังหวัดจันทบุรี อายุน่าจะรุ่นราวคราวเดียวกับคุณนี่แหละ ได้เล่าให้ฟังว่า เขาได้รับโจทย์ให้ไปสืบค้นว่าในอดีตจังหวัดจันทบุรีตักน้ำที่ไหน ไปสืบค้นว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ซึ่งรุ่นน้องไม่ได้แค่เพียงพบแหล่งน้ำ แต่ยังได้ฉุกคิดถึงประเด็นเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแถมเข้ามาอีกด้วย หรืออย่างที่รู้มาว่ามีแหล่งตักน้ำใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึง ที่แห่งนั้นก็คือคือ เขื่อนขุนด่านปราการชล จังหวัดนครนายก แน่นอนว่า สมัยอยุธยายังไม่มีเขื่อนนี้ แต่ปัจจุบันมีแล้ว ก็สามารถทำให้เป็นแหล่งตักน้ำได้

     นี่คือความรู้ใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้เราอาจจะรู้จักแค่ว่า น้ำต้องมาจากแหล่งสำคัญทั้งหลายที่มีประวัติศาสตร์ แต่วันนี้ เราได้รู้แล้วว่า การตักน้ำสามารถมาจากที่ไหนก็ได้ แต่จะต้องเป็นน้ำสะอาด ผสมเรื่องราวน้อยใหญ่ถึงความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น ผสานเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาช้านานอีกนิด ก็จะได้น้ำที่สามารถนำมาเสกเพื่อใช้ในงานพระราชพิธีต่อไปได้

 

ธงทอง จันทรางศุ

 

ในขณะที่หลายจังหวัดรื้อค้นตำรา ตามหาแหล่งน้ำ ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ปัดฝุ่นตำรา ชุบชีวิตให้กับความรู้ดั้งเดิมอย่างไรบ้าง

     อย่างวันเสด็จเลียบพระนครจะเสด็จไปยังวัดสามแหล่งด้วยกันคือ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร วัดราชบพิตรสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ตามธรรมเนียมโบราณก็จะมีการตั้งโต๊ะหมู่บูชา เพื่อถวายพระพรฯ จุฬาฯ เองจึงได้รับมอบหมายให้ไปช่วยติดต่อรายละเอียดต่างๆ เรื่องการตั้งโต๊ะหมู่บูชา เราจึงต้องกลับไปค้นหาตำราเก่าๆ ว่าต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง และได้ประสานงานขอความเมตตาจากทางวัดราชบพิตรฯ เนื่องจากเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 5 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็มีจุดกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เราก็ยังสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ จึงรักษาธรรมเนียมเดิม สิ่งนี้คือการปัดฝุ่นศิลปะวัฒนธรรมจากเดิมที่เคยอยู่แค่ในตำรา เอาออกมาสู่ชีวิตจริง ความรู้เหล่านี้ได้รับการสืบทอดความเป็นคนไทยของเรา หลายคนอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เครื่องบูชาของไทยประกอบไปด้วย ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน สี่สิ่งนี้มีความหมายอย่างไร

 

ในฐานะศาสตราจารย์ สามารถสืบทอดองค์ความรู้มากมายที่เกี่ยวข้องกับงานพระราชพิธีฯ มีวิธีใดบ้าง

     ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ใช้โอกาสนี้เปิดการบรรยายพิเศษ 4 เรื่อง เรื่องแรกคือ ที่มาที่ไปของงานพระราชพิธี ส่วนอีก 3 หัวข้อจะเป็นเรื่องที่อยู่เบื้องหลัง อาทิ สถาปัตยกรรม สถานที่ที่ประกอบพระราชพิธี จะมีการสร้างพระมณฑปพระกระยาสนาน ซึ่งเป็นอาคารชั่วคราวมีกติกาอะไรบ้าง อะไรคือสหัสธารา ที่จะมีถังเก็บน้ำอภิเษกอยู่ด้านบนสำหรับสรง เพื่อสรงก่อนเข้าพิธีสำคัญต่อไป หรือหัวข้อถัดมาก็คือ งานพระราชพิธีจะมีทั้งพราหมณ์และพุทธ พราหมณ์จะต้องกล่าวมนตราเพื่ออัญเชิญพระพุทธเจ้าลงมาสถิตในพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ ส่วนฝ่ายพระสงฆ์ก็จะเจริญพระพุทธมนต์ เราเองเป็นชาวพุทธยังไม่เคยรู้เลยว่าที่ท่านพูดนั่นภาษาอะไร เพราะฉะนั้น ทางจุฬาฯ ในฐานะฝ่ายวิชาการ จึงต้องมีเวทีที่มาพูดถึงเรื่องเหล่านี้ ทำให้บรรดาอาจารย์ต่างๆ ต้องกลับไปค้นคว้าเพื่อมาบรรยาย แต่ไม่ใช่ให้ความรู้เฉพาะในงานพระราชพิธี ต่อๆ ไปชาวพุทธทุกคนก็ยังต้องฟังพระสวดมนต์ต่ออยู่ดี และนี่แหละคือโอกาสที่เราจะสื่อสารเรื่องราวเล็กๆ เหล่านี้ให้คนทั่วไปรับรู้ได้โดยความอยากรู้ของตัวบุคคลเองจริงๆ

     ส่วนหัวข้อสุดท้ายก็คือดนตรี เพราะตลอดเวลาของงานพระราชพิธีจะต้องมีดนตรีประกอบ พระองค์ไม่ได้สรงน้ำเงียบๆ หรือช่วงเดินริ้วขบวนมีคนตีกลองมโหระทึก เป่าแตร เป่าสังข์ เป็นทำนองหรือเปล่า มีความหมายหรือเปล่า สิ่งเหล่านี้คือเบื้องหลังการถ่ายทำที่น่ารู้เป็นอย่างมาก

 

นอกเหนือจาก 3 หัวข้อเบื้องหลังนี้ มีการสืบความรู้ต่ออย่างไรอีกบ้าง

     ส่วนใหญ่คือเรื่องเบื้องหลังทั้งหมด เช่น เรื่องเครื่องราชูปโภคที่จะนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ผมได้ยินว่า จะต้องนำมาซ่อมแซมใหม่ทั้งหมด เพราะสร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ก็ไม่ได้ใช้บ่อยนัก แต่โดยอายุและสภาพ อย่างน้อยก็ต้องมาขัดสีฉวีวรรณ ทองหมองไปแล้วทำอย่างไรถึงจะหายหมอง ซึ่งต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ใช่ความรู้โบราณอย่างเดียว ส่วนเทคนิคและรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่ใช้ในงานพระราชพิธี เป็นเรื่องที่ต้องค้นตำรากันใหม่หมด ไม่เว้นแม้กระทั่งพระสงฆ์ที่ต้องอ่านประกาศการพระราชพิธี พระก็ต้องไปค้นตำราว่าต้องอ่านทำนองอย่างไร เพราะท่านก็ไม่เคยฟังมาก่อนเหมือนกัน (หัวเราะ) ทุกคนต้องทำการบ้านเยอะมาก

 

หากไม่มีงานพระราชพิธีนี้ เรื่องราวเหล่านี้อาจจะไม่ถูกหยิบยกขึ้นมาปัดฝุ่นใหม่

     ทางด้านจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเองก็อาจจะไม่มีโอกาสได้จัดงานบรรยาย ไม่มีการรื้อค้นตำราเก่า จุดเล็กๆ ที่ควรรู้ก็อยู่แค่ในตำราต่อไป หรือต่อให้เราจัดงานบรรยายเรื่องนี้เหมือนเดิม ก็คงไม่มีใครมา เพราะไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปจะสนใจ จริงไหม? และนี่ไง คือคำตอบอีกอย่างจากคำถามแรกว่าทำไมเราต้องเรียนรู้ ต้องสนใจงานพระราชพิธี เพราะสุดท้ายแล้วยังยืนยันคำตอบเดิมว่า สิ่งนี้ทำให้คนได้รู้ ได้เข้าใจตัวตนของตัวเองมากยิ่งขึ้น

 

สิ่งละอันพันละน้อยที่ทุกคนจะได้รับจากงานพระราชพิธี ในมุมมองของคุณคือเรื่องอะไร

     ฟังดูก็รู้ว่าทุกคนมีแต่ความสุข คงไม่มีใครมองว่าเป็นเรื่องที่สร้างความเดือดร้อนให้ตัวเอง ทุกคนต่างพากันเตรียมเนื้อเตรียมตัวเพื่อเข้าร่วมพิธีการ บ้านเรือนประดับตกแต่งธงทิว ประทีปโคมไฟ ออกมาทำกิจกรรมบำเพ็ญกุศล ทำความดีจิตอาสาทั้งหลาย

     และสิ่งที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ช่วงที่ผ่านมาทุกคนต่างลดทอนความขัดแย้งจากเรื่องที่เกิดขึ้น แล้วหันไปเห็นความสุขที่มีร่วมกัน ได้รับความรู้เรื่องเดียวกัน เกิดประสบการณ์ที่ไม่อาจประเมินเป็นราคาได้ชุดเดียวกัน บันทึกประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกัน มีเรื่องที่ปู่ย่าตายายของเราเคยเห็นและเล่าให้เราฟัง ก็ถึงทีคนในยุคนี้บ้างแล้ว และวันหนึ่ง ผมหรือคุณ อาจจะกลายเป็นทวด เป็นย่ายาย แล้วเล่าเรื่องนี้ให้ลูกหลานฟังในน้ำเสียงที่บอกเล่าความประทับใจให้ฟังแทน

 

ธงทอง จันทรางศุ

 

แล้วคุณมีเหตุการณ์พระราชพิธีใดบันทึกไว้ในความทรงจำมาเล่าให้เราฟังบ้างไหม

     มีเพียงหนึ่งครั้ง เมื่อครั้งวันเฉลิมพระชนมพรรษา 3 รอบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ในปี 2506 มีการเสด็จเลียบพระนคร ตอนนั้นผมอายุ 8 ขวบ ผมก็เด็กเกินกว่าจะออกจากบ้านมาเพียงลำพังเพื่อชมพระบารมี ตามความทรงจำของเด็ก 8 ขวบผ่านทีวีขาวดำก็ดูรางเลือน แต่วันนี้ผมอายุ 64 ปีแล้ว มั่นใจว่าความทรงจำยังทำหน้าที่ได้ดี

 

คุณจะบันทึกความทรงจำนี้ด้วยรูปแบบใด

     ตั้งใจว่าจะเขียนบันทึกแล้วเผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์ เพื่อให้คนอื่นๆ ได้อ่านแทนที่จะเก็บไว้อ่านคนเดียว ให้หนังสือพิมพ์เป็นตัวแทนสิ่งที่บรรจุความทรงจำของผม ก่อนจะเก็บเข้าหอสมุดแห่งชาติ รวบรวมไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชาติสืบต่อไป ดังนั้น ผมก็อยากจะชวนให้ทำจดหมายเหตุ ให้ทุกคนถ่ายภาพ และจดบันทึกคนละ 3-5 บรรทัด อาจจะเป็นการเขียนบนสเตตัสเฟซบุ๊ก เขียนลงไลน์แจกเพื่อนๆ ถึงความประทับใจหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอดงานพระราชพิธี เผื่อวันหนึ่งบันทึกเหล่านี้อาจจะถูกเปิดเผยและรวบรวมขึ้นมาใหม่ก็ได้

 

จะมีทีมเก็บและรวบรวมข้อมูลหรือบันทึกต่างๆ เหล่านี้ใช่ไหม

     มีอนุกรรมการหอจดหมายเหตุเป็นผู้ดูแล แต่ลำพังเจ้าหน้าที่ที่มีเพียง 5-10 คน จะให้เก็บเรื่องราวทุกแง่มุมก็คงเป็นไปไม่ได้ ในขณะที่พวกเราเรือนแสนเรือนล้าน ถ้าช่วยกันแล้วเก็บไว้ที่ไหนสักแห่งก็คงจะดีไม่น้อยเลย

     ผมจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อน ในขณะที่ผมดำรงตำแหน่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2555 พระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลก่อนเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร พระที่นั่งอนันตสมาคม ผมนึกอยู่ว่า ใครๆ ต่างก็มีภาพทางการที่ถ่ายโดยสำนักพระราชวังและกรมประชาสัมพันธ์ แล้วคนเดินถนนที่มาจากทั่วประเทศเป็นแสนๆ คน ทำอย่างไรดี ทุกคนก็ถ่ายไว้ในมือถือ แต่ก็ไม่มีการนำภาพออกมา ผมจึงไปชวนกลุ่มช่างภาพที่มีชื่อว่า ‘สห+ภาพ’ นำโดย ‘จี๊ด’ – จิระนันท์ พิตรปรีชา ชวนมาคุยเพื่อระดมให้ช่างภาพในกลุ่มมาช่วยกันถ่ายรูป สุดท้ายเราได้ภาพดีๆ มาเยอะมาก และเราก็นำมาพิมพ์เป็นหนังสือแล้วส่งเก็บไว้ในหอจดหมายเหตุ ส่วนในปัจจุบัน ผมเกษียณจากตำแหน่งนั้นมา 4 ปีแล้ว ป่านนี้คงมีใครสักคนดำเนินการไปแล้ว และหากเกิดขึ้นจริงคงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่ใช่น้อย

 

คุณพร้อมหรือยังที่จะไปชมการเสด็จเลียบพระนครในวันที่ 5 พฤษภาคมที่จะถึงนี้

     พร้อมมาก (หัวเราะ) ผมได้จองโรงแรมเล็กย่านเฟื่องนครเอาไว้เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เย็นวันที่ 4 พฤษภาคม ผมก็ต้องไปอยู่ที่นั่นแล้ว เพราะต่อให้เขาเริ่มปิดถนน ผมก็ไม่เดือดร้อน ระหว่างนั้นก็เตรียมเสบียงให้พร้อม สำรวจพื้นที่อีกหน่อย ตั้งใจว่าเช้าราว 8-9 โมงจะออกไปสำรวจและเริ่มจับจองที่นั่งด้านหน้าๆ ผมจะไปพร้อมลูกศิษย์ เพราะหากเป็นลมอย่างน้อยก็จะได้มีคนหามกลับได้ ซึ่งตามหมายกำหนดการจะเริ่มตั้งแต่ 4 โมงเย็น แล้วเสร็จราว 2 ทุ่ม แต่ผมคิดว่าจากการซ้อมในวันล่าสุด อาจจะยาวไปจนถึง 4 ทุ่มได้ แต่ก็ไม่เป็นไร การที่ผมได้เห็นด้วยตาของตัวเอง ไม่ใช่ผ่านจอโทรทัศน์เหมือนครั้ง 8 ขวบ ก็เป็นสิ่งที่สุดยอดครั้งหนึ่งในชีวิตของผมแล้ว