Travel makes us humble

Travel makes us humble | สร้างเสริมบทเรียนชีวิต สู่การเปิดกว้างทางความคิดผ่านการเดินทาง

กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง นักเดินทางทุกคนล้วนต้องพบกับเรื่องราวเกินคาดเดาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง ไม่ว่าคุณจะออกแบบแพ็กเกจให้สวยหรูดูดีเท่าไหร่ก็ตาม แต่เมื่อออกไปในสถานที่ที่ไม่คุ้นเคย สื่อสารกับคนที่ไม่คุ้นหน้า และลิ้มรสอาหารที่ไม่คุ้นลิ้น ก็ย่อมก่อให้เกิดบทเรียนชีวิตที่จะฝังอยู่ในใจของนักเดินทางไปอีกนานแสนนาน

บทเรียนจากการเดินทางที่ขัดเกลาตัวตนของสมาชิกทั้ง 4 ของครอบครัวหนึ่งได้นำพาให้เรามาพบและสนทนากับบุคคลผู้ร้อยเรียงเรื่องราวชวนอมยิ้มเหล่านั้น ‘ตา’ – พรธิชา วงศ์ยานนาวา เจ้าของเพจ Travel makes us humble คุณแม่ของลูกชายวัยซนอย่าง ‘ซีเรีย’ วัย 8 ขวบ และ ‘เซเล่’ วัย 6 ขวบ ภรรยาของรองศาสตราจารย์ธเนศ วงศ์ยานนาวา เธอเลือกใช้การเดินทางที่เธอและสามีหลงใหล เป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างบทเรียนให้สมาชิกทุกคนในครอบครัว ผ่านสถานที่ ผู้คน และวัฒนธรรม รวมไปถึงขัดเกลาตัวตนและหล่อหลอมความคิดให้เด็กๆ ได้เติบโต ปรับตัว และเข้าใจความเป็นไปของโลกภายนอกที่เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย

     “เราอยากให้เขาปรับตัวเข้ากับคนอื่นให้ได้มากที่สุด ชีวิตเราอยู่ได้ด้วยการปรับตัว แล้วการเดินทางมันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สอนให้เราปรับตัว เราต้องไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เวลาเราเดินทางเราจะลดตัวเองลงเพื่อปรับตัวเข้ากับที่อื่น เพราะเราออกจากตัวตน ออกจากคอมฟอร์ตโซนเรา มันช่วยให้เข้าใจคนอื่น”

     ทุกครั้งที่เราออกเดินทาง ย่อมไม่ได้หมายถึงเพียงแค่เราไปเผชิญสิ่งใหม่ภายนอกเท่านั้น แต่เรากำลังก้าวออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคย นิสัยที่คุ้นเคย เพื่อไปพบเจอสิ่งที่แตกต่างที่จะมาสั่นคลอนความเชื่อฝังหัวของเรา ก่อนที่สิ่งเหล่านั้นจะให้บทเรียน ค่อยๆ ย้อนกลับมาเปลี่ยนแปลงเราจากภายใน ให้กลายเป็นคนที่เปิดใจรับฟังคนอื่น ยืดหยุ่นกับทุกสถานการณ์ และสามารถใช้ชีวิตต่อไปในวันที่ความผิดหวังเดินทางมาหา

 

Travel makes us humble

 

ทำไมคุณถึงเลือกบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับการเติบโตของลูกๆ ผ่านการเดินทางลงในเพจท่องเที่ยว

     มันเริ่มจากว่าเราเป็นคนชอบเขียนหนังสือ แล้วอยากบันทึกเรื่องราวการเดินทางท่องเที่ยวกับลูกๆ และครอบครัวไว้ว่ามันให้อะไรกับบ้านเราบ้าง หรือให้อะไรกับลูกบ้าง เป็นการบันทึกการเจริญเติบโตของเขาไว้ ย้อนกลับไปก่อนหน้าที่จะเปิดเพจ เรากับสามีมีความชอบที่เหมือนกันตั้งแต่เริ่มคบกันคือเรื่องการท่องเที่ยว ทีนี้ตอนเราท้องลูกคนแรกช่วงแรกๆ ก็มีแต่คนบอกว่าต้องหยุดเที่ยวนะ ต้องเสียสละเวลาเพื่อดูแลลูก หลายคนก็จะแนะนำว่าช่วงขวบวัยแรกๆ ของลูก ลูกของคุณไปไหนไม่ได้หรอก ถึงไปก็ไม่รู้เรื่อง ตอนแรกเราสองคนก็คิดอย่างนั้นเหมือนกันว่าช่วงก่อนสองขวบลูกจำอะไรไม่ได้หรอก ถ้าไปเที่ยวด้วยกันก็เปลืองเปล่าๆ

     ทีนี้ต้องเล่าว่าเรากับสามีตั้งใจกันตั้งแต่ท้องแล้วว่าจะเลี้ยงเขาแบบฝรั่ง คือเลี้ยงไปสัก 6-7 เดือน พอเราเหนื่อยและอยากจะไปไหน เราก็จะฝากให้แม่ช่วยเลี้ยง แล้วเราจะหนีไปเที่ยวกันสองคนสักหนึ่งอาทิตย์ ลูกก็ยังไม่ต้องไป เพราะอย่างที่บอกว่าในตอนนั้นเราเชื่อว่าเขายังไม่รู้เรื่อง พอตอนคลอดลูกคนแรกแล้วเขาอายุประมาณ 7 เดือนกว่า แม่เราที่เพิ่งเกษียณก็มาช่วยดูหลานตั้งแต่แรกคลอด ปรากฏว่าตอนนั้นมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น คือแม่มีอาการลิ่มเลือดอุดตันในสมองทำให้คุณแม่ล้มลงที่ชั้นสองของบ้านแล้วขยับตัวไม่ได้ตั้งแต่เช้าโดยที่มีแต่เขากับหลานอายุ 7 เดือนกว่าแค่สองคน เป็นเวลาแปดชั่วโมงที่ขยับตัวไม่ได้ หลานก็คลานรอบๆ ตัวคุณแม่โดยไม่ลงไปไหน คุณแม่ขยับตัวไม่ได้แต่ก็ยังมีสติคอยเรียกเขาไว้ เพราะห่างไปอีกไม่ถึงเมตรคือบันไดแล้ว จนกระทั่งช่วงสี่โมงเย็นพ่อเรากลับมาถึงเจอ เพราะตอนนั้นเราก็ทำงาน สามีก็ทำงาน คุณพ่อก็ทำงาน มีแต่คุณแม่ที่อยู่เลี้ยงหลาน หลังจากนั้นก็รีบส่งโรงพยาบาลเลย

     ก่อนหน้านั้นเรากับสามีจองตั๋วเครื่องบินไปอิตาลีกันไว้ ซึ่งเหลือเวลาอีกแค่ไม่ถึงสองเดือนก็จะไปแล้ว แต่พอแม่ป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นเดือนๆ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ต้องเอาลูกเดินทางไปด้วย จริงๆ เพื่อนเราก็เสนอที่จะดูแลให้นะ แต่เราตัดสินใจเอาลูกไปด้วยดีกว่า ชีวิตมันไม่แน่นอนปลอดภัยเหมือนอย่างเดิมอีกแล้ว เพราะจากเหตุการณ์วิกฤตนั้นที่เป็น life and death จริงๆ

     เราเคยไปย้อนอ่านที่เราเคยบันทึกไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวประมาณว่า เฮ้ย ก่อนจะเดินทางนี่ความกังวลมันถึงจุดสูงสุดจริงๆ นะตอนนั้น เพราะเราและสามีเป็นคนขี้เกรงใจคนอื่น ไฟลต์บินไปมิลานต้องใช้เวลาเป็นสิบชั่วโมง ถ้าลูกเราร้องงอแงตลอดทางเราจะทำยังไง ก็ไปปรึกษาคนมีลูกเยอะมาก จะใช้วิธียังไง จะรับมือยังไง แต่ปรากฏโชคดีมากๆ ที่การเดินทางมันผ่านไปได้ด้วยดี เพราะเป็นไฟลต์ดึก พอลูกขึ้นเครื่องก็หลับยาวเลย ไม่มีอาการแพ้ ไม่ปวดหู ไม่มีปัญหาอะไรเลย

 

ตอนไฟลต์แรกที่ไปมิลานนั้นเริ่มทำเพจหรือยัง

     ยังไม่ได้คิดจะทำเลย ตอนนั้นมันเป็นแค่ความจำเป็นที่ต้องพาลูกไปเพราะไม่มีใครช่วยดูแล้วเท่านั้น แต่พอไปก็รู้สึกว่าเขาเอนจอยนะ เขาสนุกสนาน ตื่นเต้น เราเห็นได้ด้วยสายตา อารมณ์เหมือนเด็กเมืองร้อนไม่เคยสัมผัสอากาศเย็นอะไรแบบนั้น ถึงตอนนั้นเขาจะอายุแค่เก้าเดือนก็ตาม แต่เรารู้สึกได้ เขาได้ชิมไอติม ได้ทำอะไร เราเลยมีความรู้สึกว่าการที่เขาได้ออกไปข้างนอกบ้านก็เป็นเรื่องดีเหมือนกันนะ

     ก่อนหน้านั้นซีเรียซึ่งเป็นลูกชายคนแรกของครอบครัว แล้วเป็นหลานคนแรกของทั้งสองครอบครัว ทุกคนในบ้านก็ตื่นเต้น ประคบประหงมมาก ตอนเขาอายุประมาณแปดเดือนเราเคยพาเขาไปหัวหิน เท้าเขาแตะหญ้าไม่ได้เลยนะ เขาจะแขยงเท้า แล้วแสดงออกโดยเห็นได้ชัดเลยว่าไม่เอา เราก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ถึงจะเป็นเด็กเบบี้อยู่แต่มันต้องทำได้แล้ว ทีนี้พอเขาได้เริ่มเดินทางไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศ มันก็เป็นการทำให้เขาได้เริ่มเรียนรู้ในการรับมือกับสิ่งที่คอนโทรลไม่ได้มากขึ้น หลังจากนั้นก็มีอีกหลายทริปเลยกว่าที่เราจะเริ่มทำเพจ ตอนนั้นเรารู้สึกว่าควรจะบันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้ก่อนที่เราจะลืมว่าแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมาที่ได้ไปเที่ยวมันมีอะไรที่น่าจดจำบ้าง

     ตอนที่เริ่มลงมือทำลูกคนแรกก็สี่ห้าขวบแล้ว ส่วนลูกคนที่สองก็ประมาณสองขวบกว่า อีกอย่างพอมีลูกสองคนมันก็เริ่มวุ่นวาย เราก็กลัวจะลืมว่าได้ทำอะไรไปบ้าง เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากบันทึกประสบการณ์ว่ากว่าเขาจะเติบโตขึ้นมา เขาผ่านอะไรมาบ้าง หรือการได้ไปเมืองต่างๆ ที่ต่างๆ ที่ไม่คุ้นเคย เขาได้ปรับตัวยังไงบ้าง สิ่งสำคัญคือทำให้เราได้เห็นพัฒนาการของเขาในทุกช่วงวัย และในทุกการปรับตัว

 

การเลือกใช้ชื่อเพจว่าTravel makes us humble มันมีนัยยะสำคัญอย่างไร

     คือมันเป็นสิ่งที่เราคิดในใจมาตั้งนานแล้วว่าการเดินทางมันทำให้เรา humble แต่ภาษาไทยที่สามารถแปลคำนี้ออกมาตรงเป๊ะ มันไม่ค่อยมีนะ จะว่าเป็นความถ่อมตัวก็ใช่ แต่ก็ยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะมันยังผสมลักษณะแบบอื่นๆ ไปด้วยอีก ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพต้องของยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งคือ พอเราเปิดเพจไปไม่นาน ก็มีน้องคนหนึ่งซึ่งเขานับถือศาสนาคริสต์แล้วอ่านภาษาละตินได้ ได้ส่งรูปหนึ่งมาให้เรา มันเป็นรูปประตูทางเข้าโบสถ์เล็กๆ ที่เป็นสัญลักษณ์ในเชิงศาสนาที่สะท้อนคำว่า humble ได้อย่างดีเลย นั่นคือการคิดว่าเราต้องก้มตัวหรือทำตัวให้เล็กลงเพื่อให้ผ่านประตูได้ ซึ่งแนวคิดแบบนี้จะเห็นได้หลายที่เลยทั้งในอาหรับ ในมัสยิด หรือในโบสถ์ เราจะเห็นว่าประตูที่ให้คนเข้ามันค่อนข้างเล็ก ทั้งๆ ที่คนในสมัยที่สร้างก็ตัวใหญ่นะ แต่สถาปัตย์ของเขาทำให้เราต้องก้มตัวลงไปถึงจะเข้าไปข้างในได้ นั่นแหละมันคือความหมายทั้งหมดของคำว่า humble ในมุมมองของเรา มันบวกคำว่า respect กับหลายๆ คำเข้าไปด้วย ก่อนที่จะตั้งเพจประมาณสี่ห้าเดือน อยู่ๆ คำนี้ก็แว้บเข้ามาในใจ เราเลยคิดว่าเราจะใช้ชื่อนี้

คำว่า humble คือคุณต้องทำตัวเองให้เล็กลง คุณต้องลดตัวลง แล้วคุณถึงจะได้เห็น ได้เข้าใจ มันคือการลดอีโก้ของเราให้เล็กที่สุด ลดความเป็นตัวตนของเราลงทั้งหมด เพื่อเราจะปรับตัวเข้ากับสถานที่ที่เราจะเข้าไป

” 

Travel makes us humble

 

นอกจากไอเดียในการบันทึกเรื่องราวของลูกๆ แล้ว คุณยังเชื่อด้วยว่าการเดินทางสามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถสอนบทเรียนชีวิตให้กับลูกๆ ได้ใช่ไหม

     ใช่ คือเรากับสามีทำงานกันทั้งคู่ แล้วปกติวันธรรมดาเราก็จะฝากลูกไว้กับแม่เราตอนที่คุณแม่ยังไม่ป่วย พอท่านป่วยก็มีพี่เลี้ยงมาช่วยดูบ้าง เราก็ไม่มีเวลาที่จะอยู่กับเขาแบบเต็มเวลา จะให้เราออกจากงานมาเลี้ยงลูกอย่างเดียว ในทางเศรษฐกิจก็คงทำไม่ได้ แล้วเราเป็นคนทำงานมาตั้งแต่เรียนจบ เรายังเคยบอกลูกเราตั้งแต่เขายังเด็กๆ ว่าถ้าเราอยู่แบบมีระยะห่างต่อกัน แม่มีสังคมของแม่ ลูกมีสังคมของลูก มีพื้นที่ต่อกันและกัน เราจะรักกันมากกว่านะลูก (หัวเราะ) คือถ้าเราจะมาเสียสละชีวิตทั้งหมดเพื่อลูกก็ไม่ใช่อีก ดังนั้น เวลาที่เราจะอยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงจริงๆ ไม่ว่าจะ 7 วันหรือ 15 วันแล้วแต่ ก็คือเวลาที่เราไปเที่ยวด้วยกันนั่นแหละ ฉะนั้นจากทริปแรกที่พาเขาไปเที่ยวก็เลยมีทริปต่อๆ ไป ที่เราเห็นว่ามันดี แล้วเห็นเขาได้ปรับตัว

     ย้อนกลับไปที่บอกว่าเขาไม่เคยเดินบนหญ้าได้ เราก็บังคับเขาเดิน (หัวเราะ) คือด้วยความที่ซีเรียเป็นลูกคนแรก เราก็จะทำตามตำรา ตามหมอ ตามทุกอย่าง ต้องสะอาดแบบนี้ ต้องทำแบบนั้น ฉะนั้นตอนแรกเขาจะรังเกียจความสกปรกมาก ทีแรกเราก็ไม่รู้สึกว่ามันเป็นปัญหาหรอก เพราะเราก็คิดว่าคงเป็นปกติของเด็กเล็กๆ แต่พอเริ่มใกล้จะขวบ เราก็คิดว่าลูกเริ่มรู้ความแล้ว มันจะเริ่มเป็นปัญหาแล้วนะ มันจะติดเป็นนิสัย แล้วลูกจะอยู่ยังไงกับโลกที่ไม่ได้ฆ่าเชื้อ (sanitize) มาเพื่อลูกอย่างเดียว โลกมันกว้างกว่านี้เยอะ ลูกต้องอยู่ในโลกนี้ที่มีหลายรูปแบบให้ได้

     ฉะนั้น พาลูกไปเห็นของจริงเลยดีกว่าว่าเขาต้องปรับตัวยังไงบ้าง เช่น ถ้าไม่ปรับตัวเขาจะไม่มีของกิน ลูกจะเลือกกินแต่ของที่ชอบหรือเฉพาะอาหารที่บ้านไม่ได้ ตั้งแต่เราเดินทางกับลูกมา เราไม่เคยเตรียมอาหารพิเศษจากบ้านอะไรไปให้เขาเลย ตอนที่ยังเล็กอาจจะเตรียมอาหารเหลวให้เขาขวดสองขวดเผื่อไว้ตอนอยู่บนเครื่องบินกับตอนลงจากเครื่องแล้วยังหาอะไรกินไม่ได้ แต่หลังจากนั้นก็ไปหาเอาข้างหน้า กินแบบที่คนบ้านเมืองนั้นเขากิน ถ้าลูกยังกินอาหารเหลวอยู่ก็ซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นรสชาติแบบที่คนท้องถิ่นเขากินกัน จะไม่แบกของทุกอย่างจากเมืองไทยไป ต้องปรับตัวตามรสชาติอาหารท้องถิ่น

     เราเป็นคนเชื่อว่าการเดินทางกับการกินมันไปด้วยกัน แล้วลิ้นเราเนี่ยเป็นสิ่งที่อนุรักษ์นิยมที่สุดนะ คนที่ไปไหนไม่ได้เพราะกินไม่ได้มีเยอะมาก แต่ถ้าเราปรับลิ้นได้ตั้งแต่เล็กเนี่ย เราไปไหนก็ได้ในโลก เราจะกินอะไรก็ได้ในโลก แล้วเรื่องอาหารมันเป็นวัฒนธรรม เราจะเรียนรู้วัฒนธรรมเขาไม่ได้เลยถ้าเราไม่กินอาหารท้องถิ่นเขา เราจะไม่ได้เรียนรู้เลยว่าสังคมนี้เขากินอะไรกัน ทำไมเขาถึงกินแบบนี้ เขากินแบบนี้เพราะต้องการแร่ธาตุอันนี้ เพราะทรัพยากรอันนี้ เราจะขาดการเรียนรู้สิ่งสำคัญไปเลย

 

คุณมีวิธีย่อยบทเรียนหรือสอนให้เขาเข้าใจสิ่งต่างๆ ในช่วงที่อาจจะยังเด็กมากๆ ได้อย่างไร

     สำหรับเราไม่ต้องย่อยเลยนะ เราไม่เคยสรุปอะไรให้เขาเลย ทำอะไรให้เป็นธรรมชาติที่สุด ให้เขาเรียนรู้เอง เวลาไปสั่งอาหารก็สั่งตามที่พ่อแม่กิน กินไม่ได้ก็หิว ไม่มีนอกจากนี้แล้ว ถึงเวลากินลูกต้องกิน เพราะเราต้องนั่งรถต่ออีกสี่ชั่วโมง ถ้าลูกไม่กิน ลูกก็หิวไปอีกสี่ชั่วโมง แล้วเราจะไม่ซื้ออะไรระหว่างทางให้เลย เรากับสามีก็ค่อนข้างโหดเหมือนกัน ถ้าเราตามใจเขาตลอดเวลา เขาจะไม่ได้เรียนรู้เลยว่าบางอย่างเราต้องปรับตัวจริงๆ ถึงเราจะไม่ชอบกินอย่างนี้ แต่เราต้องกิน เพื่อให้ท้องอิ่มก่อนระหว่างที่เราเดินทาง ระหว่างที่เราขับรถ หรือไปในชนบทที่ไม่มีอะไรเลย มีแค่ขนมปังแข็งๆ เราก็ต้องกิน เพื่อให้อิ่มไว้ก่อน

 

แล้วมีกฎ ข้อห้าม หรือสิ่งที่เรามักบอกลูกเสมอในการเดินทางบ้างไหม

     ถ้าเป็นกฎตายตัวไม่มีนะ แต่สิ่งสำคัญที่สุดเลยไม่ว่าจะไปที่ไหนคือการเคารพคนอื่น เคารพสถานที่ เคารพผู้คน เริ่มตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเดินทางเลย ตั้งแต่ขึ้นเครื่องบิน ต้องไม่ส่งเสียงดัง ไม่เตะเบาะข้างหน้า ไปประเทศอิสลามก็ต้องรู้ว่าทำตัวยังไง ไปเมืองคริสต์ ไปเมืองพุทธ ข้อห้ามของเมืองต่างๆ ก็ต้องปฏิบัติตาม ก็คือกฎทั่วๆ ไปของการท่องเที่ยวแหละ แต่เด็กก็อาจมีเรื่องการร้องไห้โวยวาย เราเองก็ต้องคอยห้ามปราม ต้องเกรงใจคนอื่น ต้องเคารพ

     จะใช้เป็นข้ออ้างว่าเรามีเด็ก เราเลยมีสิทธิ์นั้นสิทธิ์นี้ หรือต้องเข้าใจฉันสิ ลูกฉันยังเด็กอยู่ อะไรแบบนี้ไม่ได้ นั่นเป็นสิ่งที่เราว่ามันไม่แฟร์กับคนอื่น เราต้องเคารพพื้นที่ของคนอื่นด้วย ไม่ใช่ว่าเราไปแล้วเราถืออภิสิทธิ์ว่าเราไปกับเด็ก เราจึงมีสิทธิ์มากขึ้น พิเศษขึ้น โดยไม่ต้องเคารพใครเลย เราว่าไม่ใช่ นั่นคือหลักการทั่วไปที่ต้องทำ ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม ต่างจังหวัด ต่างประเทศ ในห้างสรรพสินค้า คือแค่ออกนอกบ้านที่ไม่ใช่พื้นที่ของเราเอง เราก็ต้องเคารพคนที่ใช้พื้นที่ร่วมกันแล้ว

 

มีวิธีคิดอะไรใหม่ๆ บ้างไหมที่คุณได้เรียนรู้มาจากการเดินทางเพื่อถ่ายทอดให้ลูกๆ

     เราว่าการเดินทางทุกครั้งให้อะไรใหม่ๆ กับเราตลอดนะ มีคำหนึ่งที่เรากับสามีคิดอยู่ตลอด ซึ่งตอนแรกเราไม่เข้าใจคำนี้หรอก คือคำที่ว่า เราสอนเด็กให้มีความกล้า กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก แต่เราเพิ่งเปลี่ยนความคิดเมื่อไม่นานมานี้เอง คือเราจะสอนเด็กให้มีความกลัวมากกว่า เราต้องสอนเขาให้เรียนรู้ถึงการอยู่กับความกลัว เพราะความกล้าไม่ได้ทำให้เรามีชีวิตรอด กล้าเกินไปเราก็ตายได้นะ สิ่งสำคัญคือเราต้องจัดการความกลัวให้ถูกต้อง ถูกที่ถูกทางต่างหาก อะไรบ้างที่เราควรกลัว อะไรบ้างที่เราควรหยุด กลายเป็นว่าตอนนี้เราจะสอนเขาแบบนี้ เราไม่ได้สอนให้เขามีความกล้าเลยนะ แต่จะสอนว่าอันนี้คุณต้องกลัวแล้ว ต้องหยุดแล้ว ต้องรู้ว่าลิมิตของตัวเองคือเท่านี้ ไปมากกว่านี้ไม่ได้ รถคุณจะพังแล้วคุณจะกลับไม่ได้ ร่างกายคุณไม่ไหวแล้ว อะไรพวกนี้

 

มีเหตุการณ์การเดินทางครั้งไหนที่เกี่ยวกับเรื่องความกลัวที่คุณเคยเผชิญแล้วจำไม่ลืมบ้างไหม

     แต่ก่อนเราก็โตมาและถูกสอนว่าต้องมีความกล้าเหมือนกับทุกคนนั่นแหละ เราเองก็เป็นคนประเมินสถานการณ์ต่ำเกินไปในหลายๆ ที เช่น มองโลกแง่ดีเกินไป มีหลายเหตุการณ์เหมือนกันที่เราเคยเจอ เช่น ตอนไปเดินเทรลเพื่อไปดูธารน้ำแข็ง (glacier) กันทั้งครอบครัวที่นิวซีแลนด์ เราเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องเดินไกลเท่าไหร่ เขาก็บอกประมาณ 5 กิโล เราก็คิดว่าน่าจะไหว ตอนนั้นไปกับครอบครัวแล้วก็มีเพื่อนสนิทเราอีกคนไปด้วย ช่วงนั้นลูกคนเล็กเพิ่งขวบกว่าๆ ยังอยู่บนรถเข็นอยู่เลย ก็เข็นไปด้วยกัน ระหว่างทางก็สวยมาก ลูกคนโตสี่ขวบแล้วก็เดินเองได้ เราก็เดินกันตั้งแต่สิบโมงโดยที่ไม่ได้เตรียมอะไรเป็นชิ้นเป็นอันไปเลย เพราะคิดว่าเดินชิลๆ แค่ห้ากิโล ซึ่งเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าเดินประมาณสามชั่วโมงเอง ก็เดินไปเรื่อยๆ ผ่านสะพานหนึ่ง สะพานสอง เราเห็นลูกคนโตก็ยังเดินไหว โดยสามีเราก็บอกแล้วว่าให้เราไปกับเพื่อนสนิทกันสองคนเถอะ กลัวเด็กๆ ไม่ไหว แล้วเขาจะพาเด็กๆ กลับเอง แต่เรากับเพื่อนก็บอกว่าเขายังไหว เขาอยากไป ไปเถอะ ลูกคนโตก็บอกเดินไหว ส่วนลูกคนเล็กก็เข็นรถเข็นไป

      ปรากฏว่าเดินไปสักสามกิโลกว่า มันก็ถึงทางที่ต้องจอดรถเข็นแล้วเอาลูกคนเล็กขึ้นเป้อุ้ม เพื่อนเราก็เอาลูกคนเล็กเราขึ้นเป้อุ้มเดินไป ส่วนลูกคนโตก็เดินกับเรา ทีนี้เขาก็เริ่มไม่ไหว คือเด็กสี่ขวบเดินมาสี่กิโลแล้ว เขาเริ่มงอแง เริ่มเหนื่อย ของกินก็ไม่มี น้ำก็มีแค่ขวดเดียว ไม่ได้เตรียมอะไรจริงจังมาทั้งสิ้น เพราะประเมินสถานการณ์ผิด มองโลกในแง่ดีเกินไป มีความกล้าเกินไปที่เอาลูกไปด้วย แต่พอมาถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้ เพราะใกล้จะถึง glacier แล้ว ก็ต้องทั้งขู่ ทั้งปลอบ ให้เขาเดินไปจนถึง สุดท้ายไปถึงช้าสุด ทั้งสามี เพื่อนเรา ลูกคนเล็ก เขาไปถึงกันหมดแล้ว ตอนนั้นลูกคนโตเราก็เริ่มร้องไห้ เดินไม่ไหว อยากให้อุ้ม สามีเราก็สั่งไว้เลยว่าไม่ต้องอุ้ม เขาเป็นคนเลือกที่จะมาเอง เพราะถามแล้วว่าเขาจะมากับแม่ไหม หรือจะกลับกับพ่อ เขาก็เลือกว่าจะมา ดังนั้นเขาเลือกแล้ว เขาต้องรับผิดชอบ แล้วการรับผิดชอบนั้นจะทำให้คนอื่นลำบากไม่ได้ ก็ต้องให้เขาเดินเอง

     ทีนี้พอไปถึงจุดที่มี glacier ตัวธารน้ำแข็งมันละลายไปจนจะหมดแล้ว เพราะช่วงนั้นอากาศเริ่มร้อนขึ้นแล้ว สีน้ำก็ดูขุ่นๆ ดำๆ ไปแล้ว (หัวเราะ) ซึ่งพอไปถึงเสร็จก็ต้องกลับเลย ยังไม่ทันได้พักเหนื่อย เพราะว่าเวลานั้นก็บ่ายสองแล้ว ทอดเวลาไปแดดก็จะหมด แล้วเราก็ไม่มีเสื้อกันหนาวสำหรับการเดินในตอนที่แดดหมด สุดท้ายก็เลยได้อยู่พักประมาณสิบนาที แล้วก็เดินกลับอีกสี่ห้ากิโล คือเราไม่ได้ถามถี่ถ้วนไงเพราะระยะทางสี่ห้ากิโลที่เจ้าหน้าที่บอกเป็นแค่ขาเดียว ถ้ารวมไปกลับแล้วก็ประมาณเก้ากิโลเลย ทีนี้ขากลับลูกคนโตก็ต้องเดินกลับเองเหมือนเดิม เขาก็เริ่มร้องไห้อีก อาหารก็ไม่มี แล้วเขาก็พูดว่า เรามาทำอะไรกันที่นี่ (หัวเราะ)

     สุดท้ายเพื่อนเราก็ทนสงสารไม่ไหว พุ่งไปอุ้มเขาขึ้นมา พออุ้มปุ๊บ เขาหลับคาบ่าเลย ส่วนเรากับสามีก็สลับกันอุ้มลูกคนเล็ก เพื่อนเราก็อุ้มเขาไปประมาณไม่ถึงกิโล พอถึงจุดจอดรถเข็นก็ปล่อยเขาลง เขาก็กินแคร็กเกอร์ที่มีเหลือไม่กี่ชิ้นในรถเข็นที่ต้องแบ่งกินกับน้องด้วยจนหมด แล้วก็เดินต่อจนจบเก้ากิโล สรุปคือเขาเดินคนเดียวไปแปดกิโล ซึ่งตอนนั้นสี่ขวบเองนะ

     จากเหตุการณ์นั้นก็เป็นบทเรียนให้เรา ให้ลูกเรา แล้วก็ครอบครัวเหมือนกันว่า หนึ่ง เราต้องประเมินสถานการณ์ สอง ถ้าเราตัดสินใจไปแล้วว่าจะเลือกทางนี้ ก็ต้องรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง และไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน หลังจากนั้นมันเป็นบทเรียนให้ลูกเรามากเลยนะ ไม่ว่าจะไปเดินที่ไหน เขาจะภูมิใจในตัวเองมากว่าเขาเคยเดินระยะทางไกลกว่านี้ตั้งเยอะแล้ว โหดกว่านี้ ไกลกว่านี้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราไม่เคยอุ้มเขาอีกเลยนอกจากตอนหลับ เขาเดินได้หมด ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม

 

Travel makes us humble

 

การสอนให้ลูกรู้จักบทเรียนผ่านการเดินทางตั้งแต่เด็กนั้น คุณคาดหวังให้เขามีทัศนคติหรือตั้งคำถามต่อโลกหรือสังคมอย่างไรในอนาคต

     จริงๆ เราคาดหวังในการเลี้ยงลูกทั่วๆ ไปเลย ทั้งเกี่ยวกับการเดินทางและไม่เกี่ยวกับการเดินทาง คือเราอยากให้เขาปรับตัวเข้ากับคนอื่นให้ได้มากที่สุด ชีวิตเราอยู่ได้ด้วยการปรับตัว แล้วการเดินทางมันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สอนให้เราปรับตัว เราต้องไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เวลาเดินทางเราจะลดตัวเองลงเพื่อปรับตัวเข้ากับที่อื่น เพราะเราออกจากตัวตน ออกจากคอมฟอร์ตโซน มันช่วยให้เข้าใจคนอื่น ความคาดหวังสูงสุดคือเรากับสามีแค่อยากให้ลูกเป็นคนที่อยู่ที่ไหนก็ได้ในโลก ปรับตัวเข้ากับที่ไหนก็ได้ในโลก กินอะไรก็ได้โดยไม่มีปัญหา อยากให้เขาเป็น global citizenship หรือพลเมืองของโลกนี้ คือไม่ได้เป็นแค่พลเมืองของประเทศไทย แต่เป็นพลเมืองที่ดีของโลก และไม่สร้างภาระให้โลก

 

คำถามก็คือถ้าลูกๆ คุณโตไปแล้วเขาไม่ได้คิดแบบที่คุณพยายามบอกหรือสอนตอนเด็กๆ ล่ะ

     ก็เป็นตัวเลือกของเขานะ เราคอนโทรลทุกชีวิตในโลกไม่ได้หรอก ตัวของเราเองเรายังคอนโทรลบางอย่างไม่ได้เลย เราก็คิดว่าได้มอบสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดในฐานะพ่อแม่ให้เขาแล้ว ปลูกฝังให้เขาแล้ว น่าจะโอเคแล้ว ถ้าโตขึ้นแล้วเขามีวิจารณญาณของตัวเอง เขาจะเป็นยังไง นั่นก็เป็นชีวิตของเขาแล้ว แต่อะไรที่ละเมิดกฎหมาย ละเมิดคนอื่น ไม่ว่าเขาจะโตขนาดไหนเราก็ต้องตักเตือนเขา ว่าแบบนี้มันไม่ใช่แล้ว ถ้าเราคิดว่ามันละเมิดนะ

 

พอมาถึงตอนนี้การเดินทางทำให้ตัวคุณเอง หรือลูกๆ humble อย่างชื่อเพจอย่างไรบ้าง

     เราบอกตัวเองไม่ได้หรอก เราตัดสินตัวเราไม่ได้หรอก ก็เรียกว่าต้องพยายามในทุกวันดีกว่า เราเองก็ยังมีสิ่งที่ต้องปรับปรุงอยู่ตลอด ทั้งเราเอง สามี ลูกๆ แต่มันเป็นสิ่งที่เราตั้งใจจะให้เกิด ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็อยากจะลดอีโก้ แล้วก็ humble ให้ได้มากที่สุด

 

คนมักผูกการเดินทางกับเฉพาะคนหนุ่มสาวที่อยากแสวงหาตัวตนหรือจิตวิญญาณ ส่วนคนอายุมากมักหยุดเดินทางและแสวงหาตัวตนผ่านข้างใน จริงๆ แล้วคุณมองประเด็นนี้อย่างไร

     ถ้าในมุมมองเรา เราคิดว่าการเดินทางควรเป็นของคนทุกวัย ถ้าย้อนกลับไปประเด็นที่เราพูดตั้งแต่ต้น การเดินทางเราต้องปรับตัว ต้องลดอีโก้ แต่เนื่องจากพออายุมากขึ้นแล้วเราอาจจะทำในสิ่งนั้นได้ยากขึ้น หรือปรับตัวยากขึ้น ถ้าเราไม่เคยหัดมาตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้น สังเกตได้ว่าบางทีอาหารไม่อร่อยไม่ถูกปากก็จะกินไม่ได้ คนเราพอกินไม่ได้ก็ไม่มีความสุขแล้ว ถ้าเราไม่เคยถูกฝึกให้ปรับตัวปรับลิ้น มันก็เป็นเรื่องยากเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้นะ มันทำได้ แต่คุณก็จะเห็นว่ามันออกไปในรูปแบบอื่น เช่น ในทางศาสนา เวลาเขาอายุมากแล้ว เขาก็จะไปเดินจาริกแสวงบุญเพราะว่ามีศาสนาเป็นเครื่องมือบังคับให้เราต้องปรับตัว ละทิ้งตัวตน เป็นการอุทิศตนเพื่อคนอื่นเหมือนกัน ซึ่งนี่ก็ถือเป็นการเดินทางแบบหนึ่งนะ

     มันไม่ใช่ว่าอายุมากแล้วจะเดินทางไม่ได้ แต่ถ้าเราเริ่มตอนอายุมาก ตัวเราเองนั่นแหละที่จะปรับตัวยากขึ้น มันก็ต้องมีเครื่องมืออย่างอื่นมาทำให้เราปรับตัวเท่านั้นเอง

 

ปัจจุบันโลกโซเชียล เทคโนโลยี การคมนาคมทำให้การเดินทางง่ายขึ้น มันมีข้อดีข้อเสียอย่างไรสำหรับคุณ

     เรามองว่าเป็นเรื่องดีนะ ด้วยโลกโซเชียลทำให้คนรู้จักที่ต่างๆ มากขึ้น ที่ที่เราเคยกลัวว่าจะไปไม่ได้ ก็มีคนไปมาให้เห็นแล้วว่าควรทำอย่างไร ไหนจะสายการบิน ราคาตั๋วที่ถูกลง ทำให้คนได้เดินทางมากขึ้น เราว่ามันก็เห็นความเปลี่ยนแปลงนะ เด็กๆ รุ่นใหม่ก็รู้จักอะไรมากขึ้น พอเรารู้จักอะไรมากขึ้น มันก็ทำให้เรารู้ว่ายังมีอะไรมากกว่านี้อีกตั้งเยอะในโลกใบนี้ ไม่ใช่ตัวเราที่ดีที่สุด ยังมีมิติอื่นๆ มีวิธีการปฏิบัติอื่นๆ อีกเยอะแยะ เราก็จะเข้าใจคนอื่นมากขึ้น เวลาเราเข้าใจคนอื่นมากขึ้น นั่นคือหมุดหมายหลักที่ดีเลยสำหรับเรา 

 

Travel makes us humble
© Travel makes us humble

 

แต่ในบางมุม โซเชียลฯ กลับทำให้คนมีอีโก้มากขึ้นไหม พอเดินทางง่าย เราก็ไปเที่ยวเพื่อเช็กอิน โพสต์รูป อวดชีวิตกันเต็มฟีดเฟซบุ๊กไปหมด ซึ่งไม่น่าจะใช่สิ่งที่คุณคาดหวังจากการเดินทางแต่แรก

     ก็เป็นทางของใครของมันนะ คนเราก็มีวิถีชีวิตที่ต่างกันไป แต่อย่างน้อยการได้ออกไปทำอะไรสักอย่าง ถ้าเป็นภาษายุคใหม่ก็ออกนอกคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ก็คงทำให้ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างอยู่ดี ส่วนจะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ก็เหมือนกับทุกเรื่องในโลกนี้แหละ แต่เราว่าการที่คุณต้องออกจากบ้าน คุณเข้านอนเวลาไม่ตรงตามเดิม คาดเดาไม่ได้ว่ารถจะมาเมื่อไหร่ ตกรถบ้างบางที โดนขโมยกระเป๋า คอนโทรลอะไรไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะคุณคุยภาษาเขาไม่รู้เรื่อง สมมติไปประเทศที่เขาไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ คุณก็ต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารกับเขาให้ได้ ก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะคุณไปเที่ยวเพื่อถ่ายรูปหรือเพราะอะไร ก็ต้องมีการปรับตัวจากวิถีชีวิตปกติมาสู่วิถีชีวิตที่ไม่ปกติ หรือปกติไม่ได้ทำแบบนี้ ไม่ได้คุยแบบนี้อยู่แล้ว สมมติปกติคุณเป็นคนไม่ตรงต่อเวลา คุณลองไปญี่ปุ่นแล้วทำแบบเดิมสิ คุณตกรถไฟแน่ๆ ใช่ไหม คุณก็ต้องปรับตัว เราว่าไม่ว่าจะยังไงก็ตาม สุดท้ายแล้วมันก็ทำให้เราได้ปรับตัวอยู่ดี

 

เดี๋ยวนี้มีเพจท่องเที่ยวที่บอกให้เราออกเดินทางกันมากมาย จริงๆ แล้วคนเราจำเป็นต้องออกเดินทางเพื่อเรียนรู้อะไรบางอย่างจริงไหม

     ถ้าเป็นมุมมองของบ้านเรา แน่นอนว่าควรออกเดินทาง อย่างที่เราบอกมาตลอดว่าลูกๆ เราก็ได้ปรับตัวเยอะ อย่างลูกคนโต เมื่อก่อนเขากินอะไรก็ยากนะ เข้าห้องน้ำก็ไม่ได้ถ้าสกปรก ปวดท้องก็ไม่เข้าเลย แต่เวลาเดินทาง คุณจะไม่เข้าก็ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องเข้า พอคุณชนะความกลัวของตัวเองไปหนหนึ่ง ต่อไปมันก็จะทำได้ อีกไม่กี่ทริปถัดไปเราไปลี่เจียง แล้วเดินทางโดยรถไฟจีน 8 ชั่วโมง ต้องเข้าห้องน้ำในรถไฟจีน คิดดูแล้วกัน (หัวเราะ) แต่เขาก็สามารถเข้าได้ คือมันไม่มีที่อื่นแล้วไง มันก็จำกัดด้วยทรัพยากร ถ้าคุณไม่ทำ มันก็ไม่มี มีแค่ศูนย์หรือหนึ่งเท่านั้น ในชีวิตคนเราไม่มีทางเลือกมากมายนะ บางอย่างก็ต้องเลือกที่จะปรับตัวหรือตาย ซึ่งการเดินทางให้มายด์เซตนี้กับทุกคนที่เดินทาง และมายด์เซตนี้จะช่วยขัดเกลาตัวตนของเรา มันถึงทำให้เรา humble ไง

 

ทุกคนควรจะมีมายด์เซตแบบนี้ในการดำเนินชีวิตในสังคมใช่ไหม

     ถ้ามี มันก็ทำให้คุณเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นนะ สมัยนี้เขาบอกว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการทำงานก็ตาม หรือในการโตเป็นคนที่มีคุณภาพในอนาคตก็ตาม ต้องมีคุณลักษณะนี้ ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า resilience ถ้าจะแปลความง่ายๆ ก็คือ ความสามารถในการกลับมาเป็นปกติหลังจากพบกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติน่ะ มันคือความยืดหยุ่นเมื่อคุณพบกับความผิดหวัง ความยืดหยุ่นเมื่อคุณพบกับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด ความยืดหยุ่นเมื่อคุณทำผิดพลาด อกหัก ตกงาน แล้วกลับมายืดอกใช้ชีวิตปกติได้

     เราว่าการเดินทางมันฝึกคาแร็กเตอร์นี้เยอะนะ ยิ่งคุณไปประเทศที่ด้อยพัฒนา คุณจะมีอะไรที่วางแผนไม่ได้เยอะมาก คุณบอกว่าเวลานี้จะไปถึงเมืองนี้ แต่ถนนก่อสร้างตลอดทาง รถก็ขับได้เร็วแค่นี้ กว่าจะไปถึงก็มืดค่ำ ไม่ได้กินข้าวกลางวัน ไม่มีร้านอาหารดีๆ ระหว่างทางเลย คุณจะทำยังไง หรือถ้ามีโจรมาปล้น ของหาย เงินหมด คุณก็ต้องหาทางแก้ไขและปรับตัว มันก็จะสร้างคุณสมบัติการปรับตัว การแก้สถานการณ์เฉพาะหน้าและความยืดหยุ่นในชีวิตมากขึ้น

     เมื่อเรามีความยืดหยุ่นในชีวิต เราจะเรียนรู้ที่จะอยู่กับความผิดพลาดและเข้าใจคนได้มากขึ้น เมื่อเราเข้าใจคนอื่น เราจะให้อภัยคนอื่นได้ง่ายขึ้น เพราะเราเข้าใจที่มาที่ไปของการกระทำเขาไง

 

แต่เราเองก็น่าจะถูกปลูกฝังทัศนคติหรือการมองโลกบางอย่างมาตั้งแต่เด็ก พอเราไปเจอสิ่งที่ต่างจากเรามากๆ มันก็คงไม่ง่ายที่จะทำความเข้าใจ มีวิธีไหนที่จะทำให้เราเปิดใจรับสิ่งเหล่านั้นได้ไหม

     (นิ่งคิด) เดี๋ยวนี้เราว่าโลกมันดีขึ้นเยอะนะ พอมีเทคโนโลยีหรืออินเทอร์เน็ต มันก็เปิดโอกาสให้เราได้ศึกษาก่อน พอศึกษาก่อนเราก็มีความรู้ แต่ก่อนมันไม่มี เราต้องหาหนังสือมาอ่าน ต้องขวนขวายเอง แต่เดี๋ยวนี้มันแทบจะส่งตรงถึงบ้านคุณแค่ปลายนิ้วมือเลย ทุกที่ที่คนไปก็จะมีพื้นฐานข้อมูลคร่าวๆ ให้เราหาได้ก่อนไปถึงที่นั้นอยู่แล้ว พอเรารู้ข้อมูลพื้นฐานแล้ว ก็ทำให้ปรับตัวง่ายขึ้นนะ เรามีข้อมูลในหัวก่อนจะไปแล้ว ไม่ใช่เราไปถึงปุ๊บแล้วสตันต์เหมือนมาร์โค โปโล เมื่อหลายร้อยปีที่แล้ว มันไม่ใช่ มันแทบไม่มีสถานที่ใดในโลกที่เราไม่รู้จักมาก่อนอีกต่อไปแล้ว

 

Travel makes us humble
© Travel makes us humble

 

อยากรู้ว่านอกจากที่ลูกๆ คุณจะได้บทเรียนจากการเดินทางที่สอนให้เขาเข้าใจและปรับตัวง่ายแล้ว มันช่วยสร้างบรรยากาศอย่างไรในครอบครัวของคุณเองบ้าง

     พอเรามีลูก เราก็ไม่เคยคิดที่จะไปเที่ยวประเทศที่มันยากลำบากกับเขาเกินไป ต้องขอบคุณแฟนเราด้วย เวลาเราเลือกที่ที่เราจะไปทริป เราจะเลือกที่ที่เขาก็สนุก เราก็สนุก คือจะร้อยเปอร์เซ็นต์เขาสนุกอย่างเดียวเราก็ไม่โอเคนะ คือเด็กไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกอย่างในจักรวาลครอบครัว เขาก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการใช้ชีวิตร่วมกับพ่อแม่ด้วยเหมือนกัน เรื่องนี้ที่อาจจะแตกต่างจากคนอื่นอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มีถูกมีผิดนะ คือให้เราไปเที่ยวยาวๆ ที่ทั้งโปรแกรมเป็นกิจกรรมของลูกร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เราก็ไม่โอเค สามีเราก็ไม่โอเค เราต้องแบ่งเขาแบ่งเรา เราต้องมีบาลานซ์ระหว่างกัน พ่อก็โอเค แม่ก็โอเค ลูกก็โอเค ทุกคนแฮปปี้ คือคุณอาจจะไม่ได้แฮปปี้แบบสุดๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ทุกคนก็ได้เฉลี่ยความแฮปปี้ไปเท่าๆ กัน

     โลกนี้มันไม่สามารถที่คุณจะได้ทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ คุณต้องแบ่งปัน การเดินทางมันก็สอนเรื่องการ sharing เหมือนกัน ไม่ใช่คุณเป็นเด็กแล้วคุณเป็นศูนย์กลาง ทรัพยากรทุกอย่างของครอบครัวต้องพุ่งไปที่คุณ อันนี้ก็ไม่ใช่ไอเดียของบ้านเรา เราเชื่อในเรื่องการแชร์กัน

     อย่างที่บอกว่าบางทีเราไม่มีเวลาอยู่กับลูก เพราะทุกคนต้องทำงาน แต่เวลาเราเดินทางด้วยกัน เราจะเรียนรู้ข้อจำกัดของกันและกัน เช่น ลูกคนเล็กของเรา เราเพิ่งรู้ไม่นานมานี้ตอนเขาสักสามขวบว่าเขาเป็นหอบหืด คือเราไปเที่ยวที่หนึ่งในอิตาลี แล้วมันมีกลิ่นบุหรี่ มีอากาศเบาบางในบางเมือง เขาก็เริ่มหายใจไม่ออก และบ้านเราก็ไปเดินเทรลกันทั้งบ้านเหมือนเดิม เดินข้ามเขาสี่ห้ากิโล เซเล่ลูกคนเล็กตอนนั้นอายุสามขวบเขาก็เดินได้นะ ไม่มีต้องอุ้ม แต่บางช่วงเขาเหนื่อย หัวใจเต้นเร็วมาก หายใจไม่ค่อยได้ ก็เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ใหม่จากเขาเหมือนกันว่า เฮ้ย เราต้องดูแลกันและกันในจุดนี้ เมื่อสมาชิกคนหนึ่งของทีมเรามีข้อจำกัดนี้ เซเล่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเองและรู้จักข้อจำกัดของตัวเอง ซีเรียซึ่งเป็นพี่ก็ต้องคอยดูน้องว่า ในจุดนี้เขาไหวไหม พ่อแม่ก็ต้องคอยดูลูก เราต้องเทกแคร์กันและกัน คือจะไม่ละทิ้งใครคนใดคนหนึ่งไว้ข้างหลัง ซึ่งการเดินทางมันก็ทำให้เราได้เซนส์นี้มา

 

การรู้จักที่จะเรียนรู้ข้อจำกัดของตัวเองหรือของคนอื่นเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตคนเราอย่างไรบ้าง

     สำคัญมากนะ เราเขียนไว้ตั้งแต่ตอนเปิดเพจแรกๆ ว่า สิบข้อสำคัญที่การเดินทางให้กับคุณมีอะไรบ้าง มันทำให้เราได้เรียนรู้ตัวเองว่าเราเป็นมนุษย์ตัวจิ๋ว เรามีข้อจำกัดเยอะมาก สิ่งที่เราคิดกับตัวเอง หรือสิ่งที่เรานอนคิดที่บ้านว่า โอ๊ย แค่นี้สบาย ฉันเป็นคนกินอะไรก็ได้ บางทีมันก็ไม่ใช่เลย เพื่อนเราหลายคนคิดแบบนี้ว่าฉันกินอะไรก็ได้ กินได้ทุกอย่าง แต่พอไปเที่ยวอินเดียนี่แทบจะร้องไห้ กินอาหารอินเดียต่อเนื่องนานๆ ไม่ได้ ในที่สุดต้องวิ่งเข้าร้านอาหารจีน ร้านอาหารอิตาเลียน ดังนั้น ที่คุณบอกกับตัวเองว่าฉันเป็นคนกินอะไรก็ได้ กินอาหารท้องถิ่นได้สบายมาก ก็ไม่จริงอีกต่อไป หรือเราอาจคิดว่าตัวเองเป็นคนแข็งแกร่ง เดินแค่นี้สบาย แต่พอถึงจุดที่ร่างกายเรารับไม่ได้ หัวใจเต้นเร็วมาก หายใจไม่ทัน ก็ทำให้รู้ข้อจำกัดของตัวเอง

     การเรียนรู้ข้อจำกัดของตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะมันจะทำให้เราไม่ประเมินตัวเองผิด เราจะได้ไม่มั่นใจในชีวิตเกินไปว่าฉันเป็นคนเก่ง ฉันทำอะไรก็ได้ แต่ถ้าคุณไม่มั่นใจในตัวเองเกินไป คุณก็จะรู้ตัว คุณก็จะไม่ผิดหวังแบบ โอ๊ย ฉันมั่นใจ แต่พอคุณไปทำงาน ไปเรียนแล้วสอบตก เพื่อนไม่รัก คุณก็มีความผิดหวังรุนแรงในชีวิต ซึ่งมันก็เกิดจากการประเมินตนเองผิด ไม่รู้จักตนเองว่าอะไรทำได้ ทำไม่ได้

 

สุดท้ายแล้วคนเราควรเดินทางไปถึงเมื่อไหร่ของชีวิต หรือเมื่อไหร่ควรเลิกเดินทางแล้วหยุดอยู่กับที่

     มนุษย์เราก็เดินทางตลอดอยู่แล้วนะ จริงๆ เราเพิ่งตั้งรกรากเมื่อไม่นานมานี้เอง ถูกไหม ถ้าคิดตามเวลาของประวัติศาสตร์โลก เราก็เดินทางกันมาตลอด แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่เราควรหยุดเหรอ (นิ่งคิด) คิดว่าคงเมื่อตายมั้งนะ (หัวเราะ) หรือเมื่อร่างกายเราไม่ไหว คือถ้าคุณยังมีทรัพยากรเพียงพอ ทั้งกำลังกาย ทั้งค่าใช้จ่าย ก็คงจนกว่าจะไปไม่ไหวแหละ เมื่อร่างกายไม่ไหว เราก็คงรู้ว่าเราไปบางที่ไม่ได้แล้ว เราคงไป Everest base camp ไม่ไหวแล้ว จริงๆ การเดินทางมันก็ทำให้เรารู้ว่าที่ไหนเหมาะกับเรา ที่ไหนไม่เหมาะกับเรา เราฝืนเราก็ตาย ถึงได้บอกว่าเราต้องจัดการความกลัวนะ เราไม่ได้สอนให้กล้า เพราะความกลัวทำให้คุณมีชีวิตรอด ไม่ใช่ความกล้า

 

แก่นของการเดินทางที่คุณได้พบในวัยนี้คืออะไร

     สำหรับเราไม่มีแก่นนะ เอาเป็นว่าเราสนุกกับการได้ไปดูวัฒนธรรมอื่น ได้เข้าใจคนอื่น ได้เห็นโลกที่เราไม่เคยเห็น อย่าพูดว่าเป็น core idea อะไรแบบนี้เลย เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เรากับสามีชอบเหมือนกัน แล้วเราก็อยากให้ลูกได้ด้วยกันกับเรา ได้เห็นในสิ่งที่เราเห็น ได้เห็นโลกอื่น ได้เห็นวัฒนธรรมอื่น ได้เห็นว่าโลกใบนี้มันมีอะไรอีกมากมายนอกจากที่บ้านของคุณ อาหารก็มีอีกหลายอย่างที่ให้คุณลอง มีคนอีกมากมายหลากหลายประเภท มีอีกหลายศาสนา มีความเชื่ออีกหลายอย่าง ยิ่งเราได้รู้มากขึ้นเท่าไหร่ มันยิ่งเป็นความสวยงาม

     เราเคารพความสวยงามของมนุษย์ในจุดนี้ว่ามันหลากหลายมากมาย แล้วเราก็อยากไปเห็นให้มากที่สุด เราชอบไปเที่ยวที่ที่มันมีวัฒนธรรมต่างจากเรา ง่ายๆ คืออยากให้ลูกได้เห็นด้วยเท่านั้นเอง นอกจากนั้นเราถือว่าเป็นผลพลอยได้เมื่อคุณต้องเดินทาง