ในงานปิดเทศกาล 2019 Taiwan LGBTQ Film Festival in Bangkok ที่จัดขึ้นที่สมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ (Alliance Française Bangkok) ได้นำ I Don’t Want to Sleep Alone (2006) ผลงานของ ไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) ผู้กำกับชาวมาเลเซีย-ไต้หวัน มาฉายในวันปิดงาน เพื่อแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายและการยอมรับในผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ และเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิทธิทางเพศของไต้หวัน รวมถึงเฉลิมฉลองวาระที่ไต้หวันกลายเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ผ่านกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกัน
หนังแสดงให้เราเห็นถึงชีวิตของชนชายขอบในสังคมผ่านตัวชายหนุ่มเร่ร่อนนิรนามที่บังเอิญไปพัวพันกับชายหนุ่มหัวโจกของเหล่าแรงงานต่างด้าว, สาวชนชั้นแรงงาน และอาเจ๊เจ้าของร้าน ที่ต้องดูแลประคบประหงมชายหนุ่มพิการในร้านซอมซ่อ ในตรอกซอกซอยมืดอับของกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของประเทศมาเลเซีย หนังถ่ายทอดสภาพของชนชั้นล่างในยามที่เศรษฐกิจตกต่ำ ผู้คนต้องดิ้นรนกระเสือกกระสน ใช้ชีวิตอย่างอัตคัด ไร้ทางออก ในเมืองใหญ่อันโสโครกไปด้วยขยะและหมอกควัน แต่พวกเขาเหล่านั้นก็ยังคงมีอารมณ์ความรัก ความใคร่ และความปรารถนาอยู่อย่างเปี่ยมล้น
ทุกอย่างในหนังนั้นดำเนินไปด้วยอารมณ์เนิบช้า หดหู่ ตายซาก แต่ก็เต็มไปด้วยความแปลกประหลาด ชวนเคลิ้มฝัน และขำขื่นในบางครา
การได้ดูหนังของไฉ้หมิงเลี่ยงในโรง ก็ยิ่งตอกย้ำกับเราว่า เขาออกแบบให้มันถูกดูในโรงอย่างแท้จริง ทั้งงานด้านภาพที่ถึงแม้กล้องจะแช่ภาพนิ่งๆ นานๆ แต่ภาพในหนังของเขาก็ลุ่มลึก เต็มไปด้วยมิติของพื้นที่ และเผยให้เห็นการไหลผ่านของเวลาอย่างน่าทึ่ง มีการใช้ประโยชน์จากแสงสว่างและความมืดอย่างประณีต รวมถึงการถ่ายทอดบรรยากาศในฉากหลังออกมาได้อย่างเปี่ยมมนตร์ขลัง
ไฉ้หมิงเลี่ยงเป็นผู้กำกับที่เก่งกาจในการเลือกหาฉากในการถ่ายทำ ฉากในหนังของเขาเต็มไปด้วยความสมจริงและเหนือจริงในคราวเดียวกัน รวมถึงการถ่ายทอดเสียงของบรรยากาศรอบข้างออกมาอย่างซับซ้อนละเอียดอ่อน มีหลายครั้งเสียงบรรยากาศที่ว่าก็เป็นตัวเล่าเรื่องโดยที่ตัวละครไม่ต้องพูดออกมาสักคำเดียว
ถึงแม้หนังจะเนิบช้า (ไปจนนิ่งงันในบางขณะ) แต่ก็เป็นความช้าที่ปล่อยพื้นที่ว่างให้เราได้หายใจ ซึ่งเป็นสิ่งเราไม่ค่อยพบเห็นในหนังกระแสหลักหรือบล็อกบัสเตอร์ ที่รวดเร็วไม่ปล่อยให้เราหยุดพักหายใจหายคอ และถึงแม้จะเคลิ้มไปกับบรรยากาศเอื่อยเฉื่อยในหนังจนวูบหลับไปบ้าง แต่เราก็ยังตื่นมารื่นรมย์กับมันได้ต่อโดยไม่สะดุดแต่อย่างใด
เขาถ่ายทอดภาพของกิจกรรมบ้านๆ ธรรมดาสามัญของคน อย่างการทำอาหาร กินข้าว อาบน้ำ ซักผ้า นอนหลับ หรือแม้แต่การนั่งขับถ่ายในส้วมได้อย่างเป็นธรรมชาติและงดงามอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากพลอดรักในฝุ่นควันพิษ เป็นฉากเลิฟซีนที่ทุลักทุเลที่สุดฉากหนึ่งที่เราเคยเห็นเลยก็ว่าได้
และถึงแม้ตัวละครในหนังของเขาแทบจะไม่มีบทสนทนา หรือพูดจาอะไรกันเลย แต่ตัวหนังก็วิจารณ์สภาพสังคมและความเป็นอยู่ของคนในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณภาพชีวิตอันต่ำเตี้ยเรี่ยดินและความเป็นอยู่อันแร้นแค้นย่ำแย่ของคนชายขอบของสังคมในเมืองใหญ่อย่างกัวลาลัมเปอร์ออกมาได้อย่างถึงเลือดเนื้อ ด้วยการใช้รายละเอียดของฉาก บรรยากาศ และนำเสนอกิจวัตรความเป็นอยู่ต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างเป็นธรรมชาติ ดิบ สมจริง หรือบางครั้งก็เหนือจริงอย่างยิ่ง
ที่น่าตื่นเต้นก็คือการที่ผู้กำกับของหนังเรื่องนี้อย่างไฉ้หมิงเลี่ยงตัวจริงเสียงจริง มาปรากฏตัวหลังจากฉายหนังจบ และนั่งสนทนาบอกเล่าถึงเบื้องลึกเบื้องหลังการทำงานของเขาอย่างเป็นกันเองในงานครั้งนี้ด้วย
เขาเริ่มต้นเล่าถึงความหลังให้เราฟังว่า เขาเกิดที่ประเทศมาเลเซีย หลังจากจบไฮสกูล เขาย้ายไปเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยที่ไต้หวัน ในช่วงนั้นไต้หวันยังปกครองอยู่ภายใต้รัฐบาลทหารและกฎอัยการศึก ซึ่งพ่อของเขาดีใจมากที่ลูกชายไปเรียนที่นั่น เพราะสถาบันการศึกษาถูกบริหารจัดการและควบคุมโดยทหาร นัยว่าน่าจะมีระเบียบดี อะไรทำนองนั้น
แต่ปรากฏว่าหลังจากที่เขาไปอยู่ไม่นาน ไต้หวันก็ยกเลิกกฎอัยการศึก และเริ่มเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย
ก่อนหน้านั้น วงการหนังของไต้หวันอยู่ในยุคเฟื่องฟูและเต็มไปด้วยหนังตลาด มีหนังถูกทำออกมา 300 เรื่องต่อปี หนังไต้หวันเป็นสินค้าส่งออกไปยังประเทศที่มีชาวจีนอยู่ทั่วโลก หนังยุคนั้นเป็นหนังโรแมนติกและหนังกำลังภายในเป็นส่วนใหญ่
ในช่วงที่ไต้หวันยกเลิกกฎอัยการศึก เป็นช่วงเดียวกับที่วงการหนังของไต้หวันซบเซา ด้วยความที่มีหนังตลาดมากเกินไป จนทำให้นักแสดงหลายคนต้องระเห็จไปยังฮ่องกงเพื่อรับงาน ในช่วงนี้เองที่เป็นยุคสำคัญของวงการหนังไต้หวัน เมื่อประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและเปิดกว้างด้านสังคมและการเมือง จากที่เคยทำหนังเพื่อการค้าแต่เพียงอย่างเดียว คนทำหนังเริ่มหันมาพูดถึงประเด็นอื่นๆ มากขึ้น มีการนำเข้าหนังต่างประเทศโดยเฉพาะยุโรปเข้าสู่ไต้หวันมากขึ้น ซึ่งเป็นการเปิดหูเปิดตาแก่ผู้ชมและคนทำหนังในไต้หวัน ส่งผลให้เกิดผู้กำกับคลื่นลูกใหม่หลายคนที่เสาะแสวงหาเส้นทางใหม่ๆ ในการทำหนัง อย่าง โหวเสี่ยวเซี่ยน และ เอ็ดเวิร์ด หยาง ทำให้ถึงแม้หนังไต้หวันจะสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในเอเชียไป แต่ก็ได้ตลาดใหม่อย่างยุโรปและญี่ปุ่นแทน
ตัวไฉ้หมิงเลี่ยงเองเป็นผู้กำกับคลื่นลูกที่สอง หลังจากที่ผู้กำกับรุ่นพี่เหล่านี้เบิกทางเอาไว้ให้ จนเริ่มได้รับความสนใจอย่างมากจากแวดวงเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติต่างๆ นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขายังคงทำหนังในแบบของเขาต่อไปได้
เขาเล่าให้เราฟังว่า เขาเริ่มทำหนังเรื่องแรกในปี 1992 โดยหนังสามเรื่องแรกของเขาได้ทุนสร้างจากบริษัท Central Motion Pictures ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากพรรคก๊กมินตั๋ง หลังจากนั้นหนังของเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากสถานีโทรทัศน์แห่งชาติของฝรั่งเศส-เยอรมัน หรือ ARTE
ส่วนหนังเรื่องที่นำมาฉายในเทศกาลหนังครั้งนี้อย่าง I Don’t Want to Sleep Alone นั้น เป็นหนังที่เขาได้รับทุนจากรัฐบาลประเทศออสเตรีย กรุงเวียนนา ในวาระเฉลิมฉลอง 250 ปีชาติกาลของโมสาร์ต (ซึ่งเป็นเหตุผลที่เขาใช้เพลงของโมสาร์ตในฉากเริ่มต้นของหนังด้วย)
เขาเล่าว่า ในครั้งนั้น เขามีโอกาสกลับไปถ่ายทำหนังเรื่องนี้ในบ้านเกิด ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย แต่เมื่อเขาทำหนังเรื่องนี้เสร็จ เขาก็ตัดสินใจว่าจะไม่นำเข้าไปฉายในโรงหนังที่นั่น เขาออกจากมาเลเซียทันทีที่ถ่ายทำเสร็จ แต่เขาก็ลองส่งให้คณะกรรมการเซ็นเซอร์ของมาเลเซียตรวจสอบดู ผลก็คือมันถูกแบนในมาเลเซียทันที
เมื่อเขาถามถึงเหตุผล คณะกรรมการเซ็นเซอร์ก็ตอบมาในรูปแบบของจดหมาย โดยมีเหตุผล 8 ข้อ ซึ่งเขาจำได้เพียง 2-3 ข้อ ข้อแรกคือในหนังมีขยะมากเกินไป ข้อสองคือในหนังมีแรงงานต่างด้าวมากเกินไป ข้อสามคือมีฉากหนึ่งในหนังที่เห็นภาพอวัยวะเพศของ หลี่คังเซิง แข็งตัว จนเป็นเหตุผลทำให้หนังเรื่องนี้ถูกแบนในมาเลเซีย
หลังจากที่เขานำจดหมายนี้ไปให้สื่อมวลชนเผยแพร่สู่สาธารณชน ก็ทำเกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของกองเซ็นเซอร์ในมาเลเซียอย่างกว้างขวาง ทำให้เขาคิดว่า ถึงแม้หนังเรื่องนี้จะไม่ได้ฉายในมาเลเซีย แต่อย่างน้อยๆ มันก็ก่อให้เกิดบทสนทนาขึ้นในสังคมที่นั่นได้บ้าง
หลังจากนั้นเขาก็ส่งหนังไปให้กองเซ็นเซอร์พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้มันได้รับอนุญาตให้ฉาย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องตัดฉากในหนังออกไป 5 ฉาก นิตยสาร Asia Weekly ได้มาสัมภาษณ์ความรู้สึกของเขาว่า เขาต้องการฉายหนังเรื่องนี้ในมาเลเซียหรือเปล่า ซึ่งก่อนหน้านี้เขาก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องตัดฉากในหนังของตัวเอง แต่เขาตอบว่า เขาต้องการให้หนังเรื่องนี้ได้ฉายให้คนทั่วไปได้ดู เพราะถ้ามันไม่ได้รับการฉายในมาเลเซีย บทสนทนาหรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นก็จะจบลงแค่นั้น
สรุปแล้ว หลังจากที่ยอมตัด หนังของเขาก็ได้รับอนุญาตให้ฉายแค่เพียงโรงเดียว แถมยังไม่ใช่โรงอยู่ในเขตเมือง แต่อยู่ในชนบทที่ห่างไกล เขาก็ต้องคิดวางแผนว่าจะประชาสัมพันธ์หนังได้อย่างไร เขาเลยออกสโลแกนว่า ขอเชิญให้ทุกคนมาดูหนังที่ถูกตัดไปโดยกองเซ็นเซอร์ เขากล่าวติดตลกว่า มีข่าวลือว่า ที่หนังของเขาผ่านกองเซ็นเซอร์มาได้ก็เพราะคนตรวจเบื่อจนหลับไประหว่างตรวจหนังของเขา ก็เลยปล่อยให้ผ่านๆ ไป
เขากล่าวว่า มีสื่อมวลชนถามเขาเหมือนกันว่ากังวลไหม ถ้าเกิดเขาฉายหนังเรื่องนี้ในที่มาเลเซียแล้วคนดูเกิดหลับกันหมดเลย เขาบอกว่าเขาไม่กังวลอะไรหรอก เพราะตอนที่เอาหนังเรื่องนี้ไปฉายที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเวนิส (Venice Film Festival) คนดูก็แค่ยืนปรบมือให้ทั้งโรงเท่านั้นเอง การนำภาพยนตร์เรื่องนี้ไปฉายที่มาเลเซีย เขาไม่ได้หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงฉับพลันอะไร เขาแค่คิดว่ามันจะเป็นหนึ่งในก้าวที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้
เขายังเล่าถึงผลงานเรื่องล่าสุดของเขาที่ถ่ายทำในกรุงไทเป ประเทศไต้หวัน อย่าง Your Face (2018) ที่ทั้งเรื่องมีแค่ฉากโคลสอัพหน้าของตัวละคร 13 ฉากเท่านั้น แต่มันก็ได้รับความสนใจจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติหลายแห่ง ซึ่งตอนนี้หนังเรื่องนี้ก็ฉายอยู่ในโรงหนังที่ไต้หวัน โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2019 และยังคงฉายมาจนถึงทุกวันนี้
เขากล่าวว่า คนที่มาดูหนังเรื่องนี้ของเขาก็ไม่ได้มาดูเรื่องราวอะไร แค่เพียงมาดูหน้าของตัวละครเท่านั้น และหนังเรื่องนี้ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากผู้ชมที่นั่น และได้รับการเสนอชื่อให้เข้าชิงรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมใน Taipei Film Festival
เขาได้รับเชิญให้เขียนถึงความรู้สึกอะไรสักอย่างเกี่ยวกับหนังเนื่องในโอกาสนี้ ซึ่งสิ่งที่เขาเขียนนี้เอง ก็เป็นสิ่งที่เขายกมาตั้งคำถามกับผู้ชมชาวไทย และอยากให้พวกเราคิดกันอย่างจริงจังด้วยว่า สำหรับพวกเราแล้ว “ภาพยนตร์คืออะไรกันแน่?”
นอกจากได้ดูหนังและได้ร่วมฟังการสนทนาของเขาหลังจากหนังจบแล้ว เรายังมีโอกาสได้สัมภาษณ์พูดคุยกับผู้กำกับที่ได้รับฉายาว่าเป็น ‘ปรมาจารย์แห่งหนังเนิบช้า’ มาพอหอมปากหอมคออีกด้วย มาร่วมกันรับฟังเรื่องราวจากเขาไปพร้อมๆ กันเถอะ
อ้อ ที่สำคัญอีกประการ เขายังเล่าให้เราฟังว่าตอนนี้กำลังถ่ายทำผลงานเรื่องล่าสุดของเขาในกรุงเทพฯ อีกด้วย!
การที่คุณเกิดที่มาเลเซียแล้วไปเติบโตและเริ่มต้นทำงานหนังที่ไต้หวัน พื้นฐานและบริบททางสังคมที่แตกต่างกัน ส่งผลต่อความคิดและชีวิตของคุณไหม
ผมมีความสุขกับเสรีภาพในไต้หวันนะ เพราะในช่วงเวลาที่ผมไปเรียนที่นั่น สมัยนั้นไต้หวันเริ่มเปิดเข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตย ช่วงเวลาที่ผมเริ่มต้นทำงานสร้างสรรค์ก็เป็นช่วงเวลาที่ผมได้เห็นประชาธิปไตยเริ่มเกิดขึ้นที่นั่น เมื่อเทียบกับมาเลเซียบ้านเกิดของผม มันค่อนข้างแตกต่างกัน เพราะในมาเลเซียมีปัจจัยที่สลับซับซ้อนเกี่ยวกับเรื่องการเมือง ผิดกับไต้หวันที่เปิดกว้าง มีเสรีภาพมากกว่า ซึ่งทำให้ผมมีความสุขที่นั่นมากกว่า
หลายคนเรียกคุณว่าเป็นปรมาจารย์แห่งหนังเนิบช้า (The Master of Slow Cinema) คุณคิดว่าหนังของตัวเองช้าไหม
ในหนัง ผมมักใช้ภาพเชื่องช้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวบางอย่าง เพราะสำหรับผม หนังมีไว้ดู ไม่ใช่แค่ฟังอย่างเดียว ภาพที่ดูช้าๆ เหล่านั้นก็เพื่อให้ผู้คนมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เอ๊ะ! มันไม่ได้หมายถึงภาพแบบสโลว์โมชันใช่ไหม
เปล่าๆ ผมหมายถึง Slow Movie น่ะ
อ๋อ นั่นแหละ มันคือคำตอบเดียวกัน (หัวเราะ)
นอกจากนี้ คุณมักเลือกใช้นักแสดงคนเดิมๆ ในหนังของคุณ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลี่คังเซิง ที่อยู่ในหนังของคุณทุกเรื่องเลย
เหตุที่ผมเลือกใช้นักแสดงคนนี้ก็เพราะเขาแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนธรรมดาๆ ไม่ใช่นักแสดงที่กำลังทำการแสดงบทบาทหนึ่งอยู่ นั่นเป็นเหตุผลที่ผมมักเลือกเขามาเป็นนักแสดงในหนังของผม การแสดงถึงคนธรรมดาทั่วไป ความธรรมดาสามัญ หลี่คังเซิงสามารถแสดงให้เห็นถึงความธรรมดาในวิถีชีวิตธรรมดาๆ ของคนที่ไม่ใช่การแสดงสำหรับผม ด้วยเหตุนี้หนังจึงสามารถเป็นสื่อที่แสดงให้เห็นถึงความจริง ชีวิตจริงของผู้คน และหลี่คังเซิงสะท้อน ‘ความเป็นจริง’ ที่ว่านี้ออกมาได้
แถมตัวละครในหนังของคุณมักจะแสดงท่าทางนิ่งๆ เงียบงัน ไร้บทสนทนา แทบจะไม่พูดจากันเลยสักคำเดียว
(หัวเราะ) เพราะผมไม่เชื่อในบทสนทนาในหนังน่ะสิ แล้วคุณล่ะ? คุณเชื่อบทพูดในหนังเหรอ? ผมเชื่อว่าจุดประสงค์ของการการดูหนังไม่ใช่เพื่อความเข้าใจเนื้อเรื่องของหนัง แต่เพื่อการมองเห็น การดูคือสิ่งสำคัญที่สุด มีฉากที่พิเศษมากๆ ฉากหนึ่งในหนังเรื่อง I Don’t Want to Sleep Alone ที่หลี่คังเซิงยืนดูคนเล่นมายากลข้างถนน ตอนแรกผมคิดว่าจะไม่ใส่คำบรรยายอะไรลงไปเลยในฉากนี้ เพราะผมคิดว่าทุกคนดูแล้วน่าจะรู้แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นตอนนั้น แต่ทีมงานรอบตัวของผม รวมถึงโปรดิวเซอร์ ขอร้องให้ใส่คำบรรยายลงไปหน่อยเถอะ (หัวเราะ)
ถ้าสมมติผมได้ทำหนังเรื่องนี้อีกครั้งในตอนนี้ ผมก็จะปฏิเสธที่จะใส่คำบรรยายใดๆ ลงไปในฉากนี้แน่นอน ผมอยากเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็น ได้ตีความสิ่งที่เห็นในหนัง ว่ามันสื่ออะไรกันแน่? แถมผมยังไม่เชื่อในการเขียนบทหนังด้วย ผมก็แค่ถ่ายทำในสิ่งที่ผมชอบเท่านั้นเอง
เห็นด้วยนะ หลายครั้งเวลาดูหนังของคุณ เราก็ไม่ต้องการคำบรรยายพวกนั้น
ขอบคุณครับ (ยิ้ม)
แล้วเรื่องเซ็กซ์ล่ะ ในหนังของคุณมีฉากเซ็กซ์ที่มีความแปลกประหลาด รสนิยมหลากหลาย และความเป็นเพศก็เลื่อนไหลเอามากๆ มันสะท้อนทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ของคุณใช่ไหม
สำหรับผม เซ็กซ์ควรจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาในชีวิตผู้คน เหมือนการดื่ม กิน หรือเหมือนตอนที่คุณนั่งขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ หลายคนมักใช้เซ็กซ์เป็นเครื่องมือทางธุรกิจ แต่สำหรับผม ผมต้องการใช้เซ็กซ์เพื่อแสดงให้เห็นถึงความปกติธรรมดาในชีวิตของคนทั่วๆ ไปเท่านั้นเอง
การแสดงถึงความปกติธรรมดาก็ช่วยให้เราเปิดกว้างและมีเสรีภาพใช่ไหม ตอนนี้ไต้หวันเองก็เพิ่งผ่านกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันไป
เรื่องนี้เป็นย่างก้าวที่ยากเย็นมากๆ ในไต้หวัน ก่อนหน้านี้ไม่มีใครคิดเลยว่าไต้หวันจะผ่านกฎหมายให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงานกันได้ด้วยซ้ำไป มีนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ ชื่อ ฉีเฉียเหวย (Chi Chia-wei) ที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิของ LGBTQ ในไต้หวันมามากกว่า 30 ปี ซึ่งเป็นเพื่อนของผม เพิ่งกล่าวไปว่าเขารู้สึกเซอร์ไพรส์มากที่เขามีชีวิตอยู่มาจนถึงวันที่กฎหมายการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันผ่านในไต้หวันได้
ถามความคิดเห็นของคุณเกี่ยวกับประเด็นการประท้วงที่ฮ่องกงในช่วงนี้ได้ไหม
ไม่ถามเรื่องการเมืองสิ! (หัวเราะ) ผมค่อนข้างไร้เดียงสาเรื่องการเมืองน่ะ ผมรู้แค่ว่าเราทุกคนต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อสิทธิและความเท่าเทียมในการดำรงชีวิต ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็ตาม แน่นอนว่าในประเทศไทยก็ด้วย ผมคงพูดอะไรเกี่ยวกับการเมืองไม่ได้มาก แต่ยกตัวอย่างให้ก็ได้ว่าประเด็นเรื่องสิทธิความเท่าเทียมของ LGBTQ ในไต้หวันเองก็มีขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยเป็นแรงสนับสนุนอยู่เบื้องหลังอย่างมาก ถ้าไร้ซึ่งประชาธิปไตย ก็จะไม่เกิดความเท่าเทียมของ LGBTQ ในไต้หวันแน่นอน (และกฎหมายการแต่งงานเพศเดียวกันในไต้หวันก็คงจะไม่ผ่านเช่นเดียวกัน)
การใช้ตัวละครที่เป็นคนชายขอบของสังคม อย่างเรื่องเพศ เรื่องคนต่างด้าว คนยากจน ทำให้หนังของคุณเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมใช่ไหม
ผมต้องการมุ่งเน้นไปที่ความมืดมน เพราะเมื่อคุณสังเกตเห็นมุมมืดในสังคม คุณก็จะมองเห็นปัญหาของสังคมซ่อนอยู่ในนั้นไปด้วย
เคยเห็นคุณให้สัมภาษณ์ว่าตัวเองเป็นคนแปลกแยก ไม่ได้เป็นคนของที่ไหนเลย ทั้งมาเลเซียหรือไต้หวัน นี่เป็นเหตุผลที่คุณมักจะสะท้อนปัญหาเหล่านี้ออกมาใช่ไหม
เวลาทำงานสร้างสรรค์ ผมต้องการเสรีภาพอย่างเต็มที่ จึงรู้สึกไม่ผูกพันกับทั้งไต้หวันและมาเลเซีย เพราะผมต้องการทำงานสร้างสรรค์เพื่อตัวเอง และผมคิดว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนของที่ไหน ถือว่าตัวเองเป็นปัจเจกชนนิยม (Individualism) มากกว่า ปัจจัยสำคัญในการทำหนัง แน่นอนว่ามันคือเงิน แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือความสุขในการมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ และเอ้อ ใช่! การมี หลี่คังเซิง เป็นนักแสดงให้ผมด้วย (หัวเราะ)
ในวงการหนังของไต้หวันมีการประนีประนอมกับนายทุนกันแค่ไหน และคุณเองล่ะประนีประนอมหรือเปล่า
ไม่เคยเลย ผู้ลงทุนสร้างหนังของผมมักจะให้เสรีภาพในการตัดสินใจอย่างเต็มที่ว่าผมต้องการจะทำหนังแบบไหน คุณก็แค่จัดสรรงบประมาณส่งมา วางแผนว่าคุณจะใช้มันอย่างไรให้สมดุล ผมเชื่อว่าคนรักหนังจะคิดแบบเดียวกันนี้ คือเราไม่ได้คิดแต่เรื่องเงินๆ ทองๆ อย่างเดียวเสมอไป แต่ในทุกวันนี้ ตลาดหนังระดับโลกเปรียบเป็นเหมือนอุตสาหกรรม ในขณะที่หนังของผมไม่ได้มุ่งเน้นทางการตลาด ดังนั้น ก่อนที่ผมจะทำหนัง ผมต้องหันกลับไปมองตลาดโดยรวม และหาหนทางที่จะอยู่รอดในตลาดหรือในระบบอุตสาหกรรมที่ว่านี้ให้ได้
ก่อนหน้านี้หนังของผมอาจมีผู้ชมแค่กลุ่มเล็กๆ แต่ตอนนี้ก็เริ่มมีผู้ชมเพิ่มมากขึ้นแล้ว ในปัจจุบันมีคนทำหนังน้อยคนที่คิดถึงชนกลุ่มน้อยของสังคม คนทำหนังส่วนใหญ่มักจะคิดถึงอะไรที่เป็นกระแสนิยมในหมู่ชนกระแสหลักหรือคนกลุ่มใหญ่ สิ่งที่ผมต้องการทำก็คือการมุ่งเน้นไปที่ชนกลุ่มน้อยเหล่านี้แทน
ได้ยินว่าคุณเปลี่ยนสถานที่ฉายหนังของคุณ จากโรงหนังกลายมาเป็นโรงละคร หอศิลป์ หรือพิพิธภัณฑ์ด้วย
จริงๆ เป็นอะไรที่ตรงข้ามกันนะ ผมเคยทำงานศิลปะ เคยทำละครเวที ก่อนที่จะเปลี่ยนให้มันกลายเป็นหนัง ยกตัวอย่างเช่น ในปี 2011 ผมทำงานละครเวทีชื่อ Workers โดยให้หลี่คังเซิงแสดงเป็นกรรมกรที่ทำงานอย่างเชื่องช้ามากๆ แล้วหลังจากนั้นผมก็หยิบเอาความรู้สึกจากการแสดงนี้มาทำเป็นหนัง โดยทำออกมาเป็นคลิปวิดีโอ 8 คลิป ที่แตกต่างกันของกรรมกรจาก 8 เมืองที่แตกต่างกันทั่วโลก ผมเคยได้รับเชิญจากยุโรปให้ไปแสดงผลงาน Workers ในรูปแบบของละครเวที หลังจากนั้นผมก็ทำงานชุดนี้ออกมาเป็นหนังออกฉายในโรงละครอีกที สถานการณ์มันก็จะกลับไปกลับมาแบบนั้นแหละ
บางครั้งงานสร้างสรรค์ก็เกิดขึ้นได้ในหลากหลายรูปแบบ ผมเปรียบมันเหมือนการปลูกต้นไม้ เมื่อต้นไม้เติบโต แตกกิ่งก้าน คุณก็สามารถจินตนาการต่อไปว่ามันจะเป็นต้นไม้แบบไหน เติบโตต่อไปแบบใด บางครั้งอาจจะเติบโตไปเป็นหนัง บางครั้งเป็นละครเวที หรืองานศิลปะก็เป็นได้
อย่างไรก็ตาม ในเวลานี้ คุณก็ยังเลือกใช้หนังเป็นสื่อหลักในการทำงานตอนนี้
ใช่ เครื่องมือในการสร้างสรรค์หลักๆ ของผมคือการทำหนัง แต่ผมอยากให้ผู้คนเข้าใจว่าหนังไม่ใช่แค่อะไรที่เราดูในโรงหนังเท่านั้น ตอนนี้ผมมีผลงานใหม่เรื่อง Your Face (Ni de lian, 2018) แสดงที่ไต้หวัน บางคนอาจคิดว่ามันเป็นแค่งานศิลปะที่แสดงเป็นนิทรรศการในหอศิลป์เพียงอย่างเดียว แต่ผมสามารถเอามันไปฉายในโรงหนัง ทำให้กลายเป็นหนังได้ด้วยเหมือนกัน
แปลภาษา: Chen Yen-Lin
ขอบคุณสมาคมฝรั่งเศส กรุงเทพ (Alliance Francaise Bangkok) เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายภาพและสัมภาษณ์
ขอบคุณ Documentary Club ซึ่งช่วยติดต่อประสานงานในการสัมภาษณ์