เรามักจะชื่นชมคนที่ประสบความสำเร็จ และรู้สึกว่าอยากจะเป็นเหมือนเขาคนนั้น ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่อย่าลืมว่าสมมติคุณอยากเป็นเหมือน Bruno Mars คุณก็เป็นได้แค่ the second Bruno Mars ไม่ว่าคุณจะพยายามจนเหมือนเขาขนาดไหน สิ่งที่คุณได้กลับมาก็คือ คุณไม่ใช่ตัวเอง คุณหาไม่เจอแล้วด้วยซ้ำ ว่าคุณได้ทำตัวเองหล่นหายไปตอนไหน และเมื่อทุกคนไม่หลงเหลือตัวตนของตัวเอง เราก็คงไม่ต่างอะไรกับร่างกายที่เปลือยเปล่า
บทสนทนายามบ่ายกับ ‘พราว’ – ชญตา ศรีพาณิชย์ หรือที่คนมักจะคุ้นเคยในชื่อ ‘ตวย’ จาก Tuayp แชนแนลยูทูบที่เธอมักจะคัฟเวอร์เพลงลงเป็นประจำ เธอคือหญิงสาวที่มักบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนพิเศษ ไม่ได้โด่งดัง เป็นเพียงเด็กผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่งที่แค่อยากเล่นเพลงโปรดในห้องนอนลงยูทูบ และซื่อสัตย์กับสิ่งที่ตัวเองอยากจะสื่อสารกับคนฟังเสมอ แม้จะโดนตำหนิเรื่องเสียงร้องหรือผลงาน พบความล้มเหลวจากการประกวดร้องเพลง แต่เธอกลับมองว่าความเป็นเธอไม่ได้ตรงกับความชอบของคนฟัง แทนที่จะมานั่งเสียใจแล้วมองว่าตัวเองดีไม่พอ ก็คิดแค่ว่าจุดตั้งต้นคืออยากสนุกไปกับทำเพลง บางทีไม่ได้จำเป็นต้องได้รับการรับรองจากคนอื่นว่ามาตรฐานเสมอไป พร้อมทิ้งท้ายว่าเธอยังคงอยากเป็นเธอคนเดิม และพัฒนาไปตามแนวทางของตัวเอง
เราชวนเธอคุยนอกเหนือจากประเด็นตัวตนในการทำเพลงไปเรื่องที่ไกลกว่านั้น เธอมีความสนใจอีกอย่างหนึ่งคือเรื่องการเมือง ซึ่งการเป็นนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ก็ช่วยให้เธอชัดเจนในจุดยืนของการทำเพลงมากเลยทีเดียว สิ่งนั้นมันไม่ใช่การทำเพลงเพื่อการปลุกระดมและการปลดแอกอย่างที่หลายคนอาจคิด เธอยังคงคัฟเวอร์เพลงทั่วไป สร้างความสุนทรีย์ให้กับผู้คนอย่างที่เธอรัก เมื่อผู้คนเริ่มเชื่อมั่นในตัวเธอ กลายเป็นว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่เธอจะสื่อสารเรื่องการเมือง ทำให้เรื่องที่เคยถูกมองว่าไกลตัว ผู้คนก็เริ่มสัมผัสว่ามันใกล้ตัวของทุกคนมากกว่าที่เคยคิด
รู้มาว่าก่อนจะมาโด่งดังในยูทูบ คุณเองก็ผ่านการประกวดร้องเพลงมาไม่น้อย แล้วจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณอยากเป็นนักร้องคืออะไร
คงจะเป็นตั้งแต่ตอนที่เราเพิ่งกลับมาจากไปแลกเปลี่ยนที่อเมริกา ตอนนั้นโฮสต์ เพื่อนที่โรงเรียน hype เรามากเรื่องการร้องเพลง เป็นช่วงที่เหมือนเราได้กำลังใจอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อน พอกลับมาที่ไทยก็เลยมั่นใจมาก ลงประกวดไปหลายเวที ไม่เคยติด ไม่เคยชนะอะไรสักอย่าง เราเคยถามตัวเองนะว่ายังดีไม่พอเหรอ เราก็ร้องเพลงเพราะอยู่นะ แต่สุดท้ายก็มาตกตะกอนได้ว่า ทำไมเราจะต้องพยายามดีในแบบที่กรรมการชอบ ต้องหน้าตาดี ต้องชอบเพลงแนวนี้ เพื่อจะได้ทำเพลง เพื่อจะได้มีคนฟัง เพื่อจะได้เป็นที่รู้จัก เราว่าความรู้สึกนี้มันเป็นพิษ และไม่สมควรที่จะมีคนต้องรู้สึกแบบนี้เลย
ตอนหลังก็เลยเริ่มร้องเพลงลงเฟซบุ๊ก ยูทูบ เพราะเราแค่อยากซื่อสัตย์กับตัวเอง หมายถึงเราร้องเพลงตั้งแต่แรกก็เพราะว่าเราแค่อยากร้องเพลง หลายเพลงที่เราฟัง เราร้อง ก็ไม่ใช่เพลงที่ยูทูบจะดันขึ้นหรือมีคนฟังเยอะด้วยซ้ำ และพอเราทำในสิ่งที่เราชอบ มันก็ดันออกมาเวิร์ก ซึ่งก็น่าจะต้องขอบคุณคนอื่นมากกว่า
การร้องเพลงคัฟเวอร์ที่โดนใจคนฟังต้องเคารพต้นฉบับแบบเป๊ะๆ ไหม หรือว่าฉีกกฎแหกกรอบออกไปเลย
เราว่าการร้องให้เป๊ะเหมือนต้นฉบับก็ค่อนข้างมีส่วนนะ เคยได้ยินคนบอกว่าอยากร้องเพลงได้เหมือน Bruno Mars เรากลับแอบคิดว่าสุดท้ายไม่ว่าคุณร้องเหมือนแค่ไหน คุณก็เป็นได้แค่ the second Bruno Mars หรือเปล่า คุณไม่ใช่ตัวเอง และคุณก็หาไม่เจอแล้วด้วยว่าคุณได้ทำตัวเองหล่นหายไปตอนไหน อย่างเคยมีน้องหลายคนชอบทักมาปรึกษาเรา พี่พราวคะ จะทำยังไงให้มีไลฟ์สไตล์แบบพี่ ทำยังไงให้เป็นแบบพี่ ซึ่งเราจะบอกตลอดว่า เราไม่ได้อยากให้ใครมาเป็นแบบเรา เรารู้สึกว่าการที่จะเป็นตัวของตัวเองมันไม่จำเป็นต้องขึ้นกับใครมากจนเกินไป การมองหาความเป็นตัวเองไม่ได้เริ่มมาจากการวางกรอบของตัวตนที่เรา ‘อยากจะเป็น’ เอาไว้แล้วเอาตัวเองไปยัดใส่ในนั้น
เพลงที่ทำให้คุณเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือเพลงอะไร
เราว่าน่าจะเป็นเพลง ฉันน่าจะบอกรักไป ในวันที่เธอบอกรักมา ของ Hers กับ Mola Mola Sunshine เป็นเพลงแรกเลยที่ยอดวิวแตะหนึ่งล้าน ก่อนจะออกเพลงนี้ พี่ด่อง Mola Mola Sunshine ใจดีให้แบ็กกิ้งแทร็กเพลงนี้มา เราฟังแล้วก็บอก พี่โทนี่ Monotone ที่ทำเพลงด้วยกัน ว่าถ้าเพลงนี้เป็นตัวเรา เราจะสื่อออกมาอีกแบบ เราก็เลยบอกพี่เขาทำดนตรีใหม่กัน หยิบกีตาร์มาเล่นตรงนั้นเลย เราก็เลยแค่สื่อมันออกมาในรูปแบบของเรา แล้วพราวก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอยู่ดีๆ ทำไมถึงดังขึ้นมา
อาจเป็นเพราะว่าปกติเราร้องเพลงสากล พอร้องเพลงนี้ที่เป็นเพลงไทยเพลงแรก คนหลายคนเขาก็เก็ตเราได้มากขึ้น เราก็เริ่มรู้ละว่าต่อไปเวลาที่ร้องเพลงสากล เราจะใส่ซับที่แปลเนื้อเพลงให้คลอด เพราะเราอยากทำเพลงให้อยู่ตรงกลาง ไม่ว่าจะเพลงไทยหรือเพลงสากล อยากให้คนฟังอินตามไปกับเราได้ ซึ่งก็กลายเป็นเรื่องดี เพราะตอนหลังเวลาเราเห็นคนไทยเข้าไปคอมเมนต์ในเพลงออริจินอลที่เราหยิบมาคัฟเวอร์ เราก็รู้สึกดีใจ (ยิ้ม)
คุณมีศิลปินที่ยึดเป็นแบบอย่างบ้างไหม แล้วคุณมองว่าเขาต้องฝ่าฟันอะไรมาหนักหน่วงแค่ไหนกว่าจะถึงวันที่ประสบความสำเร็จ
จริงๆ ถ้าเป็นวงไอดอลหรือศิลปินที่ชื่นชอบที่สุดคือ ไม่มีเลย เราฟังเพลงค่อนข้างกว้างมาก ศิลปินบางคนเราก็ชอบในลักษณะบางอย่างของเขา เช่น Tom Odell เรารู้สึกว่าเขาเขียนเนื้อเพลงได้จริงใจมาก เขาไม่ค่อยแคร์อะไร อยากเขียนอะไรก็เขียน อยากทำอะไรบนเวทีก็ทำ ซึ่งไม่ได้ทำเพื่อสร้างเป็นซิกเนเจอร์ให้ตัวเองนะ แต่เขาทำเพราะว่าเขาคิดอย่างนั้นอะ เหมือนพอเราเสพเพลงเยอะ ทำเพลงด้วย เราจะมีเซนส์ประมาณหนึ่งว่าเวลาเรามองใครเล่นบนเวทีแล้วคนนั้นจริงใจ ใครร้องเพราะอินไปกับมัน ใครร้องเพราะว่ามันเป็นแค่งาน ตัวเราจะชอบศิลปินที่มีความจริงใจสูงมากๆ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรอก เราว่ามันเป็นเรื่องของการมองปลายทางของความสำเร็จที่มันแตกต่างกันในแต่ละคน ก็แค่นั้นเอง
คุณให้ความสำคัญกับการเลือกเพลงมาร้องแค่ไหน เพราะบางครั้งการที่เราเอาเพลงที่อินดี้มากๆ มาร้องคนฟังอาจจะไม่รู้จักแล้วก็ไม่อินไปด้วยกับเรา
เราไม่ค่อยเก็ตการแยกดนตรีแมสอินดี้เท่าไหร่ เราคิดว่ามันไม่ค่อยเมกเซนส์ สมมติว่าบอกว่าแนวเพลงของวง A เป็นอินดี้ วง B เป็นแมส พอคนเริ่มฟังเพลงวง A มากขึ้นจนเริ่มดัง เรายังจะบอกว่าเขาอินดี้หรือเปล่า วันหนึ่งเคยเป็นอินดี้ วันหนึ่งดังขึ้นมาก็แมส เพราะฉะนั้น เราก็เลยไม่เข้าใจคนที่อยากจะเก็บเพลงเพลงหนึ่งไว้ฟัง ไม่อยากให้เป็นที่รู้จักมาก เพื่อที่เวลาเราฟังเราก็จะเป็นอินดี้ หรือเพื่ออะไร สำหรับเราแล้ว ง่ายๆ เลย ถ้าคุณรักเพลงนั้นจริง ต่อให้คนฟังเยอะ คนฟังน้อย คุณก็ยังฟัง
คุณชอบเสพดนตรีแบบไหนมากกว่ากัน ระหว่างไปนั่งดูนักร้องเขาเล่นให้ฟังสดๆ กับไล่หาเพลงใหม่ๆ ฟังตามสตรีมมิงต่างๆ
จริงๆ เราชอบฟังนักดนตรีที่เล่นสดมาก แต่ถ้าถามว่าฟังแบบไหนแล้วอินกว่ากัน ตัวแปรที่สำคัญคือเวลากับความรู้สึกของเรา เพลงสดก็มีข้อจำกัดของมันคือ สมมติว่าเราเกิดอารมณ์ดาวน์ตอนตีสาม อยู่ๆ จะไปปลุก Bahamas มาเล่นเพลงให้ฟังเหรอ ก็ไม่ใช่ นักร้องเขาก็ต้องนอน (หัวเราะ) เข้าใจว่าเวลาที่ไปนั่งฟังดนตรีสด เราได้เห็นสีหน้าท่าทางอารมณ์นักร้องนักดนตรี มันอินมากกว่า แต่ถ้าตอนนั้นเราดันไม่ได้มีความรู้สึกร่วมไปกับเขา มันก็สู้การเปิดเพลงฟังผ่านดิจิตอลตามฟีลลิงเราไม่ได้
ตอนนี้คุณก็ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และในอนาคตคุณยังจะคัฟเวอร์เพลงต่อไปแบบนี้อีกไหม หรือคิดว่าจะขยายเวทีของตัวเองให้ใหญ่โตขึ้นกว่านี้ เพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักดนตรีอย่างจริงจัง
ถ้าเป็นเพลงคัฟเวอร์เรายังทำต่อไปแหละ ทุกวันนี้เรายังทำอยู่ก็เพราะเรายังอยากที่จะทำ แต่หลังจากนี้อาจจะต้องเพลาลงไปบ้าง เอาเวลาไปทุ่มเทให้กับการทำวงดนตรีของตัวเอง เราก็อยากจะไปอยู่ตรงนั้นให้ได้มากที่สุด
ถ้าวงดนตรีของคุณทำเพลงของตัวเองจริงๆ ออกมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับการคัฟเวอร์เพลง คุณจะรู้สึกน้อยใจในเส้นทางเดินของตัวเองบ้างไหม
การเปลี่ยนผ่านจากการทำคัฟเวอร์มาทำวง เรามองว่าคือการเติบโต ซึ่งไม่ว่าใครก็ต้องโตขึ้น ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ มันย่อมมีอะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป อาจจะมีคนออกไปบ้าง แต่ก็ต้องมีคนมาใหม่เข้ามาเช่นกัน เป็นไปไม่ได้หรอกที่เราจะเอาใจทุกคนได้พอกัน แต่สิ่งหนึ่งที่เรายึดเป็นหลักไว้เสมอคือการซื่อสัตย์กับตัวเอง If you don’t centre yourself around yourself, who’re you gonna be centre on? การที่จะมีใครฟังเพลงเราหรือเลิกฟังเพลงเรามันเป็นเรื่องธรรมชาติมากเลย เราเคารพในการตัดสินใจเลือกของเขาด้วยซ้ำ
สมัยนี้เราจำเป็นต้องมีทักษะในการทำอะไรหลายๆ อย่าง แต่บางคนก็บอกว่าทำได้หลายอย่างแต่ไปไม่สุดสักทางก็ไม่เกิดผล คุณคิดกับเรื่องนี้อย่างไร
เรามองว่าคนในวงการดนตรีก็ไม่ได้ถูกจำกัดว่าท้ายที่สุดแล้วจะต้องทำแค่ดนตรี เราเชื่อว่าคนทุกคนสามารถเก่งได้หลายด้าน คนเรามีความชอบ มีความสุข กับอะไรได้หลายอย่าง เราก็อยากจะมีความสุขในพาร์ตดนตรีไปด้วย พาร์ตเด็กรัฐศาสตร์ไปด้วย ทำเพลงไปด้วย ถ่ายรูปไปด้วย ไลฟ์สไตล์ไปด้วย สิ่งเหล่านี้มันเหมือนเป็นเส้นทางที่เราเลือกแล้ว คนอาจจะชอบคิดว่าเป็นเป็ดมันแย่ แต่ถ้าเรายึดติดความเป็นตัวเองแค่ด้านเดียว แล้ววันหนึ่งคุณต้องสูญเสียด้านหนึ่งไปอะ คุณไม่เหลือความเป็นตัวเองเลยนะ ถ้าวันหนึ่งเราเป็นโรคอะไรไปแล้วเราไม่สามารถร้องเพลงได้ เป็นตวยที่ร้องเพลงไม่ได้แล้ว แล้วเราไม่เหลืออะไรเลยอะ จุดนั้นคือคงตัดสินใจฆ่าตัวตายแน่ เพราะเราไม่เหลือ identity ของตัวเองแล้ว
พอเราคิดอย่างนี้ ดนตรีอาจจะไม่ตอบโจทย์เราในวันนั้นแล้วก็ได้ วันนี้เราทำดนตรีเพราะเราชอบ ถ้าวันหนึ่งรู้สึกฝืนเมื่อไหร่ เราก็คิดว่าเรายังทำอะไรให้เกิด impact ได้มากกว่านี้ เราอาจจะอยากเป็นเอ็นจีโอช่วยเหลือพวกสัตว์ ซึ่งตอนนั้นคุณจะโยนเราลงไปไว้บ่อเต่าก็ได้นะ ถ้าความต้องการเราในตอนนั้นคือสิ่งนี้ และเราจะมีความสุขมากๆ ด้วยที่ถูกโยนลงไปในบ่อเต่า (หัวเราะ)
เด็กรัฐศาสตร์กับการเป็นนักดนตรี จงหาความเชื่อมโยงนี้ออกมา (10 คะแนน)
จริงๆ การเรียนรัฐศาสตร์กับการทำเพลงค่อนข้างจะแยกจากกันนะ แต่สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือรัฐศาสตร์สอนให้เราคิดและเปิดใจให้กว้างมากๆ ทำให้เราเข้าใจคนได้ และเราก็สามารถคุยงานกับคนที่มาติดต่อจ้างเราได้ดี (หัวเราะ) ให้คำปรึกษากับน้องที่ทักมาคุยอย่างเปิดใจ ซึ่งนั่นทำให้เราคิดบวกมากขึ้น สมมติว่ามีคนมาบอกว่าเราร้องเพลงไม่เพราะ ตำหนิเรา อย่างนั้นอย่างนี้ เป็นใครโดนก็คงรู้สึกแย่ แต่รัฐศาสตร์กลับสอนให้เราเข้าใจว่าที่เขาตำหนิ นั่นคือตำหนิเพราะไม่ชอบเรา แต่ก็จะมีคนที่ตำหนิเพื่อให้เราพัฒนา การเรียนรัฐศาสตร์นั้นช่วยลดทิฐิในตัวเราได้อย่างมากจริงๆ
คุณเคยคิดที่จะทำเพลงออกมาพูดถึงเหตุบ้านการเมืองในปัจจุบันบ้างไหม เพราะเรารู้สึกว่าเด็กๆ ในตอนนี้มีความอัดอั้นบางอย่างเกี่ยวกับประเด็นทางการเมืองที่อยากระบายออกมา โดยเฉพาะคนที่เรียนมาทางด้านรัฐศาสตร์แบบคุณ
เอาจริงๆ นะ ซื่อสัตย์จากใจเลยคือ ไม่ เรามองว่าโอเค ทำเพลงเพื่อแสดงออกถึงเรื่องนี้ก็ดี แต่ในความคิดเราเพลงทำได้แค่บันทึกความทรงจำ แต่ไม่สามารถปลุกใจคนจนลุกออกไปเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างได้ในตอนนี้ เพราะปัจจุบัน อย่าลืมว่าเพลงเป็นปัจจัยที่ห้า คนที่จะสามารถเสพได้คือ หนึ่ง คนที่มีเวลาว่าง สอง คือคนที่มีเงิน ถ้าหากเรามองย้อนกลับมาด้านการเมือง เพลงอาจจะช่วยให้เรานึกถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนั้น แต่ถามว่าเพลงจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนสมัยก่อนไหม เราว่าในยุคนี้เป็นไปได้ค่อนข้างยาก
เมื่อก่อนเราสามารถใช้เพลงเป็นสื่อในการปลุกใจ ออกรบ ล่าสัตว์ หรือพิธีการต่างๆ แต่ในยุคนี้คุณเชื่อว่าเพลงมีไว้เพื่อความผ่อนคลายเท่านั้นใช่ไหม
ใช่ เราว่าเพลงคือสิ่งนั้นเลย เรามองว่าสิ่งที่จะทำให้คนลุกออกไปทำอะไรสักอย่าง ก็ต้องทำเพื่อปากท้อง และเพลงไม่ใช่เรื่องของปากท้อง พูดง่ายๆ พอเราอยู่ในโลกของทุนนิยมแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเราก็ต้องออกไปหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ซึ่งสำหรับชนชั้นล่างติดดินเลยเนี่ย เขาไม่ได้มีเวลาว่างที่จะไปฟังเพลงจนบรรลุแล้วออกไปทำอะไรสักอย่างได้ คนที่มีเวลาว่างฟังเพลงจริงๆ คือคนที่ค่อนข้างมีฐานะ เป็นชนชั้นกลางขึ้นมาหน่อย แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมหรือการเมืองไม่ได้เป็นสิ่งที่กระทบกับเขามาก ไม่เหมือนกับที่คนชนชั้นล่างโดนกดขี่ ดังนั้น ถ้าคนจะคาดหวังการเปลี่ยนแปลงจากงานดนตรีหรือศิลปะอย่างเดียว เราว่ามันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ใช้ชีวิตในแต่ละวันก็เหนื่อยพออยู่แล้ว ถ้าจะฟังเพลงต้องเจอแต่เพลงเครียดๆ อีกก็ไม่ไหว ขอฟังอะไรที่มันอิ่มเอมใจดีกว่า แบบนี้ใช่ไหม
ก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เราว่าความสุนทรีย์เป็นสิ่งที่คนทุกคนต้องการในชีวิต แต่ความสุนทรีย์ที่ว่านี้ ถ้าเป็นเพลงแนวการเมืองอาจไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับคนทุกคน หรือสร้างความรู้สึกกับคนได้อย่างเต็มที่พอ สมมติจับคนทุกคนมาฟังเพลงที่วิจารณ์การเมือง หลายคนเขาก็อาจจะเข้าใจ แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่รู้ว่าต้องทำยังไงเพื่อที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ และนักดนตรีเองก็จะได้ไม่ต้องมาแต่งเพลงหนักๆ ด่ารัฐบาลนี้แล้ว ซึ่งการที่จะสร้างความเข้าใจตรงนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้ด้วยดนตรีเพียงอย่างเดียว สมมติเราคลิกไปเจอเพลงเกี่ยวกับการเมือง เราก็เลือกได้ว่าจะฟังหรือเปล่า แต่ถ้าวันหนึ่งเดินออกไปหน้าบ้านแล้วเจอข้าวผัดกะเพราตามสั่งราคาจานละ 250 บาท สิ่งนี้เราเลี่ยงไม่ได้เหมือนดนตรีแล้วนะ เราต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะนี่คือปัญหาปากท้องของเราแล้ว เราว่าดนตรี ศิลปะ ความสุนทรีย์ มันไม่ใช่คำตอบเดียวเสมอไปที่เปลี่ยนแปลงสังคมในยุคนี้
ประเด็นทางการเมืองที่เราเจอมาตั้งแต่เด็กจนโต ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งก็เหมือนมีความหวังเรืองรองขึ้นมา แต่สุดท้ายก็ไม่เดินหน้าไปไหนจนหลายคนถอดใจ แล้วคุณที่เติบโตมาในยุคนี้มองเรื่องการเมืองในบ้านตัวเองไว้อย่างไร
เราว่าการเมืองไทยมันก็วนลูปกันมานานแล้ว เป็นการเมืองที่เราชอบชี้หน้าแล้วบอกว่าคนนี้เลว เราเอาเขาออกไป คิดแค่ว่าเขาดีหรือเขาเลว ซึ่งความจริงมันไม่ใช่แบบนั้น มันไม่มีอะไรขาวกับดำ ทุกอย่างมันเทาหมดแล้ว ดังนั้น สิ่งหนึ่งที่คนไทยควรจะฉุกคิดมันไม่ใช่แค่การที่เราแค่ล้มตัวคนที่มีอำนาจ แต่ประเด็นคือหลังจากที่คุณทำลายแล้ว คุณจะสร้างอะไรขึ้นมา The end of something does not mean the creation of another thing. สมมติว่าคุณล้มเขาได้ในวันที่ 1 มกราคม สิ่งที่คุณควรจะโฟกัสคือวันที่ 2 มกราคม คุณจะทำอะไร ไม่ใช่ชัยชนะในวันนี้ ชัยชนะมันคือจุดเริ่มต้น แต่นั่นคือจุดจบ เราว่าคนไทยลืมคิดตรงนี้ไปเลย
คุณเป็นคนที่มีชื่อเสียงในกลุ่มวัยรุ่นแล้ว คิดว่าตัวเองมีน้ำเสียงที่หนักแน่นมากพอในการบอกให้เรารับรู้ถึงความสำคัญของการเมืองหรือสิทธิเสรีภาพของตัวเองได้บ้างไหม
เรื่องดนตรีเราเรียนรู้ว่าควรจะชิลๆ หน่อย คนทุกคนที่คุยกับเราเขาไม่ได้อินการเมืองเสมอไป และไม่ใช่ทุกคนจะพูดเรื่องการเมืองได้ สิ่งหนึ่งที่เราเจอคือคนชอบคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่พูดไม่ได้ แต่เราก็รู้สึกว่าเรามีสกิลให้เขาหันมาสนใจได้ในระดับหนึ่ง อันนี้ขออวดเลย ด้วยความที่เราคิดว่าการเมืองมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว การเมืองคือการที่เดินไปซื้อของที่ 7-Eleven แล้วเสีย Vat 7% การเมืองคือความสะอาดของอากาศที่ตื่นมาเจอทุกเช้า ทำไมออกไปแล้วเจอรถติด ทำไมฟุตพาทอีกห้าร้อยเมตรกระเบื้องมันห่วยอีกแล้ว การเมืองแม่งคือทุกอย่างในชีวิต
ดังนั้น สำหรับเราคือ พอเขาเชื่อเราเรื่องเพลงแล้ว เขาก็จะเริ่มเปิดใจเชื่อเราด้วยว่าการเมืองมันเป็นเรื่องรอบตัวเรา ดังนั้นเราจะไม่ค่อยชอบเลยคนที่บอกว่า เราไม่สนใจการเมืองว่ะ เมื่อไหร่แกจะเลิกพูดเรื่องการเมืองสักที แต่การเมืองมันไม่ใช่ว่าทุกคนต้องรู้จักนักการเมือง การเมืองคือเราควรจะได้รับอะไร จบแค่นั้นเอง