“ในสังคมแห่งอาชญากร ผู้บริสุทธิ์จะถูกจองจำ” (In a society of criminals, the innocent man goes to jail)
คือประโยคในนิยาย ‘The Minority Report’ เขียนโดย ฟิลิป ดิก (Philip K. Dick) ที่เขียนออกมาจากความอึดอัดใจส่วนตัวในช่วงสงครามเย็น โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างรัฐเผด็จการและความเสรีภาพส่วนบุคคล
คงยาวไปหากจะเล่าว่านิยายนี้เกี่ยวกับอะไร บริบทสงครามเย็นก็ห่างไกลเกินไป แต่ประโยคข้างต้นที่เขาว่าไว้กลับดูไม่ล้าหลังแม้หนังสือเล่มนี้จะเขียนขึ้นในปี 1956 ก็ตาม เพราะในปี 2020 นี้เรายังได้เห็นความเป็นไปในประโยคดังกล่าวเกิดขึ้นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ดังเช่นรายชื่อผู้ถูกจับกุมหลายสิบคนตั้งแต่มีการชุมนุมในเดือนตุลาคม 2563 ที่ตามมาด้วยกระแสแฮชแท็กเซฟแกนนำ เซฟสารพัดรายชื่อไม่เว้นแต่ละวัน รวมทั้ง #saveตันสุรนาถ หนึ่งในผู้ต้องหามาตรา 110 ข้อกล่าวหาร้ายแรง เพียงเพราะเขาเป็นหนึ่งในผู้ชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563
หลังการร่วมชุมนุมไม่กี่ชั่วโมงวันนั้น ‘ตัน’ – สุรนาถ แป้นประเสริฐ ต้องรีบกลับบ้านเพราะเขามีนัดกับภรรยาที่เพิ่งแต่งงานกันไปไม่ถึงเดือน แต่แล้วสุรนาถก็ต้องประหลาดใจเมื่อหกวันต่อมา (20 ตุลาคม 2563) เขาได้รับหมายจับตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 ตามที่เป็นข่าว
ในขณะที่สังคมบางส่วนตัดสินเขาไปแล้วจากข้อกล่าวหาร้ายแรง เชื่อว่าเขามีเจตนาเช่นนั้นจริงเพียงเพราะศาลออกหมายจับ
แต่คุณรู้ไหม – ว่าเขาเป็นใคร เคยทำอะไรมาก่อน
เชื่อว่าหลายคนไม่รู้
นั่นทำให้ชุมชนที่สุรนาถเคยทำงานด้วยได้ออกมาส่งเสียงเรียกร้องในพื้นที่ออนไลน์ให้ #saveตันสุรนาถ พร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวชีวิตและการทำงานเพื่อสังคมของเขามานับสิบปี ชีวิตที่ภาพข่าวไม่สามารถบอกเล่าความจริงได้
เขาคือแกนนำเยาวชนจากกลุ่ม Active Youth เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยงที่ทำงานรณรงค์ป้องกันเยาวชนจากยาเสพติด ผ่านการทำงานพัฒนาชุมชนหลายพื้นที่ เช่น โครงการ ‘พื้นที่นี้ดีจัง’ ที่เขาทำงานร่วมกับกลุ่ม ‘ดินสอสี’ ในการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมชุมชนที่มีความเสี่ยงให้กลายเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ ที่เอื้อให้เยาวชนเป็นผู้ออกแบบชุมชนที่ต้องการด้วยตนเอง จัดการเอง และรู้สึกภาคภูมิใจในชุมชนของพวกเขาเอง
แฮชแท็ก #saveตันสุรนาถ มีความพิเศษอยู่อย่าง คือไม่ได้เป็นการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้บริสุทธิ์เท่านั้น หากเป็นแฮชแท็กที่เต็มไปด้วยเรื่องราว คำบอกเล่าบันทึกชีวิตนักพัฒนาสังคมคนหนึ่ง ยิ่งติดตาม ยิ่งสงสัยว่าสังคมแบบไหนกันที่ผู้อุทิศตนถูกกักขังจองจำ ในขณะที่เผด็จการยังเป็นผู้ครองอำนาจอยู่ร่ำไป
a day BULLETIN พูดคุยกับ สุรนาถ แป้นประเสริฐ ถึงประสบการณ์ถูกคุมขัง 13 วัน ประสบการณ์ที่เขาบอกว่า ‘ลดทอนศักยภาพมนุษย์’ และพูดคุยถึงประสบการณ์ชีวิตก่อนการตกเป็นผู้ต้องหาถึงบทบาทการเป็นนักพัฒนาสังคม ผู้เชื่อมั่นว่ามนุษย์ล้วนมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างงดงาม – หากได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี
คำถามที่ยังค้างอยู่หลังจากบทสนทนากับ ตัน สุรนาถ ในครั้งนี้ คือเรากำลังสร้างสังคมที่มีสภาพแวดล้อมเช่นใดกัน
เพิ่งมีงานบายศรีรับขวัญ ตัน สุรนาถ ไป ตอนนี้สภาพจิตใจเป็นอย่างไรบ้างแล้ว
งานกอดตันรับขวัญกลับบ้านจัดกันโดยพี่น้องพ้องเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน เขาหวังว่าจะช่วยเยียวยาผมได้บ้าง อยากส่งกำลังใจให้ผมกลับมาเป็นคนเดิมได้เร็วที่สุด ตัวผมเองแค่อยากจะขอบคุณทุกคน ผมคิดมาเสมอตอนอยู่ในเรือนจำตอนที่พี่ๆ ทนายบอกว่าข้างนอกเขาช่วยสื่อสารให้อยู่นะ มีคนช่วยบอกเล่าเรื่องผมผ่านออนไลน์ แต่ผมอยากขอบคุณต่อหน้า อยากให้รู้ว่าผมขอบคุณจริงๆ งานวันนั้นก็จัดกันง่ายๆ ในวัดที่ผมเคยบวชเรียน มีพี่ๆ น้องๆ จากเครือข่ายที่ทำงานด้วยกัน มีการลอยกระทงกาบมะพร้าวที่เป็นของดีชุมชนด้วย ก็รู้สึกได้ปล่อยทุกข์ปล่อยโศกไป มีการผูกข้อมือรับขวัญ เป็นวันที่ผมกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ปกติผมไม่ร้องไห้นะ แต่วันนั้นผมกลั้นไม่ไหวจริงๆ
ถามว่าชีวิตกลับมาเป็นปกติหรือยัง ก็ต้องบอกตามตรงว่ายังปรับตัวอยู่ ยังรู้สึกออกไปกินข้าวตามปกติไม่ได้ ด้วยความที่ตอนเราถูกย้ายให้ถูกกักขังเดี่ยวในห้องขังเล็ก สภาพห้องเป็นพื้นปูน มีโถส้วม อ่างล้างหน้า ผ้าปูนอนสามผืน มีช่องตะแกรงระบายให้ลมและแสงแดดเข้ามาอยู่หน่อย วันไหนฟ้าครึ้มก็ต้องทน อาศัยมื้ออาหารในการรับรู้วันเวลา ตีห้าครึ่งมีบทสวดมนต์ปลุกให้ตื่น อาหารมื้อแรกหกโมงครึ่ง เพลงชาติขึ้นถึงรู้ว่าแปดโมง แล้วก็รอมื้อต่อไปตอนสิบเอ็ดโมง รอบสุดท้ายบ่ายสอง สี่โมงเย็นเรียกแถว มีเพลงให้ฟังน่าจะให้ผู้ต้องขังผ่อนคลาย พอสองทุ่มก็ปิดเพลงเข้านอน วนไปแบบนี้ เวลาสิบวันรู้สึกยาวนานนับเดือน ยังดีที่พี่ๆ ผู้ต้องขังด้วยกันเอาหนังสือมาให้อ่านบ้าง
แล้วนอนหลับไหม
หลับไม่สนิทหรอก พลิกไปพลิกมา ในวันนึงนอนได้สักสามชั่วโมงเองมั้ง ที่เหลืออยู่กับความคิดหมดเลย ยังดีที่มีหนังสือให้อ่านบ้าง แต่อ่านไปความคิดก็วอกแวกไปเรื่องอื่นตลอด กังวลไปหมด เพราะเราไม่มีโอกาสได้เตรียมบอกกล่าวคนที่บ้านเลย
ตอนนั้นกังวลเรื่องอะไรมากที่สุด
กังวลเรื่องครอบครัว เรื่องงาน แต่หลักๆ คือเรื่องครอบครัว ห่วงแม่ที่เพิ่งเสียพ่อไปเดือนมิถุนายน ผมเองก็เพิ่งแต่งงานปลายเดือนกันยายน ยังอยู่ในช่วงปรับตัวทั้งการใช้ชีวิต การเงิน พอมาเจอเหตุการณ์ไม่คาดฝันแบบนี้มันสะดุดไปหมด ก็เป็นห่วงเขา อยากบอกให้เขาใช้ชีวิตให้ปกติ ถ้าเขาใช้ชีวิตปกติได้ เราก็จะหมดห่วง กว่าจะได้เจอกับแม่และภรรยาก็ปาไปวันที่เก้าของการฝากขัง แต่พอเจอแล้วได้บอกก็ปลดล็อกเลย
ส่วนเรื่องงานก็ห่วงน้องๆ ในทีม ห่วงว่าเขาจะเสียกำลังใจไหม เพราะแต่ก่อนเขามีปัญหาอะไร อย่างน้อยเขาจะมีเราอยู่ตลอด แต่นี่เราไม่ได้อยู่ตรงนั้น
ไม่กังวลเรื่องคดีความของตนเองเลยหรือ
เรื่องคดีก็กังวลในแง่ที่ว่ามันเป็นคดีรุนแรง เราคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น การที่เราถูกย้ายไปขังเดี่ยวก็ยิ่งทำให้กังวลไปอีกว่าเราอาจเจออะไรที่ไร้ความคาดหมาย กลัวเหมือนกันนะว่าเราอาจไม่ได้รับความยุติธรรมในมุมของการพิจารณาคดี เพราะข้อกล่าวหานี้มันทำให้การประกันตัวค่อนข้างยาก ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน สิบกว่าวันในเรือนจำนี่รู้สึกนานเป็นเดือนเลย เพราะมันอยู่ในความไม่รู้ทุกวัน
ตอนที่ต้องถูกย้ายไปขังเดี่ยวเรือนจำกลางบางขวางรู้สึกอย่างไร
ก็ยิ่งกังวลมากไปกว่าเดิม เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าข้อกล่าวหาของเรามันรุนแรง ตอนที่อยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพอย่างน้อยคนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงการชุมนุมก็อยู่ที่นี่ มีคนพาไปแนะนำตัวกับคนที่อยู่ที่นั่นให้รู้สึกว่าอย่างน้อยเรามีเพื่อนคุย แต่พอไปบางขวางขังเดี่ยว ก็ยิ่งคิดไปไกลเลยว่าหรือนี่เขาตัดสินพิจารณาคดีไปแล้ว
แล้วพอถูกย้ายกลับมาเรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงวันที่สิบของการคุมขัง มันยิ่งสับสนมากขึ้นไปอีกไหม
มันมีสองความรู้สึก อย่างแรกคือไม่แน่ใจว่านี่เป็นแนวโน้มบวกหรือเปล่าที่ศาลให้ออกจากห้องขังเดี่ยวกลับมาอยู่ห้องขังรวม พี่ๆ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าข่าวออกก่อนตัวจะมาถึงอีก เราก็คิดว่าสิ่งที่คนข้างนอกกำลังช่วยสื่อสารอาจจะได้ผล วันที่เดินทางมาถึงเรือนจำพิเศษกรุงเทพก็เจอพี่ๆ ที่พ้นการกักตัวแล้วทั้งพี่เอกชัย พี่สมยศ ที่เพิ่งเคยพบกันเป็นครั้งแรก ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนเป็นการส่วนตัว ได้คุยแล้วรู้สึกถึงแนวโน้มเชิงบวกที่ก่อนหน้านี้แกนนำก็ถูกปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไขการประกัน ก็พอมีความหวังขึ้นมาบ้าง เราเองก็ไม่มีท่าทีหลบหนีแต่แรกอยู่แล้ว คิดว่าศาลท่านคงเมตตาบ้าง แต่อีกความรู้สึกหนึ่งมันก็ยังกังวลอยู่ตลอดว่าจะได้รับการปล่อยตัวไหม แม้พี่ๆ เจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังด้วยกันเองจะให้กำลังใจตลอด แต่มันก็อดกังวลไม่ได้ ไม่รู้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น
เจ้าหน้าที่เขาช่วยปลอบใจอย่างไร เขาว่าอย่างไรบ้าง
เขาก็บอกว่าเรื่องคดีความข้างนอกกับข้างในไม่เกี่ยวกันนะ ข้างในเขามีหน้าที่ดูแลเรา ซึ่งเขาก็ช่วยให้เราผ่อนคลายจริงๆ เพราะเราเคยกลัวว่าจะถูกทำร้าย แต่ตลอดเวลาทั้งที่อยู่บางขวาง และเรือนจำพิเศษ ไม่มีเจ้าหน้าที่คนไหนแสดงพฤติกรรมไม่ดีกับเราเลย ไม่มีการทำร้ายร่างกายหรือแม้กระทั่งจิตใจ มันเป็นแค่สภาพแวดล้อมของสถานที่มากกว่าที่ทำให้เราไม่สบายตัว อึดอัดใจ
ทราบมาว่าคุณถูกติดกล้องวงจรปิดในการกักขังเดี่ยวเป็นกรณีพิเศษ
นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่ตอนนี้ก็ยังไม่รู้คำตอบว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น ผมเข้าไปวันแรกช่วงสามทุ่ม ช่วงเช้าวันรุ่งขึ้นก็มีเจ้าหน้าที่มาติดกล้องวงจรปิดส่องเข้ามาที่ห้องเรา ก็คิดไปฟุ้งซ่านเลยว่าหรือนี่มันคดีร้ายแรง เขาถึงคิดว่าต้องจับตาดูเราเป็นพิเศษ
มีเรื่องไหนที่เป็นความผิดปกติที่เรายังสงสัย ไม่ได้คำตอบอีกไหม
ก็เป็นเรื่องการย้ายนั่นแหละครับ ต่อให้จะมีคำอธิบายออกมาว่าเป็นไปเพื่อความปลอดภัยของการควบคุมโรค แต่เราก็ยังไม่รู้คำตอบว่าทำไมเราถึงถูกย้ายไปย้ายมา หรือถูกติดกล้องวงจรปิดช่วงขังเดี่ยว
หรือแม้แต่จุดเริ่มต้นในวันที่สิบสี่ว่าทำไมคุณถึงได้รับข้อกล่าวหานี้ตั้งแต่แรก
อันนี้แหละที่เราก็ยังคิดไม่ตก พยายามอธิบายตัวเองนะว่าหรือเราไปอยู่ผิดที่ผิดทางเอง แต่คนที่อยู่ตรงนั้นก็เป็นร้อย มีคนพูดตะโกนอะไรมากมาย แต่มันไม่มีใครแสดงพฤติกรรมที่ส่อแววจะไปประทุษร้ายหรือจะใช้ความรุนแรงเลย เพราะไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่าจะมีขบวนเสด็จ ผู้ชุมนุมตรงนั้นไปร่วมชุมนุมกันตามสมัครใจ ผมก็เหมือนคนทั่วไปที่ติดตามข่าวสาร และคิดว่าเรามีสิทธิในการออกมาแสดงจุดยืนของเราในการขับไล่เผด็จการ มันแค่นั้นเลย มีการพูดว่าเราเป็นแกนนำที่ทำให้คนตะโกนตาม ซึ่งมันไม่มีมูลเลย
จริงๆ เราก็เป็นแกนนำแหละ ในความหมายแกนนำชุมชน แกนนำเยาวชนกลุ่ม Active Youth
ครับ ถ้าในแง่นั้นเราก็เป็นแกนนำเยาวชนจริงๆ นำเยาวชนทำงานชุมชน
แล้วตอนนั้นที่ตะโกนจริงๆ คือตะโกนร้องบอกไม่ให้ตำรวจใช้ความรุนแรงกับผู้หญิง
ตอนนั้นผมยืนอยู่ตรงสะพานชมัยมรุเชษฐ ซึ่งมีตำรวจคุมฝูงชนเยอะมากพยายามบีบดันเข้ามา เริ่มมีการฉุดกระชาก ดึงแขน ผลักผู้ชุมนุมออก แล้วบริเวณตรงนั้นผู้ชุมนุมก็เป็นผู้หญิงกันเสียมาก ได้ยินเสียงคนตะโกนว่าเจ็บๆ เหยียบเท้าหนูๆ เราก็พยายามกันไม่ให้คนที่อยู่ตรงนั้นโดนจับไป เพราะเราไม่รู้ว่าถ้าถูกดึงเข้าไปหลังแนวตำรวจแล้วจะมีการจับกุมตัวหรือเปล่า แล้วเราไม่รู้ว่าถ้าจับไป เขาจะเอาไปไหนด้วย มันเป็นความกลัวด้วยแหละคือภาพการชุมนุมสมัยก่อนที่ผู้ชุมนุมถูกดึงเข้าไปหลังแนวตำรวจแล้วถูกจับกุมมันผุดขึ้นมาเลย เลยตะโกนซ้ำๆ ว่าระวังโดนจับ สลับกับอย่าทำร้ายผู้ชุมนุม ตอนนั้นมันชุลมุนวุ่นวายมาก
ส่วนคำที่ตะโกนว่า ‘ภาษีกู’ ก็ใช่ แต่มันเป็นคำที่กลุ่มผู้ชุมนุมมีการส่งเสียงกันเป็นปกติอยู่แล้ว มันเป็นคำที่พูดกันก่อนจะมีรถเคลื่อนผ่านมาอยู่แล้ว หรือการชูสามนิ้วก็เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของม็อบอยู่แล้ว และตอนที่รถผ่านมาก็ไม่มีใครรู้ด้วยว่านี่คือรถของใคร ทุกคนยังคิดว่าเป็นรถของคณะรัฐมนตรี ของใครสักคนจากทำเนียบด้วยซ้ำ
ตอนรถผ่านไปได้สักระยะหนึ่งแล้ว ก็ยังมีเสียงพูดคุย ถามๆ กันว่ารถนายกหรือเปล่า คณะรัฐมนตรีหรือเปล่า แล้วก็มีเสียงคนเริ่มพูดว่าเป็นขบวนเสด็จ แต่ครู่เดียวคนก็เริ่มหันไปสนใจเรื่องอื่นมากขึ้นเรื่อยๆ คนไม่ได้โฟกัสขบวนรถที่ผ่านไปแล้ว ทุกคนหันหน้ากลับมาที่ทำเนียบรัฐบาล เริ่มมีมวลชนไปตั้งแถวขอพื้นที่บริเวณนั้นให้กับผู้มาชุมนุม ทุกคนก็กลับมาโฟกัสกับสิ่งที่เรามาเพื่อเรียกร้อง
จากนั้นหกโมงกว่า ฟ้าเริ่มมืด ผมเริ่มเตรียมออกจากพื้นที่ชุมนุม เพราะบอกภรรยาว่าจะกลับบ้านภายในสองทุ่ม ก็ต้องไปซื้อกับข้าวให้เขาก่อน ก็พยายามหาทางถอยออกจากตรงนั้น คือเราก็เหมือนผู้ชุมนุมทั่วไปที่มาเมื่อมาได้ ผมมีเวลาจำกัดก็บอกภรรยาว่าจะมาแค่นี้แล้วจะรีบกลับบ้าน เราแค่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการรวมตัวแสดงออกเท่านั้นเอง
จากที่จะมาแสดงออกจุดยืนแค่ชั่วครู่ กลายเป็นผู้ต้องหามาตรา 110
วันที่โดนหมายผมไปประชุมตามปกติ กำลังจะกลับบ้านมีพี่คนหนึ่งส่งแชตมาถามว่าเกิดอะไรขึ้น เราดูแล้วก็ตกใจว่ามีข่าวออกหมายจับถึงผมด้วย ม.110 ตอนนั้นทั้งงงแล้วก็กังวลทันที คิดว่าจะกลับบ้านแม่ที่นี่หรือไปบ้านแฟนเอาข้าวไปให้ทำตัวปกติดี เพราะเราไม่อยากให้เขาเดือดร้อน แต่ไม่มีเจตนาหนีใดๆ ทั้งสิ้น ก็โทร.หาพี่ๆ เพื่อนๆ ว่าทำอะไรได้บ้าง เพราะสื่อออกไปเร็วมาก พอตั้งสติได้เลยโทรหาศูนย์ทนายฯ ว่าเราคือ ตัน สุรนาถ ที่ถูกออกหมายจับนะ ทางศูนย์ฯ ถามว่าผมต้องการแบบไหน ผมก็บอกตามตรงว่าต้องการมอบตัวให้เร็วที่สุดแต่ขอเตรียมตัว คุยกับที่บ้านให้เข้าใจตรงกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วจะขอมอบตัวแต่เช้า
เช้ามาเตรียมตัวออกจากบ้านพร้อมกระเป๋าใบเล็กๆ มีเสื้อผ้าอยู่ชุดนึง เพราะเราเตรียมตัวจะอยู่แค่วันเดียว หวังว่าจะได้ประกันตัว เพราะเราไม่ได้กระทำผิดตามข้อกล่าวหา แม่ก็เตรียมหลักทรัพย์เท่าที่มีเป็นโฉนดที่ดินราคาไม่เยอะ แสนกว่าบาท มีพี่ๆ เพื่อนๆ ช่วยเตรียมเงินสดไว้บ้าง แต่พอจะออกจากบ้าน พี่ๆ ตำรวจก็แสดงตัวเข้าจับกุมเลย เขามารออยู่แล้ว เราก็เฟลว่าเราต้องการจะไปมอบตัว กังวลว่าการที่ถูกจับกุมก่อนมันจะส่งผลต่อคดีความไหม เราเลยรีบโทรหาพี่ๆทนายทันที
เพื่อนรอบตัวก็พยายามไปให้กำลังใจตั้งแต่วันแรกๆ ที่จะยื่นขอประกันตัวที่ศาลอาญา รัชดาฯ แต่พอไม่ได้ก็เสียกำลังใจกลับบ้านกัน หรือบางคนมาไม่ได้ก็ทราบว่ามีการให้กำลังใจผ่านออนไลน์ ช่วยบอกข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเรา เราไม่ได้อ่าน แต่รับรู้ได้ พี่ๆ ทนายก็ช่วยส่งข่าว ให้กำลังใจบอกว่าทุกคนคอยช่วยอยู่
ลำพังกำลังใจช่วยได้ไหมกับความกังวลใจที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 13 วันที่ถูกคุมขัง
มันเป็นกำลังใจและความหวังนะว่ามีคนกำลังช่วยสื่อสารอยู่ เพราะเราทำอะไรไม่ได้ แต่ความรู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้นี่มันหนักหนา คือตอนที่อยู่ในนั้นมันรู้สึกสูญเสียศักยภาพมากๆ ผมฝากพี่ทนายบอกคนข้างนอกว่าอย่าทิ้งผมนะ เพราะผมอยู่ข้างในแล้วไม่สามารถใช้ศักยภาพที่มีได้เลย มันไร้ความสามารถไปหมดเลย ผมรู้อยู่แล้วว่าทุกคนไม่ทิ้งผม แต่ตอนนั้นมันทำได้แค่นั้นคือขอให้ทุกคนช่วยพิสูจน์ความจริง แล้วมันก็กลั้นน้ำตาไม่อยู่ตอนออกมาที่เห็นว่าทุกคนไม่ทิ้งผมจริงๆ ทุกคนช่วยสื่อสารเรื่องของผมต่อไป จนทำให้ผมออกมาได้
คิดว่าการเคลื่อนไหวทางออนไลน์เวลามีการแฮชแท็ก #save ใครต่อใคร มันส่งผลต่อการตัดสินใจปล่อยตัวของศาลหรือไม่
แน่นอนว่าปัจจัยสำคัญก็คือศาลท่านชัดเจนอยู่แล้วในการดำเนินการให้คดีความนี้มันเกิดความยุติธรรมสูงสุด ศาลท่านคงพิจารณาพฤติการณ์เราด้วยทั้งในการปล่อยตัวชั่วคราว ไม่อนุมัติการฝากขังเพิ่ม
แต่ผมว่าการสื่อสารของคนในสังคมมันเป็นส่วนสำคัญเลยนะที่จะช่วยยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นใคร มีบทบาททำอะไรมาก่อนในสังคม โดยเฉพาะข้อกล่าวหาที่ผมเจอมันเกินความจริงอยู่แล้วด้วย การที่สังคมช่วยกันสื่อสารมันก็ช่วยทำให้คนที่ไม่รู้จักผมมาก่อนเริ่มตั้งคำถามต่อความรุนแรงของข้อกล่าวหานี้ แล้วก็เริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อคนถูกคดีความลักษณะนี้ตามความเป็นจริงมากขึ้น ไม่ใช่ว่าด่วนตัดสินเลยว่าถูกกล่าวหาแบบนี้ก็ต้องถูกจองจำมันเหมาะสมแล้วไง ผมว่ามันทำให้เกิดการครุ่นคิดมากขึ้นว่ามันไม่มีใครควรถูกจองจำแต่แรกบนข้อกล่าวหาที่ไม่มีหลักฐาน หรือเป็นหลักฐานแค่ภาพถ่าย ในแง่หนึ่งผมอาจโชคร้ายที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทาง แต่ในอีกแง่ผมก็โชคดีที่อยู่ในยุคดิจิตอลที่ทุกคนเข้าถึงข่าวสารได้หลากหลาย และมีช่องทางสื่อสารของตนเอง
ย้อนกลับไปนิดที่คุณพูดว่าระยะเวลาสิบสามวันมันลดทอนศักยภาพที่มี นอกจากลิดรอนเสรีภาพแล้ว มันลดทอนศักยภาพอย่างไร
มันหดหู่นะกับสิ่งที่เกิดขึ้น มันเสียใจ รู้สึกว่าทำอะไรมามากแต่ข้อกล่าวหาเดียวมันทำให้สังคมมองเราในแง่ลบ แล้วเราไม่มีโอกาสพิสูจน์เลย พอคิดแบบนั้นก็รู้สึกหัวใจเรามันค่อยๆ เล็กลง ความคิดเรามันแคบลง มันห่อเหี่ยวที่ปกติหนึ่งวันเนี่ยะผมทำอะไรได้มากมาย แต่หนึ่งวันในเรือนจำผมทำอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถแม้แต่จะปกป้อง หรือทำให้ครอบครัวสบายใจได้ แล้วมันก็มีความกลัว กลัวว่าเพื่อนๆ พี่ๆ ที่ออกมาปกป้องเราเขาจะสูญเสียหน้าที่การงานของเขาไปด้วย กลัวว่าชื่อเครือข่าย Active Youth ชุมชนที่มีชื่อผมอยู่จะเสียชื่อเสียงไปด้วย กลัวคนจะเข้าใจผิดว่าเราทำงานกับเยาวชนเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง กังวลไปหมด แต่ทำอะไรไม่ได้สักอย่างในนั้น
ผมแอบคิดนะว่าผมอาจฆ่าตัวตายเลยก็ได้ เพราะมันหมดสิ้นแล้วกับสิ่งที่เราเคยทำมา ความรู้สึกลบๆ มันขึ้นมาหมดเลยตลอดระยะเวลาที่ถูกคุมขัง มันรู้สึกว่าเราหมดแล้วในคุณค่าของความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง รู้สึกเป็นคนที่ไร้ค่าต่อสังคม สิบกว่าวันมันอาจดูเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่กับความคิดที่เกิดขึ้น และความไม่รู้เลยว่ามันจะจบเมื่อไร จบยังไง สิบสามวันนั้นเลยรู้สึกยาวนานมาก
ก็ต้องขอบคุณพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่จัดงาน ‘กอดตัน’ ขึ้นมา มันค่อยๆ ฟื้นฟูทีละนิด แต่ก็ยังมีเรื่องต้องปรับตัวเล็กๆ น้อยๆ ทั้งเรื่องกินข้าวนอกบ้าน ไปเดินตามที่สาธารณะเราก็ยังทำแบบปกติไม่ได้เหมือนเดิม หรือแค่เห็นไฟนีออนวันแรกนี่น้ำตาไหลเลยนะ เพราะเราไม่เจอแสงสว่างมานาน เจอพัดลม กินน้ำเย็น นิดหน่อยก็เจ็บๆ ออดๆ แอดๆ เพราะตอนอยู่ในนั้นเราไม่ได้สัมผัสมันเลย พอออกมาเจออีกครั้ง มันเลยส่งผลต่อร่างกาย จิตใจไปหมด
นี่แค่สิบกว่าวัน แล้วคนที่ต้องอยู่ในเรือนจำนานๆ …
นั่นน่ะสิครับ การถูกจำกัดอิสรภาพมันขั้นสุดของชีวิตมนุษย์แล้ว
มันไม่ได้พรากแค่อิสรภาพ แต่พรากศักยภาพของมนุษย์คนหนึ่งไป
(พยักหน้า)
หากจะมีอะไรบ้างที่เป็นจริงเกี่ยวกับข้อกล่าวหา ก็คงเป็นคำที่กล่าวว่าคุณคือ ‘แกนนำเยาวชน’ เล่าให้ฟังหน่อยถึงนิยามบทบาทนี้
กลุ่ม Active Youth เกิดขึ้นจากเครือข่าย ‘บางกอกนี้ดีจัง’ ที่ผมรับผิดชอบโครงการนี้มาประมาณแปดปี ซึ่งเป็นโครงการที่ทำงานกับชุมชนโดยตรง ด้วยสภาพแวดล้อมที่เราอยู่มันเป็นชุมชนแออัดที่เรียกกันว่าเป็นพื้นที่สีแดง เป็นพื้นที่เสี่ยง กลุ่มบางกอกนี้ดีจังจึงเกิดขึ้นจากความเชื่อว่าสภาพแวดล้อมนั้นส่งผลต่อเด็กมาก เรามักจะตีตราเด็ก โทษเด็กว่าเป็นเด็กไม่ดีโดยที่ไม่ดูด้วยซ้ำว่าเขาถูกรายล้อมอยู่ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ไม่เคยถูกส่งเสริมศักยภาพด้านบวก เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพยายามทำคือปรับชุมชนของเขาใหม่ ให้เขามองชุมชนในด้านใหม่ สร้างพื้นที่ที่ทำให้เขาสามารถดึงพลังบวกของเขาออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ทั้งเพื่อตัวเขาเอง และเพื่อส่วนรวมด้วย นี่เป็นแนวคิดหลักที่ทำให้เราทำโครงการบางกอกนี้ดีจัง และเกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม Active Youth ขึ้นมา เพื่อรณรงค์การใช้ยาเสพติด การพนันในชุมชน เพราะเราเห็นว่ายาเสพติดมันเป็นด่านแรกที่ทำให้เด็กเสี่ยงต่อความรุนแรง
ลองยกตัวอย่างโครงการหนึ่งที่สะท้อนแนวคิด วิธีการทำงานของกลุ่ม Active Youth ได้ไหม จะได้เข้าใจสิ่งที่คุณและเครือข่ายพยายามทำมากขึ้น
ภาพจำของคนส่วนใหญ่ต่อชุมชนแออัดคือเป็นชุมชนที่ไม่น่าอยู่ แล้วมันก็ส่งผลต่อความภาคภูมิใจของคนในชุมชนด้วย เราเลยเริ่มจากการเปลี่ยนภาพลักษณ์ของชุมชนด้วยการให้เด็กๆ นี่แหละเป็นคนสำรวจว่าชุมชนเรามีข้อดีอะไรที่คนอื่นไม่ค่อยเห็น หรือเราเองก็ไม่รู้ เลยกลายเป็นเส้นทางการเรียนรู้ห้องเรียนชุมชนขึ้นมา พยายามปักหมุดหาภูมิปัญญาชุมชนที่ทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างคนในชุมชนกันเอง เกิดการเก็บความรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนที่คนภายนอกมาเรียนรู้ได้ ทำให้เขาเห็นภาพชุมชนใหม่ในฐานะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ไม่ใช่พื้นที่สีแดงที่มีแต่ยาเสพติด เช่น การทำกระทงจากกาบมะพร้าวอายุร้อยกว่าปีที่ต่างชาติรู้จักกันดี แต่คนไทยเองไม่ค่อยรู้จัก หรือการหล่อพระด้วยวิธีดั้งเดิมประวัติศาสตร์ชุมชนแบบนี้ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน หรือการสร้างพื้นที่ ‘ปั่นปนเดิน เพลินสามบาง’ เชื่อมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนในเขตบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางพลัดเข้าด้วยกัน ไปรื้อฟื้นศิลปะวัฒนธรรมอย่างสิงโตเหล็ก อาชีพเก่าแก่อย่างการทำขนมเบื้อง ข้าวหลามโบราณ สิ่งเหล่านี้มันทำให้ภาพลักษณ์ชุมชนเปลี่ยนไป ชุมชนเองก็เริ่มภูมิใจในพื้นที่ตนเอง เกิดเป็นความร่วมมือกันทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่
นอกจากระดับชุมชนแล้ว อีกเรื่องที่เราทำคือการผลักดันเชิงนโยบาย เราเคยส่งเสียงให้พรรคการเมืองในช่วงเลือกตั้งเมื่อหลายปีก่อนว่านโยบายพรรคการเมืองส่วนใหญ่พูดถึงเศรษฐกิจ สวัสดิการ การศึกษาระดับมหภาค แต่ไม่ค่อยมีพรรคการเมืองไหนพูดถึงการพัฒนา แก้ไขปัญหาที่เด็กและเยาวชนเผชิญอยู่เลย เราเลยทำข้อเสนอกันในกลุ่ม Active Youth จัดโฟกัสกรุ๊ปรับฟังเสียงเด็กและเยาวชนเรื่องปัจจัยเสี่ยงรอบตัวพวกเขา ไม่ใช่เราคิดเองเออเอง เพื่อทำการเสนอต่อพรรคการเมืองให้เป็นนโยบายต่อไป
เราทำงานทั้งเชิงพื้นที่และนโยบาย แต่สุดท้ายมันคือหลักการที่ว่าเราเชื่อในการเปิดพื้นที่ให้คนทุกคนสามารถส่งเสียงความต้องการของเขาเอง และสามารถแสดงถึงศักยภาพของพวกเขาเองได้ เพราะการทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของความคิด ผลงานตัวเองมันสำคัญมากต่อความรู้สึกภาคภูมิใจ ต่อการอยากมีส่วนร่วม มันไม่ใช่คำที่ไปบอกให้เขาภูมิใจนะ มีส่วนร่วมนะแล้วมันจะเกิด แต่มันต้องเกิดจากการที่เขาได้ลงมือทำจริงๆ
ในแง่หนึ่งคุณเองก็เป็นเด็กที่เติบโตมาใน ‘พื้นที่สีแดง’ แต่อะไรเป็นจุดเริ่มต้นทำให้คุณหันมาสนใจพัฒนาชุมชน แทนที่จะยอมจำนนกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่
แรกเริ่มผมเป็นเด็กเกเรที่เคยสร้างปัญหาให้ชุมชนมาก่อน แต่พ่อเป็นผู้นำชุมชนที่พยายามพัฒนาแก้ไขปัญหาที่ชุมชนมี แต่ไหนแต่ไรเราก็จะเห็นการทำงานกันในระหว่างผู้นำกับผู้นำ แล้วรู้สึกว่ามันขาดการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน เราได้ไปร่วมเวทีของสำนักงานเขต หน่วยงานรัฐ เขาชวนเด็กไปเป็นร้อยๆ ไปฟังวิทยากรใครไม่รู้มาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ เด็กได้แต่ฟัง ไม่ได้พูดสักแอะ เราเห็นแล้วมันน่าเสียดาย แต่เราก็อยากเห็นชุมชนเราดีขึ้นอย่างที่เขาว่าไว้ ก็เริ่มมาตั้งหลักว่าทำอะไรได้บ้าง ค่อยๆ เรียนรู้จากจุดอ่อนผู้นำชุมชนว่าอะไรที่ต้องปรับ และก็เรียนรู้จากจุดแข็งที่พ่อเป็นต้นแบบ คอยพูดเสมอว่าทำงานใหญ่ ต้องร่วมมือเป็นเครือข่ายมันถึงจะมีพลัง
ที่ว่าเกเรนี่เกเรแค่ไหน
แต่ก่อนผมเคยติดยา ซึ่งเป็นชุมชนที่พ่อเป็นผู้นำมาตลอด ผมทำผิด แต่เป็นพ่อแม่ที่ถูกตีตรา โดนต่อว่า โห ตอนนั้นมันบอบช้ำมากเพราะเราเห็นเขาอุทิศตนให้ชุมชนมาตลอด พี่ชายผมเองก็ถูกดำเนินคดี จนตำรวจยังบอกเลยว่าพวกมึงนี่นะ พ่อดีขนาดนี้ ยังทำตัวแบบนี้ มันทำให้เราเปลี่ยนความคิดจากแต่ก่อนที่บอกว่าจะดีจะเลวมันเรื่องของเรา แต่เราไม่เคยได้คิดเลยว่ามันส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว จนถึงขั้นพ่อยอมลาออกจากตำแหน่งทั้งหมดที่มีเพื่อมาดูแลผมกับพี่ ครั้งนั้นเป็นจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ที่เราเลยคิดได้แล้วว่าสิ่งที่เราทำมันเลยส่งผลกระทบต่อคนอื่น
อีกจุดเปลี่ยนสำคัญคือพี่ชายมีลูก วันที่พี่สะใภ้คลอดลูกได้เจ็ดแปดวันแล้วโดนติดคุก สุดท้ายแม่ต้องเอาหลานมาเลี้ยง เลี้ยงไปร้องไห้ไป ก็เริ่มคิดแล้วว่าถ้าหลานโตมาเห็นครอบครัวเป็นแบบนี้จะอยู่ยังไง พอเห็นน้ำตาแม่ เห็นหลานอยู่โดยไม่มีแม่เพราะคดีเดียวกับเราคือเรื่องยาเสพติด ก็เริ่มคุยกับพี่ว่าเราพอได้หรือยังวะ พ่อแม่สูญเสียคุณงามความดีที่ทำมา มีหนี้อีกเป็นล้าน เริ่มคุยกันว่าเราหยุดดีกว่าไหม
พอพ่อเห็นว่าเราตั้งใจจะเปลี่ยนตัวเอง เขาเลยพาออกไปทำงานด้วย ทั้งที่ช่วงนั้นเป็นช่วงพักฟื้นจากการติดยา ก็กินๆ นอนๆ อย่างเดียว พ่อต้องเบี่ยงเวลาทำงานเอาอาหารมาให้ที่ห้อง ยิ่งคิดไปอีกว่าทำไมต้องให้พ่อลำบากขนาดนี้ ใช้เวลาสามปีเลยนะกว่าจะฟื้นฟูร่างกายกลับมาเป็นปกติได้ แต่พ่อก็ยังพาไปทำงานด้วยตลอด ค่อยๆ ให้ลองทำงานง่ายๆ เช่นตีกลองช่วยทำสันทนาการ เราอยู่ตรงนั้นก็เริ่มได้ฟังคำพูดจากวิทยากร เห็นวิธีทำงานพ่อ ได้เข้าร่วมอบรม เริ่มได้โอกาสไปดูงานต่างประเทศ พอมันได้โอกาสครั้งแรกแล้วชีวิตมันพลิกเลยนะ มันทำให้เห็นเลยว่าถ้าคนเราได้โอกาส เราจะต่อยอดมันไปได้เรื่อยๆ ตรงกันข้ามคนที่ก้าวพลาด ก็จะพลาดไปเรื่อยๆ เหมือนกัน
คนคนเดียวกัน แต่อยู่ในสภาพแวดล้อมต่างกันมันก็ส่งผลต่อชีวิตต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ใช่ สภาพแวดล้อมคือพื้นฐานสำคัญเลย อย่างน้อยที่สุดมันต้องเอื้อต่อการใช้ชีวิตเป็นปกติให้ได้ก่อน ถ้าออกจากบ้านสิ่งแรกที่เจอคือแหล่งมั่วสุม ค้ายา จะใฝ่ดียังไงมันก็หลุดออกจากตรงนั้นยาก ใจแข็งยังไงสักวันมันต้องได้ข้องเกี่ยวกับมันไม่ทางใดทางหนึ่งแน่ ลานปนยิ้มหน้าชุมชนนี่แต่ก่อนคือจุดส่งยาเลยนะ แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นลานชุมชนให้คนมาจัดกิจกรรมร่วมกันแล้ว แค่พื้นที่เปลี่ยน มันก็เปลี่ยนคนได้เลย มันไม่ได้ผิดที่เด็ก มันไม่มีเด็กคนไหนอยากเป็นคนไม่ดี อยากใช้ชีวิตพลาดหรอก แต่สิ่งแวดล้อมมันส่งผลต่อเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้
แนวทางการทำงานของกลุ่มเลยเป็นการพัฒนาพื้นที่ชุมชนมาโดยตลอด
ใช่ แต่การพัฒนามันต้องมาจากคนในชุมชนเองนะ ถ้าเราไปเอาศิลปินคนนอกเข้ามาทำงานศิลปะ ต่อให้จะสวยแค่ไหน ศิลปินจะดังแค่ไหนแต่มันก็ไม่ใช่ผลงานของเขา เขาต้องลงมือเอง จะสวยไม่สวยไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่เขาต้องรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของผลงานนั้น กำแพงศิลปะในชุมชนนี่แต่ก่อนดำปี๋ ไฟในชุมชนก็ไม่ค่อยมี มันเลยเป็นพื้นที่ไม่ปลอดภัย เด็กๆ เขาก็เสนอกันเองว่าอยากทำตรงนี้ให้สว่าง เลยช่วยกันขัดกำแพง จับจองพื้นที่วาดรูปกำแพงกัน วาดเป็นรูปต้นมะพร้าวบ้าง อะไรบ้าง เพราะตรงนั้นมันเคยเป็นพื้นที่สวนมาก่อน มันก็บอกเล่าเรื่องราวชุมชนด้วย ทำให้ชุมชนดูดีขึ้นด้วย ที่สำคัญมันมาจากความต้องการ เป็นผลงานชุมชนเองอย่างแท้จริง แล้วเขาจะดูแลมันเอง
ในแง่นี้นั้นบทบาทของการเป็น ‘แกนนำ’ จริงไม่ใช่การทำให้ ทำแทน แต่คือการเปิดพื้นที่ให้เกิดการทำงานร่วมกัน
ผมเชื่อมากว่าในการทำงานใดๆ ให้สำเร็จได้ระยะยาวทุกคนต้องรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของผลงานนั้นร่วมกัน ถ้าที่ผ่านมามีแค่พ่อผมคนเดียวที่สนใจงานพัฒนาชุมชน เมื่อพ่อตายไป มันก็จะจบลงแค่นั้น แต่วันนี้พ่อได้ฝากความคิดกับผมไว้ ฝากไว้กับเยาวชน คนที่เคยทำงานร่วมกับแก ทุกอย่างมันเลยถูกต่อยอดได้ทันที
ดูพ่อจะมีบทบาทต่อความคิด และวิธีการทำงานของคุณมาก
พ่อเป็นคนที่อุทิศตนเพื่อสังคมมาโดยตลอด ถึงขั้นยอมลาออกจากตำแหน่งงานหลักเพราะเขาเชื่อว่าครอบครัวเราพออยู่ได้แล้ว เราต้องมองไปไกลกว่าครอบครัวของเราเอง คือมองไปถึงส่วนรวม พ่อเลยอาสาสมัครมาเป็นคณะกรรมการชุมชน ทำงานเครือข่าย ‘เกษตรชุมชน’ และเครือข่ายอื่นๆ อีกมากมายไปหมด เขาไม่เคยบอกเลยว่าผมต้องทำอะไร แต่สิ่งที่เขาทำให้เห็นมันเป็นแรงบันดาลใจ เป็นพลังให้เราอยากถีบตัวเองออกจากการที่เคยก้าวพลาด เพื่อที่จะทำประโยชน์ให้ชุมชนได้บ้างเหมือนที่พ่อทำให้เห็นเป็นตัวอย่างไม่ว่าจะในสถานการณ์ปกติ หรือเมื่อเกิดวิกฤตอย่างน้ำท่วม ที่บ้านเราก็ท่วมแต่เขาก็ตั้งตัวเป็นพื้นที่อำนวยความสะดวกให้ชุมชน หารถกระบะมาใช้เป็นรถฉุกเฉินแจกข้าว แจกของให้คนที่ได้รับความเดือดร้อน หรือหารถรับส่งผู้ป่วยติดเตียง เราเห็นพ่อเอาส่วนรวมมาก่อนความสบายส่วนตัวเสมอ ตอนเกิดโควิด-19 มันเลยทำให้เราคิดอัตโนมัติเลยว่าจะช่วยให้ชุมชนรอดไปด้วยกันอย่างไรได้บ้าง ที่อื่นเขามีถุงยังชีพ เราทำถุงยังแอค คือถุงบรรจุ activity ให้เด็กยังเรียนรู้ได้ สนุกได้แม้กระทั่งตอนเกิดวิกฤต
ทราบมาว่าช่วงการสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 คุณพ่อก็มีส่วนร่วมในการจัดตั้งโรงทาน ทำงานอาสาสมัครต่างๆ
ครับ ช่วงนั้นพ่อกับองค์กรเครือข่ายร่วมกันทำเสื้อสีดำแจกจ่ายให้คนทั่วไปที่ไม่สามารถหาซื้อเสื้อได้ แล้วก็ช่วยกันทำโรงทานเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้คนได้ระลึกถึงคำสอนของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในชีวิตประจำวันพ่อเองก็เป็นคนที่นำหลักศาสตร์พระราชามาใช้ พ่อเป็นคนประหยัดมากกับค่าใช้จ่ายในครอบครัว แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนรวมพ่อเต็มที่เสมอ หรือในวันสำคัญของทุกปี พ่อก็จะรวมตัวคนในชุมชนมาจุดเทียนถวายพระพรอยู่เสมอไม่ขาด
งานถวายพระราชกุศล ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน
ใช่ครับ มันสำคัญมากที่เราต้องเชื่อมโยงการทำงานใดๆก็ตามให้ได้ประโยชน์ต่อผู้คนให้มากที่สุด และผมเชื่อว่าการการมีอยู่ของสถาบันในแง่นี้จะมีความสง่างาม ในการเป็นศูนย์รวมหัวใจของผู้คนให้ขับเคลื่อนประเด็นสาธารณะร่วมกันได้
คิดว่าทำไมเรื่องการทำงานเพื่อส่วนรวมถึงเป็นหลักการใหญ่ที่พ่ออุทิศตนให้ขนาดนั้น
เพราะว่าเราเองก็เห็นมาเยอะกับความไม่เท่าเทียมของสังคม เราจะเลือกเอาตัวรอดคนเดียวเลยก็ได้นะ แต่มันก็ยิ่งทำให้รู้สึกหดหู่กับความเหลื่อมล้ำความไม่เท่าเทียม ทั้งที่การเอาตัวรอดนั้นเราเลือกได้ว่าเราจะรอดคนเดียว หรือรอดร่วมกันกับคนอื่นๆ ด้วย ถ้าเราเลือกที่จะรอดร่วมกัน เราจะถามตัวเองว่าเราจะทำหน้าที่เป็นคนตรงกลางได้ยังไงในการที่จะทำให้คนแต่ละคนเห็นพลังของตัวเอง แล้วหาทางรอดไปด้วยกัน ถ้าดีขึ้นก็ดีขึ้นด้วยกัน ผมว่าความคิดเพื่อส่วนรวมมันยิ่งใหญ่นะ มันสอนกันไม่ได้ด้วยการบอก แต่เมื่อคนหนึ่งทำ อีกคนจะเห็น และมันจะเป็นแบบอย่างกันต่อไป
เหมือนที่คุณเห็นตัวอย่างจากพ่อที่อุทิศตนเพื่อสังคมมาโดยตลอด
ใช่ครับ พ่อเป็นตัวอย่างให้ผม ตอนนี้น้องๆ ลูกหลานในชุมชนที่เราทำงานด้วยเขาก็ซึมซับเรื่องนี้ แล้วความคิดเพื่อส่วนรวมเมื่อเกิดขึ้นแล้วมันต่อยอดไปได้เรื่อยๆ
ให้เราแต่ละคนเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนจากชุมชนที่เต็มไปด้วยความหวาดระแวงต่อกัน เป็นชุมชนที่ร่วมมือกัน
(ยิ้ม) ครับ
หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563
ติดตามกิจกรรมจากกลุ่ม ‘บางกอกนี้ดีจัง’ ได้ทางเฟซบุ๊ก บางกอกนี้ดีจัง