วรัตต์ วิจิตรวาทการ

วรัตต์ วิจิตรวาทการ: ‘Be kind’ บทเรียนจากคนปลายน้ำ ที่สำคัญไม่ว่าในช่วงเวลาใดก็ตาม

Be open. Be just. Be equal. Be kind.

       แคปชันคำอธิบายใต้โลโก้สี่เหลี่ยม ‘The Commons’ ที่ไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นสถานที่อะไร มีร้านค้าอะไร เปิด-ปิดวันไหน เมื่อไหร่ แต่บอกว่าหัวใจของผู้คนเบื้องหลังคอมมูนิตี้แห่งนี้ว่าเชื่อในสิ่งใด

       และเมื่อได้คุยกับ ‘เต้’ – วรัตต์ วิจิตรวาทการ ผู้ก่อตั้ง ‘The Commons’, ร้านอาหาร ‘Roast’ ร้านกาแฟ ‘Roots’ และไฟน์ไดนิง ‘OCKEN’ ทำให้ได้เห็นจุดร่วมบางอย่าง ในธุรกิจที่ดูเผินๆ ล้วนช่างแตกต่างของเขา และดูเหมือนว่าแคปชันใต้โลโก้สี่เหลี่ยมนั้นจะไม่ใช่เพียงแค่คำขวัญองค์กร หากสะท้อนถึงการกระทำ และความเชื่อที่เป็นแรงขับเคลื่อนในใจ ในการที่จะ:

       Be open กับไอเดียใหม่ๆ
       Be just กับการตัดสินใจ
       Be equal กับการกระทำ
       Be kind กับทุกคน

       a day BULLETIN พูดคุยกับ คุณเต้ วรัตต์ ในวันที่เราเข้าสู่การคลายล็อกดาวน์ระยะสุดท้าย ถึงช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เรียกได้ว่าหนักหนาที่สุดของวงการร้านอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บทเรียนครั้งนี้ได้สอนอะไรเขาบ้าง อะไรที่เขาเรียนรู้ที่จะทำให้ต่างไปจากเดิม และอะไรที่เขาจะรักษาไว้คงเดิม ไม่ว่าจะต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงใดๆ

 

วรัตต์ วิจิตรวาทการ

บรรยากาศหลังคลายล็อกดาวน์

       “เริ่มมีชีวิตชีวาขึ้นนิดหน่อย แต่ถ้าเปรียบเทียบกับแต่ก่อนมันก็ไม่เหมือนเดิม คนก็น้อยลง แต่ช่วงกังวลมันผ่านไปแล้ว ตอนนี้มันเป็นเวลาคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่รอดได้ จะปรับตัวอย่างไรมากกว่า 

       “ก่อนหน้านี้ก็กังวลหลายอย่าง ความอยู่รอดของบริษัทเราก็เป็นห่วง แต่ความอยู่รอดของ ‘คน’ ในบริษัทเป็นเรื่องที่เราห่วงที่สุด แต่เพื่อความอยู่รอดของทุกฝ่าย เราก็ต้องมาดูว่าธุรกิจเรายังสร้างรายได้จากอะไรได้บ้างในสถานการณ์แบบนี้ ตรงไหนยังทำต่อได้ ตรงไหนต้องหยุดไปก่อนเลย และดูว่าค่าใช้จ่ายใหญ่มันอยู่ตรงไหน เช่น ค่าเช่า รวมถึงเรื่องค่าจ้างก็เป็นรายจ่ายก้อนใหญ่มากเช่นกัน ก็หาทางว่าถ้าต้องลดรายจ่าย จะทำอย่างไรให้มีผลกระทบกับคนน้อยที่สุด

       “มันเหมือนคนที่ว่ายน้ำเหนื่อยอยู่แล้ว ถ้ายิ่งมีอะไรมากดทับมันก็จะยิ่งจม ตอนนั้นต้องขอความช่วยเหลือคนเยอะมาก คุยกับคนให้เช่าพื้นที่ นักลงทุน หรือธนาคารที่ปล่อยกู้ในบางโปรเจ็กต์ สื่อสารไปตรงๆ ว่าสถานการณ์ตอนนี้ลำบากยังไง เราต้องขอความช่วยเหลือ รวมทั้งจากพนักงานด้วยว่า เราจำเป็นต้องใช้มาตรการที่มันอาจกระทบกับบางคน ต้องมีบางคนที่ออกไปบ้าง ส่วนคนที่ยังเหลืออยู่ก็ขอดูกันหกเดือนต่อไป ที่อาจไม่สามารถเรียกได้ว่าจะกลับไปเป็นปกติด้วยซ้ำ อาจจะแค่เริ่มพออยู่ได้ ฉะนั้น ในหกเดือนนี้เราต้องขอความช่วยเหลือจากทุกคน และขอโทษคนที่ได้รับผลกระทบ”

‘ขอความช่วยเหลือ’ เมื่อไม่ไหว ‘จริงใจ’ ในการบอกความจริง

       “ก็หนักใจ แต่ต้องพูดความจริง ยิ่งสถานการณ์แบบนี้ยิ่งต้องยอมรับว่าเราลำบาก และเราต้องขอความช่วยเหลือจากพวกเขา พอเราสื่อสารในเชิงขอความช่วยเหลือ คนส่วนใหญ่ก็พร้อมจะช่วย

       “ช่วงแรกเราพยายามดูภาพรวมของเหตุการณ์ มันก็ทำให้เห็นว่าสถานการณ์แบบนี้มันช่วยทุกคนไม่ได้ ถ้าเราจะรักษาทุกคน เราจะบาดเจ็บหนัก และอาจไม่รอดกันหมด เลยเลยต้องขอความช่วยเหลือจากคนที่เพิ่งทำงานกับเราไม่ถึงหกเดือนว่าขอให้พักงานก่อน และถ้าเราพร้อมจ้างเมื่อไร เราจะจ้างพวกเขาเป็นกลุ่มแรก หรือถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เราจะพยายามหางานให้ แต่ว่าตอนนี้เราไม่สามารถจริงๆ ก็ต้องขอโทษ และขอความช่วยเหลือจากทุกคน”

การสื่อสารอย่างจริงใจและต่อเนื่อง ที่เปลี่ยนเรื่องยากให้เป็นไปได้

       “พยายามทำให้เรื่องเซนซิทีฟให้แฟร์ที่สุด เลยใช้ระยะเวลาทำงานเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ คือขอให้คนที่ทำงานน้อยกว่าหกเดือนพักก่อน ส่วนกลุ่มคนที่ทำงานมากกว่าหกเดือน ซึ่งมากกว่า 75% ของพนักงานทั้งหมด หรือ 300 กว่าคน ก็ต้องคุยกันว่า ช่วงนี้เราไม่สามารถจ่ายเงินเดือนเต็มได้ หรืออาจต้องขอลดจำนวนวันทำงาน คิดว่าคนส่วนใหญ่นั้นเข้าใจ และเราก็บอกเขาว่า ในการทำให้พวกเขากลับมาให้ได้ ก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายของเราเหมือนกัน

       “เป็นความโชคดีของเราที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ อาจเพราะเรามีการสื่อสารภายในองค์กรกันเยอะ มีทั้งถ่ายวิดีโอ broadcast ให้เขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง เขาก็คงเห็นว่าเราพยายามรักษาทุกคนจนนาทีสุดท้าย คือในตอนนั้นคนในวงการก็เลย์ออฟกันหมดแล้ว การที่เราไม่ได้ปลดคนเยอะมาก หรือพยายามให้มันเวิร์ก เขาก็คงเห็นบ้างว่านี่มันไม่ใช่การตัดสินใจที่เราคิดและทำเลย มันผ่านการคิดมาเยอะ และมันเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสุดแล้วกับตอนนี้ที่เราได้ผลกระทบค่อนข้างหนัก”  

 

วรัตต์ วิจิตรวาทการ

จากแผนลงทุนระยะยาว ลงทุนใหญ่ สู่การปรับตัวทำให้เล็ก ทำให้ไว

       “ปีนี้เราขยายสาขาเยอะด้วย เป็นปีที่ลงทุนเยอะที่สุดแล้ว แต่มันก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ คนอื่นก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน

       “ตอนแรกก็เซ็งแหละ แต่เราก็เคยต้องเปลี่ยนมาแล้วเวลาอะไรไม่เป็นไปตามแผน ทักษะหนึ่งที่จำเป็นคือการปรับตัว เพราะมันเป็นสิ่งที่ทำให้เรามาถึงวันนี้ได้ ตอนนี้เราก็ต้องปรับให้ได้เหมือนกัน ลองมาดูว่าในสิ่งที่เรามีอยู่ทั้งสถานที่และคน เราสามารถเอาไปปรับกับแผนใหม่ได้อย่างไรบ้าง เพราะแผนเดิมมันแทบจะล้มทิ้งไปได้เลย ตอนนี้มันทำไม่ได้แน่นอน

กระจายความเสี่ยง ไม่เอาไข่ใส่ตะกร้าเดียว

       พอหน้าร้านมันขายไม่ได้ มันเหมือนเราถูกเผยให้เห็นเลยว่าจุดอ่อนของเราคืออะไร ที่ผานมาเราพึ่งการที่คนเดินเข้ามาในร้านตลอด เกิน 90% ของรายได้คือมาจากหน้าร้าน online delivery เราก็มี แต่ทำไว้ขำๆ ขายได้ก็ดี ขายไม่ได้ก็ไม่ได้ผลักดันอะไร แต่ตอนนี้มันเห็นความสำคัญของ online channel มากๆ เลย มันเป็นบทเรียนเลยว่า ไม่มีอีกแล้วที่จะทำธุรกิจที่ทุ่มทุกอย่างลงช่องทางเดียว เราต้องกระจายช่องทางรายได้ของเรา

       “พอรู้ตัวว่ายังไงหน้าร้านก็เปิดไม่ได้ไปอีกพัก เราเลยดึง resource ที่มีไปทุ่มทำช่องทางออนไลน์ชื่อว่า ‘Homespace Market’ ที่เป็นไอเดียมาสักพักแล้ว แต่เราคิดว่าต้องใช้เวลา 6-7 เดือนให้เสร็จ แต่คนเราพอมันต้องทำให้รอด มันก็ทำได้ ก็ทำกันเสร็จภายในสามสิบกว่าวันทั้งระบบ ตั้งแต่การตลาด, การบริการจัดการ, โลจิสติกส์ และปล่อยไปเมื่อกลางเดือนพฤษภา”

Be kind. Be considerate. Be helpful. วัฒนธรรมที่แทรกอยู่ในทุกกิจกรรม

       “เราไม่ได้บังคับทีมเลย ทีมเขาพุชกันเอง เขาอยากทำให้มันดีขึ้น เช่น สินค้าหนึ่งที่ขายดีมากช่วงนี้คือกาแฟ concentrated ที่ผลิตไม่ทัน คนที่ดูแลเขาก็บอกว่า เดี๋ยวเขานอนบริษัทให้เลย จะได้ผลิตให้ทันความต้องการ

       “หรือบางคนไม่มีความรู้ในสิ่งที่เขาต้องทำเลย เขาก็บอกว่าจะหาทางเรียน เพื่อ set up operation ให้สำเร็จ ผมว่าเราผลักดันคนได้บางส่วนนะ แต่บางอย่างมันเป็นตัวตนเขาจริงๆ เราไม่สามารถให้เครดิตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์กับสิ่งที่เขาทำ

       “หรือมันอาจเป็นสิ่งที่เราพยายามพูดกับเขามาหลายปี ว่า core value ขององค์กรคืออะไร เราพูดกันเสมอว่าให้ ‘Be kind, be considerate, be helpful’ ซึ่งโดยอัตโนมัติมันก็ทำให้เราเลือกคนแบบนี้เข้าทีมด้วยแต่แรก

       “ในการปรับตัวของธุรกิจที่มันเปลี่ยนต้องปรับเสมอ มันดูเป็นสามสิ่งนี้ที่อยู่กับเรามาตลอด ที่ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมอะไร เริ่มอะไรใหม่ เรื่อง Be kind มันเป็นสิ่งที่เป็น focal point ของแบรนด์เสมอ”

 

วรัตต์ วิจิตรวาทการ

การให้ไม่ใช่แค่คำสอน แต่อยู่ในทุกวงจรธุรกิจ และเบื้องหลังการคิดทุกกิจกรรม

       “เราไม่ได้อยากทำธุรกิจแบบที่มีมาก่อนหน้านี้ มันไม่ได้ทำให้เราตื่นเต้น และหลายๆ โอกาสที่เรามีตอนนี้ มันก็มาจากการที่มีคนเขา being kind กับเรามาก่อน เขาไม่จำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างให้ แต่เขาก็ทำ แล้วมันก็ทำให้เรามาอยู่จุดนี้ได้ ฉะนั้น เราได้รับอะไรมา เราก็ควรจะส่งต่อ เราไม่ได้หวังว่ามันจะให้อะไรเรากลับคืนมา แต่เราก็เห็นผลของมันหลายครั้งแล้วว่า ถ้าเราให้ไปก่อน เดี๋ยวมันจะกลับมาหาเราเอง 

       “ยกตัวอย่าง The Commons ที่เราให้คนมาเติมน้ำได้ คนจะบริจาค 20 บาทก็ได้ แล้วเราก็ทำให้เห็นว่าเงิน 20 บาทนั้นเรารวมไปทำอะไรบ้าง หรือมีป้าคนหนึ่งที่อยู่ไม่ไกลจาก The Commons อายุน่าจะเจ็ดสิบกว่า แต่ไม่มีงาน ไม่มีครอบครัว เราก็เห็นเขาเดินเก็บขยะในไซต์ก่อสร้างบ่อยๆ เลยชวนเขามาช่วยขายของ เรื่องเล็กๆ แบบนี้ มันก็ทำให้ทีมเห็นว่าธุรกิจเราให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร 

       “หรือสิ่งที่ทำตลอดก็คือการดูว่ารายได้จากการขายกาแฟเราได้มาเท่าไหร่ แล้วเราจะนำกลับไปพัฒนาคนที่ปลูกกาแฟให้เราได้อย่างไร” 

ความสำคัญของการสื่อสาร ในวันที่ต้องออกจากพื้นที่ปลอดภัย ทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย

       “หลายคนต้องเรียนรู้สิ่งที่ไม่เคยทำ ต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนของตัวเอง ไม่ได้แค่ออกไปเพื่อเรียนนะ แต่ออกไปเพื่อนำเลย บางคนไม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อน แต่เขาก็ไปหาทางจนได้ แล้วก็ลองทำไป แก้ไป เห็นแล้วทั้งชื่นชม และขอบคุณมาก

       “เราไม่เคยบังคับใคร ส่วนใหญ่จะบอกว่าเราจำเป็นต้องทำอะไร และจะถามว่าใครอยากทำ ซึ่งทีมเขาก็จะอาสากันเอง ไม่ได้ถามว่าทำไมเขาถึงลุกขึ้นมาทำ ก็น่าถามอยู่ แต่ในช่วงนี้ก็คุยกันบ่อยคือเขาเป็นอย่างไรบ้าง รู้สึกอย่างไร เราเป็นห่วงเวลาคนต้องออกจากคอมฟอร์ตโซนเยอะ เพราะจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเองได้ง่าย 

       “เวลาคนต้องทำสิ่งใหม่ ต้องทำให้เร็ว และทำให้ดีด้วย มันก็ยากนะ โดยเฉพาะทีมเราที่มีความเป็นเปอร์เฟ็กชันนิสต์สูง ไม่ดี ไม่ขาย ไม่ปล่อย ก็ต้องมาปรับกัน เพราะตอนนี้มันต้อง speed to market ด้วย ต้องลองก่อน อย่าเพิ่งคิดว่าถูกหรือผิด ถ้าคิดว่ามันต้องไม่ผิดเลย นี่เครียดแน่ แล้วเราจะสงสัยตัวเอง ซึ่งมันไม่ช่วยอะไรเลย” 

ไม่ต้องเปอร์เฟ็กต์แต่แรกก็ได้ ค่อยๆ ดี ดีขึ้น และดีที่สุดก็ได้

       “เราเริ่มจาก good ไป pretty good แล้วค่อย excellent ก็ได้ ไม่ต้องไปตั้งต้นให้มัน excellent แต่แรก ไม่ใช่เราปล่อยของไม่ดี แต่ตอนนี้เราต้องเรียนรู้เร็ว ทำเร็วขึ้นหลายเท่า มันย่อมผิดได้ อย่ากดดันตัวเองมาก

       “เราเข้าใจทีมนะ อย่างเชฟจอห์นนีที่เป็นหัวหน้าเชฟ ปกติกว่าเขาจะปล่อยอะไรออกมาได้ เขาต้องแน่ใจว่ามันดีที่สุด ซึ่งมันดี แต่บางทีมันสูงกว่าที่คนต้องการ และในตอนนี้ถ้ามันต้องใช้เวลามากกว่าหลายเท่า ก็ตอบสนองความต้องการลูกค้าไม่ทัน มันต้องบาลานซ์ 

       “ต่อให้สถานการณ์กลับมาปกติ เราก็คงไม่ทำงานเหมือนเดิมกับทุกเคสแล้ว บางอย่าง It’s very good to be agile ปล่อยให้คนกลุ่มเล็กปล่อยไปแล้วแก้ไข อาจดีกว่าทำให้มันเปอร์เฟ็กต์ มันดีสำหรับเรา แต่ลูกค้าอาจไม่ได้ชอบมากก็ได้ มันก็เป็นบทเรียนว่าบางอย่างใช่ มันต้องเปอร์เฟ็กต์ แต่บางอย่างมันต้องเร็ว

 

วรัตต์ วิจิตรวาทการ

บทเรียนที่เปลี่ยนวิธีการทำงาน แม้สถานการณ์จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม

       (นิ่งคิด) “หนึ่ง ไม่มีอีกแล้วที่จะเอาไข่ใส่ในตะกร้าใบเดียว ต้องกระจายช่องทางรับรายได้ สอง ต้องมองว่าในการทำงาน จังหวะ speed to market ที่เหมาะสมคืออะไร รวมทั้งการสร้างวัฒนธรรมการลงมือทำให้เร็ว และสาม เป็นเรื่องที่เรากลับมาทบทวนจริงๆ ว่าเราอยากจะสร้างองค์กรไปแบบไหน อย่างปีที่ผ่านมา ไม่รู้อะไรทำให้เราคิดว่ามันต้องโตไปเรื่อยๆ ตอนนี้ไม่แน่ใจว่าคิดอย่างนั้นหรือเปล่า เราอาจเชื่อในการทำให้น้อยลง แต่มีประสิทธิภาพขึ้น อันนี้ยังไม่ตกตะกอนร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หลายอย่างที่ทำตอนนี้มันมุ่งไปสู่การสร้างธุรกิจที่มีให้ดีมากกว่าจะไปขยายให้มันเกินลิมิตที่เรามี

       “แต่ก่อนเราตั้งเป้ากันเยอะมากว่าต้องมี 40-50 เมนู ลูกค้าต้องเข้า 300-400 คนต่อวัน ต้องได้ยอดเท่าไหร่ มันเป็นเหมือนเกมที่ไม่มีวันจบ เมนูเยอะ ลูกค้าเยอะ พนักงานก็เยอะ ตอนนี้กลับมาคิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้นหรือเปล่า เราคิดแผนธุรกิจใหม่เลยได้ไหมว่า นั่งทานในร้านอาจแค่ 50% แล้วไปทำเดลิเวอรีให้ดีขึ้น หรือเอาออนไลน์มาเชื่อมหน้าร้านได้ไหม จะได้ลดทรัพยากรหน้าร้าน มันอาจดีกว่าเดิมก็ได้ มันก็เป็นช่วงที่ท้าทายแผนธุรกิจเดิมเลยที่เราเคยคิดว่ามันต้องเป็นแบบนั้น

รูปแบบเปลี่ยนได้ แต่จุดประสงค์คงเดิม

       “บางอย่างมันเป็นกิจกรรมหลักของธุรกิจเรา แต่เราอาจทำไม่ได้แล้ว อย่าง The Commons ที่หัวใจมันคือ Social Gathering ให้คนมารวมตัวกัน แต่ตอนนี้มันเป็นสิ่งสุดท้ายที่ควรจะโปรโมต แต่มันก็ทำให้เราคิดใหม่ว่า หรือจริงๆ สิ่งที่เราตั้งใจทำคือการทำให้คนที่มีความรู้ ความชอบ ได้มาเจอกัน เราเชื่อว่าความต้องการเจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน เชื่อสิ่งเดียวกันมันจะไม่หายไปไหน ถ้าอย่างนั้นเราปรับเป็น Small Gathering ได้ไหม หรือเปลี่ยนช่องทางให้เหมาะสมกับตอนนี้ได้ยังไง 

       “หรืออย่าง Roast ที่มันคือการสร้างความสบายในชีวิตให้ลูกค้า ถ้าเขามาร้านตอนนี้ไม่ได้ เราสร้างความสะดวกสบายให้ถึงบ้านเลยได้ไหม หรือกาแฟ Roots ที่คนไม่อยากชงกาแฟเอง ไม่มีอุปกรณ์ เราจะทำยังไงให้เขารู้สึกดีเหมือนมาดื่มที่ร้านได้ มีพลังในการใช้ชีวิตต่อไป โดยที่ไม่มีหน้าร้าน พอคิดอย่างนี้ มันก็เห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ 

‘Be kind’ จุดร่วมในหลากหลายธุรกิจที่ทำ

       “จุดร่วมของทุกแบรนด์คงกลับมาเรื่องของการ be kind ในการทำธุรกิจ be thoughtful ในทุกกระบวนการ เราอยากจะผลักดันวงการที่เราอยู่ให้ดีขึ้น คือถ้าเราต้องทำอะไรสักอย่าง แล้วมันทำให้ทุกอย่างเหมือนเดิม เราคงไม่รู้สึกตื่นเต้น ฉะนั้น การมาดูว่าเราจะเสริมวงการที่เราอยู่ให้ดีขึ้นได้อย่างไร น่าจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกธุรกิจที่ทำ”

‘ความสัมพันธ์’ หัวใจสำคัญของความยั่งยืนในโลกที่เปราะบาง

       “ตอนนี้แบรนด์กาแฟ Roots ได้รับผลกระทบน้อยสุด ในเว็บขายดีขึ้นอีก หน้าร้านก็ขายไม่ตก น่าจะเพราะ Roots มีความ pioneering ในตัวเองอยู่แล้ว มีสินค้าตัวใหม่ออกมาตลอด และลูกค้าเองก็อาจเห็นว่าเขาได้สนับสนุนทั้งห่วงโซ่อุปทาน คิดว่าสิ่งที่พยายามสื่อสารมันก็ช่วยให้เกิดความยั่งยืนอยู่บ้าง แบรนด์อื่นในธุรกิจเราก็ต้องเรียนรู้จาก Roots ด้วย 

       “ในฐานะคนปลายน้ำมันก็มีความกดดัน แต่ครั้งนี้คนต้นน้ำก็ช่วยชีวิตเราเยอะมาก คือปกติกาแฟนั้นเราต้องวางแผนซื้อล่วงหน้าเป็นปี สมมติปี 2021 เราจะขายเท่าไหร่ เราต้องติดต่อกับทีมหมดแล้วว่าจะซื้อจากแหล่งไหน ปริมาณเท่าไหร่ แต่ว่าปีนี้เจอโควิด-19 และเราสั่งซื้อไปแล้ว ของผลิตแล้ว แต่เราไม่มีที่ปล่อย ลูกค้า ที่ซื้อแบบปริมาณมากหายหมดเกือบ 100% เราก็ขอความช่วยเหลือเขาตรงๆ เลยว่าถ้าเขาสามารถปล่อยที่อื่นได้ อาจขอให้ช่วยกัน หรือเจ้าที่ใหญ่หน่อย เราผ่อนจ่ายได้ไหม เพราะถ้าต้องจ่ายทั้งหมดเลย เราก็คงอยู่ไม่ได้ 

       “หลายปีที่ผ่านมาที่ทำงานด้วยกัน เราไม่เคยขอความช่วยเหลือเลย พอต้องขอความช่วยเหลือจริงๆ เขาก็ยินดีที่จะช่วย

       “ความสัมพันธ์ที่สนับสนุนกันมามันเห็นในคุณภาพกาแฟทุกปี แต่ความช่วยเหลือครั้งนี้มันไม่ใช่สิ่งที่เราคาดหวังจากเขา มันเห็นเลยว่าการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีมันสำคัญมาก มันเป็นแก่นหนึ่งของการสร้างความยั่งยืนจริงๆ”

 

วรัตต์ วิจิตรวาทการ

‘Please be kind’ ความสบายในชีวิตเราล้วนมาจากผลงานของใครหลายคน

       “เราว่าตอนนี้มันเป็นเวลาช่วยกัน ไม่ใช่ช่วยอุดหนุนนะ แต่ be mindful and grateful กับคนที่ใช้พลังงานตัวเองเยอะมากในการทำให้สถานการณ์ตอนนี้เป็นปกติ ไม่ใช่แค่หมอ พยาบาล แต่คนทำงานทุกคน ตั้งแต่คนส่งของ คนทำอาหาร หรือใครก็ตาม บางทีเราก็มองข้ามคนตัวเล็กๆ ไป แต่ถ้าเราไม่มีเขาเราก็แย่ เขาสำคัญมาก เราไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ be kind อย่าหงุดหงิดมากนัก และถ้าเราช่วยได้เมื่อไหร่ก็ช่วย แค่นี้ก็ช่วยกันได้เยอะแล้ว

       “เห็นพนักงานเราหลายคนก็แทบร้องไห้แล้ว บางทีเขาไม่ได้ทำให้เราด้วยนะ เขาทำให้ลูกค้า คือถ้าเขาหยุด ก็ส่งของไม่ทัน มีคนต้องรอ ผมขอบคุณคนเบื้องหลังกลุ่มนี้มาก อยากให้คนเป็นกำลังใจให้คนทำงานด้วยกัน”