นักท่องเที่ยวจีนกลุ่มหนึ่งยื่นกล้องมาให้เราพร้อมกับชี้ไปที่กลุ่มคนวัยเก๋า 10 กว่าคนที่กำลังยืนเข้าแถวหน้ากระดานอยู่บริเวณสี่แยกบางลำพู
‘Can we take a photo with you guys?’
พวกเขาไม่ใช่ดาราชื่อดังที่ไหน แต่เป็น ‘กลุ่มสายตรวจจักรยานอาสา’ แห่งสำนักงานตำรวจนครบาลชนะสงคราม กำลังออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจตราความเรียบร้อยในเครื่องแบบเต็มยศ แฝงด้วยรอยยิ้มเป็นกันเอง และมีหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังของการเป็นอาสาสมัคร จนกลายเป็นขวัญใจของทั้งคนในพื้นที่และชาวต่างชาติอย่างไม่ต้องสงสัย
สายตรวจจักรยานอาสาเป็นโครงการจากสำนักงานตำรวจนครบาลชนะสงครามที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยมีแกนหลักคือ ‘ผู้กองพี’ หรือ ร้อยตำรวจเอกพีรวัส บุญพรม รองสารวัตรปราบปราม สน. ชนะสงคราม เป็นผู้ริเริ่มโครงการและดูแลสมาชิกอาสาสมัครอีกกว่า 45 ชีวิต
กำเนิดสายตรวจจักรยานอาสา
“เราสังเกตเห็นว่ามีกลุ่มคนออกมาปั่นจักรยานในพื้นที่ของ สน. ชนะสงคราม กันค่อนข้างเยอะ เลยคิดว่าจะทำอย่างไรดีให้นักปั่นเหล่านี้ได้ออกกำลังกายไปพร้อมกับได้ประโยชน์ด้านอื่นๆ อย่างการช่วยเหลือสังคมด้วย จึงเกิดเป็นไอเดียโครงการนี้ขึ้นมาว่า ถ้าอย่างนั้นเราชวนให้คนกลุ่มนี้มาช่วยเป็นอาสาของตำรวจดีไหม ทำหน้าที่สอดส่องดูแลความเรียบร้อยและความปลอดภัยในพื้นที่ แล้วเขาก็ทำกิจกรรมที่มีคุณค่าต่อสังคมด้วย”
หลังจากนั้นผู้กองพีรวัสและทีมงานก็เปิดรับสมัครทีมงานอาสาปั่นจักรยานผ่านแฟนเพจ เมื่อได้สมาชิกเข้ามาจำนวนหนึ่งจึงเปิดอบรมเกี่ยวกับกฎหมายบนท้องถนนเบื้องต้น การปั่นจักรยานให้ปลอดภัย พร้อมเพิ่มเทคนิคของงานตำรวจเข้าไปให้อาสาได้เข้าใจเนื้องานและทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ที่สุด
“ช่วงแรกๆ มันยากอยู่แล้ว เพราะต่างคนต่างมาจากหลายสาขาอาชีพ ทุกคนมีไอเดีย มีอีโก้ของตัวเอง กว่าเราจะหลอมให้ทุกคนอยู่ในกฎกติกาเดียวกันก็ใช้เวลาค่อนข้างมากเหมือนกัน จากที่มีสมาชิก 80 คน แต่พอผ่านเวลาไปประมาณ 6 ปี ก็เหลือสมาชิกที่ทำงานกับเราจริงๆ จังๆ ประมาณ 45 คน” ผู้กองพีรวัสกล่าว
ปัจจุบันสมาชิกของกลุ่มอาสาสมัครจักรยาน สน. ชนะสงคราม มีทั้งผู้เกษียณอายุ คุณลุง คุณตา วัย 60-70 ปี รวมถึงเจ้าของกิจการ ทนายความ พนักงานบริษัท แพทย์ ที่แบ่งเวลาหลังเลิกงานมาทำงานอาสาโดยไม่หวังผลตอบแทน พวกเขาจะออกตรวจกันทุกๆ วันศุกร์และวันเสาร์ เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่เวลา 1 ทุ่มจนถึง 4-5 ทุ่ม โดยออกตรวจใน 3 เส้นทาง ได้แก่ พื้นที่รอบพระบรมมหาราชวัง พื้นที่แหล่งท่องเที่ยว เช่น ถนนข้าวสาร และพื้นที่ของวัดวาอารามต่างๆ เพราะเคยมีเหตุการณ์ของหายในวัด เช่น การงัดตู้บริจาค ขโมยพระมีค่า นอกจากนี้กลุ่มจิตอาสายังไปช่วยในงานปั่นจักรยานต่างๆ เช่น Bike For Mom, Bike For Dad และอีเวนต์ปั่นจักรยานของภาคเอกชนอีกด้วย
แม้ว่าในบริเวณดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ที่ได้รับการดูแลโดยตำรวจ สน. ชนะสงคราม อยู่แล้ว แต่การมีจิตอาสาเข้ามาช่วยก็ทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น “ตอนนี้กำลังพลของตำรวจเรามีน้อย แต่ภารกิจเราเยอะมาก เราจึงอยากได้ความช่วยเหลือจากภาคประชาชน โดยเฉพาะสายตรวจจักรยาน เพราะตั้งแต่มีโครงการนี้ จากตอนแรกที่มีเหตุวิ่งราวทรัพย์ในพื้นที่ ตอนนี้ก็ลดน้อยลงจนถึงขั้นไม่มีเลย” ผู้กองพีรวัสเล่าให้เราฟังได้ความภูมิใจ
คุณค่าที่กลับมาเติมเต็มชีวิต
เช่นเดียวกับสมาชิกกลุ่ม ‘สามป๋า’ ซึ่งประกอบด้วย ‘ป๋าคิด’ – สมคิด ศรีสาคร, ‘ป๋านิจ’ – วินิจ ศิริสุวรรณสิทธิ์ และ ‘ป๋าตี๋’ – ปรีชา แซ่ตั้ง ที่ได้ใช้ช่วงเวลาหลังเกษียณออกมาทำความดีเพื่อสังคมไปพร้อมๆ กับการปั่นจักรยาน ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ทำเป็นประจำ และยังได้เจอมิตรภาพดีๆ ในกลุ่มเพื่อนที่ชอบอะไรคล้ายๆ กันด้วย
“คนในทีมเรียกพวกเราว่า ‘สามป๋า’ เพราะอาวุโสที่สุด (หัวเราะ) แล้วเราก็เข้ามาทำตรงนี้เป็นรุ่นแรก ถึงวันนี้ก็ปฏิบัติหน้าที่มาได้ 5 ปีแล้ว ด้วยความที่น้องๆ เขายังมีงานประจำกันอยู่ แต่เราเกษียณ ว่างงาน ถ้ามีเหตุฉุกเฉินอะไรเราไปช่วยได้ก่อนเลย” ป๋าคิดพูดอย่างอารมณ์ดี
“หน้าที่หลักของเราคือการสร้างภาพพจน์ ป้องปราม สร้างความปลอดภัยในพื้นที่ เราไม่ได้มีหน้าที่จับใคร แต่ทำให้โจรที่จะมาวิ่งราวรู้สึกว่าพื้นที่นี้ได้รับการป้องกัน โดยเฉพาะโซนท่องเที่ยวอย่างถนนข้าวสาร พอนักท่องเที่ยวเห็นเราเขาก็ชื่นใจ มาขอถ่ายรูปกับเราประจำเลย (หัวเราะ)” ป๋าตี๋เสริม
เนื่องจากปั่นจักรยานบนถนนใหญ่มานาน เราจึงเอ่ยถามป๋านิจถึงสถานการณ์ความตึงเครียดบนท้องถนนกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน “เดี๋ยวนี้คนเราใช้รถใช้ถนนกันใจร้อนมาก ต่างคนต่างอยากถึงก่อนใคร เห็นในข่าวว่าบางทีโกรธก็ถึงขั้นชักปืนมายิงกันเลย เพราะยับยั้งชั่งใจกันไม่ได้ แล้วจำนวนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ก็เยอะด้วย ทำให้จิตใจคนรุ่มร้อน จะกลับบ้านทีก็รถติดอยู่บนถนนเป็นชั่วโมง พอแก้กฎหมายก็ไปว่าตำรวจ เพราะฉะนั้น ถ้าเรารู้จักแชร์ถนนกันหน่อยก็น่าจะดี ถ้าไม่รีบมากก็ปล่อยให้คันอื่นไปก่อนบ้างก็ได้”
ด้าน ‘ลุงไมค์’ – ไมตรี ประเสริฐจัง เจ้าของธุรกิจ วัย 61 ปี ก็เป็นอีกหนึ่งสมาชิกที่เข้ามาร่วมงานสายตรวจจักรยานอาสานี้เป็นเวลา 2 ปี เขายอมรับว่าการช่วยงานตำรวจเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่ในชีวิตมาก เนื่องจากทำธุรกิจมาตลอด โดยไม่เคยรู้เบื้องลึกเบื้องหลังของงานตำรวจเลย
“ผมไม่เคยว่าชีวิตนี้จะได้มีโอกาสถือไฟฉายไปส่องถังขยะ ส่องใต้โต๊ะ เพื่อตรวจหาวัตถุต้องสงสัยร่วมกับตำรวจ มันเป็นกิจกรรมที่เปิดโลกให้ผมมาก อีกอย่างคือ ผมได้ใช้เวลาที่ผมเหลืออยู่เหลือเฟือในการทำประโยชน์ให้กับคนอื่น เช่น ใช้ความสามารถภาษาอังกฤษช่วยเหลือนักท่องเที่ยวในถนนข้าวสาร หรือช่วยถ่ายภาพทีมงานขณะปฏิบัติงาน มันเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่ามาก
“ผมเชื่อว่าทีมงานของเรามีความสุขกับการทำงาน เพราะเราไม่มีผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง เราทำงานเพื่อเนื้องานอย่างเดียว หากใครอยากมาเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการเป็นจิตอาสา เราก็ไม่รับเข้ามา สองคือทุกคนไม่มีอภิสิทธิ์อะไรเลย ถ้าทีมงานผมถูกจับแล้วมาบอกผม ผมให้ปรับหนักกว่าเดิมอีก (ยิ้ม) เรามาเพื่อช่วยเหลือประชาชน การได้รับรอยยิ้มของคนที่เราช่วยเหลือก็พอแล้ว ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ หากทุกคนช่วยเหลือกันด้วยใจจริงๆ สังคมเราก็จะเกิดการเกื้อกูล มีน้ำใจที่ดีต่อกัน” ผู้กองพีกล่าวปิดท้าย ก่อนจะขอบคุณอาสาสมัครทุกคนที่มาปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้