ในยุคสมัยที่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัว ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม วัฒนธรรม รวมถึงวิถีชีวิตของเราทุกคน ถูกทำให้กลายเป็นดิจิตอลได้ ความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจึงยิ่งรุนแรงและรวดเร็วไปในทิศทางทั้งด้านดีและด้านลบ คนส่วนใหญ่คาดหวังการส่งเสริมสนับสนุนในด้านเศรษฐกิจอย่างอีคอมเมิร์ซ หรือด้านการเมืองอย่างเรื่องไทยแลนด์ 4.0 จากหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้ประเทศของเราเติบโตอย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตาม ในขณะเดียวกัน ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็เป็นอีกแง่มุมที่สำคัญ และไม่สามารถมองข้ามไปได้ เทคโนโลยีดิจิตอลช่วยเร่งเร้าการพัฒนา และมันก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตและจิตใจของผู้คนโดยรวม แสงสว่างที่เกิดขึ้นย่อมทำให้เกิดมุมมืดจากเงาของมัน ปัญหาหนึ่งในนั้นคือความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง cyberbullying ที่น่าเป็นห่วงก็เพราะสัดส่วนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มเยาวชนมากกว่าครึ่ง
องค์กรภาครัฐอย่างสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) นำโดย ดร. วรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ บอกกับเราว่าสิ่งที่จะหลงลืมไม่ได้เลยคือแง่มุมทางสังคม เมื่อโลกพัฒนาก้าวไกล จิตใจของผู้คนก็ต้องดูแลให้ดี แนวทางการทำงานของ สดช. จึงต้องจับมือกับภาคส่วนต่างๆ สถาบันการศึกษา องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และธุรกิจเอกชน จัดทำโครงการเพื่อหารณรงค์ในแง่มุมทางสังคมให้ได้ผลที่สุด
Way to Use Social Media
ในขณะที่เราส่งเสริมให้ผู้คนได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยความเท่าเทียม เพื่อเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพในโครงการเน็ตประชารัฐที่ให้ใช้ฟรีทั่วประเทศ เรากลับพบว่าในทางตรงกันข้ามก็มีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่ใช้อินเทอร์เน็ตในทางที่ผิด ไม่ว่าจะเป็นการด่าทอกัน รังแกกัน แอบอ้างชื่อผู้อื่นไปใส่ร้าย ส่งข้อมูลลับทำให้เกิดการอับอาย รวมทั้งนำข้อมูลไปใช้แบบพลิกแพลง เช่น ยาเสพติดและการพนัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นและไม่ถูกต้อง เราควรช่วยกันแก้ไขและรณรงค์ในเรื่องนี้เพื่อให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้น และหน่วยงานของเราก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก
Creative Solutions
จากความเป็นห่วงและสงสารเด็กๆ เราก็ตระหนักถึงเรื่องนี้มาโดยตลอด จนวันที่ได้เจอกับ ศ. ดร. ก้องกิติ พูสวัสดิ์ จึงได้พูดคุยกัน ก่อนที่จะชักชวนกันมาดำเนินการเรื่องนี้ จากนั้นจึงไปคุยกับทาง dtac ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี กระทั่งเกิดเป็นโครงการต่างๆ ขึ้นมา โดยมีโครงการแรกคือ ‘Stop Bullying เลิฟแคร์ไม่รังแกกัน’
Child Chat Line
ในโครงการเลิฟแคร์ฯ เป็นห้องแชตที่ให้คำปรึกษาออนไลน์ในการลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในกลุ่มเด็กและเยาวชนผ่านทางเว็บไซต์ http://stopbullying.lovercarestation.com ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา จนทุกวันนี้มีคนเข้าใช้งานจำนวนไม่น้อย ส่วนใหญ่จะเป็นครู เพราะเหตุการณ์ต่างๆ มักเกิดขึ้นในโรงเรียน โดยมีจิตอาสาและนักจิตวิทยามาช่วยกันรับฟังและตอบคำถามต่างๆ ให้บริการฟรีตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. ส่วนเวลาอื่นๆ ก็สามารถฝากข้อความไว้ได้
dtac Unicef Microsoft
นอกจากนี้ยังได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) เพื่อพัฒนาหลักสูตร Stop Cyberbulling ปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากสื่อดิจิตอล และสร้างความเข้มแข็งในสังคม รวมทั้งยังมีการพัฒนาหลักสูตรการเป็นพลเมืองดิจิตอล สำหรับผู้ปกครอง ครูอาจารย์ เด็กและเยาวชน และประสานงานดำเนินงานในการนำหลักสูตรไปบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนแบบทางเลือกของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต่อไป
Digital Literacy Curriculum
หลักสูตรการเข้าใจดิจิตอล เป็นอีกหนึ่งหลักสูตรที่ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนรู้เท่าทันสื่อ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และเลือกใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญเราต้องการผลักดันหลักสูตรนี้ไปใช้เป็นวิชาพื้นฐานในระดับชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาในอนาคตอันใกล้
Removed from a Search Engine
อาจเป็นเพราะในปัจจุบันผู้ปกครองไม่มีเวลาที่จะมาดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด รวมทั้งไม่รู้ว่าจะช่วยเด็กๆ ให้พ้นจากปัญหานี้ได้อย่างไร เพราะถือว่าเป็นเรื่องใหม่และแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว นั่นทำให้เราคิดหามาตรการ อย่างเช่น ให้เด็กมีสิทธิที่จะลบข้อมูลส่วนตัวหรืออะไรที่ไม่ดีได้ด้วยตัวเองจากเครื่องมือในการค้นหาข้อมูล แม้ว่าตัวเองจะไม่ใช่ผู้ดูแลระบบก็ตาม เพราะตอนนี้ไม่มีใครช่วยเด็กๆ ได้
Red Button on Websites
มาตรการต่อมาที่เราอยากจะผลักดันให้เกิดขึ้นคือ ให้มีปุ่มสีแดงที่อนุญาตให้เด็กสามารถคลิกไปเจอกับสายด่วนได้เมื่อต้องการความช่วยเหลือหากโดนกลั่นแกล้ง หรือพบเห็นการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ได้ทันที พร้อมมีคนช่วยคิดหรือรับฟัง เมื่อเขาตกอยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยตัวเอง หรือกำลังมองในแง่ร้าย รวมทั้งปฏิเสธที่จะลุกขึ้นสู้กับบางอย่างที่พบเจอในโลกออนไลน์ได้
Regulations on Cyberbullying
นอกจากนี้เรายังคิดไปถึงเรื่องบทลงโทษ เพราะว่าหากไม่มีกฎระเบียบอะไรสักอย่างขึ้น การรณรงค์ต่างๆ ก็คงเห็นผลช้า แต่ก่อนการตั้งบทลงโทษจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ก่อน เพื่อให้ประชาชนเข้ามาส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อเด็กและผู้ปกครอง ซึ่งทั้งหมดเราจะต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้
Cyberbullying Detox
คือวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เด็กมีพลังที่จะต่อสู้กับการโดนกลั่นแกล้งด้วยการเอาชนะใจตนเอง ซึ่งเริ่มต้นที่ผู้ปกครองอบรมเลี้ยงดู ให้เด็กๆ เป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง รักตัวเองให้เป็น เคารพผู้อื่น รักประเทศชาติ หรือการมองเรื่องเล็กไม่ให้กลายเป็นปัญหาใหญ่ และรับมือกับบางเรื่องที่ไม่ได้สำคัญอะไรในชีวิตของเขาได้ ซึ่งนั่นก็จะทำให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน สามารถเอาตัวรอด หรือขจัดปัญหาเรื่องการถูกกลั่นแกล้งทั้งในโลกแห่งความเป็นจริงและโลกออนไลน์ได้ดี
Gets Measured Gets Done
เราต้องทำเข้าไปในระบบการศึกษาและเป็นหลักสูตรในสถานศึกษาให้ได้ และต้องร่วมกับภาคเอกชนในการรณรงค์แบบการสร้างป่าล้อมเมืองขึ้น ด้วยโครงการต่างๆ ที่ได้มาทั้งหมด เพราะลำพังภาครัฐ เด็กๆ อาจจะมองข้ามโดยเห็นว่าเป็นหน่วยงานที่ดูเชย ซึ่งภาคเอกชนจะมีการใส่ความสนุกสนานและความน่าสนใจ ซึ่งสามารถเข้าถึงชีวิตประจำวันของเด็กๆ รวมไปถึงผู้ปกครอง และครูอาจารย์ได้
การสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ (ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560 จากเด็กที่มีอายุระหว่าง 9-18 ปี จำนวน 10,846 คน) โดยศูนย์ประสานขับเคลื่อนการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ หรือศูนย์ COPAT (Child Online Protection Action Thailand)
พบว่า
- ร้อยละ 98.47 เชื่อว่าอินเทอร์เน็ตให้ประโยชน์
- ร้อยละ 96.32 ตระหนักว่ามีอันตรายและความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบบนอินเทอร์เน็ต
- ร้อยละ 69.92 เชื่อว่าเพื่อนๆ มีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายอย่างใดอย่างหนึ่ง
- ร้อยละ 61.39 คิดว่าการกลั่นแกล้ง รังแก หรือละเมิดทางเพศจะไม่เกิดขึ้นกับตัวเอง
- ร้อยละ 75.91 เชื่อว่าเมื่อต้องเผชิญปัญหาภัยหรือความเสี่ยงออนไลน์จะจัดการปัญหาเองได้
- ร้อยละ 78.95 เคยเล่นเกมออนไลน์ ซึ่งเด็กผู้ชายเสี่ยงติดเกมมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยเล่นเกมทุกวัน หรือเกือบทุกวัน ร้อยละ 50.73 ส่วนเด็กผู้หญิงร้อยละ 32.34 จะเล่นเกมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง
- ร้อยละ 48.96 โดนกลั่นแกล้งรังแกทางออนไลน์ และเด็กที่เป็นเพศทางเลือกจะถูกกลั่นแกล้งมากที่สุดร้อยละ 59.44
- ร้อยละ 33.44 ยอมรับว่าเคยกลั่นแกล้งคนอื่น