ปัญหาที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน ทั้งความขัดแย้งอันมีผลมาจากอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจการเมือง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ โรคระบาด และมลภาวะทางสิ่งแวดล้อม การอพยพย้ายถิ่นจากการถูกบังคับ ความไม่ลงรอยของความคิดระหว่างกลุ่ม รวมถึงการกีดกันและการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ เพศ สีผิว ทั้งหมดนี้คือความท้าทายใหม่ๆ ที่กำลังสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ใช่เพียงแค่ในระดับการบริหารจัดการของรัฐหรือชาติเท่านั้น แต่ในระดับการใช้ชีวิตประจำวันฐานะพลเมือง (citizen) เราทุกคนต่างกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาระดับโลกร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า เราจะรับมือความท้าทายและหาหนทางที่ยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร
สำหรับมุมมองด้านรัฐศาสตร์ ความเป็นพลเมืองโลก (world citizen) จึงเป็นแนวคิดใหม่ที่น่าสนใจ เพราะสามารถสร้างการตระหนักรู้ต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ของโลก และสร้างโอกาสให้มนุษย์คิดหาวิถีทางที่ดีกว่าเพื่อใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงได้อย่างสันติและมีความสุข
a day BULLETIN จึงพูดคุยกับ ‘อาจารย์จอน’ – รศ. ดร. จักรกริช สังขมณี ผู้อำนวยการหลักสูตรนานาชาติ การเมืองและโลกสัมพันธ์ศึกษา (Politics and Global Studies) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขยายประเด็นพลเมืองโลกให้เห็นทั้งบทบาท ความสำคัญ และความสัมพันธ์ระหว่างพลเมือง รัฐ และโลกในมิติต่างๆ อย่างรอบด้าน ตั้งแต่พลเมืองโลกคืออะไร สำคัญอย่างไรกับทุกคนบนโลก และวิธีการเพื่อสร้างสมดุลระหว่างความเป็นพลเมืองที่ยังคงยึดโยงกับชาติ และจิตสำนึกแห่งความเป็นพลเมืองโลกที่จะทำให้ทุกคนใช้ชีวิตอย่างรับผิดชอบต่อส่วนรวม
มาร่วมกันสำรวจตัวตน ความคิด และประสบการณ์ที่ท้าทายสัญชาตญาณมนุษย์ เพื่อก้าวออกจากพื้นที่คุ้นชินที่หลายคนเรียกกันว่า comfort zone มาสู่พื้นที่ใหม่ไร้เขตแดนแห่งพลเมืองโลก ผ่านบทสัมภาษณ์นี้
อะไรคือประเด็นหลักหรือข้อถกเถียงสำคัญที่สั่นคลอนแนวคิดการเป็นพลเมืองที่ยึดโยงอยู่เพียงรัฐใดรัฐหนึ่ง
ความเป็นพลเมืองคือ social contract หรือสัญญาประชาคมแบบหนึ่ง การเป็นพลเมือง คือการยอมและยินดีเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางสังคมการเมือง มันหมายถึงการยินดีรับข้อตกลงของการเป็นสมาชิก และยอมที่จะอยู่ภายใต้การดูแลโดยผู้ปกครองซึ่งมีความชอบธรรม ซึ่งในปัจจุบันก็คือ ‘รัฐ’ ภายใต้การเป็นพลเมืองนั้น นอกจากจะได้รับความคุ้มครองเรื่องสิทธิและสวัสดิการต่างๆ แล้ว ยังมีเรื่องหน้าที่พลเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เพราะทุกคนต้องทำตามกติกาของรัฐหรือชุมชนทางสังคมการเมืองนั้นๆ เช่น ปฏิบัติตามกฎหมาย เสียภาษี และอาจถูกเกณฑ์ทหาร ซึ่งการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนทางสังคมการเมืองที่ว่านี้ นับว่าเป็นพัฒนาการทางวัฒนธรรมทางการเมือง เป็นยุทธศาสตร์การดำรงชีพของมนุษย์แบบหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มนุษย์ไม่ได้เป็นสมาชิกของสังคมหนึ่งใดเพียงสังคมเดียว แต่ดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางการจัดการความสัมพันธ์ทางสังคมหลายรูปแบบ ซึ่งอาจใช้ค่านิยมทางการเมือง ความเชื่อทางศาสนา การจัดความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจ หรือการเชื่อมโยงกันทางภาษาหรือระบบเครือญาติมาใช้ในการนิยามความเป็นสังคมดังกล่าวได้ โดยธรรมชาติ ทุกคนจะพยายามจัดวางตัวเองให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมหลายรูปแบบพร้อมๆ กันไป ทั้งสังคมรัฐซึ่งเป็นสังคมการเมือง และสังคมอื่นๆ อย่างกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนา กลุ่มเครือญาติพวกพ้อง กลุ่มโรงเรียน เป็นต้น แต่ในยุคสมัยใหม่ ยุทธศาสตร์ของการดำรงชีพที่ยึดโยงกับรัฐ นับวันยิ่งทวีความสำคัญและส่งผลต่อเรามากขึ้น หมายความว่าเรามอบอำนาจหรือสิทธิบางอย่างให้รัฐดูแลเรา แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐเข้ามาควบคุมและจัดการเรามากเกินไป
เพราะฉะนั้นข้อถกเถียงสำคัญก็คืออะไรคือสมดุลระหว่างการเป็นปัจเจกชนนิยม (Individualism) กับการเป็นชุมชนนิยม (Communitarianism)? ทั้งสองแนวคิดนี้ชักเย่อกันอยู่ตลอดเวลาว่าความเป็นพลเมืองควรจะอยู่ตรงไหน มันเป็นการถ่วงน้ำหนักระหว่างการเป็นปัจเจกเสรีชน กับการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่ถูกควบคุมโดยรัฐหรือผู้ปกครอง หากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนมากเกินไป เราจะสูญเสียสิทธิและความเป็นตัวเองได้ แต่ถ้าความเป็นชุมชนอ่อนลง เราจะเรียกร้องเสรีภาพเชิงบุคคลมากเกินขึ้น บรรทัดฐานทางสังคมก็อาจจะสั่นคลอน และก่อให้เกิดความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงต่อกันตามไปด้วย
ปัญหาคือแล้วถ้ารัฐกลับทำหน้าที่ในการสร้างความรุนแรงหรือความขัดแย้งเองล่ะ? รัฐกลายมาเป็นผู้เถลิงอำนาจที่ประชาชนให้ไว้อย่างจำกัดล่ะ? การเป็นพลเมืองที่ยึดโยงอยู่ภายใต้รัฐและอำนาจรัฐที่เข้ามาจัดการชีวิตทำหน้าที่แทนพลเมืองที่มากเกินไปนั้น ย่อมนำมาซึ่งข้อจำกัดและปัญหามากมาย เช่น สงครามระหว่างรัฐ การละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐ การเอื้อประโยชน์ระหว่างรัฐกับนายทุน ตลอดจนความไร้ประสิทธิภาพของรัฐในการคุ้มครองดูแลพลเมือง ในที่นี้ เราจึงไม่สามารถจำกัดความเป็นพลเมืองของเราอย่างเอาเป็นเอาตายกับการเป็นสมาชิกของรัฐแต่เพียงอย่างเดียวได้
แสดงว่าแนวคิดพลเมืองโลก ส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เชื่อมั่นในระบบการปกครองของรัฐ
ใช่ แต่ต้องเท้าความก่อนว่า แนวคิดเรื่องพลเมืองมีพัฒนาการที่ยาวนานและไม่เคยหยุดนิ่ง ตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ยุคโรมัน เรื่อยมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา ความรู้ทำให้คนหลุดออกมาจากกรอบความเชื่อศาสนา จากการปกครองแบบเทวราชาที่ผู้ปกครองมาจากพระเจ้ามอบให้ เปลี่ยนมาสู่การที่ให้สิทธิกับพลเมือง สมาชิกยินยอมมอบอำนาจที่จำกัดให้ผู้ปกครอง เกิดเป็นรัฐชาติสมัยใหม่
วิธีการนิยามความเป็นพลเมืองจึงมีหลากหลายมาก เช่น ใช้ชาติกำเนิดเป็นตัวบ่งชี้ความเป็นพลเมือง พ่อแม่เป็นคนของรัฐไหน ลูกก็สืบต่อความเป็นพลเมืองนั้นมาโดยตรง หรือใช้ประเทศที่เกิดเป็นเกณฑ์ เกิดภายใต้รัฐไหนก็เป็นพลเมืองของรัฐนั้น เหตุนี้เองหลายคนจึงเดินทางไปคลอดลูกในต่างประเทศเพื่อลูกจะได้รับสิทธิความเป็นพลเมืองของรัฐนั้นๆ หรือใช้การเชื่อมโยงตัวเองกับความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น การแต่งงาน การรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ก็สามารถเปลี่ยนความเป็นพลเมืองได้
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางการเมือง เช่น ผู้ลี้ภัยทางการเมืองมีสิทธิ์ได้รับสถานะพลเมืองในประเทศที่อพยพไป และปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การย้ายถิ่นของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะสูง รัฐบางรัฐต้องการคนที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ จึงรับรองความเป็นพลเมืองให้ ดังนั้น ความเป็นพลเมืองในรัฐสมัยใหม่จึงไม่มีลักษณะตายตัว และจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนกับการเกิดขึ้นของแนวคิดพลเมืองโลก
เมื่อความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ทุกวันนี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความคุ้มครองจากรัฐใดรัฐหนึ่งอีกต่อไป เพราะเป็นปรากฏการณ์ข้ามชาติ แล้วผลกระทบที่ตามมาก็ทำให้เกิดคำถามว่าการที่เราอยู่ภายใต้กรอบของรัฐหนึ่งรัฐเพียงพอหรือไม่? ประกอบกับกระแสโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีทำให้เราเดินทางเคลื่อนย้ายได้สะดวกขึ้น สิ่งเหล่านี้กำลังปรับเปลี่ยนอำนาจของรัฐ จนควบคุมการเดินทางผู้คน ข้อมูลข่าวสาร สินค้า เชื้อโรค หรืออะไรตามได้น้อยลง ความเป็นพลเมืองโลกจึงมีความสำคัญในแง่ที่ เป็นแนวคิดและวิถีปฏิบัติซึ่งสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในลักษณะข้ามสังคมข้ามพื้นที่ซึ่งกำลังเกิดขึ้นในโลกจริงๆ
สาระสำคัญของแนวคิดพลเมืองโลก จึงไม่ได้หมายความว่าต้องละทิ้งการเป็นพลเมืองของรัฐเดิม แต่เป็นการเพิ่มข้อเสนอใหม่ที่ขยายออกไปจากการเป็นพลเมืองรัฐใดรัฐหนึ่ง เรายังคงเป็นพลเมืองของรัฐอยู่ แต่ก็สามารถเป็นพลเมืองของโลกไปพร้อมกันได้ เพราะความเป็นพลเมืองไม่ได้มีแค่ระนาบเดียวอย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น ยกตัวอย่างคนอเมริกันเป็นทั้งพลเมืองของชาติ นั่นคือสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นพลเมืองระดับมลรัฐด้วย ซึ่งมีการบังคับใช้อำนาจและกฎหมายของมลรัฐเองที่อาจแตกต่างไปจากกฎหมายรวมของประเทศ ที่ผ่านมาลักษณะพลเมืองที่ยึดโยงกับความเป็นรัฐเหล่านี้ถูกทำให้เป็นสถาบันที่ชัดเจนตายตัวอย่างมาก ตรงข้ามกับพลเมืองโลก ซึ่งเรียกร้องให้เราสร้างโลกทัศน์และวิถีปฏิบัติใหม่ๆ เมื่อต้องเผชิญกับความท้าทายมากกว่า
แล้วแนวคิดพลเมืองโลกทำให้เกิดกระแสหรือความท้าทายต่อการใช้ชีวิตของผู้คนและการบริหารจัดการของรัฐอย่างไร
ในระดับปัจเจก ผมคิดว่าการเรียนรู้ความหลากหลายเป็นเรื่องท้าทายสัญชาตญาณมนุษย์ เพราะโดยธรรมชาติ มนุษย์มีแนวโน้มที่จะสร้างกลุ่มตลอดเวลา ความเป็นกลุ่มก้อนนี้ทำให้ตัวเองรู้สึกปลอดภัยทั้งทางกายภาพ ชีวภาพ และเชิงจิตใจ แนวโน้มของการจัดกลุ่มแบ่งพวกดังกล่าวจะสร้างการรับรู้ว่าต้องจัดประเภทของคนอื่นๆ ที่อยู่รอบเราเสมอ นี่คือพวกเรา นั่นคือคนอื่น ใครคือมิตร ใครคือศัตรู
แนวคิดของการเป็นพลเมืองโลกท้าทายต่อการคิดแบบขั้วตรงข้ามแบบนี้ เพราะว่าโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น ไม่มีใครอยู่ติดที่หรือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใดแบบตายตัว เราพึ่งพิงกันมากขึ้น และผลจากการกระทำของคนจำนวนหนึ่งก็ส่งผลต่อคนอื่นที่อยู่ไกลออกไป การเคารพความหลากหลายจึงเป็นความท้าทายระดับปัจเจกอย่างมาก ว่าต่อไปในอนาคตอันใกล้ สังคมจะสร้างคนที่สามารถปรับตัวกับความท้าทายที่ว่านี้ได้หรือไม่ มนุษย์จะสร้างความเข้าใจ สร้างทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนยอมรับและเคารพความหลากหลายเหล่านี้อย่างไร ซึ่งทำได้ยาก เพราะมันขัดต่อสัญชาตญาณของการเอาตัวรอดแบบเดิม
ส่วนในระดับรัฐก็เกิดความท้าทายเหมือนกัน การที่พลเมืองมีจิตสำนึกผูกโยงกับความเป็นโลกที่ไปไกลกว่าประเทศหรือชุมชนการเมืองของตนไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้สำหรับรัฐ นั่นก็เพราะว่า จิตสำนึกดังกล่าวอาจจจะทำให้ความรักชาติและการเสียสละเพื่อรัฐลดน้อยลงไป หรือถ้ารัฐไม่มีประสิทธิภาพ ใช้อำนาจเกินพอดี ละเลยที่จะดูแลคนในปกครองให้มีชีวิตที่ดี ประชากรเหล่านั้นก็จะไม่ทนอยู่ และพร้อมที่จะเคลื่อนย้ายไปจงรักภักดีกับรัฐหรือชุมนุมใหม่ที่ดีกว่าแทน
ความท้าทายที่ไม่แน่นอนตรงนี้จะลดทอนอำนาจการควบคุมและจัดการของรัฐ รัฐต้องสูญเสียประชากรที่เคยเป็นฐานสนับสนุนด้านการเมืองและเศรษฐกิจไป การเคลื่อนย้ายจะสร้างจิตสำนึกใหม่ให้คน ซึ่งรัฐจะไม่สามารถควบคุมคนเหล่านั้นได้เหมือนครั้งก่อน
ดูเหมือนว่ารูปแบบของรัฐจะเป็นกลไกสำคัญ คือทั้งช่วยส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดพลเมืองโลก รวมไปถึงจำกัดการรับรู้หรือพยายามกีดกันไม่ให้พลเมืองในปกครองมีแนวคิดเป็นพลเมืองของโลก
เพราะว่ารัฐถือครองอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเพื่อบอกว่าใครเป็นพลเมือง หรือใครสมควรได้รับสิทธิแบบไหน อย่างไร ถ้าเป็นรัฐเสรีนิยมประชาธิปไตยก็จะให้อำนาจกับปัจเจกชนค่อนข้างมาก เปิดกว้างให้คนสามารถเดินทาง รับรู้ข่าวสาร และแสดงออกถึงอัตลักษณ์และความเชื่อของพวกเขาได้ ในขณะที่รัฐเผด็จการหรือรัฐอนุรักษนิยม จะควบคุมคนให้อยู่ในบรรทัดฐานโดยใช้วิธีการต่างๆ เช่น กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ การโฆษณาชวนเชื่อ การสร้างหลักสูตรการศึกษา กำหนดเนื้อหาตำราเรียน ใช้สื่อเพื่อทำให้คนเข้าใจเรื่องพลเมืองในแบบที่รัฐต้องการเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้รัฐในปัจจุบันทำได้ยากมากขึ้น เราก็จะเห็นว่า นับวันการสื่อสารเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ และการเข้าถึงข้อเท็จจริงที่หลากหลาย ยิ่งทำให้รัฐควบคุมคนได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะแนวคิดพลเมืองโลก สร้างการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ความคิดไปจนถึงพฤติกรรม ทำให้เกิดผลกระทบสะท้อนไปมาระหว่างพลเมืองกับรัฐ ตรงจุดนี้หรือเปล่าที่ทำให้รัฐศาสตร์หันมาให้ความสนใจแนวคิดพลเมืองโลกมากขึ้น
จะว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะแต่เดิมความเป็นพลเมืองขึ้นอยู่กับรัฐเป็นหลัก แต่ระยะหลังมานี้ เกิดกระแสตีกลับว่ารัฐไม่ควรเป็นศูนย์กลางในการควบคุมความเป็นพลเมืองอีกต่อไป การสร้างพลเมืองของรัฐอย่างสุดโต่งทำให้เกิดชาตินิยม หรือการยึดเอาชาติพันธุ์ตัวเองเป็นศูนย์กลางแบบล้นเกิน
หากมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะพบว่า สงครามและความรุนแรงในอดีตเป็นผลจากปฏิบัติการขับเน้นความเป็นพลเมืองแบบเข้มข้นของรัฐทั้งนั้น ความเป็นพลเมืองภายใต้รัฐนั้น แทนที่จะนำมาซึ่งเสรีภาพและสันติภาพ กลับนำมาซึ่งความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งระดับภายในและระหว่างประเทศ ฉะนั้น ความเป็นพลเมืองจึงต้องได้รับการจัดการอย่างพอเหมาะพอควร ในแวดวงรัฐศาสตร์ การศึกษาเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพลเมืองและรัฐ แต่ยังพยายามจะแยกความเป็นพลเมืองออกจากอำนาจเบ็ดเสร็จของรัฐด้วย ซึ่งในปัจจุบัน องค์กรระดับเหนือรัฐและระหว่างประเทศ ต่างสร้างความตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องการเป็นพลเมืองที่เหนือไปกว่ารัฐ เช่น แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน แนวคิดการศึกษาและสวัสดิการด้านสุขภาพแบบไม่เลือกหน้า เป็นต้น
หากมองว่าพลเมืองโลกคือการอยู่ร่วมกับความแตกต่างที่หลากหลายโดยไม่ตัดสิน และไม่ถือครองความคิดรักชาติแบบสุดโต่ง ซึ่งค่อนข้างไม่ลงรอยกับความเป็นไทยในนิยามของรัฐไทยที่ไม่นิยมหลักเสรีประชาธิปไตย ในบริบทเช่นนี้ ความเป็นพลเมืองไทยกับความเป็นพลเมืองโลกจะสอดคล้องต้องกันได้อย่างไร
สังคมไทยมีลักษณะพหุวัฒนธรรมมาตั้งแต่ไหนแต่ไร แต่ที่ผ่านมา การจัดการของรัฐแบบรวมศูนย์ทำให้พหุวัฒนธรรมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มศาสนา ความเป็นท้องถิ่น ซึ่งมีความหลากหลายมาก ถูกกลืนหรือสยบยอมต่อความเป็นไทยที่ถูกทำให้เหมือนกันหมดอย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้ว มันไม่มีทางควบกลืนความหลากหลายได้สมบูรณ์ สังคมไทยคุ้นชินกับความหลากหลายของพหุวัฒนธรรม แต่ไม่ได้ยอมรับอย่างที่ควรจะเป็น เราจึงเห็นท่าทีคนไทยเหยียดและกีดกันคนอื่นผ่านเชื้อชาติ ลักษณะทางกายภาพ สีผิว เพศสภาพ ศาสนา ความคิด และความเชื่อ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจจากความไม่รู้ก็ตาม
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา Political Literacy หรือการเรียนรู้ทางการเมือง เกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ค่อนข้างมากและรวดเร็ว การยอมรับและเคารพความหลากหลายก็เกิดขึ้นตามมา แต่ยังไม่มากพอเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม สิทธิเชิงนิเวศ สิทธิทางเพศ และสิทธิผู้พิการ ขณะที่รัฐไทยไม่ได้ส่งเสริมให้พลเมืองตระหนักหรือเข้าใจความแตกต่างตรงนี้ ผมจึงมองว่าการนำประเด็นพลเมืองโลกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาคือการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เป็นการปรับมุมมองให้เห็นคุณค่าของความหลากหลายของคนในสังคมโลก
หมายความว่าพลเมืองโลกเป็นแนวคิดที่ให้ความสำคัญกับทุกคนในสังคมโดยรวมมากกว่าชี้เฉพาะเจาะจงไปที่ใครคนใดคนหนึ่ง
มันยากที่จะบอกอย่างชัดเจนว่าเพื่อใคร เพราะทุกคนไม่ได้ใช้ชีวิตท่ามกลางสุญญากาศ เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายปรากฏการณ์สังคมที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก ตัวตนของเราด้านหนึ่งจึงเกิดขึ้นจากรากเหง้า (roots) ว่าเกิดมาจากใคร เติบโตขึ้นมาในพื้นที่หรือสังคมที่อยู่เป็นแบบไหน มีบรรทัดฐาน ค่านิยม และการปฏิบัติต่อกันอย่างไร อีกด้านหนึ่งคือตัวตนของเรานั้นผ่านประสบการณ์เส้นทาง (routes) อะไรมาบ้าง เส้นทางที่เดินทางเคลื่อนย้ายนั้นได้พบปะคนและมีประสบการณ์กับใครบ้าง เช่น ถ้าไปออสเตรเลียเราจะเห็นเลยว่าชนพื้นเมืองที่นั่นดำรงชีวิตอย่างไร ถูกลิดรอนสิทธิอะไรบ้าง เราก็จะมีโลกทัศน์ที่เข้าใจถึงเรื่องสิทธิความเป็นชนพื้นเมือง (indigenous rights) หรือถ้าไปอังกฤษแล้วสนใจปรากฏการณ์ Brexit เราอาจจะตั้งคำถามว่าคำอธิบายต่อผลประชามตินั้นมันบ่งชี้อะไร มันบอกอะไรเราเกี่ยวกับว่าคนอังกฤษมองว่าตนเองควรเป็นหนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรปหรือเปล่า อย่างในสหรัฐอเมริกา การขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์บอกอะไรเราเกี่ยวกับสังคมอเมริกันที่กำลังมองการเข้ามาของผู้อพยพมากขึ้น การมีประสบการณ์ตรงกับบริบทจริง จะช่วยให้เราเข้าใจข้อจำกัดและความท้าทาย และเข้าใกล้ความเป็นพลเมืองของโลกมากขึ้น ดังนั้น การเป็นพลเมืองโลกจึงเกี่ยวข้องกับตัวเราว่าจะเลือกเป็นส่วนหนึ่งของโลกอย่างไร เราจะตื่นเช้ามาแล้วมองแค่หน้ากระจกเห็นตัวเราเอง หรือจะมองออกไปให้เห็นว่าเรากำลังดำรงอยู่ท่ามกลางสังคมที่ผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างไร
คุณกำลังจะบอกว่าการศึกษาและประสบการณ์คือเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยซ่อมแซมความเข้าใจผิดๆ ของคนในสังคมให้เข้าใจประเด็นพลเมืองโลกมากขึ้น
ใช่ เพราะการศึกษาควรเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดเสรีภาพทางความคิดและความเข้าใจ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีการเรียนรู้และสามารถปรับเปลี่ยนความคิดหรือสร้างกลไกสังคมใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ การศึกษาที่ดีจะต้องชี้ให้เห็นสภาพความเป็นจริงในโลก เปิดให้เกิดการตั้งคำถามที่ดี และทดลองที่จะหาวิธีแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยลดความเกลียดชังและอคติการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทั้งในระดับบุคคลไปจนถึงระดับรัฐได้
ตอนนี้ในหลายๆ ประเทศมีการศึกษาที่เรียกว่า Global Citizen Education และโลกสัมพันธ์ศึกษา (Global Studies) เพื่อส่งเสริมแนวคิดพลเมืองโลก และชี้ให้เห็นลักษณะและประเด็นท้าทายของโลกที่แตกต่างไปจากมุมมองของ International Studies หรือ International Relations ซึ่งวางอยู่บนฐานของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างรัฐที่หลัก
แนวทางของโลกสัมพันธ์ศึกษา อย่างแรกคือการมองสภาวะข้ามชาติ (Transnationalism) ปรากฏการณ์ในโลกนี้มีลักษณะข้ามชาติข้ามพื้นที่มากขึ้น ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม โรคภัยไข้เจ็บ แรงงาน ระบบเศรษฐกิจ การผลิตสินค้าและบริการ การมองแต่เรื่องการรักษาความมั่นคงของรัฐ การเอาวัฒนธรรมตนเองเป็นศูนย์กลาง (Ethnocentrism) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือตอบสนองต่อการเคลื่อนย้ายที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันได้อีกต่อไป อย่างที่สองคือโลกสัมพันธ์ศึกษาจะเน้นการเรียนรู้แบบพหุสาขา (multidisciplinary) การกระตุ้นให้ผู้เรียนมองเห็นความเชื่อมโยงของศาสตร์เป็นสิ่งที่สำคัญ ความท้าทายจำนวนมากต้องอาศัยหลายๆ ศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจปรากฏการณ์ของโลก ไม่ใช่แค่รัฐศาสตร์เท่านั้น โลกสัมพันธ์ศึกษาจึงครอบคลุมมิติที่กว้างออกไป ซึ่งรวมไปถึงการศึกษาเชิงสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญา ประวัติศาสตร์ และศาสตร์เชิงข้อมูล (data science) ด้วย อย่างที่สามคือโลกสัมพันธ์ศึกษาสนใจประเด็นที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่มีความสัมพันธ์กับคนรุ่นใหม่ แต่เน้นให้ผู้เรียนมองเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างมีบริบท ทำอย่างไรที่จะสร้างความเข้าใจเชิงลึกว่าปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร มองอย่างมีมิติทางประวัติศาสตร์ ตลอดจนแสวงหาทางเลือกในการปรับเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์ในอนาคต ซึ่งถือเป็นมิติที่สี่ นั่นคือการสร้างทางเลือกใหม่ๆ จากการมองสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว โลกสัมพันธ์ศึกษาเป็นการศึกษาเชิงวิพากษ์ แต่ก็เน้นเป้าหมายในเชิงปฏิบัติด้วย การศึกษาแบบใหม่นี้จึงเป็นความท้าทาย เพราะไม่ตรงกับกรอบคิดเดิมของสถาบันการศึกษาที่แบ่งออกเป็นคณะ เป็นสาขาชัดเจน แบ่งแยกระหว่างทฤษฎีกับการปฏิบัติ เราเชื่อว่าการจะเข้าใจความเป็นพลเมืองโลก จำเป็นจะต้องอาศัยกระบวนการสร้างความรู้แบบใหม่เหล่านี้ผ่านความรู้เชิงบริบท การคิดเชิงวิพากษ์ และการกระตุ้นให้เกิดการแปลงความรู้ออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นรูปธรรม
แล้วประสบการณ์จะสร้างสมดุลระหว่างความเป็นพลเมืองของรัฐและแนวคิดการเป็นพลเมืองของโลกได้อย่างไร
ประสบการณ์การเรียนรู้ในพื้นที่และบริบทที่หลากหลาย จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่มันเกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นกับปรากฏการณ์ที่ใหญ่ออกไปในระดับโลกได้ โดยปกติจังหวะของชีวิตทุกคนมีทั้งการเคลื่อนย้ายและหยุดพักอยู่กับที่ การเรียนรู้ความหลากหลายของตำแหน่งแห่งที่จะกำหนดมโนทัศน์และการรับรู้เชิงพื้นที่ (sense of space) ซึ่งสำคัญมาก เพราะเวลาเราพูดถึงปรากฏการณ์โลก แม้จะเกิดขึ้นระดับข้ามชาติ แต่ก็สะท้อนให้เห็นในระดับท้องถิ่นด้วย อย่างเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่เหมือนเป็นเรื่องใหญ่ ไกลตัว แต่จริงๆ แล้วทำให้เกิดผลกระทบกับเราโดยตรง เช่น น้ำท่วม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภูมิอากาศโลกแปรปรวนจนทำให้ฝนตกหนัก น้ำทะเลก็หนุนสูงจากธารน้ำแข็งที่ละลาย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการบริหารจัดการของรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่มีความเป็นประชาธิปไตย เพราะขาดการมีส่วนร่วมและการตรวจสอบได้ แล้วปัญหาเหล่านี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก
นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงประเด็นผู้ลี้ภัย หากน้ำท่วมหนักต่อเนื่องจนเป็นภัยพิบัติร้ายแรง คนก็จะต้องย้ายถิ่นฐาน การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ต่างๆ จะทำให้คนรักษาสมดุลระหว่างความเป็นปัจเจกกับความเป็นชุมชนที่กว้างออกไปได้ ไม่เอนเอียงหรือสุดโต่งไปทางใดทางหนึ่ง
สำหรับการเคลื่อนย้ายหรือการออกเดินทาง ถ้านับเป็นประสบการณ์ที่สร้างโอกาสให้คนเกิดความความตระหนักรู้เรื่องพลเมืองโลกได้ ก็ต้องมีทั้งคนที่สามารถเข้าถึงโอกาสนั้น และคนที่พลาดโอกาสไป ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขบางอย่างในชีวิต โดยเฉพาะชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจ
ผมเองก็คิดแบบนั้น เป็นความจริงที่ต้องยอมรับว่าชนชั้นหรือตำแหน่งแห่งที่ในสังคมมีส่วนทำให้แต่ละคนรับรู้ความเป็นพลเมืองโลกมากน้อยต่างกัน ชนชั้นกลางที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี ก็จะมีโอกาสเดินทาง ไปท่องเที่ยว ไปเรียนต่อ ไปทำงานต่างประเทศ มีเพื่อนต่างชาติ มีทักษะภาษา ทำให้เข้าถึงความรู้และข้อมูลได้กว้างและมากกว่า
แต่ไม่ได้หมายความว่าการรับรู้เรื่องพลเมืองโลกจะเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางหรือในระบบการศึกษาที่เป็นทางการเท่านั้น ผู้ลี้ภัยที่ถูกผลักให้ต้องเคลื่อนย้าย ไม่ว่าจะด้วยความรุนแรง การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ สงครามกลางเมือง หรือจากการถูกคุกคามจากรัฐ คนเหล่านี้จะเรียนรู้การเป็นพลเมืองโลกจากประสบการณ์ตรง เพราะเขาต้องกลายเป็นชนกลุ่มน้อยหรือคนไร้รัฐในประเทศอื่น
อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่าการเป็นพลเมืองคือยุทธวิธีตอบสนองต่อการมีชีวิตรอดของมนุษย์ เขาจึงต้องดิ้นรนเรียนรู้ว่าตัวเองมีสิทธิอะไรบ้าง มีหน่วยงานหรือองค์กรไหนที่ให้การช่วยเหลือได้ มีบรรทัดฐานอะไรในระดับสากลที่สนับสนุนให้เขามีชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ตัวเองก้าวข้ามปัญหาและยืนหยัดได้อีกครั้ง การตระหนักรู้เรื่องพลเมืองโลกจึงเกิดขึ้นจากประสบการณ์ตรงที่คนหนึ่งคนจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ในฐานะอาจารย์ คิดเห็นอย่างไรกับท่าทีของคนรุ่นใหม่ ทั้งนิสิตในชั้นเรียนและเยาวชนไทยในสังคม คุณมองเห็นแนวคิดเรื่องพลเมืองโลกในคนรุ่นใหม่ในแง่มุมไหน เพราะการบริหารของรัฐไทยในปัจจุบัน ค่อนข้างตีกรอบความคิดและไม่ได้เปิดพื้นที่กว้างให้พวกเขาแสดงออกเป็นรูปธรรม เราจึงมักเห็นเพียงเสียงสะท้อนในสื่อสังคมออนไลน์
คนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะคิดเชิงวิพากษ์ แล้วเชื่อมโยงความคิดกับปราฏการณ์โลกมากขึ้น แต่ระบบการศึกษาในประเทศไม่อำนวยหรือสนับสนุนให้เขานำความคิดไปลงมือทำได้ จริงๆ แล้วการรณรงณ์เรื่องการเป็นพลเมืองโลก ไม่ได้เน้นแค่การทำความเข้าใจหรือการคิดเชิงวิพากษ์อย่างเดียว แต่สนใจการปฏิบัติด้วย คนรุ่นใหม่ถูกวิจารณ์ว่าแค่ติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์นั้นมันเปลี่ยนแปลงโลกไม่ได้หรอก แน่นอนว่าการทำเท่านี้อาจจะไม่เพียงพอ แต่เราไม่สามารถจะไปกล่าวโทษว่าพวกเขาพอใจแค่กับการสื่อสารอยู่แต่ในโลกออนไลน์เท่านั้น ก็เพราะว่าทั้งการเมือง การศึกษา สื่อ และสังคมไม่มีกลไกหรือพื้นที่ที่สนับสนุนให้เขาสามารถนำเอาความคิด ความไม่พอใจ หรือการมองเห็นความท้าทายใหม่ๆ ออกไปสู่การปฏิบัติในเชิงรูปธรรมได้ ทั้งหมดจึงย้อนกลับมาสู่การปกครองของรัฐ การเปิดกว้างทางสังคม ตลอดจนการจัดการศึกษาในสถาบันการศึกษาทั้งหลายว่าเราในฐานะผู้ใหญ่นั้นได้สร้างพื้นที่เปิดกว้างเพียงพอที่คนเหล่านี้จะแสดงออกและลงมือทำในสิ่งที่เขาต้องการได้จริงหรือเปล่า
ช่วงปีที่ผ่านมาเกิดกระแสให้ความสำคัญเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 คุณคิดว่าความรู้ความเข้าใจเรื่องพลเมืองโลก จะเป็นหนทางหนึ่งที่ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดต่อไปหรือไม่ อย่างไร
แน่นอนครับ อย่างในหนังสือ 21 Lessons for the 21st Century ของ Yuval Noah Harari ก็พูดถึงเรื่องความท้าทายในด้านต่างๆ ที่มนุษย์ต้องเผชิญในศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนพยายามสร้างความเข้าใจว่ามนุษย์จะต้องเรียนรู้และสร้างทักษะเพื่อรับมือความท้าทายเหล่านี้อย่างไร จากการยกตัวอย่างหรือปัญหาที่เกิดขึ้นในระดับท้องถิ่นที่พร้อมส่งผลในระดับโลกต่อไปได้ นี่คือการมองแบบพลเมืองโลก ดังนั้น การมีแนวคิดพลเมืองโลกจะช่วยให้คนรู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และสามารถหาหนทางใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเพื่อทำให้ตัวเองอยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนแปลงเร็ว และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
สามารถสรุปได้ไหมว่าการรู้จักปรับตัวให้ทันต่อความเป็นไปของโลกที่ไม่เคยอยู่นิ่งคือสิ่งจำเป็นของการเป็นพลเมือง
ใช่ ความเป็นพลเมืองโลก ไม่ได้เน้นแค่เรื่องความหลากหลาย แต่ให้ความสำคัญเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้วย สิ่งสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความเป็นพลเมืองโลก จึงต้องมี 3 ส่วนหลักๆ คือความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นไป ต้องเป็นพลเมืองผู้รับรู้อย่างรอบด้านและมีสติ (informed citizen) ต่อมาคือทักษะการปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้สามารถหาทางออกให้ปัญหาหรือความท้าทายนั้นได้ และสุดท้ายคือการมีมุมมองหรือมีบุคลิกภาพที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและคงตลอดเวลา ทั้งสามสิ่งนี้จำเป็นมากสำหรับการจัดการศึกษาที่จะช่วยเสริมสร้างความเป็นพลเมืองโลก
ถ้าในระดับบุคคล อะไรคือหลักคิดหรือทัศนคติที่ช่วยปรับมุมมองใหม่ให้เข้าใจเรื่องพลเมืองโลกได้มากขึ้น
หลักคิดแรกที่สำคัญที่สุดคือการคิดเชิงวิพากษ์ หรือ Critical Thinking ต้องไม่จำนนต่อระบบที่มีมาก่อน แล้วคิดหาทางเลือกใหม่นอกเหนือจากกรอบคิดแบบเดิม แต่ก่อนจะคิดเชิงวิพากษ์ได้เราต้องมี Reflective Thinking หรือการคิดเชิงย้อนกลับก่อน ซึ่งจะช่วยสะท้อนย้อนคิดต่อสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัวอย่างรอบด้าน หลักคิดต่อมาคือทักษะการสื่อสาร เราต้องสื่อความคิดใหม่ออกไปให้ได้ด้วย จริงๆ แล้วมีองค์กรทั่วโลกจำนวนมากที่รณรงค์ประเด็นพลเมืองโลก โดยชี้ให้เห็นว่าคนตัวเล็กตัวน้อยอย่างเราๆ สามารถเปลี่ยนแปลงโลกในแต่ละมิติได้
หลักคิดที่สามคือการสร้างความร่วมมือให้เกิดขึ้นรอบด้าน ไม่ยึดติดว่าต้องทำงานกับคนรุ่นเดียวกัน หรือคนในชุมชนที่คุ้นเคยเท่านั้น แต่เราต้องร่วมมือกับคนอื่นๆ อย่างหลากหลาย เพราะจะช่วยสร้างความเข้าใจความแตกต่างโดยลดอดติและไม่ตัดสิน หลักคิดข้อสุดท้ายคือการมีความคิดสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ เมื่อโลกเผชิญกับความท้าทายใหม่ เราจึงคิดเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว ต้องดึงพลังการคิดนอกกรอบจากคนรุ่นใหม่มาเปลี่ยนแปลงโลก เราอาจมองว่าประวัติศาสตร์คือการเรียนรู้ แต่อนาคตเป็นสิ่งที่ทำนายได้ยากมากกว่า
ส่วนทัศนคติที่ดีคือการไม่ยึดติดกับสิ่งใดแบบสุดโต่ง และปรับเปลี่ยนความคิดต่อภาวะการณ์ที่เปลี่ยนไปได้ ในระยะยาวเราไม่สามารถบอกได้ว่าหลักคิดไหนดีที่สุดตลอดไป เพราะว่าพรุ่งนี้โลกก็เปลี่ยนแล้ว ดังนั้น คนรุ่นใหม่ต้องเข้ามาจัดการด้วยตัวเอง ว่าอะไรคือความรู้ อะไรคือทักษะ อะไรคือวิธีคิดที่เหมาะกับความเป็นพลเมืองโลกในอนาคตของพวกเขา
เมื่อโลกในอนาคตไม่สามารถทำนายได้ แนวคิดพลเมืองโลกมีส่วนกำหนดทิศทางของอนาคตได้ขนาดไหน
นี่เป็นประเด็นใหญ่โลกที่ต้องถกเถียงกันต่อไป เมื่อพูดถึงพลเมืองโลก เรื่องน่ากังวลคือต้องไม่สร้างนิยามความเป็นพลเมืองโลกที่ตายตัว โลกที่พวกเราอยู่ ไม่ใช่โลกที่มีลักษณะเหมือนกันทั้งหมด เพราะแต่ละคนมีวิถีชีวิตต่างกัน พลเมืองโลกคือการทำความเข้าใจความแตกต่าง และการดำรงอยู่ร่วมกับความแตกต่างเหล่านั้น
เพราะฉะนั้น ในอนาคตแนวคิดพลเมืองโลกจะเปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ยกตัวอย่างว่า เวลาพูดถึงสิทธิความเป็นพลเมือง อาจจะไม่ใช่แค่มนุษย์ที่มีสิทธิ์อีกต่อไป แต่สัตว์และสิ่งแวดล้อมก็มีสิทธิ์ที่จะดำรงอยู่โดยที่ไม่ถูกมนุษย์ทำลายเช่นกัน ในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะรวมถึงสิทธิ์ของหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ หรือไซบอร์ก (cyborg) ด้วย พลเมืองโลกจึงเป็นการเปิดพื้นที่ให้กว้างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเป็นพื้นที่ให้ทุกคนและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาหาทางออกร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่
ณ วันนี้ คุณคิดว่าตัวเองคือพลเมืองโลกแล้วหรือยัง
ผมอยากพูดอย่างถ่อมตัวว่าผมมองตนเองในฐานะที่เป็นพลเมืองโลกคนหนึ่ง ผมมีโอกาสเดินทาง เคลื่อนย้าย และได้สำรวจพื้นที่ทางความรู้ความคิดที่หลากหลาย ทำให้เห็นการเชื่อมโยงกันของผู้คนที่มีความแตกต่าง ได้พูดคุยและรู้จักคนอื่น ทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวและเป็นส่วนหนึ่งกับผู้คนเหล่านี้ จึงไม่มีความคิดตัดสินคนอื่น และไม่เคยมองความแตกต่างของคนเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต
ผมคิดว่าคนรุ่นต่อไปจะยิ่งมีโอกาสเรียนรู้และสามารถสร้างประสบการณ์ที่เปิดรับเอาแนวคิดพลเมืองโลกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตได้มากกว่าคนรุ่นผมด้วยซ้ำ ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่เรามี สิ่งสำคัญคือการมีโลกทัศน์ที่เปิดกว้าง และการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนรู้ต้องมาพร้อมกันด้วย
สุดท้ายแล้ว อะไรทำให้คนคนหนึ่งพูดออกมาอย่างภูมิใจว่าฉันคือพลเมืองของโลกใบนี้
คนเราจะเริ่มคิดใหม่และกล้าทำสิ่งใหม่ๆ ก็ต่อเมื่อมีสิ่งสำคัญเกิดขึ้นในชีวิต อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนหรืออะไรบางอย่างที่จุดประกายจนต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงความคิดและการใช้ชีวิตให้ต่างไปจากเดิม จากที่เคยยึดโยงตัวเองกับสังคมแคบๆ กับความเป็นชาติ ก็เปลี่ยนไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่กว้างออกไป เป็นพลเมืองโลก สิ่งสำคัญนั้นคือการเปิดโอกาสให้ตัวเองได้ทดลอง ได้หาแรงบันดาลใจ และเดินทางไปพบความแปลกใหม่อยู่เสมอ
ทั้งหมดนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย ถ้าหากคนยังคงใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่เดิม ทำกิจวัตรเหมือนเดิม อยู่กับคนรอบตัวคนเดิม การที่คนหนึ่งคนจะโอบรับเอาแนวคิดพลเมืองโลกเข้ามาได้ ต้องอาศัยความกล้าหาญพร้อมๆ กับการถ่อมตัว การเรียนรู้อย่างเปิดกว้าง แต่ก็ต้องมาพร้อมๆ กับความเชื่อมั่นที่จะลงมือทำ ผมคิดว่าการมีพื้นที่ของการศึกษาเรียนรู้ที่ดี จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างสังคมที่พลเมืองรุ่นใหม่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกของพวกเขาได้