เทคนิคการถ่ายทำแบบ VR 360 ที่สามารถหมุนดูได้ทุกองศาในเอ็มวีเพลง วิชาตัวเบา ของ Bodyslam, ลายเส้นกราฟิกภาพแอนิเมชันสีน้ำที่ดูดิบๆ เท่ๆ ในเอ็มวีเพลง Hailstorms ของ ฮิวโก้ หรือ แอนิเมชันที่แม้แต่ลายเส้นยังหม่นเศร้าบวกเทคนิคการเล่าแบบ long shot ในเพลง เจ็บจนไม่เข้าใจ ของ PORTRAIT ล้วนสร้างสรรค์มาจากไอเดียของ ‘ต้น’ – ยศศิริ ใบศรี
ในสนามของการทำเอ็มวี เขาคือผู้กำกับที่เก๋าเกมที่สุดคนหนึ่ง แจ้งเกิดและเป็นที่รู้จักในนาม ‘หัวกลม’ ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มิวสิกวิดีโอกว่าร้อยชิ้นของเขาได้สร้างสีสันให้วงการและส่งต่อแรงบันดาลใจให้ผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ และแน่นอนว่าการได้อยู่ในแวดวงนี้มาเป็นเวลานานทำให้เขามองเห็นความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ท่ามกลางความสะดวกสบายของเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิต เครื่องไม้เครื่องมือสุดไฮเทค โซเชียลมีเดีย แอพพลิเคชัน สิ่งเหล่านี้ดูเผินๆ อาจเข้ามาตอบโจทย์เรื่องความสะดวกรวดเร็วและใช้งานง่าย แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็ส่งผลให้ทุกคนแข่งกันผลิตงานให้ทันตามความไว งานจำนวนมากถูกผลิตซ้ำไอเดียออกมาราวกับพิมพ์เดียวกัน ไร้ซึ่งความแตกต่างและความสดใหม่ ผู้คนล้วนเสาะหาแรงบันดาลใจจากแหล่งเดียวกัน ทุกอย่างเป็นเพียงความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกหยิบจับจากอดีตหรือสิ่งที่มีอยู่แล้วมาประกอบร่างใหม่ วนลูปเช่นนี้เรื่อยไป
“เราไปยึดตามความสำเร็จรูปอันฉาบฉวยในทุกวันนี้เยอะเกินไป เราไปดูกันว่าการถ่ายแบบนี้รอดแน่ๆ ประหยัดเงินแน่ๆ ทันแน่ๆ เยอะเกินไป แล้วไปพึ่งพาเรเฟอเรนซ์เยอะเกินไป แน่นอนการที่จะตามเรเฟอเรนซ์ มันก็คือทำซ้ำอีกครั้งหนึ่งจากใครก็ไม่รู้”
และนั่นเป็นอีกเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกเปิดโรงเรียน BEAR School of Visual Specialist ที่สอนออกแบบวิชวลอาร์ตทั้งหลาย อาทิ กราฟิก ตัดต่อ แอนิเมชัน โมชันกราฟิก ที่นอกจากความรู้ทางเทคนิคแล้ว เขายังสอดแทรก ‘กระบวนการคิดหาไอเดีย’ เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่า ถ้าคุณอยากทำงานเพื่อพัฒนาวงการวิชวลอาร์ตไทยต่อไป โปรดจงให้ความสำคัญกับสิ่งนี้
การเปิดโรงเรียนสอนออกแบบวิชวลอาร์ต BEAR School of Visual Specialist นอกจากบริษัทหัวกลม ที่เป็นครีเอทีฟสตูดิโอ เป็นเพราะคุณมองเห็นอะไรที่ขาดหายไปในอุตสาหกรรมนี้ของบ้านเราหรือเปล่า
เรื่องของเรื่องคือเรามาค้นพบว่าจริงๆ แล้วการออกแบบวิชวลอาร์ตแทบจะไม่จำเป็นต้องสอนในมหาวิทยาลัยเลย เพราะปัญหาที่เจอก็คือ นักศึกษาหลายๆ คน ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียนเรื่องพวกนี้ไปทำไมกัน เด็กหลายๆ คน ก็น่าจะได้ความรู้จากตอนฝึกงานมากกว่าในห้องเรียน แล้วยิ่งสมัยนี้มหาวิทยาลัยหลายแห่งก็ใช้วิธีจ้างอาจารย์จากข้างนอกมาสอน เราก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้เข้าไปสอนและสัมผัสกับประสบการณ์ตรงนั้น จนพบว่าอาจารย์ข้างในที่จะให้ความรู้ข้อมูลแบบ up to date แทบไม่มีแล้ว ลองดูพวกโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่เราใช้ทุกวันนี้สิ มันอัพเดตแทบทุกสัปดาห์นะ แปลว่าทฤษฎีอย่างเดียวเอาไม่อยู่หรอก หลายๆ อย่าง มันจะต้องเอาสิ่งที่เขาทำมาใหม่ๆ เครื่องมือใหม่ๆ มาปรับปรุงกันตลอด
ปรากฏการณ์แบบนี้นำมาสู่ความคิดที่ว่า ไหนๆ เราก็เป็นคนคิดหลักสูตรเองแล้ว เราก็มาเปิดโรงเรียนเองดีกว่า เพราะตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยจบจนทำงานมาสิบกว่าปี เราก็มาได้คำตอบว่าจริงๆ แล้วมหาวิทยาลัยเขาไม่ได้สอนอะไรเลย โดยเฉพาะเรื่องประสบการณ์จริง ยิ่งสมัยเรายิ่งชัด เพราะสมัยเราเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตยังไม่บูม พวกโปรแกรม After effect หรือ Motion graphic ต้องหัดกันเอง เราก็เลยจะไปตื่นเต้นกับหนังสือกราฟิกที่ซื้อกันตามร้าน แล้วก็เอามาหัดทำกันเองมากกว่า พอตอนจะเปิดโรงเรียนเลยได้ไอเดียว่าเราตั้งชื่อว่า BEAR หรือ ‘แบ’ แล้วกัน เหมือนเอาความรู้ เอาประสบการณ์ที่เรามีมาแบเป็น short cut ให้คนที่มาเรียน ตอนนี้ก็เปิดมาสามปีแล้ว มีสอนเรื่องกราฟิก ตัดต่อ แอนิเมชัน แล้วก็โมชันกราฟิก เป็นหลัก
คนที่มาเรียนกับคุณต้องมีพื้นฐานทางศิลปะมาก่อนหรือเปล่า
ไม่เลยนะ BEAR มีคลาสที่สอนแบบเริ่มนับศูนย์ด้วย มันเลยกลายเป็นว่ามีคนข้ามอาชีพมาเรียนด้วยเยอะ มีทั้งคนจบบัญชีมาเรียนแอนิเมชัน แล้วเขาก็ไปทำงานด้านแอนิเมชัน หรือเรียนต่อด้านแอนิเมชันไปเลยนะ คือหากลองมองในมุมของเราที่เป็นเจ้าของบริษัท เราไม่เคยสนใจเกรดเฉลี่ยอะไรทั้งหลายเลย ซึ่งทุกคนก็คงเหมือนกัน คือขอดูพอร์ตเป็นหลัก คุณเคยทำอะไรมา ตัดสินกันตรงนั้น ยิ่งคนที่เพิ่งจบมาที่เรียกตัวเองว่า Junior designer แล้วมาเรียนกับเรา นั่นหมายถึงเขาต้องการมาหาความรู้ใช่ไหม ซึ่งก็แปลว่า เราก็ต้องมาให้ความรู้เขาหลังจากเรียนจบอยู่แล้วนี่หว่า ก็เลยได้คำตอบอย่างที่บอกว่า เฮ้ย จริงๆ เราไม่ต้องการมหาวิทยาลัยแล้วหรือเปล่าวะ
ฉะนั้นการเปิดโรงเรียนตรงนี้มันก็ช่วยทั้งให้คนได้ความรู้ ให้คนได้มีโอกาสเปลี่ยนอาชีพ หรือตัดสินใจกับชีวิตได้อีกครั้ง เพราะมันคงไม่ใช่ทุกคนที่ได้ทำอาชีพที่ตามสายเราเรียนจบมา อย่างรุ่นเราที่ทำกราฟิกเหลืออยู่แค่สองสามคน ที่เหลือก็ไปทำอย่างอื่นกันหมดแล้ว
แล้วอะไรที่คุณมองว่า BEAR จะให้กับคนที่มาเรียนได้แตกต่างจากที่มหาวิทยาลัยให้
เราโฟกัสเรื่องประสบการณ์จริงเลย อย่างเราเองจะสอนเรื่อง color grading แล้วทุกวันนี้เราก็ทำโฆษณาอยู่ เป็นผู้กำกับ ก่อนหน้านี้ก็ทำเอ็มวีมาหลายตัว เราก็เป็นคน คิด ถ่าย ตัดต่อ คอมโพสิต ทำสี อะไรพวกนี้มาก่อนอยู่แล้ว แปลว่า ที่นี่เราพยายามให้หลักสูตรทุกอันเป็นแบบฝึกหัดจริง หรือเคสจริงมาให้นักเรียนได้เล่น เพราะว่าเราสอนโดยใช้เครื่องมืออย่างเดียวมันไม่พอ อย่าง color grading เราก็จะสอนแบบ เฮ้ย ถ้าชีวิตจริงคุณเจอลูกค้าคอมเมนต์แบบนั้นแบบนี้ ต้องทำยังไง การประกอบอาชีพนี้จริงๆ มันต้องเจออะไรบ้าง มีกรณีศึกษาอะไรที่ควรเรียนรู้
หรืออย่างวิชาตัดต่อ คนสอนก็เป็นคนตัดต่อโฆษณาอยู่แล้ว เขาก็จะเอางานโฆษณาที่ทำจริงมาให้นักเรียนได้เล่น วิชา motion หรือ animation ก็เช่นกัน เราจะเอางานจริงมาเล่นกัน ผสมกับแบบฝึกหัดที่ต้องจบในคาบ เพราะทุกคนที่สอนเป็นคนที่ทำงานประจำ เป็นเจ้าของบริษัทในสาขาที่เขาสอนอยู่แล้ว การเรียนการสอนก็เลยจะค่อนข้างเข้มข้น
อย่างคุณเองคลุกคลีในแวดวงนี้มาเป็นสิบปี คุณมองเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
เราเองทำสองบริษัทอยู่ตลอดเวลา คือ BEAR กับหัวกลม อย่างหัวกลมนี่เราทำมาตั้งแต่อยู่ปี 2 นะ ตอนนี้ก็สิบกว่าปีมาแล้ว เรามองว่ามันวนลูปแล้ว วัยรุ่นยุคนี้ก็จะฮิตไดเร็กชันยุคเก้าศูนย์เยอะมาก ซึ่งเราเองเป็นคนโตมาในยุคนั้น ไดเร็กชันที่ยุคนั้นเขาฮิตซึ่งเด็กเกิดปี 94 หรือ 95 ขึ้นมาไม่เคยเห็นแน่ๆ อย่างเช่นพวกภาพ 4 ต่อ 3 กล้อง DV หรือการจัดไฟสไตล์หนังของหว่อง กา ไว อะไรทำนองนี้ ซึ่งแม่งพวกคุณทำกันมาห้าปีแล้วนะ พอได้แล้ว (หัวเราะ)
ถ้าเราไปดูพวกอินดี้เซตใหม่ๆ ที่อยู่ตามเว็บดนตรีหรือยูทูบ คือเหมือนกันหมดทุกคนเลยนะ ไม่เบื่อเหรอ วินเทจกันมาห้าปีแล้วนะ จริงๆ มันมีเรื่องให้ทำอีกเยอะมาก อาร์ตไดเร็กชันที่น่าเล่นก็มีอีกเยอะมาก เราไปมัวทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้เต็มไปหมดเลย แต่ก็เป็นเรื่องของเจเนอเรชันเขานะ เราเองก็ไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว แก่แล้ว ก็แยกกันไปแหละ เพราะว่าผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ หรือคนใหม่ๆ ที่ขึ้นมา เขาก็อยู่กับกลุ่มของเขาในช่วงวัย 20 ไป เราเองโตมาในยุคที่ยังได้เจอกับผู้กำกับอายุสี่สิบอัพ ซึ่งเขาก็มองว่าเป็นเรื่องเดิมนะ ไม่มีอะไรตื่นเต้น
มันกลายเป็นกลุ่มเด็กรุ่นใหม่เอาวิชวลที่เราเคยตื่นเต้นสมัยเด็กๆ มาทำซ้ำอีกรอบหนึ่ง แต่แค่ยุคนี้มันมีโซเชียลฯ ยุคเราไม่มี เต็มที่ก็แค่บล็อกหรือเว็บไซต์ มันเลยไม่ได้แพร่หลาย พอมายุคนี้ก็กลายเป็นว่ามันเท่ แต่ไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีอะไรใหม่มานานแล้ว เป็นแค่การจับนู่นนี่มาผสมกันใหม่ แล้วตอนนี้ก็ลูปทำใหม่กันอีกรอบหนึ่ง
เหมือนที่ยุคนี้เราชอบพูดถึงแฟชั่นหรือดนตรี ที่ย้อนไปยุคแปดศูนย์ เก้าศูนย์ใช่ไหม
พออะไรมันฮิต ก็ฮิตกันหมดเลย คือเราโตมากับดนตรีอินดี้ เราเห็นชัดมากว่าดนตรีอินดี้ยุคนี้เหมือนกันเกินไป โดยเฉพาะเรื่องของวิชวลนี่ชัดมากๆ ถ้าไปนั่งดูเอ็มวีอินดี้ เราให้ 80% เหมือนกันหมด (หัวเราะ) อย่างยุคเรามีเอ็มวีที่เล่าเรื่องมาเป็นร้อยเป็นพันตัวแล้วนะ แต่การเล่าเรื่องเป็นสิ่งที่รอดอยู่แล้ว แค่หยิบเทคนิคที่มีมาตลอดมาเล่ากันใหม่แค่นั้นเอง เอาจริงๆ ไม่สนุกเหมือนเมื่อก่อน มันทำตามกันเกินไป รูปแบบการถ่ายก็ตามกันเกินไป อยู่ๆ ก็ฮิตมีใบไม้ มีเสื้อฮาวาย คือ visual มันเหมือนกันเกินไปในการถ่ายรูปปัจจุบัน
แล้วคนรุ่นก่อนที่คุณเคยเห็นการทำงานเขาคิดหรือทำกันอย่างไร
ถ้าย้อนไปดูตากล้องแบบรุ่นพี่จอร์จ (ธาดา วาริช) พี่ติ๋ม (พันธ์สิริ สิริเวชชะพันธ์) หรือรุ่นเก่าๆ โฮ้ เขาคิดอะไรสนุกนะ คิดไดเร็กชันสนุก เวลาเราคุยกับช่างภาพรุ่นใหญ่ๆ เขาจะเอาไดเร็กชันขึ้นมาตั้งก่อนว่า เฮ้ย เห็นแบบนี้แล้วฉันอยาก 90s แล้วก็ยกศิลปินหรือนักร้องขึ้นมา เออ ทิศทางมันชัดเจน มันดูสนุกเนอะ
“
เราไม่รู้ว่าสมัยนี้วัยรุ่นเขาคิดงานหรือคุยอะไรกันยังไงนะ หรือเขานั่งไถ pinterest เลือกสิ่งที่น่าจะใช่มา แล้วก็เอาเรเฟอเรนซ์ไปขายกัน แค่นั้นหรือเปล่า คือมันฉาบฉวยเกินไป มันไม่ได้ถูกคิดอย่างมีเหตุผลว่า หน้าตาแบบนี้ คาแร็กเตอร์แบบนี้ บุคลิกแบบนี้ มันควรเอาอะไรมาเล่นเพื่อดึงให้มันเด่น ให้มันดูดี
”
แม้กระทั่งเรื่องการถ่ายแบบของคนรุ่นใหม่ๆ ที่เราเห็นคือกลายเป็นพึ่งนางแบบยืนโพสเป๊าะแป๊ะๆ แต่ตากล้องรุ่นก่อนที่เราเห็นมันไม่ใช่ เราโตมากับพี่ติ๋ม พี่จอร์จ เขาจ้องแป๊บเดียว 5 วิ โพสปุ๊บ แชะ ไปเลย หรือนั่งจ้อง เอียงข้างนิดหนึ่ง เงยคาง บิดนิดหนึ่ง สองรูปผ่านเลย เชี่ย คือคนละเรื่องแล้วนะ
ตอนนี้เราไม่เข้าใจว่าตากล้องรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่าตากล้อง แม่งเป็นตากล้องจริงๆ หรือเป็นแค่คนกดชัตเตอร์ด้วยซ้ำ อันนี้ก็พูดกันตรงๆ นะ เพราะเห็นหลายคนเป็นแบบนั้น หรือแม้กระทั่งตากล้องโฆษณาที่เรียกตัวเองว่าเป็น cinematographer เนี่ย จัดไฟเป็นหรือเปล่า ถ้าเป็นตากล้องที่จัดไฟเองไม่เป็น อย่าเรียกตัวเองว่าเป็นตากล้อง เรียกว่าเป็นคน operate เถอะ เพราะว่างานโฆษณามันถูกคิดมาละเอียดแล้ว คือสตอรีบอร์ดมี เรเฟอเรนซ์จากผู้กำกับหรือครีเอทีฟมี มันไม่พอหรอกที่แค่มานั่งกดชัตเตอร์ ใช้กล้อง แล้วคิดตังค์แพงๆ ฉะนั้นเวลาเราทำงาน เราก็จะพยายามบอกโปรดิวเซอร์ให้หาตากล้องทั้งภาพนิ่งและวิดีโอที่จัดไฟเป็น ไม่ใช่มาแล้วมีข้ออ้าง gaffer ไม่ดี ผู้ช่วยไม่ดี เห้ย คุณเป็นตากล้องนะ รายได้มันดีก็จริง แต่เราก็อยากเห็นคนที่เก่ง ซึ่งคนเก่งมีเยอะนะ แต่คนมั่วก็เยอะ
อย่างตัวคุณเองมีวิธีการทำงานอย่างไรให้ได้ผลงานที่แตกต่าง
เราโชคดีที่เราได้งานที่ต้องคิดเพิ่มเติมตลอด ไม่ได้คิดมาเสร็จแล้วจากเอเจนซี เกิน 80% ในงานที่ผ่านๆ มา จะมีมาแต่เรเฟอเรนซ์กับโจทย์มาร์เก็ตติง แล้วที่เหลือต้องคิดเอง ที่นี้เราก็ยังหาทางสนุกของเราได้อยู่ เราก็จะพยายามคิดให้เรียบร้อยก่อนที่จะเอาเรเฟอเรนซ์ไปอ้างอิงเขาเสมอ ว่า เอ๊ะ งานนี้เหมาะกับทิศทางไหน พอเป็นงานที่ตัวเองได้คิดเอง ได้ทำเอง ก็ถือว่ายังโอเคอยู่
หรือกระทั่งถ้าเป็นงาน commercial จัดๆ เลยที่เข้ามา ก็ยังคงเป็นงานที่ต้องคิดเองอยู่เช่นกัน เราก็เลยยังปลอดภัยอยู่กับการทำงานในทุกวันนี้ ส่วนงานที่เป็นโฆษณาแฝงเอ็มวีก็เข้ามาเรื่อยๆ อันนั้นก็จะคล่องหน่อย เพราะเราทำมาเยอะ เรารู้จักโครงสร้างเพลง รู้ว่าตรงไหนควรเน้น บาลานซ์ความสัมพันธ์เพลงในโฆษณาได้ คือหัวกลมเองก็จะพยายามทำงานที่ไม่ได้เล่าเรื่องแมสแหละ พยายามเป็นทางเลือกอีกทาง เป็นสายเทคนิคแล้วกัน
มีหลักการตายตัวไหม
ไม่มีตายตัวนะ แค่ทุกคนควรจะแม่นเรื่องอาร์ตไดเร็กชันแหละ มันสำคัญมาก เพราะสมมติเรารู้ว่าเพลงนี้ทาร์เก็ตอะไร ดนตรีนี้แนวอะไร หรือสินค้านี้มันเหมาะกับทิศทางไหน หรือเขาพูดให้ใครฟัง เล่าให้ใครดู ถ้าโจทย์ชัดจากครีเอทีฟ จากมาร์เก็ตติง แล้วเอาไดเร็กชันทั้งหมดมาใส่ มันก็คิดหรือทำให้สนุกได้ ยกตัวอย่างเรื่องเพลง ศิลปินอินดี้ๆ คาแร็กเตอร์เขามักชัด เขาเป็นใคร เขาแนวไหน ที่เราเล่าบ่อยๆ เช่นในยุคแรกๆ วง Slot Machine เขาชัดเจนว่าเป็นไทยร็อก วง Singular ก็เป็นวงฝันๆ หรืออย่างวง 25 hours เขาก็วินเทจ ทีนี้พอวงมีคาแร็กเตอร์ชัด ทำอะไรก็สนุก อย่าง Slot Machine ก็ ไทย ร็อก ไซไฟ สามคำนี้ ได้ไดเร็กชั่นใหม่ทันทีเลย มันเล่นได้อีกเยอะ หรืออย่างฮิวโก้ แกเป็นคาวบอยคนไทย ชัดเลย จบเลย มันส่งต่อได้หมด ทั้งทิศทางการเล่าเรื่อง สี ชุด บรรยากาศ มันไปได้หมด
สำหรับคุณ การได้ทำงานกับศิลปินอินดี้มาก่อนมันมีส่วนสำคัญในการผลักดันความคิดสร้างสรรค์ของคุณบ้างไหม
ใช่ๆ เพราะว่าอินดี้มันนอกกรอบได้ง่ายกว่า อย่างค่ายใหญ่ๆ ก็อาจจะมีกรอบ มีสูตรอะไรของเขา เราไม่พูดกันแบบ semi mass หรือกึ่งอินดี้กึ่งแมสนะ เพราะอันนั้นจะมีครีเอทีฟคิดมา แล้วเราก็ทำตามที่เขาบอก แต่ถ้าอินดี้ มันก็อาจจะแลกกับเรื่องเงินน้อยเงินมาก แลกกับฝีมือ แลกกับความสนุกที่ได้แสดงออกในความคิดของเราเต็มที่ มันก็แบ่งกันได้แหละ
คุณเคยบอกว่าคุณเองไม่ใช่คนทำเอ็มวีแบบเล่าเรื่อง เป็นเพราะอะไร
เราทำไม่เป็น เพราะเราไม่ได้โตมากับสายเล่าเรื่องภาพยนตร์ เราจบสายกราฟิก เราคลุกคลีมากับ visual เราทำ visual คอนเสิร์ตมาก่อน ทำ motion graphic มาก่อน เลยมองภาพเป็นหลัก มองจังหวะเป็นหลัก มันก็กลายเป็นบุคลิกของผู้กำกับที่ชื่อต้นแล้วกัน คนอื่นเขาก็อาจจะมีอีกทางหนึ่ง
คือเราจะบอกเสมอว่าเอ็มวีเล่าเรื่องมันสองแง่สองง่ามนะ ระหว่างให้เพลงมันเด่นหรือให้ผู้กำกับมันเด่น เพราะว่าเราโตมากับทำ visual คอนเสิร์ต แน่นอน มันต้องทำภาพให้มันซัพพอร์ตกับบีตหรือเพลง บาลานซ์ให้มันเท่ากัน แต่พอมาเล่าเรื่องมากเกินไป มันกลายเป็นว่า เฮ้ย ทำหนังเหอะ หนังอะไรก็ได้แล้วเอาเพลงมาประกอบ บางทีแทบจะเอาเพลงหนึ่งมาใส่กับเอ็มวีเล่าเรื่องอีกตัวหนึ่งแล้วเข้ากันได้เลยนะ มันบางมาก มันไม่ได้ถูกคิดภาพ visual ที่มันซัพพอร์ตกับเฉพาะภาพในเอ็มวีนี้เท่านั้น เช่น ตีแฉเป๊ะพอดี หรือส่งเข้าโซโลกีตาร์พอดี หรืออะไรสักอย่างที่มันซัพพอร์ตกับเพลง เพื่อที่ว่าจะไม่สามารถเอาเพลงอื่นมาใส่ได้ อะไรแบบนั้น มันก้ำกึ่งกันอยู่
แล้วเราโตมากับเอ็มวีอินดี้สมัยเด็กๆ อย่างมิเชล กอนดรี้ (Michel Gondry)โห เทคนิคในเอ็มวีสวยจังเลย เพลงสนุกจังเลย ก็เลยฝังใจมาตลอดว่าเอ็มวีเล่าเรื่องมันโอเคกับแค่ที่ไทย แต่กับเมืองนอกเขาไม่เก็ตนะ แต่ก็แน่นอน เราเป็นเพลงไทย เราร้องเพลงไทย เล่าเรื่องรอดอยู่แล้ว ยังไงก็รอด เพราะคนไทยเข้าใจง่าย คนไทยโตมากับการเล่าเรื่อง โตมากับละคร เพราะฉะนั้น คิดว่ายังไงเอ็มวีเล่าเรื่องก็รอดอยู่ดี นอกเสียจากว่าไปฟังอินดี้เลย ที่แบบเพื่อนทำกัน ศิลปินทำกันเอง เล่นกันเอง อันนั้นก็ยังคงเป็นพื้นที่ของคนรุ่นใหม่ๆ ที่ได้แสดงออกคาแร็กเตอร์ใหม่ๆ ให้ทิศทางใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่นะ
สำหรับคุณ เอ็มวีที่ดีมันควรจะสนับสนุนให้เพลงเด่นขึ้น หรือต้องแบ่งกันคนละครึ่ง
เราต้องมองตัวเอง เราเป็นคนเซอร์วิส ต้องทำให้เพลงมันดี ทำให้เพลงมันขายได้ ทำให้เพลงมันดัง เอาเป็นว่าการที่คนชมเรื่องภาพสวยเป็นผลพลอยได้ของเราแล้วกัน เพราะว่าลองไปดูเอ็มวีฝรั่งก็ได้ พอเอ็มวีจบมันขึ้นค่ายเพลง หรือขึ้นคนทำเพลงนะ แต่บ้านเรามันกลายเป็นเอ็มวีจบแล้วขึ้นว่า music video by อ้าว ตกลงเราทำซัพพอร์ตใครกันแน่ อันนี้ไม่ได้เชิงอคตินะ แต่เราว่ามันต้องให้เกียรติเพลง เฮ้ย เขาให้เงินเราทำนะ หน้าที่ของเราคือต้องทำให้เพลงมันเด่น เราก็ยังยืนยันแบบนั้นอยู่ทุกครั้งที่ทำ โอเคมันจะมีโจทย์แบบขอ tie-in บ้าง เมื่อก่อนเราแอนตี้ แต่เดี๋ยวนี้มันหลบไม่ได้แล้ว ก็พยายามให้มันเนียนแล้วกัน
แล้วเรื่องเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าเปิดโอกาสให้คนได้ทดลองงานใหม่ๆ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น คุณได้เห็นวิธีการคิดอะไรของเด็กรุ่นนี้ที่น่าสนใจบ้าง
เราโตมากับเอ็มวี เราก็ยังเห็นเอ็มวีอินดี้หลายๆ ตัวที่ดี แล้วผู้กำกับที่ทำเอ็มวีก็ขยับขึ้นมาทำโฆษณาหลายคนเหมือนกัน ก็เห็นวิธีการเติบโตแบบนั้นอยู่ แต่ฝั่งโปรดักชันจริงๆ โฆษณาจริงๆ เลย ก็ตอบได้ไม่ชัด เพราะเราไม่ได้อยู่โลกนั้น เรามาจากเอ็มวีแล้วข้ามมาทำโฆษณา ตัวเราเองทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รู้ process ของงานโฆษณาที่เป็นรูทีนมาเป็นสิบปีได้ขนาดนั้นเหมือนกัน วิธีคิดของเราก็ยังเป็นแบบทำกันเองหมดเลย ไม่ได้ไปใช้หยิบจับฟรีแลนซ์รอบตัวมาช่วยทำงาน ก็ยังใช้วิธีจบในตัวให้หมดอยู่
เอ็มวีอินดี้ดีๆ ที่เราบอกก็ เช่น ของผู้กำกับที่ชื่อ คำขวัญ (คำขวัญ ดวงมณี) ชัดมากๆ สวย งานไดเร็กชัน แฟชั่น ชัดเจนมาก หรือตากล้องรุ่นใหม่ๆ ที่ถ่าย hand held มา หรือถ่ายภาพนิ่งสวยๆ มาก็มีคนเก่งๆ เยอะแยะเลย แต่ว่าพอมันมาอยู่ในโลกโซเชียล คนที่มันไม่เก่งมันดันดังกว่าไง
แต่เอาเป็นว่าภาพรวมอย่างที่เราบอกนะ ไดเร็กชันมันซ้ำเกินไป color block มันเยอะมากแล้วนะ อย่างที่บอก ห้าปีแล้ว เปลี่ยนได้แล้ว เราฮิตอย่างอื่นกันเถอะ เราทำอย่างอื่นกันได้แล้ว มันมีให้ทำเยอะมาก ถ้าจะพูดเรื่องเงินมันก็แก้ปัญหาได้ด้วยวิธีอื่นเหมือนกันแหละ เราคนหนึ่งที่ยกมือบอกว่าแก้ได้ เพราะเรารับงานเล็กน้อยได้เหมือนกัน เราโตมากับเอ็มวีห้าพัน หนึ่งหมื่น หนึ่งแสน ทำมาหมด มันแก้ปัญหาได้จากไดเร็กชั่น จาก visual นี่แหละ visual มันจะช่วยให้ทุกอย่างมันดิ้นได้ มันใหม่ได้ เพราะแน่นอนถ้าคอนเทนต์ไม่ดี อย่างน้อย visual จะช่วยให้มันน่าสนใจ
ย้อนกลับไปคำถามก่อนหน้านี้ เราสนใจที่คุณบอกว่าเดี๋ยวนี้คนก็นั่งไถ pinterest กันเยอะจนทำให้งานฉาบฉวย และเหมือนๆ กันไปหมด
มันจะช่วยอ้างก็ได้นะว่า เพราะงานมันเร็ว งานมันเร่ง งานมันรีบ การนั่งไถๆ เรเฟอเรนซ์ หรือเคยเซฟเก็บไว้มันก็ช่วยได้ไง คือบางทีมันเร็วขนาดรับโจทย์วันพฤหัส วันเสาร์ถ่ายก็มี บางทีมันปั้นมากไม่ได้ ครีเอทีฟรุ่นเก่าๆ บางคนเขาก็ยังบ่น บอกเมื่อก่อนโฆษณาตัวหนึ่งสามเดือน สี่เดือน คิดเสร็จเพลินๆ เดี๋ยวนี้มีเวลาอาทิตย์เดียว
อย่างบางงานของเราที่ผ่านมา เขาส่งอีเมลมา ให้เพลงมา ให้เรเฟอเรนซ์ที่ชอบมา เอ้า ต้นคิดให้หน่อย อาทิตย์นี้ขอสตอรีบอร์ดสองทาง แล้วอีกอาทิตย์ถ่ายเลยนะ กระบวนการทำหนึ่งเดือน คิด เตรียม ถ่าย โฮ้ มันโหดนะ โหดจนเราต้องไปพึ่งผู้ช่วยผู้กำกับที่เขามีเรเฟอเรนซ์เยอะๆ หรือแบบยกประเด็นขึ้นมาง่ายๆ ว่า อยากได้ชอตรถไฟฟ้าวิ่งสวยๆ ตอนพระอาทิตย์ตก เพราะมันเร็วไง บางคนก็แม้กระทั่งเอาเรเฟอเรนซ์มาตัดเป็นไพล็อตแล้วก็ขายเลยแบบนั้นก็มี ก็กลายเป็นวิธีคิดใหม่ไปแล้วมั้ง ใช้ความสะดวกในวันนี้ให้มันสะดวกไปเลย หยิบช้อปปิ้งมาจับวางแล้วถ่ายตามเลย
โลกที่รวดเร็วแบบนี้ทำให้คนต้องแข่งกันผลิตงานออกมาเรื่อยๆ งานที่ต้องใช้เวลาคิดไอเดียดีๆ ให้ตกผลึก ทะนุถนอมจนกระทั่งออกมาเป็นงานคราฟต์ดีๆ สักชิ้น มันก็เลยน้อยลงด้วยหรือเปล่า
ก็ใช่นะ มันกลายเป็นว่าเราต้องมานั่งรอผู้กำกับที่มีชื่อเสียง ที่นานๆ ทำงานสนุกๆ ออกมาเท่านั้น อย่างเต๋อ นวพล เราเห็นแกทำงานในทิศทางของแกเองตลอดเวลา ซึ่งสนุกดีนะ คนดีๆ เก่งๆ ในปัจจุบันมีเยอะ แต่น้อยลง และคนฉาบฉวยก็เยอะ คงเป็นเพราะงานมันเร็วเกินไปด้วย แต่สุดท้ายมันก็ยังมีงานที่ให้แรงบันดาลใจจริงๆ หรือเจริญรอยตามได้อยู่ แต่ว่าตัวเราเองต้องรู้พื้นฐานที่ถูกต้องก่อน อย่าไปตามผิดๆ ดูอย่าง blogger บางคนสิ ถ้านั่งดูดีๆ โฟกัสหลุดเยอะชิบหายเลยนะ ตกลงว่ากดอัดอย่างเดียวแล้วไม่สนใจเลยเหรอ เราดูหลายๆ อันที่คนดูเป็นแสน แต่โฟกัสหลุดหมดเลยนะ บางอันรีวิวกล้อง เฮ้ย รีวิวกล้องแต่โฟกัสหลุดหมดเลย มันแย่เกินไปหน่อย
แสดงว่าทุกวันนี้คนพร้อมจะมีชื่อเสียงขึ้นมาจากความฉาบฉวยที่ไม่ใช่จากฝีมือจริงๆ ใช่ไหม
ใช่ คือมันเร็วไปหมดเลย น่าเสียดาย จริงๆ ทุกอย่างที่คนสมัยนี้ทำอยู่ตอนนี้มันสนุกมากนะ แต่งานสนุกมันน้อยลงมาก อย่างที่บอกเพราะความฉาบฉวยและความเร็วของงาน ยิ่งเอ็มวีอินดี้ยิ่งน่าเสียดาย เพราะมันโคตรสนุก ทั้งที่เราโตมากับแบบนั้น แต่ทุกวันนี้บางทีมันกลายเป็นว่าทำเพื่อแก้เบื่อไปแล้ว อย่าสนเรื่องเงินเลยว่าทำแล้วจะมีเงินรันคนสิบห้าคนยี่สิบคนได้ ไม่มีวันเลย
ถ้าอย่างนั้นคุณมองว่าอะไรคือทางออกของเรื่องเหล่านี้
เราเชื่อว่าการให้ความรู้จะช่วยทำให้มันดีขึ้นได้ เพราะบางทีเราเจอครีเอทีฟรุ่นใหม่ๆ หรือลูกค้ารุ่นใหม่ๆ อายุยี่สิบกลางๆ จะมีเป็นปัญหาแบบเดิมมาตลอด เขาไม่รู้กระบวนการทำงาน ไม่รู้วิธีคิดที่ถูกต้อง ไม่รู้มาตรฐานว่างานดีคืออะไร แล้วยิ่งทุกวันนี้สื่อมันเยอะขึ้น หลากหลายขึ้น เราเริ่มมีการทำโฆษณาแนวตั้งเยอะขึ้นแล้ว ไอจีสตอรี เฟซบุ๊ก ไลน์ สื่อมันเปลี่ยน รูปแบบวิธีการดูมันเปลี่ยน วิธีคิดมันเปลี่ยนหมดเลย แล้วทุกอย่างมันเปลี่ยนตลอดเวลา แปลว่าเราต้องการลูกค้าที่เข้าใจวิธีคิดที่ถูกต้อง แล้วก็คุยกันรู้เรื่องว่าอันนี้เรียกว่าสวย อันนี้เรียกว่าควรทำ
เพราะบางทีมันกลายเป็นว่า ก็ฉันขายลูกค้าแบบนี้ไปแล้ว ทำตามให้หน่อย เราก็พยายามจะบิดแล้วนะ เขาก็บอก ไม่ได้ ขายลูกค้าไปแล้ว งั้นเราลองบิดอีกแบบ เขาก็บอกอีก ไม่ได้ ขายลูกค้าไปแล้ว (หัวเราะ) สุดท้ายทำไงได้ล่ะ ก็ต้องทำไป มันกลายเป็นว่าหงอลูกค้า ต้องฟังว่าเขา approve ไปแล้ว เราจะไปดื้อเปลี่ยนให้เสียเวลาทำไม งานต้องส่งสิ้นเดือนแล้ว เนี่ย มันเป็นแบบนี้เยอะมาก
ทุกวันนี้คุณยังสบายใจในการออกกองเล็กๆ หรือเจอโปรเจ็กต์ที่เราต้องทำทุกอย่างคนเดียวอยู่หรือเปล่า
ไม่ๆ นั่นคือสมัยก่อน เมื่อก่อนเราเป็นแบบนั้น แต่พอมาทำโฆษณา การมีคนเยอะมันคือภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง การใช้กล้องดีคือภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง การที่ผู้กำกับต้องนั่งอยู่เฉยๆ อย่าไปแย่งถ่าย อย่าไปแย่งตัด มันเป็นภาพลักษณ์ว่า โอเค โปรดักชันเรามี value เรามีทีมงานที่มืออาชีพ ไม่ต้องมาพึ่งผู้กำกับ แต่อย่างบางทีก็เราเข้าไปทำสีเอง โดยเฉพาะกับผู้กำกับรุ่นก่อนจะมีเยอะมากนะ เขาจะเข้าไปทำเองเลย เพราะคนแก้ที่เป็นเด็กๆ บางทีเขาทำช้ามาก ทำนิดเดียวแต่ทำเป็นวันเลย (หัวเราะ) มันเสียเวลา
แล้วคุณสบายใจแบบไหนกว่ากัน
มันแน่นอนอยู่แล้ว เราทำมาก่อน เรารู้ว่าสบายใจที่สุดคือทำเองดีกว่า เพราะเคยเป็นคนที่ทำอะไรเองมาตลอด ทีนี้ชีวิตมันพลิกตอนประมาณอายุ 28 เราไม่สบาย อาหารเป็นพิษ แล้วมีเอ็มวีกองอยู่ตรงหน้า 8 ตัว โอ้โห ชีวิตตอนนั้นเหมือนในหนังเรื่องฟรีแลนซ์เลยนะ ลูกค้าโทร.มา พี่ต้องการไฟล์เดี๋ยวนี้ โห พี่ ผมขอวันเดียว นอนทรมานปวดท้องอยู่ครับ เขาก็บอก ไม่ได้ๆ มาตรฐานตกนะ เออ ตกไปเลย กูจะตายอยู่แล้ว (หัวเราะ)
สุดท้ายโทร.ยกเลิกหมด หลังจากนั้นเพื่อนก็เลยชวนไปสอนหนังสือ เลยได้คำตอบกลับมาว่า อ๋อ ความรู้ที่เรามี เราสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นได้นี่หว่า มันอาจจะดร็อปลงหน่อยในช่วงแรก แต่ก็ต้องยอม เราจะใช้วิธีนี้คิดเสมอ หรือสมมติเราถ่ายรูปมาห้าปี แล้วเราสอนคนที่เพิ่งถ่ายรูป ยังไงเราก็มีประสบการณ์มากกว่าเขาห้าปีอยู่ดี เราจะไม่มองว่าเขาจะโตขึ้นมาเป็นคู่แข่งเรา ซึ่งจริงๆ มันอาจจะเป็น แต่ว่าสุดท้ายถ้าเราพัฒนาตัวเองมันก็ไปต่อได้ทุกคนแหละ มันจะไม่แย่งกันหรอก เขาก็มีทางของเขาไป เพราะเขาก็ไม่ได้ชอบเหมือนเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เรื่องที่เขาชอบเราก็ไม่ชอบ เราก็แยกกันอยู่ เขาทำทางหนึ่ง เราทำทางหนึ่ง มันก็หลากหลายขึ้น สนุกขึ้นด้วย
หลายคนมองว่าวงการนี้เป็นของคนฮิปๆ ไอเดียคูลๆ จริงๆ แล้วมันเป็นแบบนั้นหรือเปล่า
ก็เคยมีคนคิดเหมือนกันว่า หัวกลมงานเท่แบบนี้ตัวจริงแม่งต้องเท่แน่เลย โอ้โห มาดูนี่ แบ๊วจะตายห่า เลี้ยงหมา ตั้งชื่อบริษัทเป็นชื่อหมาด้วยซ้ำ (หัวเราะ) คือโอเค มันใช่ที่ว่าภาพลักษณ์คนทำงานกราฟิกบุคลิกก็อาจต้องดูเท่ดูดี แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้นไง มันก็มีทั้งคนแบบนั้นและแบบที่ไม่ใช่ แต่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับตรงนั้นมาก
ถ้างานที่เราชอบไปกับธุรกิจไม่ได้ กับงานที่เราต้องปรับเพื่อธุรกิจ เราควรจะทำอย่างไร
มันมีอยู่แล้ว มีตลอดและมีเสมอเลย แต่พอยิ่งโตขึ้น ความอีโก้หรือความอาร์ติสมันก็ลดลงแหละ พูดให้ดูดีคือเข้าใจมากขึ้น ยอมรับมากขึ้นว่าสิ่งที่เรายึดมั่นว่าต้องดี ต้องเพอร์เฟ็กต์ บางทีมันอยู่ไม่ได้กับทุกงาน บางงานก็อาจจะต้องทำเพื่อให้มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน ง่ายๆ เลย เป้าหมายของหัวกลมตอนนี้คือ อยากกลับบ้านหกโมงเย็น เสาร์อาทิตย์อยู่บ้าน เพื่อให้ทุกคนได้กลับบ้านไปนัดเพื่อนกินข้าว นอนกอดพ่อกอดแม่ เล่นกับหมากับแมว ขอแค่นั้น เราก็จะพยายามไม่ถ่ายโฆษณาเสาร์อาทิตย์เลย ตรวจงานก็จะไม่ตรวจดึก ซึ่งก็ทำได้บ้างกับงานสเกลเล็ก แต่บางงานลูกค้าใหญ่ สเกลใหญ่ เขาต้องมาหลังเลิกงานก็ต้องยอม ก็ต้องปรับเป็นงานๆ ไป
การที่คนบอกว่า ‘ถ้าคิดถึงผู้กำกับที่ทำงาน visual art เจ๋งๆ ก็ต้องคิดถึงหัวกลม’ มันสะท้อนให้เห็นอะไรในแวดวงวิชวลอาร์ตของบ้านเราบ้าง
มันสะท้อนชัดเลยว่าเราขาดคนจริงๆ เพราะว่าเราไปยึดตามความสำเร็จรูปอันฉาบฉวยในทุกวันนี้เยอะเกินไป เราไปดูกันว่าการถ่ายแบบนี้รอดแน่ๆ ประหยัดเงินแน่ๆ ทันแน่ๆ เยอะเกินไป แล้วไปพึ่งพาเรเฟอเรนซ์เยอะเกินไป แน่นอนการที่จะตามเรเฟอเรนซ์ มันก็คือทำซ้ำอีกครั้งหนึ่งจากใครก็ไม่รู้ ไม่ว่าจากเมืองนอกหรือจากคนไทยด้วยกันเองอีกครั้งหนึ่ง
สมัยเราฝึกงานพี่ๆ เขาจะบอกเสมอ มึงทำตามเรเฟอเรนซ์ ก็แค่ทำซ้ำ ก็แค่ก็อบปี้เหมือนอีกรอบหนึ่ง มึงคิดอะไรให้มันใหม่ๆ ขึ้นหน่อยได้ไหมวะ เราเลยถูกฝังหัวตลอดเวลาว่า เฮ้ย ต้น อันนี้คนทำแล้วว่ะ อะไรแบบนั้น มันก็จะผลักดันข้างในเราตลอดว่าให้ลองเสนออะไรที่มันหาเรื่องใส่ตัวดูสักหน่อยแล้วกัน ซึ่งมันก็ได้งานที่สนุกขึ้น อย่างพี่ตูน บอดี้แสลม นี่หาเรื่องใส่ตัวที่สุดในโลกเลยนะ (หัวเราะ) เพลง วิชาตัวเบา ที่ใช้ VR ก็ไม่เคยทำ คอมโพสิตเพียวๆ ขนาดนี้ก็เอาจนได้ แต่ก็กลายเป็นว่าช่วยมันผลักดันให้เราต้องหาความรู้ใหม่มาใส่หัวให้ได้ภายในสองเดือน ต้องทำให้เป็น กลายเป็นว่าเราจะต้องรู้สิ่งใหม่ๆ จากสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นมาเอง ต่อเนื่องขึ้นมาเองให้ได้ ให้สำเร็จ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีนะ
มีอะไรอีกไหมที่คุณคิดว่าแวดวง visual art ของเมืองไทยควรเพิ่มเติม
เราขาดคอมมูนิตี้ที่ให้ความรู้ ให้ความหลากหลาย ไม่รู้นะ เราเองเป็นคนสนุกกับการดู behind the scene ว่าเขาคิดกันยังไง คือทุกวันนี้เรามีแต่ inspiration เยอะเกินไป เออ พี่ครับงานนี้เป็นไง แล้วเราก็นั่งเก๊กคุยอะไรกันก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมด คือเราอยากคุยวิธีคิดดีๆ ถ่ายงานนี้ทำยังไง ปัญหาคืออะไร ขอรูปธรรม ไม่อยากคุยแบบนามธรรมว่า พี่เป็นคนยังไงถึงถ่ายแบบนี้ เราขาดคอมมูนิตี้ที่จะทำให้ความครีเอทีฟมันสร้างสรรค์ขึ้น อย่างเมื่อก่อนมันมีหนังสือประเภท CG หรือ Computer art เราก็มีทั้งแรงบันดาลใจและ how to มันก็กระตุ้นให้รู้สึกว่า เฮ้ย น่าทำ น่าสนุก หรือการทดลองต่างๆ ในบ้านเรานี่ไม่มีเลยนะ ไม่มีให้เห็นเลย
Website รวบรวมงานเจ๋งๆ ที่ ยศศิริ ใบศรี แนะนำ
1. motionographer.com – เว็บไซต์รวบรวมงาน motional graphic
2. yesyesyall.org – รวมมิวสิกวิดีโอแปลกๆ ทั่วโลก
3. vimeo.com/lawebdecanada – ผู้กำกับมิวสิกวิดีโอที่มีผลงานน่าสนใจ