ยังธน

ยังธน | Youngster ฝั่งธน ผู้ใช้วิชาสถาปัตย์ในการเชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

มีประโยคเหมารวมขำๆ อันหนึ่งที่เรามักได้ยินคนกรุงเทพฯ พูดเพื่อแบ่งลักษณะประชากรอยู่เสมอ นั่นคือ ‘คนฝั่งธน’ กับ ‘คนฝั่งพระนคร’ ทั้งที่เป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานครเหมือนกัน แต่พื้นที่ทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานี้ล้วนมีเอกลักษณ์และเสน่ห์ที่แตกต่างกัน

     ในอดีต ใครหลายคนอาจมองว่าฝั่งธนบุรีเป็นเพียงเมืองฉากหลังของฝั่งพระนคร แต่ปัจจุบันความเจริญทยอยขยับขยายเข้ามาผสมปนเปกับความเก่าแก่อันเป็นเสน่ห์ของย่านนี้ เราจึงสามารถเดินออกจากห้างสรรพสินค้าใหม่เอี่ยมที่ตระหง่านอวดโฉมอยู่เบื้องหน้าไม่กี่ก้าวและได้พบตรอกซอกซอยเล็กๆ ที่เงียบสงบ มีร้านค้าเล็กๆ มีคนปั่นจักรยานจ่ายตลาด มีบ้านหลังน้อยที่คนเก่าคนแก่อาศัยอยู่กับวิถีชีวิตดั้งเดิม หรือเดินไปอีกไม่กี่ก้าวก็อาจได้เจอกับคาเฟ่เก๋ๆ ออฟฟิศดีไซน์สวยๆ ที่ตั้งอยู่ข้างร้านโชห่วยก็ได้

      ความหลากหลายนี้อาจถูกมองในมิติที่แตกต่างกัน บางคนอาจมองว่าความเจริญที่เข้ามาได้กลืนกินเสน่ห์ความดั้งเดิมของย่านฝั่งธนจนหายไป แต่ก็มีอีกหลายคนที่มองว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญคือต้องช่วยกันสังเกตการณ์ความเปลี่ยนแปลงนั้น และนำพามันให้พัฒนาหรือสอดคล้องไปกับเสน่ห์ดั้งเดิมให้ได้

     กลุ่ม ‘ยังธน’ ที่ประกอบไปด้วยสมาชิกอย่าง ‘ฮิน’ – ฐากูร ลีลาวาปะ, ‘ชัช’ – ชัชวาล สุวรรณสวัสดิ์, เมฆ สายะเสวี และ ‘ฮุ้ง’ – กนกพร อัศวเมธิกาพงศ์ กลุ่มสถาปนิกรุ่นใหม่ผู้อาศัยอยู่ในย่านฝั่งธนบุรีที่มองเห็นเสน่ห์และของดีซึ่งซุกซ่อนอยู่ในย่าน จึงเกิดไอเดียอยากเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการวางตัวเป็นแพลตฟอร์มพื้นที่ตรงกลางที่เปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมแชร์ข้อมูล สร้างเครือข่าย และดึงดูดผู้คนสร้างสรรค์ให้เข้ามาทำงานร่วมกันในย่านฝั่งธน เพื่อพัฒนาและสร้างประโยชน์ต่อย่านในทุกๆ มิติทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม ไปพร้อมกับคงเสน่ห์ดั้งเดิมของฝั่งธนไว้

     a day BULLETIN มีโอกาสได้มาเยือนออฟฟิศ CROSSs and Friends อันเป็นฐานที่มั่นและจุดรวมตัวของกลุ่มยังธน พวกเขาต้อนรับเราอย่างเป็นกันเอง เช่นเดียวกับคาแร็กเตอร์ของฝั่งธน ก่อนนั่งสนทนากันถึงพื้นที่ในย่านนี้ ที่แต่ละคนล้วนมีความทรงจำ มีมุมมอง มีความประทับใจแตกต่างกันไป รวมไปถึงความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ย่านฝั่งธนที่สัมพันธ์กับผู้คน และความเจริญในอนาคตที่กำลังคืบใกล้เข้ามา

 

ยังธน

 

ยังธนคือใคร มารวมตัวกันเพื่ออะไร

     ฮิน: ต้องย้อนกลับไปช่วงที่เราเรียนสถาปัตย์อยู่ปี 5 ตอนนั้นต้องทำวิทยานิพนธ์ แล้วมันก็จะมีพาร์ตที่ต้องไปคุ้ยคอนเทนต์ในพื้นที่ว่าเราอยากทำเรื่องอะไร ตอนนั้นเราอยากทำอะไรที่เป็นการ recap ย่านใดย่านหนึ่ง วันที่ไปเสนอ proposal กับอาจารย์ที่ปรึกษา เราบอกเขาว่าเราอยากทำอะไรที่อยู่ในย่านฝั่งธน ซึ่งก็ยังไม่รู้หรอกนะว่าจะทำอะไร แต่ไอเดียนั้นก็นำให้เรามาสนใจพื้นที่บริเวณตลาดพลู เพราะเป็นย่านที่เราคุ้นเคย เป็นที่ที่เราต้องต่อรถไปนู่นไปนี่ ช่วงมัธยมก็ซ้อมดนตรีแถวนั้นบ่อย แต่ว่าเรากลับไม่เคยเข้าใจพื้นที่ตรงนั้นเลย

     ตอนนั้นคิดเพียงแต่ว่าเราอยากให้การทำธีสิสที่ดูน่าเบื่อมีความสนุกมากขึ้น ก็เลยอินบ็อกซ์ไปหาเพื่อนที่เรียนทางด้านสถาปัตย์ที่รู้จัก เพื่อหาคนมาร่วมแชร์กันว่า เรากำลังสนใจจะทำอะไรบางอย่างกับพื้นที่ย่านตลาดพลูนะ ทั้งวัดราชโอรสฯ วัดหนัง ตลาดพลู เลยไปจนถึงวงเวียนใหญ่ ก็เลยเริ่มคุยกันผ่านกลุ่มในเฟซบุ๊กว่าใครทำเรื่องอะไรอยู่ สนใจประเด็นไหน แล้วก็แชร์ข้อมูลทั้งหมดร่วมกัน เอามาประกอบร่างกันในแพลตฟอร์มกลาง

     ตอนนั้นเราก็ไปร่วมกับคนที่ทำงานในพื้นที่ตลาดพลูอยู่แล้วด้วย ทำให้เรามีเครือข่าย มีฐานข้อมูลให้ดึงมาใช้มากขึ้น แล้วกลุ่มเพื่อนๆ ที่มารวมตัวกันตอนนั้นก็ค่อนข้างหลากหลาย การรวบรวมผู้คนในแบบนี้ทำให้เราสามารถคุ้ยข้อมูลได้มหาศาล โดยที่ทุกคนมีส่วนได้ส่วนเสียเท่ากัน เพราะว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันคือทำให้มันเกิด data หรือแหล่งอ้างอิงในโปรแกรมที่มันจะถูกใช้งานจริงๆ ร่วมกัน

 

อะไรที่ทำให้คุณคิดอยากพัฒนาโปรเจ็กต์ต่อ ทำไมไม่หยุดไว้เพียงการทำธีสิสเพื่อให้เรียนจบเท่านั้น

     ฮิน: สิ่งที่ค้นพบจากการรวมกลุ่มคือ หากเราเอาข้อมูลของแต่ละคนมาร้อยเรียงกันจะเห็นว่าพื้นที่มันแทบจะร้อยเป็นเนื้อเดียวกันทั้งหมดเลย ธีสิสของเราจบลงตรงที่เราทดลองเปิดแพลตฟอร์มในการแชร์ไอเดีย ทำสต๊อกข้อมูล แต่พอหลังจากนั้นเรามาเปิดออฟฟิศ CROSSs and Friends มีเรากับพี่เมฆเป็นกลุ่มผู้ก่อตั้งร่วมกับหุ้นส่วนคนอื่นๆ ทำงานเกี่ยวกับการออกแบบ เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งงานส่วนใหญ่ของเราเป็นงาน public เยอะ เช่น งานที่เน้นออกแบบเมือง ออฟฟิศเราทำงานกันสามขา มีพาร์ตกระบวนการ พาร์ตการออกแบบ และพาร์ตงานสื่อ เรียกได้ว่าครบทุกรูปแบบเลย

     เราก็ได้ส่งโปรเจ็กต์ไปที่โครงการ iCare เพราะเขามีคอนเซ็ปต์ว่า ‘เสกไอเดียเปลี่ยนโลก’ ซึ่งเปิดให้กลุ่มเยาวชน หรือกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่เท่าไรก็ได้จนถึงสามสิบปี ส่งโครงการเข้ามา ตอนนั้นเราทำเรื่องทางเท้า แล้วก็เลือกพื้นที่ตลาดพลูเป็นพื้นที่ในการทำงาน ซึ่งเราก็ใช้ไอเดียเดิมนี่แหละ คือลองชวนคนมาเจอกัน แล้วจัดเป็นวงปาร์ตี้ที่ใหญ่มาก ให้แต่ละกลุ่มเอางานธีสิสที่ทำไปแล้วมาเล่าให้กันฟัง ก็จะมีกลุ่มที่ทำธีสิสตลาดพลู กลุ่มที่สนใจเรื่องตลาดพลูและพื้นที่ฝั่งธน เราก็ชวนเพื่อนมหาวิทยาลัยหลายๆ คนมาร่วมด้วย มีคนนอกที่เข้ามาสังเกตการณ์ร่วมด้วย แล้วก็มีเพจต่างๆ เช่น เพจ สิทธิคนเดินเท้า ที่เขาทำเรื่องคนเดินเท้ามาเข้าร่วม งานนั้นทำให้ได้เจอชัชเป็นครั้งแรก แต่ตอนนั้นเขาแค่มาร่วมปาร์ตี้เฉยๆ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตลาดพลูเลย (หัวเราะ)

     ชัช: ตอนนั้นเราทำเพจชื่อ ‘นานาโคตรจะมีสาระ’ ตอนนั้นว่าง ไม่มีอะไรทำ แล้วเราอยู่ออฟฟิศแถวนานา ก็เลยตั้งเพจขึ้นมา คือเราคิดว่าเราได้เจอของดีๆ ในย่านนี้ตลอดเวลา ก็เลยทำเพจขึ้นมาเพื่อเล่าสิ่งที่เราได้พบเจอเป็นเหมือนเชิงสารคดี ทำอยู่ประมาณสองสามคอนเทนต์ แล้วมันก็บูมในระยะเวลาอันสั้น ทีนี้พอฮินชวนมา เราก็เลยอยากมาร่วมด้วย

     ฮิน: ตอนคุยกันว่าใครทำอะไรอยู่ที่ไหนกันบ้าง เราจึงพบว่าทั้งหมดแทบจะเป็นคนฝั่งธนทั้งวงเลย ทั้งที่ตอนแรกตั้งประเด็นว่าสนใจในพื้นที่ย่านตลาดพลู กับพื้นที่รอบๆ ตลาดพลู แต่พอมารู้ตอนคุยว่า เฮ้ย คนฝั่งธนนี่หว่า ก็เริ่มมีไอเดียว่าทำไมเราไม่รวมตัวกันทำอะไรที่เกี่ยวกับ youngster ฝั่งธนกัน ตอนนั้นยังไม่มีชื่อเลย แต่ว่าอยากทำอะไรสักอย่างแค่นั้น

     ต่อมา กระบวนการที่ทำกับ iCare เรามีแผนว่าอยากไปทัวร์ในชุมชน แต่ว่าการไปทัวร์เราอยากให้มีคนในชุมชนพาเราเดินด้วย ตอนนั้นพี่โหน่งที่อยู่เพจสิทธิคนเดินเท้า เขาก็แนะนำให้เราลองเสิร์ชดูว่ามีเพจไหนบ้าง ก็ไปเจอเพจหนึ่งน่าสนใจมาก ชื่อ ‘ถามสิ..อิฉันคนตลาดพลู’ เราก็อินบ็อกซ์ไปคุยกับเขา ทีแรกเขาก็ตกใจว่าเด็กพวกนี้เป็นใคร ทำไมสนใจพื้นที่ตลาดพลู เขาอยู่ที่นั่นมาตั้งนานแล้ว เส้นทางที่เราเสนอเขาไปว่าอยากไปเดิน ตัวเขาเองอยู่มา 50 ปีแล้ว เขายังไม่เคยลงไปเดินเลย ตอนแรกเขาจะไม่มากับเรานะ เขาปฏิเสธแล้วด้วย แต่พอวันจริงนี่เขามาคนแรกเลย (หัวเราะ) ทำให้เห็นว่ามีคนแอ็กทีฟในเรื่องที่เราสนใจอยู่เหมือนกันนะ

     เมฆ: ปกติเราทำงานต่างจังหวัดค่อนข้างเยอะ เราไม่เคยทำในเมืองเลย แล้วเราเคยตั้งคำถามว่า บางงานที่เราทำ เราเขียนโครงการเพื่อให้คนในพื้นที่เขาได้งบประมาณเพื่อมาทำให้บ้านเขาดีขึ้น แต่เราไม่เคยคิดว่า ถ้าบทเราเป็นผู้ที่อยากพัฒนาเมืองตัวเองล่ะ เราไม่เคยเล่นบทนั้นเลย เราเล่นแต่บทนักออกแบบ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม หาโจทย์ หาคำตอบไปพร้อมกัน เลยคิดว่า เฮ้ย มันน่าจะดีนะถ้าออฟฟิศเรามาลองป่วนตรงนี้กัน มันก็เริ่มเป็นไอเดียที่เริ่มบิลด์กัน ก็คิดว่ามันน่าจะถูกทาง น่าจะมีแนวร่วมนะ

 

ยังธน

 

ทำอย่างไรให้การรวมตัวกันมีความยั่งยืน ไม่ใช่แค่มาพบมาคุยกันแล้วสักพักคนก็ทยอยหายไปทีละคนสองคน

     เมฆ: มันมีจังหวะที่คิดเหมือนกันว่าเราจะทำให้มันยั่งยืนยังไง เพราะมันเริ่มต้นมาจากการที่เราไม่ได้คิดอะไรที่จริงจัง มันต้องมีทั้งเงิน ทั้งการจัดการ เหมือนเราทำเพราะเรามีพื้นที่ เรามีโจทย์ชัด เราเห็นคนที่เขาอยากทำ แล้วช่วงนั้นเราว่างพอดีด้วย ก็เลยเป็นลักษณะของการค่อยๆ เติมพลังกันไป แล้วมันก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในช่วงปีนี้แหละ เพราะเราได้เจอกับพี่อีกคนหนึ่งซึ่งเขาถนัดเรื่องการเขียนโครงการ แล้วก็เป็นนักวิจัยในมหาวิทยาลัยด้วย ชื่อกลุ่มยังธนเคยเป็นกรุ๊ปลับ ไม่ได้ถูกเปิดเผยมาประมาณเกือบปี จนกระทั่งเราไปเจอโครงการชื่อ MIDL โดยองค์กรชื่อ สสย. หรือสื่อสร้างสรรค์เด็กและเยาวชน เขากำลังจะทำเรื่องเกี่ยวกับ Inclusive City แล้วเขาอยากเห็นภาพคล้ายๆ กับงานหนึ่งที่ไต้หวัน ที่จะมีบูธของเมืองต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกันว่าใครทำอะไร ไปถึงไหนแล้ว

     ฮิน: พอเราได้เข้าไปฟังก็ได้ความว่า เขาอยากจะ funding ให้กับกลุ่มคนที่ หนึ่ง เคยทำอะไรมาแล้วในเมือง กับ สอง คนที่เพิ่งเจอกัน กำลังอยากทำอะไรร่วมกัน แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องทุนหรือยังไม่มีแผน ตอนนั้นเราก็เสนอโปรเจ็กต์หนึ่งไป คือเราอยากทำสิ่งที่เรียกว่า open platform ตอนนั้นเราเห็นภาพใหญ่มากเลย ว่ามันจะเป็น open data เป็น big data ที่รวบรวมว่าใครทำอะไรบ้างในย่านฝั่งธน

     ชัช: สุดท้ายด้วยระยะเวลาที่บีบ เราเลยไม่ได้สร้าง open data หรอก แต่เราจัดวงเจอกันเลย ซึ่งก็คล้ายๆ กับการย้อนกลับไปไอเดียแรกที่ให้ทุกคนมาเจอหน้ากัน แต่คราวนี้เป็นสเกลเมือง ทีนี้มันกลายเป็นไฟต์บังคับที่ยังธนต้องเปิดเผยตัวแล้ว เพื่อสื่อสารสิ่งที่เราทำออกไป

     เมฆ: ยังธนจึงเริ่มเปิดตัวเพจในตอนนั้น ทีแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะเปิดตัวเร็วกันหรอก แต่ว่ามันดันเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันว่าเรามีตัวตน คนที่ให้งบประมาณเราก็จะมั่นใจ แล้วตอนนั้นเราคิดว่าจะทำเพจเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนมาเข้าร่วมในเวิร์กช็อป ‘จุดรวมธน’ ครั้งแรก แต่ปรากฏว่าทีมสื่อสารทำดีเกินคาด ข้อความที่เราคุยกันมันไปโดนใจหลายคน กลายเป็นว่าผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อปกับเราครั้งแรกที่เราคาดหวังว่าจะมีแค่กลุ่มนักพัฒนา นักวิจัย หรือคนที่มีประสบการณ์ ก็มีคนที่ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับเมืองเลยมาเพิ่มด้วย สิ่งนี้เลยทำให้พวกเรารู้สึกมีพลังขึ้นมา

     ฮุ้ง: จากจุดแรกที่เราคาดหวังเพียงการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็น online data แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในความเป็นจริงคือมันมีเครือข่ายที่เป็นมนุษย์เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นในการติดต่อสื่อสาร เพจยังธนก็มีประสิทธิภาพในการเป็นศูนย์กลางให้คนได้พูดคุยกัน กลายเป็นสังคมมากขึ้น มีความเป็นมนุษย์ที่มาพูดคุยกัน มันก็เกิดเป็นการสร้างเครือข่ายสาธารณะ มีคนที่เก่งเรื่องการวิจัย คนที่เก่งเรื่องกระบวนการ และคนที่เก่งด้านการหางบประมาณ มาคุย มาหาโจทย์กัน ซึ่งเราไม่ได้คาดหวังเลยตั้งแต่ต้น แต่ว่ามันกำลังเริ่มมีการรวมตัวกัน

 

จากการได้ใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับฝั่งธน ถ้าให้เปรียบเป็นคนคนหนึ่ง ฝั่งธนจะเป็นคนแบบไหน

     เมฆ: เรารู้สึกว่าฝั่งธนเหมือนคนที่ผ่านอะไรมาเยอะ เป็นคนใจเย็น จะเกิดอะไรก็เกิด ถ้าได้มามองดูเขาจริงๆ เราจะรู้สึกว่าเขามีร่องรอยของการผ่านร้อนผ่านหนาว เป็นคนที่มีเสน่ห์ แต่ก็เป็นเสน่ห์ที่ยอมให้ทุกอย่างพรากไปด้วย ถ้าเห็นเป็นรูปธรรมหน่อยก็เช่น บ้านเก่า พอเราเริ่มเดินสำรวจก็ได้เห็นว่ามันมีบ้านเก่าที่สวยมากๆ หน้าบ้านมีลายเหมือนวัด มีคนอาศัยอยู่ มีต้นไม้ใหญ่ค่อนข้างเยอะ แต่ถ้าถามคนที่เป็นรุ่นพ่อ ภาพฝั่งธนของเขากับตอนนี้ก็คงไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นเมื่อก่อนฝั่งธนอาจจะเป็นคนหนุ่มที่เท่มากๆ เป็นการเป็นงาน ทุกอย่างฟังก์ชันหมด พ่อเราจะชอบเล่าว่าสมัยก่อนที่พ่อยังเป็นเด็กอยู่ บ้านเรามีตัวนาก มีหลุมหลบระเบิด มีคลอง มีหิ่งห้อย แถมยังต้นมะเดื่อใหญ่ด้วย

     พอมีรถไฟฟ้าเข้ามา มีสิ่งปลูกสร้าง โรงพยาบาลศิริราชเริ่มใหญ่ขึ้น มันก็เริ่มเปลี่ยนแปลง นี่คือสิ่งต่อเติมที่ทำให้ตรงนั้นหายไป แต่ฝั่งธนก็ยังโชคดีที่ว่ามันถูกกรอบเป็นเขตอนุรักษ์ ฉะนั้นตึกสูง คอนโดฯ ใหญ่ ในย่านที่อยู่ใกล้วัดอรุณ ท่าเตียน หรือวัดที่สำคัญจึงยังไม่มี เราเลยยังคงเห็นบ้านไม้แบบเดิมอยู่

     ชัช: ถ้าเราไปฝั่งพระนครช่วงกลางคืนจะเห็นว่าเมืองจะเป็นเมืองร้างเลย เพราะส่วนใหญ่ตรงนั้นจะเป็นพื้นที่คล้ายๆ บ้านเพื่อเอาไว้ทำมาค้าขาย หลังเลิกงานคนก็กระจายกลับฝั่งธนกัน ฝั่งธนจึงเป็นบ้านที่มีผู้อยู่อาศัย มีสีสัน มีไฟเปิด ซึ่งเป็นคนละซีนกับฝั่งพระนครตอนกลางคืนเลย เราเลยรู้สึกว่า มันมีลมหายใจ มันมีชีวิตชีวา มีคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าอาศัยอยู่ด้วยกัน คนรุ่นเก่าเขาก็มีความเก๋าที่รอดูว่าอนาคตจะเป็นยังไง ส่วนคนรุ่นใหม่ถ้าเทียบอย่างเราก็รู้สึกว่าฝั่งธนมันกำลังจะมีอะไรเกิดขึ้นนะ

     คนชอบคิดว่าฝั่งธนเป็นซีนหลังของฝั่งพระนคร อย่างเช่นเวลาเราถ่ายรูป ก็ชอบคิดว่าวัดอรุณราชวรารามอยู่ฝั่งพระนคร แต่ความจริงมันอยู่ฝั่งธน เราว่านี่แหละเป็นความเก๋าที่ยังไม่ถูกพูดถึง เป็นพื้นที่ที่ลมหายใจกำลังค่อยๆ เปลี่ยน แล้วเรารู้สึกว่ามันมีจิตวิญญาณอยู่ เพราะว่าฝั่งอื่นเขาก็อาจไปซื้อคอนโดฯ อยู่ หรือไปอยู่บ้านชานเมืองมากขึ้น ผิดกับฝั่งธนที่ยังเป็นบ้านคนที่อาศัยอยู่ตั้งแต่ดั้งเดิมจริงๆ

 

ฝั่งธนมีคอนโดฯ ใหม่ๆ ผุดขึ้นมากมาย คุณกลัวว่ามันจะกลืนกินเสน่ห์ของวิถีชีวิตย่านนี้ไปจนหมดหรือเปล่า

     ฮุ้ง: เรารู้สึกว่าฝั่งธนกำลังอยู่ในช่วงของการส่งผ่านลมหายใจ เป็นคนเก่าคนแก่ที่กำลังจะต้องอยู่ร่วมกับคนรุ่นใหม่ มันทั้งเยอะและเร็ว ต่างจากการปรับตัวสมัยก่อน คือช่วงก่อนหน้านี้เวลาที่เมืองเริ่มเปลี่ยน คนจะยังมองเห็นว่ามันกำลังจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน และมันยังพอมีเวลาให้เราปรับตัวตาม แต่ช่วงนี้มันเร็วจนเราต้องมาจูนลมหายใจกันใหม่ ทำยังไงให้วิ่งตามทัน เพราะเวลาเรามองภาพฝั่งธน ถ้าไม่เป็นภาพอดีตก็จะเป็นภาพของอนาคตไปเลย ขณะที่ภาพปัจจุบันจะมีจุดให้พูดถึงน้อย เพราะปัจจุบันมันอยู่แป๊บเดียว

     ฮิน: ถึงแม้ว่าฝั่งธนจะเป็นคนที่มากประสบการณ์ ผ่านอะไรมาเยอะ แต่เราว่าก็ยังมีคนที่อาจจะมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง เขาอาจจะปรับตัวไม่ทันแล้วโดนทิ้งไว้ข้างหลัง มันเกิดการ disrupt ในย่านฝั่งธนเยอะมาก คาดว่าอีกสองปีน่าจะเห็นชัดกว่านี้เยอะ เพราะรถไฟฟ้าจะเปิดเสร็จสมบูรณ์ในปีหน้า แต่กลุ่มคนที่ไม่ได้เข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ไม่รู้ว่าสถานีตั้งตรงไหน เปิดปิดเมื่อไหร่ แล้วจะมีโครงการอะไรเกิดขึ้นบ้าง ห้างสรรพสินค้ากำลังจะเปิดตัวอีกกี่แห่ง คนที่ไม่รู้เรื่องราวเหล่านี้อาจเตรียมตัวกับการเปลี่ยนแปลงไม่ทัน

     ฮุ้ง: มันทำให้เรานึกถึงตอนที่มีห้างใหม่มาเปิด ก็มีคนกลุ่มใหญ่เหมือนกันที่รู้ว่ามีห้างใหม่มาเปิด แต่ไม่รู้ว่าชื่ออะไร รู้แค่ว่ารถติดมาก ไม่อยากไปแถวนั้นเลย คือบางทีถ้าเราไปพูดเรื่องข่าวสาร การสื่อสาร เขาจะไม่ได้รับรู้หรอกว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง รู้แต่ว่าผลกระทบที่เขาได้รับคืออะไร แต่ถ้าถามว่ารู้ในระดับที่ลึกซึ้งหรือเห็นการเปลี่ยนแปลงมั้ย เขาไม่รู้ ซึ่งมันก็จะเกิดอันตรายขึ้นในอนาคตเหมือนกัน

 

ยังธน

 

แล้วคนที่อยู่อาศัยในพื้นที่หรือคนที่อยู่มานาน พวกเขาไว้วางใจและให้ความร่วมมือกับกลุ่มของคุณมากแค่ไหน

     ชัช: พอเราเริ่มสื่อสารออกไปทางเพจมากขึ้น เริ่มโยนภาพบางอย่างที่ทำให้เห็นปัญหา หรือมองเห็นความเจริญที่กำลังเข้ามา ลูกเพจก็จะแสดงความคิดเห็นตอบกันไปมาเอง ซึ่งเป็นการตอบในรูปแบบที่ลึกซึ้งมาก บางคนก็มีการแชร์ความรู้ด้วยว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง บางทีเราโพสต์รูปเก่าๆ ลงไป เขาก็ช่วยเข้ามาเสริมว่ามันมีแบบนี้ด้วยนะ เกิดบรรยากาศการพูดคุยและตั้งคำถามของพวกเขากันเอง

     เมฆ: มีความคิดสนุกๆ อันหนึ่งที่เกิดขึ้นในเวิร์กช็อปว่าเราอยากจะปรับปรุงลานตรงพระเจ้าตาก แล้วมันมีตึกร้างอยู่แถวนั้น ถ้ายังธนแข็งแรงจริง วันดีคืนดีมันอาจกลายเป็นคนฝั่งธนรวมเงินกันซื้อตึกนั้นเพื่อทำอะไรบางอย่างก็ได้ มันอาจจะเป็นภาพที่เห็นไกลๆ แต่เราก็เห็นโอกาสว่าการสร้างเครือข่ายที่มันพุ่งเป้าไปยังจุดเดียวกัน ทุกคนอิน แล้วลุยพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังทรัพย์หรือกำลังแรง มันก็อาจจะเกิดแอ็กชันอะไรบางอย่างที่คลิกก็ได้ ที่สำคัญคือมันโปร่งใส ไม่ใช่ว่าวันหนึ่งมีโครงการอะไรไม่รู้จากคนไม่กี่คน หรือไม่กี่บริษัทโผล่เข้ามาจัดการนู่นนี่ แต่นี่เป็นเสียงของคนในย่านนี้เอง แล้วไม่ใช่แค่เสียงอย่างเดียว มีการลงมือด้วย มีการส่งเงิน ส่งทีม ส่งคน มาร่วมทำกัน

     ฮุ้ง: จริงๆ ความเปลี่ยนแปลงมันห้ามไม่ได้หรอก ยังไงมันก็ต้องเปลี่ยน เพียงแต่ว่าเราจะทำยังไงให้มันเป็นการเปลี่ยนแปลงที่มีคุณภาพ และเหมาะสมกับคนที่อาศัยอยู่ที่นี่

 

ฝั่งธนมีเสน่ห์อะไรบ้างที่เราควรปกปักรักษาเอาไว้

     ฮุ้ง: อย่างเรื่องถนน ซอยเล็กๆ จะบอกว่าเป็นจุดแข็งของย่านฝั่งธนก็ได้ เพราะมันก็คือทางลัด แล้วก็เป็นทางที่สามารถพัฒนาให้เป็นที่ที่เหมาะกับการเดินได้ แต่ถ้าพูดถึงจุดอ่อน ก็คงเป็นเรื่องของการใช้รถยนต์ในการเดินทาง เพราะก็คงติดขัด เลี้ยวสองคันติดกันไม่ได้ ถนนจะแน่นเกินไป

     อย่างเรื่องซอยเล็กๆ พอเราไปลงพื้นที่ตามตรอกซอกซอยก็มักจะเซอร์ไพรส์ว่าตรงนี้มีร้านค้าด้วย ดังนั้น ถ้ามีร้านค้าแปลว่ามันต้องมี demand ต้องมีคนเดินมาซื้อ เรายังเห็นคนปั่นจักรยานแม่บ้านไปซื้อของจ่ายตลาดเยอะแยะ แล้วฝั่งธนจะมีพื้นที่ที่จัด pop up ตลาดนัด เราว่ามันน่าสนใจ เพราะคนซื้อกับคนขายก็มีคอนแท็กกัน มันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งนะ

     ฮิน: จริงๆ ประเด็นเรื่องถนนซอกซอยเยอะ ต้องบอกก่อนว่าเราก็กลัวว่ามันอาจกลายเป็นมุมมองจากเราเพียงฝั่งเดียวเหมือนกัน เพราะซอยส่วนใหญ่ของฝั่งธนมักจะเป็นจุดซอยตัน มันทำให้พื้นที่หลายๆ ส่วนไม่ค่อยมีรถผ่าน ซึ่งพวกนี้มันนำมาซึ่งสิ่งที่ต้องระวัง เช่น เป็นที่รวมกลุ่มรวมแก๊งที่เราชอบเห็นตามข่าว เรื่องทางกายภาพมันก็นำมาซึ่งสิ่งที่ดีและสิ่งที่ต้องระแวดระวัง จริงๆ มันต้องเกิดจากผังเมืองที่ดี แต่ว่ากระบวนการนี้ พวกเราที่เป็นชาวบ้านคงไม่สามารถทำอะไรได้ (หัวเราะ) นอกจากการช่วยการปรับผังสี ตามที่ทางกทม.ได้วางแผนมาแล้ว

     ฮุ้ง: ถ้ามองในปัจจุบัน ยังตอบไม่ได้ว่ามันดีหรือไม่ดี แต่ว่ามันมีศักยภาพในการทำให้ดีขึ้นได้ แล้วการสร้าง active citizen เนี่ยแหละ จะเป็นจุดสำคัญในการสร้าง activity ของคนในเมืองเอง เพื่อที่จะมาตอบโจทย์แนวทางในอนาคต อย่างเรื่องกายภาพ มันก็จะมีบล็อกถนนที่เป็นบล็อกใหญ่ เช่น เส้นจรัญสนิทวงศ์ไปจนถึงบรมราชชนนี จากบรมฯ ไปจนถึงกาญจนาภิเษก จากกาญจนาภิเษกวิ่งลงมาชนเพชรเกษม แล้วก็จะมีบล็อกย่อยๆ ที่นำมาซึ่งซอยเล็กๆ ที่เราบอกไป มันเป็นอีกเสน่ห์ที่เราพบเจอได้ การที่เราสามารถเดินลัดไปถนนอีกเส้นได้โดยไม่ต้องไปถึงถนนเส้นใหญ่ มันเป็นเสน่ห์ทางกายภาพของฝั่งธน แล้วพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยมันยังเยอะอยู่ มันไม่ได้ถูกทำให้กลายเป็นตึกสูงหรือบล็อกไปเสียหมด

     เมฆ: จริงๆ คนฝั่งธนจะใช้เมืองอยู่แล้ว แต่ว่าคนรุ่นเราจะมาเริ่มใช้เมืองเป็นเมื่อไม่นานมานี้ เช่น มีช่วงหนึ่งที่เริ่มปั่นจักรยาน เราจะปั่นบนถนนใหญ่ไม่ได้เพราะมันอันตรายมาก เราก็ปั่นเข้าซอยตามบ้าน ปรากฏว่าไปโผล่บ้านศิลปินตรงคลองบางหลวงได้เลย อันนี้คือปั่นจักรยานนะ แต่ถ้าเปลี่ยนเป็นการเดิน ก็จะเป็นอีกความรู้สึกหนึ่ง ถ้าเราได้เดิน เราจะได้สื่อสารกับเมือง ได้เห็นอะไรที่มันไม่ได้อยู่ในสื่อ

 

ตั้งแต่ ‘ยังธน’ ก่อกำเนิดขึ้นมาจนถึงตอนนี้ พบอุปสรรคปัญหาอะไรกันบ้าง

     ฮุ้ง: จริงๆ แล้วปัญหาคือ ความไม่รู้สึกว่ามีปัญหา ถ้าชาวบ้านเขาไม่ได้รู้สึกว่ามันมีปัญหา เขาก็จะไม่มีแรงผลักดันในการร่วมด้วยสักเท่าไร การทำงานมันก็จะยากขึ้น เหมือนเขาเป็นคนที่เฝ้ามองฉากของเมืองอยู่อย่างนั้น ไม่ต้องทำอะไรก็ได้ ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในการต้องสร้างอะไร

     เมฆ: อุปสรรคอีกอย่างคือเรื่องเวลา เมื่อเราไม่ได้มาลงตรงนี้แบบเต็มที่ เพราะเราก็มีงานประจำที่ต้องทำ แต่สิ่งนี้กลับทำให้เราเกิดไอเดียว่าอยากสร้างแพลตฟอร์มให้คนที่เป็นเหมือนเรา คนที่ยังชิลๆ ยังเย็นๆ ได้มีส่วนร่วมในการขยับอะไรบางอย่าง

     ชัช: เรามองว่ายังธนเป็นแพลตฟอร์ม แต่ฐานของเรายังไม่แน่นเท่าไร เรากำลังช่วยกันวางแผนว่าฐานต้องกว้างขนาดไหน แคบแค่ไหน หนาเท่าไร ให้ฐานมันแข็งแรงแล้วพร้อมที่จะไปต่อกับปัญหาเรื่องเมืองหรือกายภาพ ซึ่งถ้าฐานแข็ง ทุกอย่างก็ไปได้หมด เป้าหมายยังธนก็ประมาณนี้ เราทำหน้าที่เป็นแท่น พอคนเข้ามาแล้วเราก็ผลักดันเขา แล้วสักวันหนึ่งในอนาคตก็คงไม่ใช่เราแค่นี้ แต่เป็นเราที่จะมีจำนวนมากขึ้น

     เมฆ: มันฟังดูท้าทายมากนะ เหมือนเราแตะเรื่องใหญ่ แต่เราก็จะไม่ครอบครองมัน เราพยายามจัดการ แต่ก็ไม่อยากจัดการ เราพยายามจะให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกคน โดยต้องคอยเฝ้ามองให้มันถูกจังหวะที่ไม่ได้ไปทำร้ายใคร เราไม่ได้พยายามมองว่าใครเป็นผู้ร้าย แล้วสร้างยังธนขึ้นมาเพื่อจะบอกว่าเราถูกต้อง เราไม่อยากเป็นแบบนั้น ไม่ได้อยากเอาความคิดเรานำ แต่เราก็สนุกกับการได้ยินเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ตรงนี้

 

ยังธน

 

ฝั่งธนควรจะก้าวไปในอนาคตรูปแบบไหนถึงจะเป็นการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครบางคนไว้ข้างหลัง

     ชัช: เราอยากให้ฝั่งธนยังคงความเงียบ แต่อยู่ท่ามกลางความเจริญในจังหวะที่เหมาะสม เป็นความสงบสุขที่หมุนตามโลกทัน abstract มาก (หัวเราะ) ล่าสุดเราไปคลองบางประทุนที่เป็นสวนป่า แล้วอยู่ท่ามกลางการพัฒนา เขาก็อยู่กันได้ แสดงว่าคนอยู่เดิมเข้าไม่ได้ปิดกั้นหรอก เขาแค่อยากอยู่ด้วยกัน เหมือนตอบทุกปัญหาที่พูดมาแหละ สุดท้ายเราเองก็อยากอยู่กับอนาคตด้วยกันได้ แต่ยังคงเอกลักษณ์ของมันอยู่

     เมฆ: เราอยากเห็นว่าฝั่งธนเป็นย่านที่ทุกคนคุยกันได้หมด สร้างความเป็นเพื่อนบ้านขึ้นมา เหมือนสังคมในชนบท เช่น ถ้าเราเดินเข้ามาในเขตบางกอกใหญ่ เราจะรู้เลยว่าเข้าบ้านหลังนี้แล้วจะได้อะไร หรือจำหน้าคนขับตุ๊กตุ๊กคนนี้ได้ ทุกคนมีความรู้สึกว่าไม่ได้ตัดขาดจากกัน แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตรงนี้แล้ว เราเป็นเพื่อนกันหมด ในขณะเดียวกันทางกายภาพ เราก็อยากเห็นภาพมันพัฒนาในเชิงที่ว่า ยังมีต้นไม้อยู่ ทุกคนเดินได้ ยังมีการออกแบบที่ใส่ใจพื้นที่สาธารณะ คนที่ไม่รู้จักมาเจอกันแล้วไม่เขินกัน อะไรที่มันใหม่มันก็ดีนะ แต่ว่ามันต้องเป็นสิ่งใหม่ที่มาพร้อมกับต้นไม้พันธ์ุใหม่ๆ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีไปด้วย

     ฮุ้ง: เรามองคล้ายๆ กัน มันควรจะเป็นเมืองที่ไม่เหงา คนพูดคุยกันได้ง่าย ยกตัวอย่าง เรื่องการเดินทางด้วยรถสองแถวหรือเรือ พอขึ้นรถมาก็เจอป้าคนนี้ ไปคันเดียวกันประจำ เริ่มเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยน แต่ในพื้นที่ฝั่งที่เป็นเมืองกว่านี้ เวลาเราทักหรือชวนคุยเขาก็จะไม่ตอบเรา เพราะเขารู้สึกว่ามันแปลก ไม่เคยมีใครคุยกับเขา แต่คนฝั่งธนยังคุยกัน ยังมีความเป็นเพื่อนบ้าน แต่ก็อยู่ในช่วงที่เริ่มจะหายไปเหมือนกันนะ ซึ่งเรามองว่ามันควรจะถูกพากลับมา แล้วในทางกายภาพเองก็ควรจะช่วยเอื้อให้เรื่องพวกนี้เกิดขึ้น อย่างส่วนตัวเราเป็นคนขี้เกียจเดินทาง ขี้เกียจรถติด ถ้าต้องฝ่าฟันไปไกลก็จะไม่ไปแล้ว แต่พอเป็นฝั่งธน เราคิดว่าตรงนี้เดินไปก็ได้ เลยรู้สึกว่าถ้ามันเอื้อให้การเดินระหว่างทางได้เจออะไรบ้าง มันน่าจะเป็นเมืองที่อบอุ่น

     ฮิน: เราเห็นภาพคล้ายๆ ซิลิคอนแวลลีย์นะ อาจจะไม่ได้เร่งรีบขนาดนั้น แต่มันเป็นพื้นที่ที่ชิลพอจะทำให้เราคิดอะไรใหม่ๆ ได้ แล้วสามารถพบเจอคนที่มีไอเดียเหมือนกัน อยู่ในพื้นที่ชิลๆ เพื่อทำอะไรใหม่ๆ ในย่านฝั่งธน ไอเดียมันจะเป็นเหมือน Creative District ที่เราเจอคนตั้งบริษัทอยู่ใกล้ๆ กัน เราเชื่อว่าพอมีคนแล้วมันทำอะไรก็ได้ทั้งหมดเลย ไม่ต้องมีเทคโนโลยีก็ได้

     ชัช: เอกลักษณ์ที่เราชอบอย่างหนึ่งคือ เวลาเราอยู่ในวงที่มันกว้าง เช่น ในวงธุรกิจ แล้วเจอคนที่อยู่ฝั่งธนเหมือนกัน มันจะมีบางอย่างจุดติดข้างใน แล้วมันเชื่อมต่อกันง่ายจริงๆ อธิบายไม่ถูกนะ แต่เราจะรู้สึกว่ามันทำอะไรด้วยกันต่อได้

     ฮิน: มันเหมือนเรื่อง วันพีซ เหมือนกลุ่มหมวกฟางกับเรือแมรี่ เรารู้สึกว่าการที่เราทำกลุ่มยังธน มันไม่ได้มีเงินให้เหมือนที่ลูฟี่ทำ ทุกคนที่มาร่วมกันทำกลุ่มหมวกฟางมีเป้าหมายเฉพาะทางของตัวเองทั้งหมดเลยนะ ลูฟี่ก็อยากเป็นจ้าวแห่งโจรสลัด โซโลก็อยากเป็นสุดยอดนักดาบ ซันจิก็อยากไปหาออลบลู อะไรแบบนั้น แต่ละคนก็มีเป้าหมาย มีภารกิจในทางของตัวเอง แต่ว่าในเรือแมรี่ก็เหมือนเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถพาเราไปถึงจุดหมายร่วมได้ ในขณะเดียวกันมันก็ทำให้เป้าหมายของทุกคนเป็นจริงได้เช่นกัน