The Internship | เด็กทุนไทยกับประสบการณ์ฝึกงานที่สำนักข่าว BBC London

จำได้ว่าตอนดูหนังเรื่อง The Internship ที่เล่าเรื่องราวการฝึกงานในกูเกิ้ลจบ ก็อดนึกอยากจะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรระดับโลกกับเขาบ้างไม่ได้ แล้วยิ่งการฝึกงานเป็นเหมือนก้าวแรกของการเริ่มเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างเต็มตัว ยิ่งทำให้เราให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะเชื่อว่ามันจะเป็นใบเบิกทางสำหรับก้าวต่อไป

นี่จึงเป็นที่มาของคอลัมน์ The Internship ที่จะพาคุณไปพูดคุยกับอดีต ‘เด็กฝึกงาน’ ผู้ผ่านการฝึกงานในองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับว่าเจ๋งสุดๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านที่รักทุกคน

สำหรับในครั้งแรกนี้ มาอ่านประสบการณ์ฝึกงานของ ‘เอม’ – นภพัฒน์จักษ์ อัตตนนท์ บรรณาธิการทีมข่าวเวิร์คพอยท์ออนไลน์ ผู้มีโอกาสได้ฝึกงานกับสำนักข่าว BBC ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ที่เอมได้ไปเรียนรู้ ฝึกฝนวิชาการทำข่าวออนไลน์อย่างเข้มข้นเป็นเวลาร่วม 10 เดือน

นภพัฒน์จักษ์

 

(ฝึก)งานในฝัน…

     “ตอนนั้นเราไปเรียนปริญญาโทสาขา International Journalism ที่มหาวิทยาลัยลอนดอน เข้าไปเทอมแรกอาจารย์ก็กระตุ้นให้ไปหาที่ฝึกงานจะได้รู้ว่าชอบงานสายนี้จริงๆ ไหม ซึ่งเราอาจจะต่างกับคนอื่นเพราะทำงานด้านนี้มาก่อนแล้ว แต่อยากเรียนรู้จากการทำงานในต่างประเทศ ตอนแรกหว่านใบสมัครไปก็ได้ฝึกงานที่สำนักข่าว The Independent อยู่ 10 วัน

     “ส่วนที่ที่สอง ด้วยความที่เราไปเรียนต่อด้วยทุนของรัฐบาลอังกฤษ เลยรู้จักกับเจ้าหน้าที่ในรัฐบาลอยู่บ้าง เขาเลยชวนให้ไปฝึกงานที่ ฺBBC ได้เข้าไปรู้จักบรรณาธิการข่าวของเขา ซึ่งที่นี่ถือว่าเป็นที่ทำงานในฝันเลยนะ ส่วนที่เราเข้าไปทำเป็น ฺฺBBC Thai เข้าไปตอนแรกในฐานะนักข่าวฟรีแลนซ์ ส่งงานเป็นชิ้นๆ ให้เขาดูก่อนว่าทำได้หรือไม่ได้ หลังจากนั้นถึงได้เข้าโครงการเป็นนักศึกษาฝึกงาน ซึ่งเราทำอยู่ที่นี่ประมาณ 10 เดือน ถ้าใครสนใจก็ลองสมัครได้ เขาจะมีการคัดเลือก ทดสอบความรู้ทางภาษา ทักษะในการแปลข่าว ดูความพร้อมของเราด้วย”

 

นภพัฒน์จักษ์

 

ฝึกงานวันแรก…

     “วันแรกที่ไปทำงานตื่นเต้นมากเลยนะ ประมาณว่า โอ้โฮ นี่คือสตูดิโอที่เราเห็นในข่าวเหรอวะเนี่ย มันตื่นเต้น ดีใจ ตกใจไปกับมัน เราได้เห็นว่างานทุกอย่างที่เขาทำมันมีระบบ มีมาตรฐาน อุปกรณ์ครบครัน เขาลงทุนและตั้งใจผลิตสื่อออกมาให้มีคุณภาพมากที่สุดเท่าที่เม็ดเงินเขาจะมี ที่ผ่านมาเราเห็นผลงานจากหน้าจอว่าสวย พอเข้าไปจริงๆ ถึงเข้าใจว่าทำไมถึงดีขนาดนี้

     “ส่วนเพื่อนร่วมงานมีหลายเชื้อชาติมาก มีฝรั่งผมทองน้อยมาก อาจจะ 10-20% เอง ที่เหลือเป็นคนสเปน เมียนมา อินเดีย แอฟริกัน อเมริกัน หลากหลายมาก ซึ่งเราว่าเป็นข้อดี ทุกคนจะละทิ้งนิสัยของชาติตัวเองไป และใช้หลักการตรงกลางที่ทุกประเทศควรจะมีร่วมกัน”

 

นภพัฒน์จักษ์

 

เวลาคือสิ่งสำคัญ…

     “ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ คือความตรงต่อเวลา มันก็ช่วยให้งานเดินไปได้เร็วขึ้น และทุกคนจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมา คิดยังไงก็พูดอย่างนั้น เพราะถ้ามัวแต่เกรงใจ คิดโน่นคิดนี่ ซับซ้อนมากๆ ก็คงไม่ได้ อย่างเมืองไทยจะมีระบบเกรงใจผู้ใหญ่ หรือที่ญี่ปุ่นผู้ชายจะเป็นใหญ่ แต่พอทุกชาติมารวมกัน คิดยังไงก็พูดไปตรงๆ เห็นว่าดีไม่ดี ถูกไม่ถูก ก็พูดออกไปเลย จะได้รู้ว่าต้องแก้ปัญหากันยังไง แต่มันก็จะมีรายละเอียดเล็กๆ ที่แต่ละชาติจะภูมิใจในรากของเขา

     “อย่างเราสนิทกับเพื่อนชาวแอฟริกันคนหนึ่ง เขาเคยชวนเราไปงานประกาศรางวัลนักฟุตบอลแอฟริกันยอดเยี่ยม บอกเราว่าไปเถอะๆ แล้วเขาก็ภาคภูมิใจมาก ซึ่งมันก็เป็นกันทั่วโลกเนอะ ฝั่งเราเวลามีงานสงกรานต์ที่ลอนดอนก็ชวนเขาไปเหมือนกัน (หัวเราะ)”

 

นภพัฒน์จักษ์

 

ข่าวเด็ด…

     “ถ้าพูดถึงชิ้นงานที่ประทับใจมากที่สุดที่ทำตอนนั้นน่าจะเป็นตอนที่เราไปสัมภาษณ์ตำรวจหญิง คุณทิพย์พวรรณ คาวาน่าห์ เพราะเราเจอแหล่งข่าวเอง ติดต่อเอง สัมภาษณ์เอง ถ่ายวิดีโอเอง ตัดต่อเอง ทำกราฟิกเอง มันเป็นชิ้นที่ทำให้เรารู้ว่าการทำข่าวหนึ่งชิ้นต้องทำอะไรบ้าง และตัวเนื้อหาก็ตอบโจทย์หลายอย่าง ทั้งเรื่องบทบาทของผู้หญิงในสังคมตะวันตก ความหลากหลายของเชื้อชาติ และเรื่องของผู้ที่อพยพมาอยู่ในลอนดอน เพราะช่วงนั้นเป็นช่วง Brexit พอดี”

 

นภพัฒน์จักษ์

 

ชีวิตเด็กฝึกงาน BBC…

     “ก่อนไปเรามีขนบการทำงานแบบเดิมๆ เขาบอกให้ทำอะไรก็ทำ พอกลับจากลอนดอน ความคิดของเราที่มีต่อการทำงานก็เปลี่ยนไป เวลาจะทำงานแต่ละชิ้นก็มีวิธีการคิดที่แตกต่างกัน

     “ทุกวันนี้เป็นบรรณาธิการ เราก็พยายามส่งต่อความรู้ที่เราเรียนมาให้กับคนอื่นๆ ในทีม ถ้าไม่ได้ไปเรียนหรือฝึกงานจะสอนไม่ได้เลยนะ คือก่อนไปเรามีเซนส์ในใจแหละ แต่มันจะไม่แน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์ อันนี้ใช่เหรอวะ หรือไม่ใช่ แต่พอได้เรียนเราก็ได้กรอบคิดมาเลยว่า อันนี้ถูกนะ อันนี้ผิดนะ เพราะอะไร บางเรื่องต่อให้เราทำข่าวไป คนไม่ชอบไม่พอใจ เราจะบอกทีมงานเลยว่า เฮ้ย ไม่เป็นไร มันมีหลักการอธิบาย เราตั้งใจทำสิ่งนี้ เรารู้ว่าเราทำเพราะอะไร”

 


ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการฝึกงาน ได้ที่ www.bbc.com/thai