nasa

The Internship | เรื่องเล่าของอดีตเด็กฝึกงานไทยใน NASA

a day BULLETIN อาสาพาคุณไปรู้จักกับ ‘เด็กฝึกงาน NASA!’ ที่เพียงเราพูดตำแหน่งนี้ไป ก็ฟังดูน่าตื่นเต้นและน่าสนใจมากๆ แล้ว เลยอยากชวนมาอ่านประสบการณ์จากอดีตเด็กฝึกงานไทยใน NASA หรือชื่อเต็มๆ ว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หน่วยงานชื่อดังของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เราเชื่อว่าทุกคนรู้จักกันเป็นอย่างดี

แต่การฝึกงานที่องค์การยักษ์ใหญ่แห่งนี้จะเป็นอย่างไร? มาฟังคำบอกเล่าจากปากของ ‘วิน’ – วริชณา ระกำทอง ไปพร้อมๆ กันเลย

nasa

 

จุดเริ่มต้น…

     “ตอนนั้นเราเรียนปริญญาโทด้าน Industrial and System Engineering ที่มหาวิทยาลัยแซนโฮเซ (San Jose State University) ก็เลยลองหาที่ฝึกงานเอง เราส่งใบสมัครไปหลายที่ ทั้งบริษัทใหญ่ บริษัทเล็ก ด้วยความที่ตอนอยู่ไทยเราทำสตาร์ทอัพมาก่อน พอได้นาซ่าก็เลือกที่นี่เพราะคิดว่ามันเป็นโอกาสที่ไม่เคยคิดว่าจะได้จริงๆ”

 

คุณสมบัติเด็กฝึกงานที่นาซ่า…

     “คุณสมบัติที่เขามองหาในเด็กฝึกงานอย่างแรกเลยคือเกรดเฉลี่ย 3.00 ขึ้นไป ต้องเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์, วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ หรือการสำรวจระยะไกล เราต้องกรอกใบสมัครกันผ่านทางเว็บไซต์ โดยต้องตอบคำถามเยอะมาก… ทำอยู่หลายวันกว่าจะเสร็จ คำถามส่วนมากจะเป็นอัตนัย วัดความคิดเราในด้านต่างๆ มีให้เลือกว่าสนใจด้านไหน ดิน น้ำ ฯลฯ ซึ่งถ้าสอบผ่านขั้นนี้ เขาจะส่งอีเมลมาเรียกให้ไปสัมภาษณ์ต่อ”

 

nasa

 

สอบสัมภาษณ์…

     “เราได้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ เพราะรัฐที่ไปฝึกงานกับที่เรียนอยู่ไม่ใช่รัฐเดียวกัน กว่าจะรู้ผลว่าได้หรือไม่ก็ใช้เวลาเป็นเดือนๆ เรารู้มาว่าปกตินาซ่าแทบจะไม่รับเด็กฝึกงานต่างชาติเลยนะ แต่โชคดีที่โปรเจ็กต์ที่เราเข้าไปทำนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับแม่น้ำโขง เขาเลยอยากร่วมงานกับรัฐบาลไทยและรับเด็กไทยเข้าฝึกงานในโครงการนี้ด้วย”

 

นาซ่าไมได้มีแค่ดาราศาสตร์…

     “การฝึกงานที่นาซ่าจะทำงานสัปดาห์ละ 33 ชั่วโมง คือพอพูดถึงนาซ่า หลายคนน่าจะนึกถึงแต่เรื่องอวกาศอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วเขามีส่วนงานอื่นอย่างธรณีวิทยาด้วย เพราะดาวเทียมไม่ใช่แค่สิ่งที่สร้างมาเพื่อศึกษาเรื่องบนฟ้า แต่มันยังมีประโยชน์ทางพื้นดินมากๆ ด้วย”

 

nasa

 

ชีวิตในนาซ่า…

     “บรรยากาศที่นั่นก็สนุกดี ในทีมมีทั้งหมด 4 คน เรากับเพื่อนอีกคนเขียนโค้ดได้ ส่วนอีกสองคนมีความรู้ด้านดาวเทียมและธรณีวิทยา เวลาทำงานต้องช่วยกัน แลกเปลี่ยนกัน เอาความเชี่ยวชาญของเขามาช่วยให้เราเขียนโค้ดได้ตรงจุด

     “เราทำงานร่วมกับเมืองไทยและองค์กรที่ชื่อว่า Asian Preparedness Center โดยคุยกับเขาว่าตั้งใจจะนำโปรเจ็กต์นี้ไปทำอะไร ซึ่งเขาต้องการทำเครื่องมือที่ช่วยคำนวณว่าในอนาคตพื้นที่ไหนจะแห้งแล้ง พื้นที่ไหนจะน้ำท่วมด้วยการเอาข้อมูลที่ถ่ายจากดาวเทียมปีก่อนๆ มาคำนวณ ข้อมูลที่ได้เหล่านี้จะนำไปประกอบการตัดสินใจหลายๆ อย่าง เช่น จะสร้างเขื่อนตรงไหน จะสร้างที่พักอาศัยตรงไหน หรือตรงไหนที่ต้องการการพัฒนาเป็นพิเศษ

     “เราฝึกงานทั้งหมด 10 สัปดาห์ ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ จากคนที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ไปจนถึงเริ่มลงมือทำโปรเจ็กต์ ทำวิดีโอและโปสเตอร์เตรียมนำเสนอ จนถึงสัปดาห์สุดท้ายเราต้องบินไปที่สำนักงานใหญ่ของนาซ่าในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อนำเสนอโปรเจ็กต์ที่ทำมาตลอด 10 อาทิตย์นั้น และทุกคนในทีมก็ยังเป็นเพื่อนกันมาจนถึงทุกวันนี้”

 

nasa

 

สู่ชีวิตจริง…

     “เราว่าประสบการณ์ทั้งหมดมันทำให้เราได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ไม่ชอบอะไรมากขึ้น มันอาจจะไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นที่นาซ่าที่เดียว แต่ที่แน่ๆ เราได้สกิลการทำงานเพิ่มขึ้นกว่าเดิมที่มาช่วยเราตัดสินใจเรื่องต่างๆ

     “อย่างตอนนี้เราได้มาทำในทีมปผนที่ ของ apple ซึ่งที่ได้มาทำงานปัจจุบันก็อาจเป็นเพราะประสบการณ์ที่นาซ่าด้วยก็ได้ เราว่าการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่ตลอดเป็นเรื่องที่ดีมาก เหมือนเราตอนเรียนปริญญาตรีก็เขียนโค้ดได้ แต่ถ้าถามว่ารู้ไหมว่าทักษะนี้จะเอาไปใช้ยังไง ก็ไม่รู้หรอก พอได้ฝึกงานที่นาซ่าถึงได้รู้ว่าการเขียนโค้ดมันมาประยุกต์ใช้กับการทำงานจริงแบบนี้

     “ข้อดีของการฝึกงานก็คือ มันทำให้เรารู้ก่อนออกไปทำงานจริงว่าเราชอบหรือไม่ชอบอะไร เป็นเหมือนฟิลเตอร์ชั้นแรกที่ช่วยให้เราพอนึกภาพชีวิตการทำงานจริงๆ ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

 


สนใจฝึกงานกับ NASA ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://intern.nasa.gov