โอ๊ต มณเฑียร

The Internship | เมื่อฉันได้ฝึกงานกับ Victoria & Albert Museum ที่ประเทศอังกฤษ

พบกันอีกครั้งกับคอลัมน์ The Internship ที่เราจะพาคุณไปพูดคุยกับอดีต ‘เด็กฝึกงาน’ ผู้ผ่านการฝึกงานในองค์กรที่ทั่วโลกยอมรับว่าเจ๋งสุดๆ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านที่รักของเรา

บทความนี้ คุณจะพบกับประสบการณ์ฝึกงานของ โอ๊ต มณเฑียร ศิลปิน นักวาดภาพประกอบ และนักเขียนเจ้าคอลัมน์ London Scene และ London Museum แห่งนิตยสาร a day ผู้มีโอกาสไปใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ที่กรุงลอนดอนเป็นเวลากว่า 6 ปี พร้อมเก็บประสบการณ์ฝึกงานกับพิพิธภัณฑ์ชื่อดัง Victoria & Albert Museum of Childhood ที่เจ้าตัวถึงกับเอ่ยปากว่า “ที่มีวันนี้ก็เพราะการฝึกงานที่ V&A จริงๆ”

โอ๊ต มณเฑียร

จุดเริ่มต้น…

     “เริ่มจากการจับพลัดจับผลูไปช่วยเพื่อนสอนวาดรูปใน V&A Museum มันจุดประกายให้เรารู้สึกรักพิพิธภัณฑ์ขึ้นมา ด้วยความที่เราเรียกตัวเองว่านักเล่าเรื่องอยู่แล้ว และในพิพิธภัณฑ์ก็มีเรื่องราวที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราต่อยอดได้ไม่รู้จบ พอมีโอกาสเลือกเรียนปริญญาโทใบที่สอง เราเลยเลือกเรียน Education in Museums and Galleries ที่ Institute of Education London ซึ่งตอนนั้นคิดว่าเราน่าจะต้องหาประสบการณ์ในสายงานมิวเซียมตรงๆ มาใส่หัวไว้ก่อนถึงจะเรียนรู้เรื่อง”
 

การสมัครแบบ Walk-In…

     “ด้วยความที่สนใจงานการศึกษาของเด็กเป็นพิเศษ ก็เลยเดินดุ่มๆ เข้าไปที่ V&A Museum of Childhood ซึ่งเป็นสาขาของ V&A ใหญ่อีกที พอเดินเข้าไปก็ขอพบหัวหน้าฝ่ายงานการศึกษาเลย (หัวเราะ) อาจจะเพราะตอนนั้นเป็นนักเขียนให้ a day อยู่ด้วย เลยรู้สึกมั่นใจในตัวเองมาก ก็ทำทีว่าจะขอสัมภาษณ์เขา คุยไปคุยมาเราบอกเขาว่า “I think I can be a positive addition to your team” เขาก็ยิ้มแล้วก็ให้เราไปคุยกับผู้จัดการที่ดูแลอาสาสมัครให้ อาทิตย์ถัดมาก็ได้เริ่มงาน”

โอ๊ต มณเฑียร

โอ๊ต มณเฑียร

ฝึกงานวันแรก…

     “วันแรกเราตื่นตาตื่นใจกับมันมาก ทุกๆ วันจะมีการประชุมบรีฟงานก่อนประตูจะเปิด ในที่ประชุมนั้นอาสาสมัครจะได้รับมอบหมายงานที่ต้องทำแต่ละวัน ซึ่งช่วงแรกๆ เขาจะวนให้ได้ทำงานเกือบทุกแผนก ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ เฝ้านิทรรศการ ไปจนถึงงานทำทะเบียนวัตถุ ซึ่งพอได้ลองหมดแล้ว เราก็เลือกทำงานการศึกษา

     “ทุกๆ วันจะมีคณะจากโรงเรียนจองเข้ามาเยี่ยมชม 500-2,000 คน อาจฟังดูเยอะแต่จริงๆ จำนวนไม่ใช่ปัญหา เพราะโรงเรียนที่นั่นจะมีกฏ ‘4 ต่อ 1’ คือเวลาไปทัศนศึกษาที่ไหนก็ตามจะต้องมีผู้ใหญ่อย่างน้อย 1 คนต่อเด็ก 4 คน ซึ่งสำหรับเราที่เคยรับมือเด็ก 60 ต่อครู 1 คนที่ไทย ถือว่าหมูๆ”
 

หนังตะลุงไทยในมิวเซียมอังกฤษ…

     “งานที่เราทำแล้วประทับใจมากๆ คือเราเอาหนังตะลุงจากบ้านคุณตามาจัดเวิร์กช็อปสอนเด็กๆ เล่นหนังตะลุง ซึ่งได้รับทุนจาก South East Asian Art Festival ด้วย พอสอนเสร็จ ฝึกงานเสร็จ ก็บริจาคให้มิวเซียมไปเลย ทุกวันนี้เขาก็ยังจัดสอนอยู่ เราเป็นอาสาสมัครอยู่ 6 เดือนก็เกิดสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นคือ เขาเริ่มจ่ายค่าจ้างเราในฐานะพนักงานประจำ”

โอ๊ต มณเฑียร

กลับสู่ชีวิตจริง…

     “มันเหมือนเปิดโลกอีกใบเลยนะ เมื่อก่อนรู้สึกว่าพิพิธภัณฑ์เป็นของใหญ่ไกลตัว ตอนนี้เข้าใจทั้งระบบการทำงาน และการคิดวางแผนการจัดการเรียนรู้ในพิพิธภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนมาก มันไม่ใช่แค่เอาของไปวาง หรือโยนคำถามให้ผู้ชมแล้วจบ เราต้องคำนึงถึงความพร้อมของผู้เรียน อายุ วิธีการสอนที่เหมาะสม ไปจนถึงพลวัตการเรียนรู้ในมิวเซียมด้วย

     “ที่สำคัญคือความกระตือรือร้นที่จะคืนคุณค่าให้กับสังคมเพราะเขาได้งบหลักๆ จากภาษีประชาชน มันทำให้เห็นได้ชัดว่าพิพิธภัณฑ์ที่ดีไม่ใช่แค่ห้องเก็บของ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบและการใช้งานตามผู้ใช้ด้วย พอกลับมาเมืองไทย เราก็ได้ทำงานเป็นที่ปรึกษางานวิชาการของมิวเซียมสยามเลย ด้วยชื่อเสียงของ V&A และสาขาวิชาที่เราจบมาเป็นสาขาที่คนเรียนน้อยมาก

     “เราได้สอน Museum Academy ซึ่งมีผู้ร่วมเป็นนักพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ พวกเขาก็ได้ความรู้จากเรานำไปใช้ต่อ สังเกตว่าตอนนี้ที่พิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วไทยเริ่มมีการทำ audience study และเอากลเม็ดอย่างการสร้าง trail (การแกะรอย) หรือสร้างกิจกรรมเฉพาะกลุ่มมาประยุกต์ใช้กันบ้างแล้ว”

โอ๊ต มณเฑียร

Museum Minds…

     “นอกจากนี้เราก็ยังนำความรู้นั่นไปเผยแพร่ในที่ต่างๆ เราก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษางานมิวเซียมชื่อ Museum Minds มีลูกค้าเป็น BACC, พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ, พิพิธภัณฑ์รัฐสภา ฯลฯ ทั้งเขียนหนังสือ London Museums กับสำนักพิมพ์ a book หรือแม้แต่เวลาสอนวิชา การเล่าเรื่องที่จุฬาฯ ก็ให้นักศึกษาออกแบบพิพิธภัณฑ์ของตัวเอง เป็นต้น พูดได้เลยว่า ที่มีวันนี้ก็เพราะการฝึกงานที่ V&A จริงๆ”

 


ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่องการฝึกงาน Victoria & Albert Museum of Childhood ที่ www.vam.ac.uk/moc