หากสังเกตดีๆ จะพบว่า โลกของเราใบนี้ได้สร้างสรรค์ความสวยงามจากธรรมชาติให้สอดแทรกอยู่ในทุกๆ พื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำทะเลสีเทอร์ควอยซ์ ท้องฟ้าสีครามเข้ม ผืนป่าสีเขียวอมเหลืองสลับแดงน้ำตาล ภูเขาหินสูงสีเทาไล่สี สัตว์ป่าน้อยใหญ่ที่มีหลากหลายขนาด ไหนจะรูปทรง รูปร่าง หรือสีสันต่างๆ จากดอกไม้ ผลไม้ พืชพันธุ์อีกมากมาย และทั้งหมดดังกล่าวคือ Natural Pattern ที่ ‘นักออกแบบลายผ้า’ จะหยิบมาเป็นแรงบันดาลใจสู่การเป็น Surface Pattern ที่หยิบใช้ได้จริง
“เราโชคดีที่มีบ้านอยู่ชนบท เช้ามาก็เดินไปดูในนา ในทุ่ง เห็นดอกต้อยติ่งสีม่วงอ่อนๆ ดอกหญ้าสีขาวจิ๋ว แซมๆ กันอยู่ พอเห็นปุ๊บก็รู้สึกเลยว่า เฮ้ย! พวกเธอวางตัวดี ทั้งสี ทั้งตำแหน่ง นี่ก็คือแพตเทิร์นธรรมชาติที่ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ซึ่งหาได้ง่ายมาก อยู่รอบๆ ตัวเราเอง” เกวลิน พิมพ์สอน กล่าวขึ้นพร้อมดวงตาที่ฉายแววความสุข เมื่อกล่าวถึงการถ่ายทอดความสวยงามสู่แพตเทิร์นลายผ้า เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ของแต่งบ้านภายใต้แบรนด์ Did You See Any Pattern?
“
หลังจากที่มั่นใจแล้ว เราลาขาดจากการเป็นสถาปนิกเลย (หัวเราะ) ไม่กลับไปทำงานในรูปแบบเดิมๆ อีก
”
The Starting Point :
เราเรียนจบมาทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ เคยทำงานเป็นสถาปนิกอยู่ราวๆ 3 ปี ระหว่างทำงานประจำก็วาดรูปสีน้ำไปด้วย จนเริ่มมีแนวคิดแทรกเข้ามาว่า อยากทำอะไรสักอย่างที่ตรงกับความชอบเราจริงๆ จึงนึกขึ้นได้ว่า ตอนเด็กๆ เราชอบของจุกจิกที่มีลาย อย่างกล่องขนม กล่องชา เสื้อผ้าลายดอก เสื้อเชิ้ตลายสวยๆ ลายบนกระดาษ ชอบกิน ชอบมองสิ่งต่างๆ รอบตัว หรือสังเกตวิถีชีวิตคน จึงลองจับสิ่งเหล่านั้นมาวาดสีน้ำ แล้วทำเป็นแพตเทิร์น เราค่อยๆ สะสมภาพวาด พร้อมความรู้สึกแบบนี้ไปสักพัก จนท้ายที่สุดเรามั่นใจแล้วว่าต้องมาทางนี้ จึงตั้งเป้าเลยว่าอยากเป็นคนออกแบบลวดลาย และพยายามไปสู่อาชีพนี้ให้ได้
About My Work :
หลังจากที่มั่นใจแล้ว เราลาขาดจากการเป็นสถาปนิกเลย (หัวเราะ) ไม่กลับไปทำงานในรูปแบบเดิมๆ อีก แต่จะทำอาชีพที่มีความยืดหยุ่น ไม่ตายตัว ไม่ต้องเป๊ะก็ได้ ยิ่งพลิกแพลงยิ่งเปลี่ยนมุมมองได้บ่อย สนุกด้วย อย่างอาชีพนักออกแบบลายนี้ก็เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2013 ค่อยๆ ทำมาเรื่อยๆ ประมาณ 2-3 ปี เราก็เห็นว่า ลายแพตเทิร์นของเราเติบโตขึ้น จากปีแรกๆ ที่ไม่ค่อยกล้า วางอะไรก็จะดูห่างๆ พอปีที่สองก็เริ่มมีแบ็กกราวนด์ เริ่มมีลูกเล่นมากขึ้น
อย่างงานในยุคปัจจุบันนี่ลายพร้อยเชียว แต่ยังคงยึดคอนเซ็ปต์ของการดึงคาแร็กเตอร์ของธรรมชาติเอามาใช้ให้มากที่สุดเหมือนเดิม ส่วนที่เพิ่มเติมคือสีสันที่จัดจ้าน หรือการย้อมสีเพื่อความสดใหม่ เพื่อให้คนมองลายนั้นๆ แล้วรู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเคยเห็น หรือให้ใกล้เคียงกับบรรยากาศเดิมที่มันเคยอยู่ ซึ่งทำให้แพตเทิร์นของเราดูคล้ายกับธรรมชาติ แค่เราสร้างขึ้นมาใหม่เท่านั้นเอง
My Pattern Creation :
จุดเด่นของเราคือการวาดสีน้ำ และลวดลายที่ได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว อย่างแพตเทิร์นอาหารภาคกลาง เรานำเสนอให้รู้ว่าวัตถุดิบบ้านๆ ที่เรากินนั้นก็ทำออกมาเป็นแพตเทิร์นเท่ๆ ได้ แต่วาดไปวาดมาก็เริ่มตัน (หัวเราะ) ก็กลับมาคิดว่าเป็นดอกไม้ไทยน่าจะดีกว่า เพราะบ้านเราก็มีดอกไม้เยอะ สีสันก็สวยด้วย เรื่องเล่าต่างๆ เกี่ยวกับดอกไม้ก็มี
ยกตัวอย่าง tote bag ลายดอกแคแสดใบนี้ซึ่งเราชอบมาก เพราะเป็นดอกไม้ที่เห็นได้ง่ายตามริมทางที่เชียงใหม่ บานช่วงหน้าหนาว สีมันแสดมาก ยิ่งตัดกับสีฟ้าเคลียร์ๆ ของหน้าหนาวจะยิ่งสวยมาก เราจึงจับมาวาดรูปด้วยสีน้ำ แยกเป็นชิ้นๆ ช่อดอกบ้าง เดี่ยวบ้าง กลีบดอกบ้าง ก้าน และใบ จากนั้นก็นำมิกซ์ใหม่ในโปรแกรม Photoshop กระทั่งออกมาเป็นแพตเทิร์นดอกแคแสด หลังจากนั้นก็พรินต์ลงกระดาษซับลิเมชัน ก่อนที่จะนำกระดาษนั้นไปรีดลงผ้า แล้วนำไปตัดเย็บตามแพตเทิร์นกระเป๋าที่เรากำหนดไว้ เป็นอันเสร็จเรียบร้อย
Pattern of Life :
เราว่าอะไรก็เป็นแพตเทิร์นได้หมด ถ้ามองดูดีๆ ก็จะเห็นว่าการดำเนินชีวิตของคนเรานั้นก็เป็นแพตเทิร์น เพราะมันคือการทำซ้ำอยู่ทุกๆ วัน วนอยู่กับสิ่งเดิมๆ จนเป็นวิถี แต่ใช่ว่าจะมีแบบแผนเป๊ะๆ อะไรขนาดนั้น อย่างเวลาเราลงรถไฟใต้ดิน เราจะสังเกตเห็นได้ว่าหน้าคนจะเนือยๆ เป็นแพตเทิร์น ตาก็ไม่มีแววเท่าไหร่ ทุกคนดูเหนื่อยเหมือนกันไปหมด หรือพนักงานทำความสะอาดบันไดเลื่อนที่เขาจับผ้าที่ราวแล้วรูดตัวเองขึ้นไป ทำแบบนี้ทุกวัน เรามองแล้วมันตลก ซึ่งมันเป็นแพตเทิร์นที่เขาเองก็อาจไม่รู้ตัว
หรือแม้กระทั่งตัวเราเองที่วนเวียนอยู่กับการกินข้าวร้านเดิมๆ เมนูเดิมๆ ฟังเพลงที่ชอบซ้ำไปซ้ำมา ชอบตรงไหนก็ไปตรงนั้น มันอาจเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่ายของใครหลายๆ คน แต่เรากลับมองอีกมุมหนึ่งว่าท่ามกลางความซ้ำซากนั้นสามารถมองให้เป็นเรื่องตลกและสนุกได้ แถมยังได้ไอเดียใหม่ๆ มาสร้างสรรค์เป็นผลงานต่อไปได้อีกด้วย
ภาพ : มณีนุช บุญเรือง
ขอบคุณสถานที่ : PINN Creative Space