ก่อนอรุณจะรุ่ง คือละครน้ำดีเรื่องหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เป็นผลงานการกำกับของ ‘วุธ’ – อัษฎาวุธ เหลืองสุนทร ซึ่งนอกจากเป็นการร่วมงานกับช่อง GMM25 แล้ว ยังเป็นการลองเปิดตาเปิดใจให้คนดูละครในวงกว้าง ในการหยิบเอาเรื่องยากๆ อย่างการล่วงละเมิดทางเพศหรือประเด็นที่หนักหน่วงของสิ่งที่เกิดขึ้นในครอบครัวมาเล่า ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ก็มักจะเป็นยาขมสำหรับผู้ชมในบ้านเรามาแต่ไหนแต่ไร แต่เขาก็ทำออกมาได้สนุกไม่แพ้ละครตบตีแย่งผัวแย่งเมียที่คนส่วนใหญ่ชอบดู
แล้วทำไมเขาถึงไม่เพลย์เซฟด้วยการเลือกทำละครในแบบคนดูชอบ ทำไมละครที่เรียกว่า ‘น้ำเน่า’ ถึงออนแอร์และรีเมกกันไม่จบไม่สิ้นทุกปี จนบางทีเราก็คิดว่านอกจากตัวเองจะโตมากับละครที่สร้างวนไปวนมาแบบนี้แล้ว เด็กรุ่นต่อๆ มาจะต้องพบกับลูปของละครแบบนี้ต่อไปอีกกี่รุ่น เมื่อมองจากประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในฐานะนักแสดง และย้ายตัวเองมาเป็นผู้กำกับของบริษัท ดูมันดี ในวันนี้ มาดูกันว่าเขาจะไขความข้องใจเหล่านี้อย่างไร
ละคร… ที่อยากทำ
“ผมจะทำละครที่ผู้ชมดูแล้วได้อะไรจากสิ่งที่เราทำนอกจากความสนุกสนาน นั่นคือเรื่องราวและสาระที่สามารถนำไปต่อยอด สำหรับละครก็เหมือนกับอาหาร นอกจากจะอร่อยแล้วต้องมีประโยชน์ด้วย ส่วนละครของเราจะประสบความสำเร็จหรือไม่ เราไม่ใช่คนตัดสิน คนดูจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งนั่นคือเรตติ้งหรือกระแส ดังนั้น ความสำเร็จของเรามีแค่การทำงานชิ้นนั้นให้เสร็จสิ้น และตรงตามเป้าหมาย บางเรื่องอาจจะตรงเป้าหมายถึง 120% แต่บางเรื่องได้ 90% ผมก็ถือว่าสุดยอดแล้ว”
ละคร… (ไม่) มีสูตรตายตัว
“การทำงานแบบนี้ไม่มีสูตรตายตัว ไม่เหมือนกับ 1 + 1 = 2 อาจจะเป็น 1.5 + 0.5 = 2 ก็ได้ เราสามารถทำผลลัพธ์เท่ากับสองด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ ในมุมหนึ่งคือความยืดหยุ่น เราไม่ได้ถูกจำกัดไว้ด้วยกรอบ สามารถควบคุมการทำงานได้ด้วยความรู้สึก ถ้าเราสนุกกับมัน ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นแค่เกมสนุกๆ ระหว่างทำงาน ดังนั้น เป้าหมายที่ผมคาดหวังไว้ในปีที่ผ่านมา มีหลายอย่างที่ไม่เป็นตามที่หวัง แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่ได้หวังแต่มันก็มา ต้องเตรียมตัวเตรียมใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ผมจึงชอบตั้งเป้าหมายไว้อย่างเลือนรางมากกว่า เพื่อที่จะได้ปรับตัวตามให้ทัน”
ละคร… ต้องปรับตัว
“ตอนนี้เรามีช่องทางในการเผยแพร่ผลงานหลากหลายแพลตฟอร์มมาก ซึ่งหลายคนก็คิดแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วคนที่เติบโตมาในการทำงานแบบออฟไลน์แล้วต้องเปลี่ยนไปทำงานแบบออนไลน์นั้นต้องปรับตัวพอสมควร เพราะทีมที่เรามีไม่ได้ฝึกมาแบบนั้น แต่ผมเข้าใจความเป็นไปของเทคโนโลยี ผมปรับได้ แต่บางทีถ้าปรับเร็วไปคนที่ตามมาอาจจะปรับไม่ทันก็มี ของแบบนี้ต้องใช้เวลา อย่าลืมว่าคนดูเองก็กำลังปรับตัวเหมือนกัน กลุ่มคนที่ดูละครของผมอาจจะเป็นคนที่ชอบดูละครแบบออฟไลน์ก็ได้ แต่ตอนนี้เขากำลังต้องปรับตัวให้เป็นโหมดออนไลน์ ไม่ต่างกับการปลาน้ำเค็มไปอยู่ในน้ำจืด ดังนั้น ต้องปรับตัวกันทุกฝ่าย”
ละคร… กับการจับจองพื้นที่อันกว้างใหญ่
“อย่างหนังเรื่อง The Matrix นอกจากเรื่องของความสนุกแล้ว ตัวหนังเองก็อธิบายโลกที่อยู่ในอากาศให้เราได้เห็นออกมาเป็นภาษาภาพได้ การทำงานของผมก็อ้างอิงจากหลักคิดนี้ ผมเข้าใจเลยว่าโลกออนไลน์กับออฟไลน์เป็นแค่ความรู้สึกของเรา โลกแห่งความจริงคือโลกที่วัดพื้นที่ได้ แต่โลกออนไลน์พื้นที่ไม่มีที่สิ้นสุด พอไม่มีที่สิ้นสุดคุณก็ไม่รู้จะไปจับจองพื้นที่ตรงไหน คุณไม่รู้หรอกว่าจะเริ่มตรงไหนดี เพราะออนไลน์ไปได้ทุกที่
“คนที่มาเป็นเจ้าแรกๆ ก็เหมือนคนที่จับจองพื้นที่บนโลกออนไลน์นี้เป็นกลุ่มแรก แต่คุณจะพัฒนาพื้นที่ตรงนั้นให้เกิดมูลค่ามากน้อยแค่ไหน ในโลกความจริงคุณไปจองพื้นที่ตรงทะเลทรายก็ไม่มีประโยชน์ คนจึงไปจับจองพื้นที่ข้างแม่น้ำหรือหุบเขา เมื่อก่อนไม่มีรถยนต์ก็ต้องเดินทางด้วยแม่น้ำเพราะสะดวกและรวดเร็วกว่า แต่โลกออนไลน์คุณจะจับจองพื้นที่ตรงไหน จะพัฒนาอย่างไรให้เกิดประโยชน์ได้ ซึ่งทำไม่ได้หรอก เพราะพื้นที่ตรงนี้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด จึงมีคนคิดแอพพลิเคชันต่างๆ ให้คนเข้ามาใช้งานในพื้นที่นี้ และเมื่อเกิดความนิยมขึ้น พื้นที่ตรงนั้นก็จะแพง เช่น เฟซบุ๊ก ยูทูบ หรือกูเกิล การทำธุรกิจออนไลน์จึงต้องหาวิธีว่า ทำอย่างไรให้คนจำเป็นต้องใช้เรา เหมือนสร้างสาธารณูปโภคใหม่ให้กับผู้บริโภค”
ละคร… เพื่อกลุ่มเป้าหมาย
“เราสามารถทำละครหลากหลายแนวก็จริง แต่สิ่งสำคัญที่สุดผมคิดว่าอยู่ที่เราคิดงานให้กับใคร ถ้าทำละครให้คนต่างจังหวัดดูจะใช้ศัพท์ที่สูงก็ไม่ได้ เพราะเขาจะดูแล้วไม่เข้าใจ การทำเนื้อหาขึ้นมาสักชิ้นต้องถามตัวเองให้ชัดก่อนว่าคุณจะทำงานชิ้นนี้ให้ใครดู”
ละคร… ดูเมื่อไหร่ก็ได้
“การที่คนดูรับชมละครตอนไหนก็ได้เกิดเป็นความท้าทายสำหรับผม เพราะว่าเราจะเอาแน่เอานอนกับพฤติกรรมของคนดูไม่ได้แล้ว เมื่อก่อนละครอาจจะมีสูตรของมัน ต้องเปิดด้วยอันนี้และต้องจบด้วยอันนี้ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครเขารอดูแล้ว เราจึงไม่มีปรากฏการณ์อย่างถนนโล่งในวันที่ละครเรื่องดังอวสาน เพราะว่าคนดูจะดูตอนไหนก็ได้ ซึ่งผมมองว่าเป็นเรื่องที่ดีนะ เพราะถ้าเรายึดติดอยู่กับสูตรการเปิดและปิดละครแบบเดิมจะทำงานยากกว่านี้”
ละคร… ใครก็สร้างได้
“เมื่อก่อนใครคิดจะสร้างละครต้องมีเครื่องมือ ต้องมีทุนสูง แต่เดี๋ยวนี้ทุกคนมีช่องทางในการเผยแพร่เป็นสิบๆ ช่องทาง อยู่ที่ว่าคุณจะมีอะไรมาลง อยู่ที่ว่าไอเดียคุณคืออะไร เดี๋ยวนี้ละครไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าใช้เครื่องมือถูกหรือแพงในการสร้างผลงาน ใช้ของเรียบง่ายอาจจะได้ละครที่ออกมาดีก็ได้ เหมือนกับคนทำงานศิลปะสมัยก่อน เขาไม่ได้มีพู่กันที่ดีที่สุด ไม่ได้มีกรอบรูปที่เท่ากันทั้งสี่ด้านเหมือนสมัยนี้ สีก็ต้องฝนดินหรือสกัดออกมาจากพืช แต่เขาก็สร้างผลงานออกมา เพราะเขามีความพยายาม แต่สิ่งที่กลับกันคือ เมื่อทุกอย่างง่ายขึ้นคุณจะขาดความละเอียดต่อความรู้สึกของคน ละครที่ออกมาจะเป็นโทษหรือเป็นคุณมากกว่ากัน
“สำหรับผมการทำละครไม่ใช่สักแต่ว่าอยากจะทำเพื่อความสะใจ เพราะสื่อต้องมีจรรยาบรรณ ทุกคนไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นสื่อ เราควบคุมโซเชียลเน็ตเวิร์กไม่ได้ สิ่งที่คุณทำสามารถไปทุกที่ และบางทีสิ่งนั้นอาจจะเป็นโทษกับสังคมเหมือนกัน
“ที่บอกแบบนี้เพราะเมื่อก่อนคนจะมาเป็นพิธีกรหรือผู้ประกาศยังต้องมีการสอบใบผู้ประกาศข่าว ทดสอบว่าพูดภาษาไทย พูด ร.เรือ ล.ลิง ได้ถูกต้องไหม มีการคัดกรองเยอะมาก แต่เดี๋ยวนี้ใครจะพูดอะไรก็ได้ ไม่มีระดับของภาษาเลย ไม่ต้องสนใจว่าเป็นภาษาทางการหรือไม่ทางการ อยากจะพูดคำหยาบ อยากจะแก้ผ้าโชว์ก็ทำได้ เรื่องแบบนี้ค่อนข้างอันตราย”
ละคร… น้ำเน่ายังไงก็ยังต้องมี
“เพราะส่วนหนึ่งผู้จัดยังไม่กล้า นายทุนเองก็มีส่วน ผมเองก็พยายามนำเสนอละครหลายเรื่องที่พูดเรื่องจริง ทำให้คนดูเห็นว่าละครเครียดๆ ก็ดูสนุกได้ ผมเรียนศิลปะมา ผมโตมากับโรงเรียนที่สอนแบบไทยๆ แต่ผมก็พบว่ามีครูหลายคนที่สอนวิชาน่าเบื่อให้สนุกได้ แต่เมื่อชีวิตของเราขึ้นอยู่กับนายทุน และเมื่อก่อนช่องในโทรทัศน์ก็มีไม่กี่ช่อง ต่อให้เราอยากทำละครแบบนี้ถึงจะทำได้แต่ไม่มีช่องให้ออกนะ แล้วจะทำทำไม (หัวเราะ)
“สุดท้ายเราก็ต้องตามน้ำไปกับเขา แต่ในสิ่งที่ทำเราสามารถสอดแทรกสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น ใน 1 ตอนอาจจะมีประมาณ 5 ซีนที่พูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัว ช่องว่างระหว่างวัย คู่ชีวิต หรือความไม่เท่าเทียมทางชนชั้นในสังคม นอกนั้นจะสนุกสนานเฮฮาไปตามสูตรของเขาก็ต้องเป็นไป ผมพยายามทำให้คนซึมซับไปเองโดยที่ไม่ต้องไปบอกว่าตรงไหนคือสาระ แต่คนที่ดูแล้วเข้าใจ เขาก็เอาไปต่อยอดได้ ซึ่งมีหลายคนที่บอกว่าชอบ นั่นก็ทำให้เราดีใจ หลังๆ เมื่อมีโอกาสและตัวตนมากขึ้น เราสามารถพูดและต่อรองกับนายทุนมากขึ้น จาก 5 ซีนนั้น ก็อาจจะเพิ่มเป็นครึ่งเรื่องหรือมากขึ้นได้ (หัวเราะ)
“เมื่อมีผลตอบรับว่าละครน้ำดีไม่ได้ถูกต่อต้านหรือไม่มีคนดูเหมือนเดิม และได้ผลตอบรับเท่าๆ กับละครตลาด นายทุนก็จะรู้สึกว่าทำได้นี่ ทำไมจะไม่ลองทำ เพราะนอกจากจะมีละครได้ออนแอร์แล้ว ยังได้ภาพลักษณ์ของการแคร์สังคมหรือ CSR ซึ่งก็ดีกับภาพลักษณ์ของช่องหรือบริษัทที่ผลิตด้วย ต่อไปเขาจะมองว่าสิ่งที่ได้มากกว่าการทำเรตติ้งหรือกระแส แต่เป็นการรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เกิดเป็นโอกาสของคนที่คิดจะทำงานแนวนี้ออกมาสู่สังคมมากขึ้น
“เหมือนกับอาหารที่เรารู้ทั้งรู้ว่าฟาสต์ฟู้ดไม่ดี แต่คนก็ชอบเพราะกินง่าย อร่อย และเท่ เป็น propaganda อย่างหนึ่งที่ปลูกฝังมาในโฆษณาว่ากินอันนี้แล้วเท่ แต่จริงๆ แล้วจะเกิดผลเสียในระยะยาว ส่วนของที่คุณรู้ทั้งรู้ว่าดีแต่คุณก็ไม่กิน เพราะคุณรู้สึกว่าไม่เท่ เชย หรือไม่อร่อย ทำไมเราไม่ลองคิดกลับกันล่ะ ทำให้คนรู้สึกว่ากินแบบนี้สิเท่ ยุคหลังๆ จึงมีคนพยายามกินคลีน เพราะทำให้คุณดูมีรสนิยม และรู้จักเลือกใช้ชีวิต ของบางอย่างมันไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสังคม”
ละคร… ที่คนแสดงเป็นแม่อายุแก่กว่าลูกไม่กี่ปี
“(หัวเราะลั่น) ชีวิตของนักแสดงบ้านเราก็เหมือนกับกระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์ก มาเร็วไปเร็ว แต่ก็เป็นคำถามที่บางทีนักแสดงก็ต้องตอบตัวเองด้วย เพราะสมัยก่อน กว่าที่ใครสักคนจะได้บทดีๆ สักครั้ง ต้องใช้ความพยายามกันเยอะ ต้องแคสต์กันเยอะ ต้องพิสูจน์ตัวเองจากบทตัวประกอบ ใช้ความอดทน แต่ตอนนี้แค่ดูว่าคนในโซเชียลเน็ตเวิร์กชอบก็พาเขามาเล่นเลย ผมไม่ได้แอนตี้เน็ตไอดอลนะ แต่ถ้าคุณมีคนสนับสนุนอยู่แล้วคุณก็พัฒนาตัวเองด้วยสิ ให้ไปด้วยกัน แล้ววันหนึ่งคุณก็จะเป็นมืออาชีพซึ่งไม่มีใครได้อะไรนอกจากตัวคุณเอง นี่คือสิ่งที่ผมจริงจัง
“ผมทำละครเหมือนกับเราเปิดโรงเรียนขึ้นมา ผมเป็นผู้อำนวยการที่คอยบอกว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร พ่อแม่เอาลูกมาฝากให้เรียน ลูกจะเติบโตเป็นผู้เป็นคนหรือว่าเละเทะ เหมือนในละครหนึ่งเรื่อง ถ้ามีเด็กใหม่ที่ไม่เคยเล่นละครมาเลย ถ่ายจบปิดกล้องแล้วออนแอร์ ละครเรื่องนั้นจะประสบความสำเร็จได้แค่ไหน ดังนั้น ผมจะมีกฎระเบียบในแบบของผม ซึ่งจะขัดเกลาให้เขาเป็นมืออาชีพหรือเป็นแค่ดาราชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ผ่านไป สิ่งนี้คือความรับผิดชอบของผม ผมไม่สนว่าก่อนหน้านี้คุณจะเป็นอะไรมาแล้วหลังจากนี้คุณจะไปไหน แต่ ณ ปัจจุบัน คุณอยู่ในโรงเรียนของผม คุณจะต้องเป็นผู้เป็นคน รู้จักระเบียบวินัย และเข้าใจเนื้อหาของละครที่เราจะนำเสนอ”
ละคร… ต้องตีความ
“งานศิลปะตีความได้เยอะ ตีความได้หลากหลาย เหมือนเราถ่ายรูปแก้วใบหนึ่ง แล้วเราก็เห็นแก้วใบนี้ในมุมนี้จากรูปที่ถ่าย ก็เหมือนบทประพันธ์ที่แต่งออกมา แต่เราไม่เห็นว่าอีกด้านคืออะไร ตรงนี้คือช่องว่างที่ทำให้เราตีความได้ โดยที่สุดท้ายแล้วแก้วก็ยังคงเป็นแก้วใบเดิมอยู่ เพียงแค่คุณหมุนอีกด้านออกมา ก็จะเห็นสิ่งที่แตกต่างออกไป แล้วตัวละครก็จะมีความกลม มีความเป็นสามมิติ เป็นความสนุกของผมที่พยายามคิดว่า ‘อะไรคือด้านหลังของตัวละคร’”
ละคร… รีเมกอีกแล้ว
“ในความรู้สึกของผม สุดท้ายแล้วถ้าละครอร่อยก็จบ เหมือนการกินอาหาร เรากินส่วนผสมแบบนั้นเหมือนกัน เพียงแต่เปลี่ยนวิธีการบริโภคแค่นั้น ผมว่าละครรีเมกไม่มีผิดไม่มีถูก ขึ้นอยู่กับกลุ่มคนดู ถ้าเขาเข้าใจในบริบท และเข้าใจในตัวผู้ผลิต เราไม่ได้อ่านแค่ตัวอักษรของเจ้าของบทประพันธ์หรือนวนิยาย บางทีเราต้องไปสืบว่าตอนที่เขียนเรื่องนี้ออกมา เขาอายุเท่าไหร่ เขาทำอะไรอยู่ และเขาไปเจออะไรมาถึงเขียนออกมาแบบนี้ เราเข้าไปตรงแกนของบทประพันธ์ พอไปถึงแกน ก็จะมีความมั่นคง แต่กว่าจะไปถึงตรงนั้นเราก็กลัวผิดกลัวถูกเหมือนกัน
“เพราะในปัจจุบันบริบทของสังคมเปลี่ยนไปแล้ว อย่างละครเรื่อง ข้ามสีทันดร ในบทตอนนั้นยังใช้โทรศัพท์บ้านที่มีสายอยู่เลย ทุกวันพระเอกต้องมานั่งรอเพื่อโทรศัพท์หานางเอกหลังจากกลับจากทำงาน แต่พอมาเล่าในปัจจุบันที่มีโทรศัพท์มือถือ ถ้ายึดตามบทประพันธ์เดิม ยังนั่งรออยู่ ถามจริงๆ ว่าคุณจะไม่รู้เลยเหรอว่านางเอกกลับมาหรือยัง ในเมื่อคุณสามารถดูได้จากเฟซบุ๊กหรือสืบกิจวัตรของนางเอกได้มากมายหลายช่องทาง ดังนั้น บางอย่างเราจึงต้องยกทิ้งหรือเล่าเป็นอีกแบบหนึ่ง
“เรื่องยาเสพติดก็เช่นกัน มันเปลี่ยนไปแล้วในยุคนี้ เดี๋ยวนี้ยาเสพติดมันหลากหลายขึ้น มาในรูปแบบขนมก็มี เราต้องมีความรู้รอบตัว ต้องทันสมัย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ จะเปลี่ยนเนื้อหาก็เปลี่ยนได้ แต่อย่าเปลี่ยนแบบซี้ซั้ว ก็ต้องหาข้อมูลมาพอสมควร”
ละคร… ยุคปัจจุบัน
“ละครในตอนนี้ส่วนใหญ่เนื้อหาคือเรื่องของวัยรุ่น เซ็กซ์ ความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืน ความซับซ้อนของความสัมพันธ์ ซึ่งละครเหมือนจะทำออกมาเพื่อตอบรับความต้องการของคนดูในเจเนอเรชันนี้ แต่ผมกลับคิดว่าจริงๆ แล้ว กลายเป็นการปลูกฝังค่านิยมใหม่ๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม คนดูก็รู้สึกว่าไม่เป็นไร มีความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืนก็ได้ เพราะเดี๋ยวก็เปลี่ยนใหม่
“ในอนาคตเด็กและเยาวชนปัจจุบันก็ต้องเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้บริหารประเทศ หรือเป็นหัวหน้าครอบครัว แล้ววุฒิภาวะที่เติบโตมากับอะไรแบบนี้ จะไปเป็นผู้นำใครได้ล่ะ เพราะคุณจะไม่มีความมั่นคงพอ พอทะเลาะกันนิดหน่อยก็เลิกกัน นี่คือการหนีปัญหา ทำไมคุณไม่หันหน้ามาคุยกันว่า ปัญหามันเกิดจากอะไร แล้วก็แก้ไข และถ้าคนแบบนี้ไปบริหารประเทศจะเป็นอย่างไร? …ฉิบหายสิ เพราะปัญหาเกิดคุณก็ทิ้งปัญหาแล้วไปสร้างเรื่องใหม่ เจอขี้หมาอยู่หน้าบ้านทำเป็นไม่เห็นผ่านไป 10 วัน ก็ 10 กอง แทนที่คุณจะมองมันแล้วกวาด ล้าง ทำความสะอาด หรือทำอย่างไรให้หมาตัวเดิมไม่มาขี้ที่เดิม คุณควรคิดไปถึงต้นเหตุของปัญหา แต่คุณไม่คิด หรือคุณย้ายบ้านหนีไปเลย นี่คือวิถีของคนปัจจุบัน ซึ่งมันไม่ใช่ไม่ถูกต้อง
“ก่อนอรุณจะรุ่ง จึงเล่าเรื่องของพ่อที่ข่มขืนลูก ซึ่งเป็นเรื่องร้ายแรง แต่เรามีกติกา คุณอย่าไปตัดสินใครโดยใช้ศาลเตี้ย ไม่ใช่เอาปืนไปไล่ยิงพ่อมันเลย หรือบางเรื่องที่ถูกทำร้ายแล้วค่อยๆ ไปไล่ฆ่าคนที่มาทำร้ายเราทีละคน เรื่องแบบนี้ควรให้กฎหมายจัดการไป หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัว เช่น พ่อไม่ให้เงินหรือพ่อติดคุกไปแล้วทำอย่างไรดี เราจะให้ลูกเจริญเติบโต มีการศึกษาได้อย่างไร ให้คิดจากตัวเองว่าคุณทำอะไรเป็นบ้าง ลองสร้างงานจากสิ่งที่ตัวเองถนัด ไม่ใช่ว่าไปทำงานเป็นโคโยตี้ ไปขายตัว กลายเป็นว่าสังคมเรามีทางออกแค่นี้เหรอ เด็กบางคนอยากเรียนจังเลย แต่พ่อแม่ไม่ให้โอกาสก็ไปขายตัว ไปเป็นสาวไซด์ไลน์ จริงๆ มันมีทางออกอื่นไหม เช่น ทำงานในร้านอาหารหรือทำงานเสริมหลังเลิกเรียนก็ได้ ของแบบนี้ชี้ทางสังคมได้ดีกว่ามาก และวัฒนธรรมไทยที่ดีๆ ทำไมคุณต้องไปเล่าอีกมุมหนึ่ง ในแง่ที่แบบเอาสะใจ เอาเรตติ้ง แล้วเรตติ้งก็ได้ดีแค่วันนั้น แต่สังคมไทยพังไปแล้ว
“ผมเป็นคนหนึ่งที่ไม่กล้าทำละครแบบนั้น ถ้าละครเรื่องไหนที่ทำแล้วไม่อยากให้ลูกตัวเองดู แล้วคุณให้ลูกคนอื่นดูได้เหรอ คุณไม่รับผิดชอบครอบครัวคนอื่นเหรอ ผมจึงทำละครเพื่อสอนให้คนจับปลาเป็น แต่ไม่ได้หมายความว่าแค่ให้จับปลาได้ จากนั้นก็กินกันหมดแล้วจบ ทำแบบนี้ก็ไม่เป็นประโยชน์”