ไชยันต์ ไชยพร

คำถามสู่คำตอบ โสเครติสคนสุดท้าย ชายผู้เคยฉีกบัตรเลือกตั้ง เข้าคูหาอีกครั้งฐานะ New Voter

1.

     รูปถ่ายที่ติดอยู่บนบานกระจกกลางประตูหน้าห้องทำงานของ ไชยันต์ ไชยพร ณ ชั้นหนึ่ง ตึก 2 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดูเก่า วันเวลา อุณหภูมิ และแสงแดดคงลามเลียให้สีของมันซีดจาง เราไม่รู้ว่าระยะเวลาที่แท้จริงที่มันติดอยู่นั้นนานกี่ปี บางที อาจจะมีอายุมากกว่า 13 ปีหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549…

     รูปใบนั้นเป็นภาพคู่ของอาจารย์มหาวิทยาลัยผู้ตัดสินใจฉีกบัตรเลือกตั้งในนามของอารยะขัดขืนต่อการเลือกตั้งที่ไม่ชอบธรรมในสายตาของเขาเมื่อเดือนเมษายน 2549 ต่อการยุบสภาอย่างไม่ชอบมาพากลของรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กับลูกศิษย์ที่มีใบหน้าละม้ายคล้ายอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นั้น

     อาจโดยตั้งใจ นึกสนุก ต้องการเสียดสี หรือเป็นตัวแทนของการตั้งคำถามตามอย่างมีลีลาของเขาในห้องเลกเชอร์ ที่มักโยนประเด็นให้นิสิตขบคิดอยู่เสมอ เราไม่อาจทราบ แต่ที่ตอบได้คือ การเลือกตั้งครั้งนั้นเป็นโมฆะ และการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ถูกวางไว้ว่าจะจัดขึ้นในเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็ไม่เคยเกิดขึ้น ส่วนการทำอารยะขัดขืนของไชยันต์ มีผลให้เขาถูกตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้งยาวนานหลายปี ผ่านพ้นการเลือกตั้ง 3 ครั้ง และรัฐประหารอีก 1 ครั้ง

 

ไชยันต์ ไชยพร

 

2.

     17.00 น. ของวันที่ 24 มีนาคม 2562 การเลือกตั้งทั่วไปจบลงแล้ว

     ‘โสเครติสคนสุดท้าย’ (หากจะเรียกแบบนั้นตามสมญานามที่นิสิตของเขาตั้งให้) ออกไปเลือกตั้งในเขตสวนหลวงใกล้บ้านย่านพัฒนาการ ครั้งนี้เขาไม่ได้ฉีกบัตร แถมยังตัดสินใจกากบาทให้คะแนนพรรคใดพรรคหนึ่งไปแล้วด้วย (ซึ่งหากคุณนึกสนุกอยากทายว่าคือพรรคใด คำใบ้ก็อยู่ในย่อหน้าต่อๆ ไปของบทความ) มากไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในฐานะนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ครู New Voter ตามสำนวนที่ไชยันต์ใช้แซวตัวเอง หรือกระทั่งคนธรรมดาคนหนึ่งที่แม้จะอยู่ในวัยใกล้เกษียณก็ยังรู้จัก BNK48 เขาก็อยากให้เกิดการมีส่วนร่วม และการตรวจสอบของทุกคนในฐานะ active citizen ซึ่งมันอาจจะเริ่มต้นได้จากกระบวนการตั้งคำถาม ทั้งต่ออดีต ปัจจุบัน อนาคต หรือแม้กระทั่งต่อชีวิต และความคิดฝันของเราเอง แบบหลักการเดียวกับ Socratic Method ที่เขาชอบใช้ในการสอนลูกศิษย์

 

ไชยันต์ ไชยพร

 

3.

คำถามที่ 1: คำถามถึงความกระจัดกระจายของข้อมูลข่าวสารและประวัติศาสตร์อันตกหล่น ในการรับรู้ของคนรุ่นใหม่ และ New Voter ผู้ลืมตาตื่นขึ้นมาในโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว

     “คุณต้องตั้งคำถามและเข้าใจธรรมชาติของสื่อที่ตัวเองเลือกรับ ในสังคมสมัยใหม่ ผมมักใช้คำว่า time slice ที่แปลว่า ‘เวลาที่โดนเฉือนออก’ คนอายุ 13-18 ที่ไม่ได้เลือกตั้งตอนนั้น และโตมาในบริบทที่เปลี่ยนไป ก็จะมีความรับรู้แตกต่างจากคนรุ่นเก่า เขาอาจจะไม่ได้อินกับก้อนประสบการณ์ทางการเมืองใหญ่ๆ ที่เคยเกิดขึ้นแล้วล่ะ แต่ละคนจะรับรู้ชุดข้อมูลข่าวสารแบบ time slice เสมอ เป็นแค่ชิ้นๆ ในแต่ละเวลา ไม่ได้เป็นความต่อเนื่อง เขาอาจจะไม่ได้เห็นพัฒนาการ หรือความต่อเนื่องของเหตุการณ์เท่าไหร่

     “โดยเฉพาะคนอายุ 18 ที่ 5 ปีที่แล้วอายุ 13 ซึ่งในขณะนั้นบ้านเมืองกำลังเข้าสู่ภาวะภายใต้รัฐประหารในปี 2557 และย้อนกลับไปอีกที่รัฐประหารปี 2549 คนที่อายุ 13 ก็จะมีอายุแค่ 5 ขวบ เขาก็จะไม่ได้รับรู้ว่าตอนนั้นมีวิกฤตการเมืองอะไรที่รุนแรงมาก เมื่อโตมาหน่อย พอจะรู้ความตอนสักอายุ 13 เขาก็จะเห็นแต่ภาพว่า มันมีการวิพากษ์วิจารณ์การยึดอำนาจ เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ผู้ถืออำนาจเป็นเทรนด์ของสื่ออยู่แล้ว ดังนั้น เขาก็อาจจะไม่เห็นภาพเหตุการณ์ที่มันต่อเนื่องกันมา

     “ภายใต้สื่อสมัยใหม่ มันทำให้การรับรู้แตกกระจาย มันไม่ได้ถูกควบคุมรวมศูนย์เหมือนสมัยก่อนที่มีแค่ฟรีทีวี ช่อง 3 5 7 9 11 การที่ข้อมูลข่าวสารถูกจำกัดและดูย้อนหลังไม่ได้ ไม่ว่าจะอยากรับข่าวหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าเปิดทีวีไป ชุดข้อมูลก็จะถูกรับรู้ในแบบเดียวกันทั้งประเทศ แต่พอเป็นสื่อสมัยใหม่ มันกลายเป็นว่าผู้บริโภคเป็นคนเลือก มันมีความหลากหลาย สามารถเลือกดูในเวลาที่ตัวเองต้องการ ซึ่งพอมีความหลากหลายเยอะ เรื่องราวต่างๆ ทางการเมืองจึงกลายเป็นชิ้นส่วนต่างๆ ที่แตกกระจายไป ขึ้นอยู่กับว่าสื่อเจ้าไหน เพจเฟซบุ๊กอันไหนจะหยิบจับอะไรมานำเสนอ

     “อย่างในยุโรป มีการสำรวจของ CNN ว่าคนรุ่นใหม่เองก็ไม่ค่อยรู้จักฮอโลคอสต์ (การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว) เท่าไหร่ เพราะเขาเติบโตมาในยุคที่สื่อกระจัดกระจาย เขาอาจรู้จักสวัสดิกะในฐานะรูปภาพรูปหนึ่งของนาซีที่เอามาใช้เท่ๆ แต่ไม่รู้ว่ามันเกี่ยวข้องกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อย่างไร เหมือนกรณีของ น้ำใส BNK48 (กรณีนักร้องไอดอลเกิร์ลกรุ๊ปใส่เสื้อที่มีรูปสวัสดิกะขึ้นซ้อมกับวงจนเกิดราม่า) ที่เขาบอกว่าไม่รู้จักสวัสดิกะ และออกมาขอโทษ

     “ส่วนตอนนี้ ในจุฬาฯ เองก็จะมีนิสิตกลุ่มหนึ่งที่ค่อนข้างตื่นตัวทางการเมือง ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้น นิสิตเหล่านี้ก็ค่อนข้างจะมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองในการปฏิเสธรัฐประหาร เรียกร้องเสรีภาพ เรียกร้องให้มีเลือกตั้งโดยเร็วอยู่แล้ว แต่ก็มีนิสิตกลุ่มใหญ่ที่ยังไม่แสดงออก ซึ่งผมคิดว่าเรื่องอัตลักษณ์ทางการเมืองก็มีผล อย่างการเกิดขึ้นของพรรคอนาคตใหม่ที่ตอบโจทย์ของคนรุ่นใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการในการแสดงอัตลักษณ์ของนิสิตกลุ่มหนึ่งว่าเขาเป็นคนหัวสมัยใหม่ เขาไม่จมปลักอยู่กับอดีต เขาไม่จมปลักกับกรอบจารีตเดิมๆ มันอาจเป็นเรื่องของการแสดงตัวตน ทีนี้คนที่ในใจอาจสนับสนุนพรรคอื่นก็อาจจะไม่กล้าแสดงออก เพราะถ้าเขาแสดงออกว่าเขาสนับสนุนพรรคที่ไม่ได้เป็นเทรนด์ในหมู่ของคนรุ่นใหม่ เขาก็อาจรู้สึกว่าประดักประเดิด อาจเกิดความเขินอายหรือเปล่า”

 

คำถามที่ 2: คำถามถึงภูมิทัศน์การเมืองที่ไม่อาจย้อนกลับ และจินตนาการหากไม่เกิดรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2549

     “ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยนไปมาก ผมกำลังจะบอกว่าความขัดแย้งมีอยู่เสมอแหละ แต่พอมีเงื่อนไขเรื่องเทคโนโลยีในการสื่อสารเข้ามา มันทำให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยน เช่น วิกฤตการเมืองช่วงก่อนปี 2549 ที่มันรุนแรง มีมวลชนมาเกี่ยวข้องเยอะมากทั้งสองฝ่าย ก็เพราะด้วยเทคโนโลยีของการสื่อสาร มีสถานีโทรทัศน์ของตัวเอง สามารถออกอากาศแบบเรียลไทม์ สามารถระดมคนและกำหนดเวลาที่คนจะมาได้ จึงทำให้ดึงคนมาได้เยอะมากขึ้น อาหรับสปริงก็เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเหล่านี้

     “แล้วพอเริ่มมีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ มันก็แตกกระจายไป เพราะทุกคนเป็นสื่อได้หมด ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและไม่ดี ข้อดีคือการขับเคลื่อนทางการเมืองมันทำให้มีคนทั่วไปเข้ามาเกี่ยวข้องเยอะขึ้นมากกว่าจะเป็นเรื่องของคณะบุคคล กลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือเป็นเรื่องของชนชั้นนำ มันเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ มันควบคุมไม่ได้แล้วล่ะ

     “อาหรับสปริงเนี่ย หลายประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ แต่ก็เกิดการโค่นล้มอย่างฉับพลันรวดเร็ว อย่างในอียิปต์ ใช้เวลาเดือนกว่าโค้นล้มรัฐบาลที่อยู่ในสภาวะอำนาจนิยมมาต่อเนื่องยี่สิบกว่าปี เมื่อคุณเอาคนออกมาได้เยอะ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างรวดเร็ว สภาวะปกติสุข ความมั่นคงที่จะกลับไปสู่สภาวะที่มีระเบียบมันเลยเป็นเรื่องยาก

     “คล้ายๆ คุณปล่อยเสือเข้าป่า มีคนออกมาเยอะทั้งสองฝ่าย มันก็จะหมิ่นเหม่กับสงครามกลางเมือง นั่นคือช่วงที่โซเชียลมีเดียยังไม่ได้พัฒนามาสู่จุดนี้ แต่ปัจจุบันที่มีสื่อหลากหลาย ทุกคนเป็นสื่อกันเองได้ มีเฟกนิวส์เข้ามา อันนี้จะทำให้คนไม่ถูกระดมไปสู่ท้องถนนได้ง่ายๆ เหมือนเดิม เพราะมันหลากหลายมาก ไม่รู้ว่าข่าวไหนจริง ข่าวไหนปลอม คนก็จะชะงัก

     “การที่ประชาชนออกมาสู่ท้องถนนเยอะๆ จึงอาจเกิดได้ยาก ยกเว้นว่าโซเชียลมีเดียพร้อมใจจะไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนถ้าเป็นแค่เรื่องความกลัวอำนาจ ถึงจุดหนึ่งไอ้ความกลัวมันก็จะหายไป การที่จะออกมาบนท้องถนน มันจะต้องคอยดูว่ามีใครออกมาเป็นเพื่อนหรือเปล่าโดยธรรมชาติ

     “ย้อนกลับไป 19 กันยายน 2549 ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร และเกิดการเลือกตั้งในเดือนตุลาคม พิจารณาจากบริบททางสังคมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ก็ต้องดูว่าผลเลือกตั้งเป็นยังไง ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ส.ส. ที่อยู่กับไทยรักไทยหลายๆ คน เขาเห็นแล้วว่าถ้าเกาะอยู่กับคุณทักษิณคงไปไม่รอด เพราะมวลชนเคลื่อนออกมาเยอะ เขาก็เตรียมพร้อมจะสละเรือทิ้ง ซึ่งก็จะทำให้ไทยรักไทยเล็กลง และอาจเกิดปรากฏการณ์ใหม่ อาจจะมีคนหลักๆ จากไทยรักไทยแตกพรรคมาก็ได้ ซึ่งก็เป็นอะไรที่น่าสนใจ

     “ส่วนตัวผมก็คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้น่าตื่นเต้นพอสมควร ตรงที่ว่าหลังจากการล้มลุกคลุกคลานและความไม่แน่นอนของวิกฤตการเมืองตั้งแต่ปี 2549 ผลการเลือกตั้งก็น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของตัวตัดสินว่า ตกลงแล้วเราจะหลุดจากวิกฤตดังกล่าวนี้ได้หรือเปล่า และถ้าไม่หลุดเราจะทำอย่างไรต่อ เพราะถ้าไม่นับเรื่องจริยธรรมทางการเมืองของฝ่ายควบคุมกลไกที่น่าสงสัย การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเปิดไพ่ชัดเจนว่าเราจะเอาใคร ทุกพรรคต้องเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ เหมือนกัน ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์อยู่เงียบๆ แล้วเกิดพรรคพลังประชารัฐได้เสียงเยอะ แล้วค่อยเชิญมาแบบเซอร์ไพรส์ อันนี้คือชื่อมาก่อน”

 

ไชยันต์ ไชยพร

 

คำถามที่ 3: คำถามถึงคำถามที่ว่าเรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร หากปราสาทที่ยิ่งใหญ่เกิดได้จากทรราชผู้เก่งกาจ แต่ต้องแลกมาด้วยน้ำตาและหยาดโลหิตของประชาชน เราจะยอมแลกไหม?

      “ตอนที่ฟองสบู่แตกก็ส่งผลกระทบกับหลายประเทศ แต่ถ้าเรื่องเศรษฐกิจผมก็ไม่ค่อยมีความรู้พอที่จะตอบได้ว่ามันแย่ไม่แย่อย่างไร ทำไมหลายๆ ประเทศถึงกลับมาได้ ทำไมเราถึงมาถึงจุดนี้ แต่ถ้าตอบแบบรัฐศาสตร์ ถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เรามีการทำรัฐประหารบ่อยที่สุด

     “อย่างของพม่ามีการทำรัฐประหารแค่ครั้งสองครั้ง เขาอยู่ภายใต้การปกครองของทหารเกือบครึ่งศตวรรษ ของอินโดนีเซียมีการทำรัฐประหารครั้งหนึ่ง แต่เขาอยู่ภายใต้ซูฮาร์โตยาวนานมาก (32 ปี) ขณะเดียวกัน ฮุนเซน ของกัมพูชา ก็อยู่ในอำนาจยาวนานมาตั้งแต่พ้นสงครามเย็น และไม่มีรัฐประหารเลย สิงคโปร์ก็ไม่มีรัฐประหารนะ สิงคโปร์อยู่ในอำนาจของพรรค People’s Action Party ของ ลี กวนยู เกือบๆ 30 ปี พรรคฝ่ายค้านง่อยเปลี้ยเสียขา มาเลเซียเองก็อยู่ภายใต้พรรคอัมโนของมหาเธร์อยู่ประมาณเกือบ 30 ปี คำตอบจึงอาจเป็นเสถียรภาพ และไม่ได้เกี่ยวว่าเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่า

     “ของเรามีรัฐประหาร 13 ครั้ง ครั้งที่อยู่ยาวนานที่สุดคือจอมพลสฤษดิ์ และจอมพลถนอม ที่ถ้าเอาสองคนรวมกันก็แค่ 14 ปี หรือแม้แต่เผด็จการรัฐสภาของ ทักษิณ ชินวัตร ก็อยู่ได้ไม่ยาวคือแค่ 1 ปี เพราะฉะนั้น ถ้าจะตอบแบบรัฐศาสตร์คือ เสถียรภาพ

     “ทีนี้ถ้าพูดตามเส้นทางประวัติศาสตร์ของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยคงต้องเลือกล่ะมั้งว่าจะเอาแบบไหน คือถ้าคุณถามว่าทรราช (tyrant) ที่ดีมีหรือเปล่า มันต้องย้อนกลับไปถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองในทศวรรษที่ 7 และ 6 ก่อนคริสตกาล ก่อนที่จะเกิดเพลโตกับอริสโตเติล เพราะนักปรัชญาสองคนนี้เป็นคนที่ทำให้เกิดการแบ่งเส้นที่ชัดเจนระหว่างผู้ปกครองที่ดีกับทรราช

     “แต่ก่อนหน้านี้คำว่า tyrant ไม่ได้มีความหมายในแง่ลบ ทรราชมีความหมายกลางๆ หมายถึงคนที่ขึ้นมายึดอำนาจ และใช้อำนาจได้อย่างมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ซึ่งในทศวรรษที่ 7 และ 6 ก่อนคริสตกาล เกิดการยึดอำนาจในนครรัฐกรีกโบราณมากมาย เป็นปรากฏการณ์ที่เขาเรียกว่า ช่วงเวลาของทรราช ซึ่งพอทรราชขึ้นมา แน่นอนว่าเขาจะต้องจัดการกับศัตรูทางการเมืองของเขา แต่ส่วนใหญ่ทรราชกรีกโบราณจะเป็นขวัญใจของคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่และมีคุณูปการ สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เยอะแยะมากมาย

     “ถ้าถามว่า ผมเชื่อว่ามีทรราชที่เก่งกาจไหม ก็ต้องถามว่าคุณอยากได้แบบ ลี กวนยู ไหม ที่ทำให้เศรษฐกิจดี แต่เสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไม่มี แถมยังมีการลงโทษแบบดั้งเดิมอยู่ เช่น การเฆี่ยนตี หรืออะไรต่างๆ มันก็ต้องแลกกันมั้ง คำว่า ‘แลก’ หมายความว่า เราคงไม่สามารถกระโดดข้ามไปเป็นประชาธิปไตยแบบอังกฤษ หรืออเมริกาได้หรอก เพราะเรามีเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของการพัฒนาต่างๆ ที่ล่าช้า ทั้งของตัวประชาชนเอง หรือของตัวสถาบันทางการเมืองเอง

     “ของอังกฤษเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแบบจารีตก็ประมาณ ค.ศ. 1688 แล้ว 80 กว่าปีแรกหลังเปลี่ยนแปลง เขาก็ไม่ได้ดีกว่าเราเลย ขณะเดียวกันประวัติศาสตร์ประเทศเพื่อนบ้านก็ชี้ให้เห็นเงื่อนไขบางอย่างในภูมิภาคนี้

     “มันก็มีสองมุม เช่น นวัตกรรมด้านชีววิทยา การแพทย์ หรือโคลนนิงทั้งหลาย มันถือกำเนิดขึ้นในสมัยนาซีนะ เพราะมันสามารถเอาคนมาทดลอง มาทำอะไรก็ได้ โดยมีเป้าหมายในการสร้างความยิ่งใหญ่”

 

คำถามที่ 4: คำถามถึงกากบาทส่วนตัว อะไรคืออุดมคติที่ควรยึดถือในการเลือกตั้ง 62 ในฐานะ Active Citizen

     “คุณเดาสิว่าผมเลือกพรรคไหน คือผมถามแบบนี้ เนื่องจากบัตรเลือกตั้งมีใบเดียว ต้องเลือกทั้งผู้สมัครแบบเขต แบบบัญชีรายชื่อ เลือกทั้งแคนดิเดตนายก และก็เลือกแบรนด์พรรคด้วยว่าพรรคมีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ถ้าเรารวมสามสี่ส่วนเข้าด้วยกันคุณคิดว่าพรรคไหนควรได้คะแนนนี้ไปล่ะ หนึ่ง—ผู้สมัครแบบเขตพอดูได้ สอง—บัญชีรายชื่อโอเค สาม—ชื่อชั้นของพรรคพอดูได้ สี่—คนเป็นแคนดิเดตของพรรคต้องชัดเจน ชัดเจนที่หมายความว่าไม่อยู่ภายใต้ใคร

     “ซึ่งหลังวันเลือกตั้งแล้ว ก่อนจะตั้งคำถามถึงสเต็ปต่อไป สิ่งที่ต้องทำให้แน่ใจก็คือว่า มีการทุจริตการเลือกตั้งหรือเปล่า และถ้าทุจริตแล้ว องค์กรที่ทำหน้าที่รับผิดชอบไม่ทำให้เกิดความชัดเจนโปร่งใสก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป ประชาชนก็ไม่ควรจะยอม เพราะไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ มันควรทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้ชอบธรรมเสียก่อน ถ้ามันไม่ชอบธรรมด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวง ก็ต้องหยุดอยู่แค่นี้ก่อน ถ้ามีความไม่ชอบมาพากลก็อย่าเดินหน้าเลย หยุดแค่นี้แหละ

     “คือถ้าตรวจสอบด้วยตัวเองได้ก็ดี และถ้ามีข่าวอะไรมาก็ติดตามข่าว และพอถึงเวลาถ้าเกิดมีความไม่ชอบมาพากล ก็ต้องแสดงพลังให้เห็น ซึ่งการที่ผมพูดแบบนี้มันน่าจะใช้ได้กับคนที่สนับสนุนทุกพรรค ไม่ว่าพรรคไหน ทุกคนต้องยอมรับร่วมกันว่าเมื่อผลประกาศออกมาจะต้องไม่มีการทุจริตเกี่ยวข้อง

     “ส่วนพรรคการเมืองก็ควรเข้าไปตรวจสอบ โดยเฉพาะพรรคที่อาจได้คะแนนเสียงไม่เป็นไปตามที่คาด ส่วนพรรคที่ได้ชัยชนะ ก็ควรต้องแสดงความโปร่งใสให้มีการตรวจสอบ

     “ใน 5 ปีที่ผ่านมา ผมคาดหวังว่าประชาชนน่าจะได้เรียนรู้ในการที่จะไม่ยอมให้ตัวเองถูกชี้นำระดมพลไปอยู่บนท้องถนน และกลายเป็นเครื่องมือของใครได้ง่ายๆ ด้วยเหตุผลที่ไม่ชัดเจน ซึ่ง พรบ. การชุมนุมสาธารณะ ก็กำหนดว่า ถ้าคุณจะชุมนุม ต้องยื่นเรื่องว่าคุณจะชุมนุมเรื่องอะไรอย่างชัดเจน คุณจะไปแตกประเด็นไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญ และอยู่ดีๆ ขยายไปเป็นเขาพระวิหาร ขยายไปเรื่องอื่นๆ แบบนี้มันจะไม่จบไม่สิ้น ดังนั้น ประชาชนควรคิดให้ดีว่าการออกไปชุมนุมต้องมีขอบเขต หรือการลดใช้ hate speech ในโซเชียลมีเดีย ถ้าพูดแบบไทยๆ ก็คือ เลิกคิดแบบทีใครทีมันกันสักทีได้ไหม”

 

ไชยันต์ ไชยพร

 

4.

คำตอบที่ 1: คำตอบของความทุกข์และการแสวงหาความสุขของชีวิต ถึงเหล่ามนุษย์ผู้พยายามฝืนก้าวข้ามข้อจำกัดตลอดกาล

     “จริงๆ แล้วปกติผมไม่ได้สนใจการเมืองนะ เพราะโดยธรรมชาติของวิชาที่ผมสอนจะเป็นเรื่องปรัชญาและทฤษฎี จะไม่ค่อยรู้เรื่องการเมืองไทย เพราะไม่ได้สอนวิชาการเมืองการปกครองไทย ผมจะเขียนงานเพลโต อริสโตเติล รุสโซอะไรไป แต่พอมีวิกฤตการเมือง 2548-49 ขึ้นมา ก็เริ่มจะเข้าไปมีส่วนร่วม ถ้าผมอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์การเมืองช่วงปี 2475 ผมยังต้องไปถามคนอื่นเลย

     “ทีนี้ผมอายุขนาดนี้แล้ว สิ่งที่ผมคาดหวังจริงๆ คือ ผมอยากให้คนเคารพกฎหมาย เช่น เคารพกฎจราจร ผมคิดว่าการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถ้าคุณไปเปลี่ยนแปลงเรื่องใหญ่ แต่เรื่องเล็กๆ คุณเปลี่ยนแปลงไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์ ต่อให้เราเปลี่ยนแปลงประเทศเป็นสาธารณรัฐตอนนี้ ผมก็ไม่คิดว่าประเทศจะดีขึ้นถ้าคุณไม่เคารพกฎหมายพื้นฐาน แต่ถ้ากฎหมายที่มีอยู่มันขัดกับมโนธรรม มโนสำนึก ก็ต้องกล้าที่จะขัดขืนกับกฎหมายเช่นกัน

     “ส่วนเรื่องเชิงโครงสร้าง สิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละสังคมก็จะเป็นไปตามวัฒนธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางการเมืองในที่นั้นๆ ทีนี้พอพูดถึงวัฒนธรรม คุณก็ต้องเข้าใจในแบบวิทยาศาสตร์ว่ามันคือชุดทัศนคติที่กำหนดพฤติกรรมของคน อันนำไปสู่สภาวะดุลยภาพ (Equilibrium)

     “ในการศึกษาวัฒนธรรมทางการเมืองที่เชื่อมโยงกับการเคารพหรือไม่เคารพกฎหมาย เขาก็จะแบ่งประเทศในโลกเป็น 2 แบบ คือกลุ่มวัฒนธรรมทางการเมืองที่เคารพกฎหมาย กับอีกแบบคือตรงข้าม ซึ่งสังคมแบบแรกก็หมายถึง การเคารพกฎหมายจะนำไปสู่ดุลยภาพของสังคม ส่วนประเทศที่ไม่เคารพกฎหมาย ก็คือการที่คนไม่เคารพกฎหมายจะทำให้เกิดดุลยภาพได้เช่นกัน ถ้าพูดแบบนี้อาจจะงง แต่ถ้าย้อนกลับมาที่เมืองไทย ถ้าคุณขับรถไปเจอไฟเหลือง แล้วคุณดันจอด คันหลังก็จะบอกว่ามันทำให้เสียดุลยภาพ เพราะเขาไม่ได้คาดว่าคนไทยจะจอดรถเมื่อเจอไฟเหลือง นั่นคือวัฒนธรรม คือ norm คนส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้ norm นี้ จะด้วยอยากอยู่ หรือทำด้วยนิสัยตามธรรมชาติ หรือไม่อยากอยู่ แต่ไปฝืนมันไม่ได้

     “แต่ถามว่ามีคนส่วนน้อยไหมที่เคารพกฎหมาย มันมีอยู่เสมอ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทุกคนเป็นผลผลิตของโครงสร้างทั้งหมด คำถามคือเราเป็นคนส่วนไหน และเราอยากให้สังคมไทยเคลื่อนจากการไม่เคารพกฎหมาย 70% ให้เคารพ 50% และเอนไปสู่การเคารพที่มากขึ้นไหม ซึ่งผมไม่ได้สิ้นหวังกับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้

     “ส่วนถ้าเป็นเรื่องความสุขเชิงปัจเจก ก็อาจจะต้องเริ่มต้นจากการพิจารณาว่า ไอ้ความสุขที่เราอยากมี มันสอดคล้องกับสมรรถภาพความเป็นจริงของความสามารถหรือสถานะของเราหรือเปล่า ถ้าคุณมีเงินมหาศาล คุณอาจใช้มือถือรุ่นแพงมาก มันก็ไม่ได้เกินตัว แต่ถ้าคุณมีไม่มาก แล้วคุณต้องการความสุขที่เกินเลยไป และในบางทีคุณเอาทุกอย่างทุ่มไปเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมา มันก็ทุกข์ คำตอบมันไม่ได้ยากเย็นหรอก ก็ต้องรู้จักความพอดี

     “แมวมันก็รู้จักตัวมันเองดีว่ามันไม่ควรไปเล่นอะไรกับน้ำมาก เพราะมันไม่ชอบน้ำ เพียงแต่ว่ามนุษย์พ้นจากสภาวะธรรมชาติมาเยอะ จนกระทั่งไม่รู้ว่าตกลงแล้วธรรมชาติของเราคืออะไรกันแน่ เราพยายามก้าวพ้นขอบเขตของข้อจำกัด นี่คือปัญหาของความเป็นสมัยใหม่ เพราะเทคโนโลยีคือการเอาชนะข้อจำกัดของธรรมชาติ และมันก็ทำลายสิ่งที่เราเคยเชื่อว่านี่ขอบเขตของธรรมชาติ ทุกอย่างตอนนี้คือกลายเป็นว่าถ้าเทคโนโลยีตอบโจทย์ ความสุขของเราก็มากขึ้น โดยที่เราไม่รู้ตัวว่ามันเกินเลยไปหรือเปล่า

     “ข้อดีของความเป็นโมเดิร์นคือมันให้เสรีภาพแก่เราเยอะ แต่ข้อเสียคือมันไม่ได้บอกขอบเขตให้เรา ซึ่งขอบเขตเราก็ต้องสร้างเอง ถ้าคุณสร้างไม่เป็น คุณก็จะผิดหวังอยู่เรื่อย”