ภาวิต จิตรกร

ภาวิต จิตรกร | ผู้อยู่เบื้องหลังการก้าวเป็นผู้นำด้าน Digital Content ของ GMM Grammy

กว่า 21 ปี ที่ ภาวิต จิตรกร เป็นที่รู้จักในฐานะคนทำงานโฆษณาฝีมือดีจากบริษัท โอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อนจะก้าวมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็มมิวสิก ในตอนนี้ ซึ่งเขาก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถเฉพาะตัว ที่ใช้เวลาเพียงไม่นานในการพาบริษัทขึ้นเป็นผู้นำทางด้านดิจิตอลคอนเทนต์ ด้วยการนำคลังแสงด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์ที่มี มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับผลักดันให้เกิดโปรดักต์ใหม่ๆ ที่น่าสนใจ และตอบโจทย์คนยุคดิจิตอลได้อย่างอยู่หมัด

ภาวิต จิตรกร

The Turning Point

     ก่อนเข้ามาเริ่มงานกับทางจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ในวันที่ 1 มกราคม 2559 ผมใช้เวลาเคลียร์งานทุกอย่างกับทางโอกิลวี่อย่างสมบูรณ์ และมั่นใจว่าพนักงานต้องได้โบนัส งานในมือเสร็จเรียบร้อย ไม่สร้างภาระทิ้งไว้กับกรรมการผู้จัดการคนใหม่ ผมอยากจากลาโดยมีความเชื่อมั่นว่าเราไม่ได้เดินออกมาแล้วสร้างความเดือดร้อนให้ใคร เพราะสิ่งที่ผมรักที่สุดในอาชีพการงานนั้นมีสองอย่าง หนึ่งคือบริษัทโอกิลวี่ สองคือทุกคนที่อยู่ที่นั่น

     ผมไม่เคยอยากเลิกทำโฆษณาเลย แต่เมื่อตัดสินใจจะเปลี่ยนอาชีพแล้วเราต้องมีสิ่งให้คนจำ มีสิ่งให้คนพูดถึงได้อย่างถูกต้องว่าเราเป็นคนแบบไหน เราทำสิ่งดีๆ อะไรทิ้งไว้บ้าง ไม่ใช่ว่าเดินจากมาแล้วมีแต่คนด่า และผมก็ขอบคุณโอกิลวี่และพี่น้องทุกคนทีทำให้ผมมีวันนี้

 

Work Heart Play Heart

     ผมทำงานโฆษณามา 21 ปี และเชื่อว่าตัวเองทำงานนี้ได้ดีมากพอควร แต่ก็มีบางครั้งที่ผมคิดว่าฝันอีกหลายอย่างที่ผมอยากทำมันก็มีข้อจำกัดบ้างเพราะการทำงานในบริษัทข้ามชาติก็มีกฎข้อบังคับอยู่หลายเรื่อง เมื่อทางจีเอ็มเอ็มแกรมมี่ชักชวนผมมาทำงาน โดยที่ให้อิสระในสิ่งที่ผมจะทำอย่างเต็มที่ ให้ผมลงมือทำสิ่งที่ฝันได้ทุกอย่าง เลยเป็นความรู้สึกว่านี่คืออีกครึ่งชีวิตของตัวเองที่เราจะได้นับหนึ่งใหม่อีกครั้ง นั่นทำให้ผมมีความสุขมากจริงๆ

 

Restructure

     ยอมรับว่าเมื่อเข้ามาทำงานที่จีเอ็มเอ็มแกรมมี่อย่างเต็มตัว ช่วงแรกๆ นั้นวุ่นวายมาก แต่สนุกมากไปพร้อมๆ กัน เพราะโจทย์ที่คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ให้กับผมนั้นเรียบง่ายมากแต่โคตรยาก โดยบอกว่าตอนนี้ทางแกรมมี่มีทุกอย่างที่เรียกว่าเป็นทรัพย์สินของบริษัท คุณจะทำยังไงก็ได้ที่จะเอาของเหล่านี้ไปแปรสภาพให้เกิดเป็นธุรกิจ

     ผมนั่งงมหาคำตอบอยู่กว่าครึ่งปี ในห้องทำงานมีกระดาษโพสต์อิตแปะอยู่เป็นร้อยแผ่น ในการพาบริษัทเดินหน้าต่อไปกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ ผมลงไปคลุกฝุ่นจริงๆ เพื่อให้เข้าใจองค์กรจริงๆ จนในที่สุดจึงพบเห็นโอกาสอยู่รางๆ

 

ภาวิต จิตรกร

 

Step Up

     ยังไม่ได้ทำอะไรมากมายให้สำเร็จ ผมถูกทาบทามให้เข้ามาเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็มมิวสิก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากคุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม, ‘พี่เล็ก’ – บุษบา ดาวเรือง, คุณกริช ทอมมัส และผู้บริหารท่านอื่นๆ ทำให้จุดสตาร์ทของผมได้รับการประคับประคองจากผู้บริหารทุกท่านที่มาช่วยไว้ เพราะตอนนั้นผมเหมือนกับกำลังเดินเข้าไปในคลังสินค้าที่มีของอยู่เยอะมาก และผมก็มีไอเดียเยอะมากแต่การจะทำให้โปรดักต์นั้นเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมก็เป็นเรื่องยากเหมือนกันเพราะต้องมีทั้ง Idea Excellence, Operational Excellence และ Sale Excellence

 

Never Give Up

     ตอนเป็น CMO ผมล้มเหลวหลายจุดมาก (หัวเราะ) คือผมไม่สามารถทำให้สินค้าที่มีคุณภาพเหล่านั้นเข้าไปสู่ความเข้าใจในตลาดได้ ดังนั้น ในระยะเวลาหนึ่งปีที่ผมเข้ามาทำงาน ผมสร้างมูลค่าของโปรดักต์ออกมาได้ไม่มากนัก เพราะรายได้ของแกรมมี่นั้นอยู่ที่หลักหลายพันล้านบาท แต่ผมก็ไม่ยอมแพ้ พอต้องเป็น CEO เราก็โฟกัสความสำเร็จในปีที่ผ่านมา คือการทำให้สินค้าที่เป็นแพลตฟอร์มดิจิตอลเติบโตขึ้น 28% ซึ่งสิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดที่ดี เพราะสื่อดิจิตอลคือทิศทางต่อไปของบริษัท

     งานโชว์บิซต่างๆ ของเราก็ขายบัตรหมดภายในวันเดียว ทำให้ยอดขายของงานโชว์บิซสูงขึ้นกว่า 70% และปรับรูปแบบ Sponsorship Marketing ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 50% ส่วนเรื่องที่ทำแล้วล้มเหลวก็มี ไม่ได้สำเร็จไปหมดนะครับ(หัวเราะ) ส่วนใหญ่ๆ จะเป็นในด้านของการปรับตัว ปรับความเข้าใจในการทำงาน  แต่ผมก็เชื่อว่าคนเรานั้นล้มเหลวได้แต่อย่าล้มเหลวในเรื่องเดิมๆ

 

Understanding your customers

     ความล้มเหลวต่างๆ ที่เกิดจากเพราะความไม่เข้าใจในโครงสร้างองค์กรของตัวผมเอง หรือปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจากอะไรก็ตาม ผมขอรับผิดชอบไว้เองทั้งหมด เพราะสิ่งที่ผมได้กลับมาคือการเรียนรู้ หากเราจะพาองค์กรเดินต่อไปได้นั้น ถ้าไม่ปรับโครงสร้างองค์กรจากภายในเสียก่อนก็ไม่มีทางที่จะตอบสนองความต้องการของคนข้างนอกได้

     โดยเฉพาะองค์กรที่ทำธุรกิจด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์นั้นเป็นองค์กรที่ผูกพันกับความเป็นมืออาชีพ ทุกๆ คนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางหมด คนนี้แต่งเพลงเก่ง คนนี้ทำมิวสิกวิดีโอเก่ง คนนี้ปั้นศิลปินเก่ง อย่าไปอ้างปัจจัยภายนอก เพราะคุณโทษผู้บริโภคไม่ได้ การเข้าใจผู้บริโภคคือหลักพื้นฐานที่แท้จริง เราต้องปรับโครงสร้างองค์กรให้ตอบสนองผู้บริโภค ตอบสนองแพลตฟอร์ม แก้ปัญหาระบบ และตามเทรนด์ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วให้ได้ เพราะถ้าเอาแต่คิดว่าให้องค์กรยืนอยู่ที่เดิมแล้วเดาความต้องการของผู้บริโภคให้ออก ทำแบบนี้ผิดแน่นอน

 

ภาวิต จิตรกร

 

Identifying solutions to problems

     ปัญหาของจีเอ็มเอ็มแกรมมี่คือ คนไม่ซื้อแผ่นซีดีเท่าเดิมแล้ว แต่พวกเขาก็ไม่ได้เลิกฟังเพลง ไปนั่งร้านอาหารเขาก็อยากฟังเพลง เพลงมันไม่ได้หายไปจากชีวิต ซึ่งพฤติกรรมของคนฟังเขาปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินให้เราก็แค่นั้น

     ผมถึงบอกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำเป็นอันดับแรก เราปรับโครงสร้างให้เรียบง่ายขึ้นเพื่อตอบสนองโอกาสทางการค้าแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น เติมบุคลากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่เข้ามาเล็กน้อย การที่เราเติมคนใหม่ๆ เข้ามาเพียง 5% องค์กรก็น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เราไม่ได้ทิ้งคนเก่าที่มี เพราะพวกเขาคือแกนหลักขององค์กร พวกเราวิเคราะห์แหล่งที่มาของรายได้แล้วปรับกันใหม่ สร้างรายได้ที่ทำให้เราเจริญเติบโตได้ และหาแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ในช่องทางอื่น

 

What The Fest! Music Festival

     ปีนี้เป็นการปล่อยโปรดักต์ใหม่ๆ ออกมาตามแผนที่วางไว้ ซึ่งหลายๆ คนคงเริ่มเห็นแล้วอย่าง Music Sticker Premium Content หรือ Artist Content ใน LINE TV ที่อยู่บนแพลตฟอร์มดิจิตอล และโปรดักต์ล่าสุดก็คือ Chang Music Connection Presents ‘What The Fest!’ Music Festival ที่เป็นการสร้างมิวสิกเฟสติวัลเพื่อวัยรุ่นโดยเฉพาะซึ่งมีความเชื่อพื้นฐานที่ว่า การที่วัยรุ่นจะไปสนุกกับงานเทศกาลดนตรีนั้นไม่จำเป็นต้องไปต่างจังหวัดเสมอไป เราทำมิวสิกเฟสติวัลกลางเมืองที่ยิ่งใหญ่ก็ได้ มีวงดนตรีหรือศิลปินที่ฮิตที่สุดในหมู่วัยรุ่น มาเล่นเยอะๆ มีกิจกรรมที่วัยรุ่นสนใจให้เข้าร่วมได้เหมือนกัน การเดินทางก็สะดวก แอร์เย็น ห้องน้ำสะอาด ของกินหาง่าย บางคนที่ไม่สามารถไปค้างต่างจังหวัดก็มาได้เพราะกลับบ้านสะดวก ซึ่งคนกลุ่มนี้มีจำนวนเยอะด้วย และ What The Fest! Music Festival จะเป็นมิวสิกเฟสติวัลกลางเมืองที่มอบประสบการณ์ให้คนทุกกลุ่ม ทุกวัย อยากลองไปมิวสิกเฟสติวัลอื่นๆ ในอนาคต