สำหรับคนที่ไม่ถนัดเรื่องการเงินการลงทุน ตลาดหุ้นเปรียบได้กับดินแดนลี้ลับที่ใครไม่ถนัดก็ไม่ค่อยอยากจะย่างกรายเข้าไป และใช่ว่าทุกคนจะเดินออกมาอย่างผู้ชนะ เพราะการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง Jitta ธุรกิจฟินเทคสัญชาติไทยจึงถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับความตั้งใจที่จะเปลี่ยนมายด์เซตเรื่องการลงทุนให้เข้าใจง่าย และชวนคนมารู้จักกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Invesment) ตามแบบฉบับของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีระดับโลก โดยนำข้อมูลงบการเงินกว่า 10 ปีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มาให้บริการวิเคราะห์บนแพลตฟอร์ม
หนึ่งในหัวหอกสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการเติบโตของ Jitta ตลอดทั้ง 6 ปี ก็คือ ‘อ้อ’ – พรทิพย์ กองชุน หญิงแกร่งมากความสามารถที่พลิกบทบาทจากผู้บริหารฝ่ายการตลาด Google (ประเทศไทย) มาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและ COO (Chief Operating Officer) ของสตาร์ทอัพแห่งนี้ ไม่ว่าจะในตลาดหุ้นหรือวงการเทคโนโลยี เธอเชื่อมั่นว่าความเป็นผู้หญิงไม่ได้ทำให้เธอเสียเปรียบหรือได้แต้มต่อแต่อย่างใด
จากแพลตฟอร์มวิเคราะห์หุ้น ทะยานสู่ธุรกิจ WealthTech ที่ให้ลูกค้าและธุรกิจ win-win กันทั้งคู่
“ตอนก่อตั้ง Jitta เมื่อ 6 ปีที่แล้ว เราเน้นการวิเคราะห์หุ้น ทำเรื่องยากให้ง่าย เช่น เอาข้อมูลงบการเงินของบริษัทจากหลายประเทศทั่วโลกมาวิเคราะห์ผ่านแพลตฟอร์ม Jitta.com ว่าควรจะลงทุนหุ้นไหนดี เพื่อช่วยให้คนนำไปตัดสินใจให้ดีที่สุด เรารู้สึกว่าคนทั่วไปไม่มีข้อมูลเพียงพอ หรือยังวิเคราะห์การลงทุนหุ้นได้ไม่ดีนัก แต่ก็ตอบโจทย์เฉพาะบางคน เช่น คนที่อยากลงทุนเอง บางคนไม่มีเวลาจริงๆ แต่ต้องการลงทุน ต่อให้เขามีข้อมูลดีแค่ไหนก็ลงทุนเองไม่ได้ หรือบางคนมีเวลา แต่ไม่มีวินัย ไม่มีความรู้ที่ดีพอ หุ้นขึ้นก็รีบช้อนซื้อ ตกก็รีบขาย เราเลยกลับมามองว่าการให้ข้อมูลอย่างเดียวจะได้ลูกค้าแค่กลุ่มหนึ่งเท่านั้น เราเลยพัฒนากองทุนส่วนบุคคลที่เรียกว่า Jitta Wealth โดยต่อยอดจากอัลกอริทึมที่ Jitta วิเคราะห์ไว้ แทนที่ลูกค้าจะลงทุนเอง เราใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเป็นหลัก และเป็นระบบ automation ทั้งหมด เพราะฉะนั้น เราเลยคิดค่าธรรมเนียมไม่แพงมาก
“ปกติแล้วค่าบริหารจัดการกองทุนอยู่ที่ 2-3% แต่เราคิดค่าแค่ 0.5% ต่อปี บวกกับส่วนแบ่ง 10% ของกำไรจากการลงทุน ขณะที่บริษัทส่วนใหญ่ต่อให้ลูกค้าขาดทุนก็คิดค่าธรรมเนียมสูง แต่เราจะรอดูก่อน ถ้าลูกค้าได้กำไรเราถึงจะคิด 10% ของกำไร ถ้าหากลูกค้าขาดทุนก็ไม่ต้องจ่าย ลูกค้าส่วนใหญ่บอกว่าโมเดลของเรายุติธรรมดี ถ้าขาดทุน Jitta ก็ไม่ได้ แต่ถ้าลูกค้าได้กำไร เราก็ได้เหมือนกัน เริ่มแรกเราเน้นทำงานผ่านพาร์ตเนอร์ที่มีใบอนุญาตจัดตั้งกองทุนส่วนบุคคล โดยให้พาร์ตเนอร์นำระบบอัลกอริทึมของ Jitta ไปใช้ในการลงทุนให้กับลูกค้าของเขา และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก ปัจจุบันมีคนเข้ามาลงทุนด้วยอัลกอริทึมของ Jitta Wealth มูลค่ารวมประมาณ 2,500 ล้านบาท โดยโฟกัสตลาดในไทยก่อน
“ล่าสุดเรามี Big Milestone ซึ่งก็คือการระดมทุนรอบ pre-series A มูลค่าประมาณ 6.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเยอะมาก เดิมเรามองฟินเทคเป็นภาพใหญ่ว่าธุรกิจของเราจะเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลหุ้น แต่ตอนนี้เราก้าวเข้ามาทำธุรกิจ WealthTech โดยนำเทคโนโลยีมาบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้า ตั้งแต่การเปิดบัญชีไปจนถึงการลงทุนอัตโนมัติ ส่วน Jitta.com มีข้อมูลตลาดหุ้นครอบคลุม 16 ประเทศทั่วโลก จึงตอบโจทย์นักลงทุนในต่างประเทศด้วย ไม่ใช่แค่ในไทย แต่รวมไปถึงสิงคโปร์ เวียดนาม สหรัฐอเมริกา จีน และอินเดีย”
คนไทยมีเงินเก็บในบัญชีหลักล้านล้าน แต่ยังขาดความเข้าใจเรื่องการลงทุน
“เมืองไทยเป็นตลาดใหญ่ มีคนที่มีเงินเก็บในบัญชีประมาณ 100,000-10,000,000 บาทเยอะมาก มูลค่าราว 8.8 ล้านล้านบาท แต่เขาไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไร อาจยังไม่มีความรู้ดีพอ ขาดหลักการลงทุน หรือไม่มีวินัยที่ดีพอจะบริหารจัดการเองได้ Jitta Wealth ก็จะมาตอบโจทย์เรื่องนี้
“ดังนั้น เราควรจะให้ความรู้เขาก่อนว่าทำไมต้องเอาเงินมาลงทุน เพราะถ้าเก็บเงินเฉยๆ ยังไงก็แพ้เงินเฟ้อ แล้วจะทำอย่างไรให้เงินทำงานและงอกเงยในระยะยาว เพราะบางคนไม่อยากรับความเสี่ยงสูง นโยบายของเราคือเลือกการลงทุนที่เน้นคุณค่า ดูตัวธุรกิจเป็นหลักว่าเหมาะสมไหม มีอัตราการเติบโตเรื่อยๆ หรือเปล่า ส่วนแบ่งตลาดเป็นอย่างไร แบรนด์และการเงินแข็งแกร่งแค่ไหน รอซื้อหุ้นในจังหวะที่ราคาเหมาะสม ทำให้เราสามารถตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากลงทุนความเสี่ยงต่ำในระยะยาว
“ตอนแรกเรามองว่าลูกค้ากลุ่มแรกที่เข้ามาใช้บริการจะเป็นคนรุ่นใหม่อายุ 30 ปีขึ้นไป ทำงานมาสักพักและเริ่มมีเงินเก็บ แล้วอยากเอามาลงทุน ที่สำคัญเขาเป็นคนเจเนอเรชันใหม่ที่คุ้นกับการใช้เทคโนโลยี ซึ่งสอดคล้องกับธุรกิจของเราอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงกลุ่มลูกค้าหลักอายุ 30-45 ปีก็จริง แต่ก็มีลูกค้าอายุ 75 ปีด้วย ซึ่งเขาไม่มีปัญหากับการใช้เทคโนโลยีของเราเลย ท้ายที่สุดแล้วมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเจเนอเรชัน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหน อายุเท่าไหร่ เขาจะเริ่มปรับตัวและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีที่มอบความสะดวกได้มากกว่า
“อีกเทรนด์หนึ่งที่คนพูดถึงกันคือเรื่องสังคมผู้สูงวัย คนเริ่มสนใจการลงทุนเพราะกลัวมีเงินไม่พอใช้ตอนแก่ตัว ลำพังแค่เงินเดือนยังไงก็ไม่พออยู่แล้ว เกษียณแล้วก็ไม่มีรายได้จากการทำงาน คนรุ่นใหม่จึงวางแผนการเงินมากขึ้นโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งเรามี Machine Learning หรือ AI เข้ามาทำหน้าที่แทนมนุษย์ เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ได้มีอคติเหมือนกับคน เลยมีศักยภาพด้านการวิเคราะห์ได้ดีกว่า”
สร้างความแตกต่างด้วยผลิตภัณฑ์ที่ ‘เข้าใจ’ ลูกค้าอย่างแท้จริง
“สิ่งที่ทำให้ Jitta ยังคงได้เปรียบและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง คือ
“หนึ่ง เราพิสูจน์ตัวเองในเรื่องการวิเคราะห์หุ้นมานาน เราเขียนโปรแกรมอัลกอริทึมเอง เรามีข้อมูลงบการเงินของบริษัทย้อนหลัง 10 ปีทั้งในไทยและ 16 ประเทศทั่วโลก แล้วเอา Big Data มาวิเคราะห์ ตลอด 6 ปีที่เราลงทุนและเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน เราบอกได้ว่าในระยะยาว Jitta ทำกำไรชนะตลาดได้เลย
“สอง เราสร้างโมเดลธุรกิจเองและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้น ‘ผู้ใช้’ เป็นหลัก ซึ่งก็คือนักลงทุน ทำให้เรารู้ว่า pain point และความต้องการของนักลงทุนเป็นอย่างไร เช่น ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุน ทุกคนรู้สึกว่าที่ผ่านมากองทุนส่วนบุคคลจะเก็บเงินค่าธรรมเนียมทุกปีโดยไม่สนว่านักลงทุนจะได้กำไรหรือเปล่า เราจึงพยายามจะปิดช่องว่างนั้นและตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
“สาม เราเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิตอลซึ่งทำให้ลูกค้าใช้บริการได้สะดวกกว่า ดูพอร์ตรายงานและรับความช่วยเหลือผ่านแชตบอตตลอด 24 ชั่วโมง” ซึ่งข้อนี้ทุกธนาคารก็ทำกันอยู่แล้ว
Disruption ยังไม่จบ อย่าเพิ่งชะล่าใจ
“ทุกคนยังตื่นตัวกับกระแส disruption และพูดถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เข้าสู่ยุคแห่งนวัตกรรม เพราะถ้าไม่ตื่นตัวก็จะถูก disrupt โดยไม่รู้ตัว เพราะคู่แข่งที่เรานึกไม่ถึงจะโผล่ขึ้นมาตอนไหนก็ได้ เพราะฉะนั้น การอยู่เฉยๆ มันเสี่ยงกว่าอยู่แล้ว เราเปลี่ยนจากเฟส inspiration ที่เน้นการพูดให้แรงบันดาลใจ มาอยู่ในเฟสที่เริ่ม implement ในองค์กรอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ดี ท้ายที่สุดไม่ใช่แค่เรื่องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กร แต่เราต้องปรับมายด์เซตของคน ทำยังไงให้มีความยืดหยุ่นสูง ทำงานกระฉับกระเฉง แทนที่จะวางแผนเป็นปีๆ ก็มาทำงานแบบ agility ทำเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยใช้ OKR (Objectives and Key Results) มาใช้ในการตั้งเป้าหมายและจะทำอย่างไรให้สำเร็จ
“องค์กรส่วนใหญ่ทั้งสตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจยังมีปัญหาตรงที่ใช้แนวคิดและรูปแบบการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของคนแบบเก่าอยู่ เช่น โยนตัวเลข KPI ลงไป พนักงานมีหน้าที่แค่ทำงานไปโดยไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำจะมีคุณค่ากับบริษัทมากน้อยแค่ไหน เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตอนนี้บริษัทอยู่ในช่วงวิกฤตหรือจะถูก disrupt หรือเปล่า เพราะถูกจำกัดให้ทำงานตามหน้าที่ของเขา เพราะฉะนั้น ต้องปรับมายด์เซตของคนและตั้งเป้าหมายขององค์กรให้กลายเป็นเป้าหมายของทุกคน มองว่าทุกคนเป็นฟันเฟืองสำคัญของการขับเคลื่อนองค์กร และต้องไปเร็วกว่าคู่แข่ง
“ถ้าคุณอยากเปลี่ยนแปลงอะไร ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมแล้ว คุณต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงานไปสู่เป้าหมาย โดยเอาแนวคิดการทำงาน agility ที่เน้นการปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์กับบริการอยู่ตลอดเวลาและการมีส่วนร่วมของทุกคน หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design thinking) ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้าเป็นหลัก (Customer-centric approach) เข้ามาใช้”
สตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพ แต่คนไทยไม่สนับสนุน
“ระบบนิเวศในไทยมีความพร้อมให้สตาร์ทอัพและคนรุ่นใหม่เข้ามา แต่ก็ยังมีอุปสรรคค่อนข้างเยอะ เช่น มีปริมาณสตาร์ทอัพเกิดใหม่เยอะ แต่สตาร์ทอัพเหล่านี้ยังไม่สามารถก้าวข้ามจากขั้นตอนการพัฒนาไอเดียหรือผลิตภัณฑ์ แล้วขยายไปสู่ธุรกิจจริง ยังเห็นภาพความสำเร็จไม่ชัดเจน ดังนั้น เราก็อยากให้ทุกคนสนับสนุนสตาร์ทอัพไทยกัน เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แล้ว ทั้งในมาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม แต่ไทยยังไม่มี ทั้งที่จริงแล้วสตาร์ทอัพไทยมีศักยภาพอยู่ เหลือแค่ว่าจะขยายธุรกิจอย่างไร ถ้าคุณอยากเป็นยูนิคอร์น ก็ต้องสเกลออกไปในภูมิภาคให้ได้ หรือแม้แต่การระดมทุนกับ venture capital เขาก็จะดูว่าผลงานในตลาดแม่ของคุณดีแค่ไหน ก่อนจะขยายไปยังประเทศอื่น
“หลักการขยายธุรกิจคือ คุณต้องมีฐานสปริงบอร์ดที่แข็งแรง จึงจะสามารถกระโดดไปสู่ระดับภูมิภาคหรือระดับโลกได้ และที่สำคัญที่สุด ทำอย่างไรถึงจะมีคนสนับสนุนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่ venture capital หรือภาครัฐ เพราะถ้าคนไทยไม่ใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการของสตาร์ทอัพไทย เขาจะเติบโตได้อย่างไร บางครั้งคนไทยมีมายด์เซตที่ว่าของต่างชาติน่าใช้กว่า ดูดีกว่า แต่เราต้องมองภาพใหญ่ สตาร์ทอัพไทยอาจมีข้อบกพร่องในการคิดผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมา พอคนเห็นข้อผิดพลาดก็มองว่าไม่น่าใช้แล้ว ที่จริงเราสามารถส่งฟีดแบ็กกลับไปให้เขารีบปรับปรุงพัฒนาต่อได้ แล้วผู้ใช้งานคนอื่นๆ ก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้นด้วย ถ้าพลิกมุมมองและตัดอคติต่อบริษัทคนไทยออก สตาร์ทอัพน่าจะไปต่อได้ เพราะตอนนี้เราอยู่ในระบบนิเวศที่ค่อนข้างแข็งแรงแล้ว ภาครัฐก็สนับสนุน แต่คนไทยต้องช่วยกัน เพราะผู้ใช้งานไม่ได้มีเยอะ
ผู้หญิงไม่มีที่ยืนในวงการเทคโนโลยี หรือแค่มายาคติ กับอคติที่มองไม่เห็น
“ที่จริงเราไม่ค่อยเห็นอคติของผู้ชายหรือการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้หญิงเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้ บางที่อาจจะมีแต่คิดว่าน้อยมาก กลายเป็นว่าผู้หญิงเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้น้อยเพราะคิดว่านี่ไม่ใช่พื้นที่ของตัวเอง เลยไม่ได้เรียนด้านนี้โดยตรง ทั้งที่จริงแล้วผู้หญิงกับผู้ชายมีความสามารถที่จะสร้างนวัตกรรมพอกัน แต่ผู้หญิงอาจรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ที่ของเรามากกว่า ทำให้มีผู้หญิงที่เรียนและเลือกเข้าอุตสาหกรรมนี้น้อย
“เราไม่รู้สึกว่าการเป็นผู้หญิงจะต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชายที่เข้ามาทำงานในสายนี้ เพราะความสามารถไม่ได้แบ่งแยกชายหรือหญิง มันคือความสามารถของบุคคล เพียงแต่เราเป็นคนที่มีความสามารถที่เข้าไปอยู่ในองค์กรที่มีผู้หญิงน้อย พอก้าวไปถึงระดับผู้บริหารก็เจอแต่ผู้ชาย ก็อาจทำให้รู้สึกแปลกแยก แต่จริงๆ แล้วบริษัทในไทยมีผู้บริหารหญิงจำนวนเยอะในระดับที่ดีเลยทีเดียว
“มีผลสำรวจหนึ่งชี้ว่า ผู้บริหารหญิงมีความสามารถด้านการริเริ่มและผลักดันให้เกิดผลลัพธ์ (drive to the result) ได้ดีกว่า ขณะที่ผู้ชายเน้นทักษะทางเทคนิคและการวางแผนเชิงกลยุทธ์ ดังนั้น ผู้หญิงถือว่ามีต้นทุนที่ดี พร้อมจะเป็นผู้นำ เหลือแค่เพิ่มความมั่นใจ สุดท้ายแล้วทักษะที่ผู้บริหารต้องมีคือมีอิทธิพลโน้มน้าวความคิด (infflluence) ชี้แนะหรือให้คำปรึกษาได้ (mentor) และสนับสนุนให้ทีมทำงานร่วมกัน (collaborate) เพื่อผลักดันให้ทุกคนไปถึงเป้าหมายด้วยกัน
“ตอนทำงานในบริษัท Google (ประเทศไทย) เขาก็พูดกันเรื่องนี้ว่า ผู้บริหารระดับสูงมีแต่ผู้ชาย พอผู้หญิงก้าวขึ้นไปตำแหน่งเดียวกันก็จะได้รับการสนับสนุนน้อยกว่า เพราะไม่มีผู้บริหารหญิงมาสนับสนุนว่าเรามีศักยภาพพอ เราก็ต้องกรุยทางเอง ที่น่ากังวลคือ เรื่อง unconscious bias ผู้หญิงอาจไม่รู้สึกว่าตัวเองแตกต่างในที่ทำงาน แต่การปฏิบัติของคนในองค์กรอาจมีอคติแฝงโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น แผนกวิศวกรมีแต่พนักงานชาย เวลาสัมภาษณ์งาน ผู้ชายซึ่งเป็นผู้สัมภาษณ์ ก็มีแนวโน้มจะเลือกผู้ชายที่เรียนจบสายเดียวกัน มหาวิทยาลัยเดียวกัน ชอบอะไรคล้ายๆ กัน มากกว่าวิศวกรผู้หญิง แม้จะมีความสามารถเท่ากันก็ตาม เขาจะเอนเอียงไปเลือกคนที่มีลักษณะคล้ายกันมากกว่าโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น บริษัทใหญ่ๆ ต้องคอยระวังและฝึกให้พนักงานป้องกันการตัดสินใจที่แฝงอคติ เช่น เวลาสัมภาษณ์คนที่มาสมัครงานจะต้องมีผู้หญิงร่วมสัมภาษณ์ด้วยอย่างน้อย 1 คน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอคติ ซึ่งที่ผ่านมาเราเห็นหลายองค์กรสนับสนุนและป้องกันเรื่องความแตกต่างทางเพศหรือ gender gap เหมือนกัน
“แต่สุดท้ายแล้วมันไม่ใช่แค่ความแตกต่างทางเพศ การทำงานใน Google ทำให้เราสนับสนุนเรื่องความแตกต่างในองค์กร เขามีพื้นที่ให้ทุกคนแสดงความสามารถอยู่แล้ว ฉะนั้น มันครอบคลุมเรื่องเชื้อชาติด้วย เขาจะสอนให้คนเคารพซึ่งกันและกัน มองคนที่ความสามารถกับทักษะการทำงานมากกว่าเรื่องเชื้อชาติหรือเพศสภาพ”