สถาบันมะเร็ง

นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ | ภารกิจพิชิตมะเร็งด้วยความรู้และความเข้าใจในโลกแห่งเทคโนโลยีที่ทันสมัย

หลายทศวรรษที่ผ่านมา โรคมะเร็งได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกจนนับไม่ถ้วน ทำให้สถาบันแห่งชาติของทุกประเทศ รวมทั้ง สถาบันมะเร็งแห่งชาติในประเทศไทย ซึ่งนำโดย นพ. วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้มุ่งมั่นค้นหาแนวทางป้องกัน คิดค้นเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อรักษา และตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคร้ายนี้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการศึกษาและทำงานวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง พัฒนาบุคลากรทางแพทย์ เพื่อให้สถาบันมะเร็งแห่งนี้เป็นเสมือนเสาหลักสำคัญให้กับประชาชน และกระจายองค์ความรู้ไปยังสถานพยาบาลด้านโรคมะเร็งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยห่างไกลจากภัยเงียบที่น่ากลัวนี้ให้ได้

สถาบันมะเร็ง

 

Mission Not Impossible

     หน้าที่แรกของสถาบันมะเร็งแห่งชาติคือ การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็ง อบรมและให้ความรู้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ในด้านต่างๆ อาทิ เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการรักษาและตรวจคัดกรอง จัดตั้งนโยบายป้องกันและควบคุมอุบัติการณ์ของโรคมะเร็ง การทำยุทธศาสตร์โรคมะเร็ง รวมถึงการวิจัย การเก็บข้อมูล และสถิติต่างๆ

 

Organizational Development

     ด้วยภารกิจที่เข้มข้นบวกกับสถานการณ์ของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มากขึ้นเรื่อยๆ เราจำเป็นต้องพัฒนาองค์กรให้เติบโต ตั้งแต่การปรับตัวให้ทันต่อการเกิดขึ้นมาของมะเร็งชนิดใหม่ๆ สนับสนุนให้บุคลากรทุกฝ่ายมีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้น และกระตุ้นการสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นสถาบันแห่งชาติ สถานที่ที่สร้างความเชื่อมั่นทางด้านโรคมะเร็งให้กับทุกคน เมื่อคนทำงานมีแนวคิดที่ดี องค์กรก็จะเติบโตและพร้อมรับทุกสถานการณ์ได้ไม่ยาก

 

The Development of Medicine as a Profession

     สถาบันมะเร็งแห่งชาติจะรุดหน้าไปได้ไกล สิ่งสำคัญคือเราต้องสนับสนุนบุคลากรและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้มีความสามารถในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะในสาขาที่ตนเองรับผิดชอบในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งเราเรียกว่า Mr. Cancer ผู้รอบรู้เรื่องโรคมะเร็ง และมีทักษะทางด้านการวางแผนและการจัดการในภาพรวมได้ดี

 

From Cancer Screening to Treatment

     เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ของสถาบันมักเป็นผู้ใช้สิทธิบัตรทอง และมาพร้อมความคาดหวังที่สูงกว่าปกติ ดังนั้น เราจะพัฒนาบุคลากรอย่างเดียวไม่ได้ เราต้องพัฒนาด้านการตรวจและการรักษาด้วยอุปกรณ์ และการใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุด โดยไม่เกี่ยงว่าผู้ป่วยนั้นจะเป็นคนระดับไหน หน้าที่ของเราคือช่วยเหลือทุกคนอย่างเต็มความสามารถ

 

สถาบันมะเร็ง

 

Education and Information

     การให้ความรู้เรื่องโรคมะเร็งก็เป็นสิ่งสำคัญ เราจะต้องตามสังคมและยุคสมัยให้ทันด้วยการพิมพ์แผ่นพับขึ้นมาแจก สร้างแอพพลิเคชัน หรือใช้สื่ออื่นๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพื่อให้ความรู้กับคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น เช่น โครงการ ‘ความอายคือสารก่อมะเร็ง’ ที่เราพบว่าหญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 2,200 รายต่อปี เพราะไม่กล้าเข้ามาตรวจคัดกรอง เราจึงรณรงค์เรื่องนี้ผ่านหนังสั้นเรื่อง ‘อาย’ ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีในระดับชาติ

 

NCI SHORT FILM AWARD 2018

     การรณรงค์ด้วยสื่อใหม่เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เข้าถึงทุกคนทั่วประเทศ เราจึงจัดโครงการประกวดหนังสั้นเกี่ยวกับโรคมะเร็งขึ้นมาอีกครั้ง โดยใช้ชื่อว่าโครงการมะเร็ง 5.0 เนื่องจากปีนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติครบรอบ 50 ปี เราจึงต้องการหนังสั้นที่มีการนำเสนอทุกแง่มุม ภายใต้แนวคิดเชิงสร้างสรรค์ หลากหลายมิติ มีความแปลกใหม่ ไม่มีเรื่องเศร้าจากผู้ป่วย รวมทั้งมีความเชื่อมโยงไปถึงท้องถิ่น สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้โลกโซเซียลเน็ตเวิร์กตื่นตัวกันอีกครั้ง

 

It’s going to happen

     เราเชื่อว่าหนังสั้นที่ผ่านการคัดสรรมาแล้วนั้นจะสามารถนำไปใช้เผยแพร่ในทุกๆ ช่องทางเพื่อการรณรงค์ได้อย่างแท้จริง และยังทำให้ทีมผู้ชนะหรือผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความภาคภูมิใจว่าตัวเองมีส่วนช่วยให้สังคมไทยห่างไกลโรคมะเร็งได้ โดยเชิญชวนคนไทยทุกคนมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ ลดความเสี่ยง เลี่ยงมะเร็ง มะเร็งรู้ก่อนรักษาได้ สะท้อนมุมมองความคิดเกี่ยวกับโรคมะเร็งผ่านการทำหนังสั้นความยาว 5 นาที

 

Corporate Goal Setting

     นอกจากนี้ยังมีสามสิ่งที่เราต้องทำให้ได้คือ หนึ่ง ลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ด้วยการให้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดโรค ด้วยสื่อต่างๆ เช่น การรณรงค์วิธีดูแลตัวเองด้วย 5 ทำ 5 ไม่ ห่างไกลมะเร็ง สอง ลดอัตราการเสียชีวิต ด้วยการกระตุ้นให้คนหันมาตรวจคัดกรองมะเร็งกันตั้งแต่เนิ่นๆ สาม เพิ่มศักยภาพของการวินิจฉัยและการตรวจรักษาให้ได้มาตรฐานและทันท่วงทีของสถานพยาบาลโรคมะเร็งทั่วประเทศ

 

สถาบันมะเร็ง

 

THE DOTS

พ.ศ. 2505 – นพ. สมชาย สมบูรณ์เจริญ เสนอโครงการจัดตั้งสถานตรวจมะเร็งระยะเริ่มแรกขึ้น ที่โรงพยาบาลหญิง (โรงพยาบาลราชวิถี)

พ.ศ. 2511 – พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินมาทรงทําพิธีเปิดอาคารหลังแรก และพระราชทานนามว่า ‘อาคารดํารงนิราดูร’ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ

พ.ศ. 2513 – เสนอโครงการบ้านพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็ง

พ.ศ. 2523 – เสนอโครงการจัดตั้งศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งในภูมิภาค 8 แห่ง

พ.ศ. 2530 – ก่อสร้างตึกพักฟื้นผู้ป่วยโรคมะเร็ง ขนาดเนื้อที่ 100 ไร่ บริเวณคลอง 11 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

พ.ศ. 2532 – ขยายขอบเขตของงานการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งไปสู่ภูมิภาค เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการตรวจวินิจฉัย และบําบัดรักษาโรคมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

พ.ศ. 2560 – ส่งเสริมและให้ความรู้ทางด้านโรคมะเร็งอย่างถูกต้อง พร้อมตั้งเป้าหมายของสถาบันด้วยการลดผู้ป่วยรายใหม่ ลดอัตราการเสียชีวิต และเพิ่มศักยภาพสถานพยาบาลโรคมะเร็งทั่วประเทศ

พ.ศ.2561 – จัดทำโครงการประกวดหนังสั้น NCI Short Film Award 2018 เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วประเทศ

 


โครงการประกวดหนังสั้น NCI Short Film Award 2018

     มีกติกาการส่งผลงานคือ จำนวนสมาชิกในทีมไม่เกิน 5 คน พร้อมตั้งชื่อทีม ส่งผลงานเข้าประกวดได้โดยไม่จำกัดเพศ วัย อายุ หรือการศึกษา เพื่อชิงเงินรางวัลสูงสุด 100,000 บาท พร้อมโล่รางวัล และใบประกาศนียบัตร

     สามารถดาวน์โหลดใบสมัครได้ทาง www.tvburabha.com, www.nci.go.th และส่งผลงานในรูปแบบ DVD พร้อมใบสมัครทางไปรษณีย์มายัง บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด เลขที่ 246/8 ซอยโยธินพัฒนา แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ 10240 วงเล็บมุมซองว่า ‘NCI Short Film Award 2018’ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ถึง 15 ตุลาคม 2561

     สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร. 0-2158-6122 ต่อ 290, 616