ไอติม พริษฐ์

ไอติม พริษฐ์ | บทเรียนจากการเมืองไทย ที่สำคัญที่สุดคือการมั่นคงกับเส้นทางและอุดมการณ์

ก่อนการเลือกตั้ง ’62 จะเริ่มต้นขึ้น ‘ไอติม’ – พริษฐ์ วัชรสินธุ ถูกจับตามองว่าเป็นนักการเมืองเลือดใหม่ไฟแรง ที่จะเข้ามาสานต่อความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ ความคาดหวังและกดดันเททับใส่นักการเมืองหนุ่มคนนี้มหาศาล แต่ทันทีที่การลงคะแนนเสียงจบลงในค่ำคืนของวันที่ 24 มีนาคม 2562 ความคาดหวังก็เปลี่ยนเป็นความผิดหวัง ไอติม และ ส.ส. ในพรรคประชาธิปัตย์โดนทำคะแนนทิ้งห่างในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ และภาคใต้ พื้นที่ที่ควรได้กลับไม่ได้ ส.ส. ที่คิดว่าจะชนะกลับพ่ายแพ้ ค่ำคืนนั้นจบลงด้วยการที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณอาแท้ๆ ของไอติม ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค จากคำสัญญาเรื่องเก้าอี้ในสภาต่ำร้อย

     ช่วงเวลาเดือนกว่าๆ ภายใต้ความขมุกขมัวของผลเลือกตั้ง ที่หลายๆ พื้นที่ไม่ชัดเจน และยังคงอยู่ในกระบวนการสะสางหาข้อสรุป แต่เส้นทางการเมืองในครั้งนี้ของไอติมจบลงแล้ว หลังที่บางกะปิเขต 13 มีการเลือกตั้งซ่อม และผลคะแนนของไอติมเท่ากับผู้สมัครจากจากพรรคพลังประชารัฐ แต่ผลลัพธ์ก็ยังไม่เพียงพอพาเขาเดินเข้าสู่สภา

     บทเรียนที่เขาได้เรียนรู้มากที่สุดจากการเลือกตั้งครั้งนี้คืออะไร ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในวันเลือกตั้งเป็นแบบไหน รวมทั้งทิศทางที่เขาอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์เดินไปคือทิศทางใด เราพาคุณไปรับรู้เรื่องราวทั้งหมดในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้

 

ทำไมเราไม่ถามว่าอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์คืออะไร หลักของประชาธิปัตย์คืออะไรกันแน่ เพราะว่าพรรคการเมืองที่ยังไม่มีตัวตนชัดเจน หรือมีตัวตนที่ชัดเจนแล้วบอกไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ผมก็ไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองจะมีอยู่เพื่ออะไร

 

ความผิดหวังในค่ำคืนวันเลือกตั้ง

     “ผมรู้ค่อนข้างเร็วว่าวันนั้นผมแพ้แล้ว ผมจะมีน้องๆ ทีมสังเกตการณ์ที่เขาคอยโทร.เข้ามารายงานผลของหน่วยที่เขาดูอยู่ พอผ่านมาสักพักเรารู้แล้วว่าผลไม่เป็นอย่างที่เราหวัง ดูหน้าจอทีวีเห็นเขตสาทร-บางรัก ที่คิดว่าประชาธิปัตย์จะเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ก็เข้ามาเป็นอันดับสามอันดับสี่ เห็น ส.ส. อีกคนพิมพ์เข้ามาในกลุ่มบอกว่าเขาแพ้แล้ว ซึ่งทุกคนคิดว่าถ้าเขาแพ้ ทั้งกรุงเทพฯ คงแพ้ อย่างแรกที่ผมทำคือดูแลความรู้สึกของทีมงานก่อน ซึ่งทุกคนทำงานกันหนักมาก ทีมงานคนรุ่นใหม่หลายคนเลือกที่จะเดินตามผม ทั้งที่บางคนไม่ได้ชอบประชาธิปัตย์ด้วยซ้ำ เขาก็เสียใจมาก

     “แล้วพอฟื้นฟูสภาพจิตใจของทุกคนเสร็จแล้ว คนแรกที่ผมคิดถึงคือคุณอภิสิทธิ์ ผมนั่งรถไปที่พรรค แล้วก็เจอคุณอภิสิทธิ์ประมาณ 5 นาที ก่อนที่เขาจะออกมาแถลง ผมเจอเขาแล้วก็พูดเล่นๆ ว่าขอโทษนะครับที่เก็บคะแนนมาได้ไม่ค่อยเยอะ เขาก็ชี้มาที่ผมและผู้สมัครหลายๆ คน บอกว่า ผมต้องขอโทษพวกคุณต่างหาก แล้วก็เดินลงไปและลาออก หลายๆ คนถามว่าผมแปลกใจไหม วินาทีนั้นผมไม่แปลกใจ ผมไม่เคยถามเขาด้วยซ้ำว่าเขาจะลาออกไหม แต่ผมรู้ว่าคุณอภิสิทธิ์เป็นคนรักษาคำพูด แต่ผมว่าก็เป็นอารมณ์ของคนในพรรควันนั้นที่ทุกคนผิดหวัง”

 

ความล้มเหลวของประชาธิปัตย์

     “คงไม่มีใครออกมาพูดว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ประสบความสำเร็จ ส่วนตัวผมคิดว่าถ้าดูบริบทของสังคมไทย ณ วันเลือกตั้ง กับจุดขายหรือจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ มีความรู้สึกว่าเราไม่ได้เข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ของอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งแน่นอน อารมณ์แรกคืออารมณ์ไม่พอใจกับรัฐบาลปัจจุบัน ถึงแม้ว่าประชาธิปัตย์เราจะเสนอว่า เราไม่เห็นด้วยกับการบริหารเศรษฐกิจ เราไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญที่มี ส.ว. เข้ามาเกี่ยวข้อง กลุ่มคนที่ไม่พอใจกับรัฐบาลชุดนี้ก็ไปมองตัวเลือกอื่นว่าสุดกว่าประชาธิปัตย์ในการต่อต้านรัฐบาลชุดนี้ ในทางกลับกัน คนที่คิดว่าทำอย่างไรก็ได้ให้ไม่มีเครือข่ายของคุณทักษิณกลับมา ก็กลับไปมองว่ามีอีกพรรคหนึ่งที่มีการต่อสู้กับสิ่งนี้มากกว่าเรา หรือกลุ่มสุดท้ายซึ่งที่ผ่านมาประชาธิปัตย์เคยได้รับความสนใจเยอะมาก คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เขาต้องการหาอะไรใหม่ๆ หาความหวังใหม่ๆ กับการเมืองไทย ครั้งนี้เขาก็อาจจะมีตัวเลือกที่ชัดเจนกว่า เป็นอะไรที่ใหม่ เป็นอะไรที่ชัดเจนกว่าให้กับตัวเขา

     “เพราะฉะนั้น ความเกลียด ความกลัว ความหวัง ประชาธิปัตย์ไม่ได้เข้ามาเป็นอันดับหนึ่งของอารมณ์ใดก็ตาม ซึ่งทำให้เราในบริบทที่มีบัตรเลือกตั้งใบเดียวไม่สามารถครองใจคนในประเทศได้ ผมคิดว่าความชัดเจนสำคัญ เพราะในฐานะประชาชนที่เข้าคูหา ผมก็ต้องคิดแล้วว่าถ้ากาพรรคนี้แล้วผมจะได้อะไร ในบริบทของการมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว การกาเลือกบุคคลอาจจะไม่สำคัญเท่าการกาเลือกพรรคด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ความชัดเจนเป็นสิ่งสำคัญ และต้องยอมรับว่าความเป็นเอกภาพของพรรคการเมืองเป็นสิ่งสำคัญ พรรคประชาธิปัตย์ในการลงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีคนที่มีความคิดหลากหลายมากจริงๆ ในบางสถานการณ์มันสะท้อนว่าเราเป็นพรรคที่ยอมรับในความแตกต่าง แต่ในวันที่ประเทศต้องการความชัดเจน เขาอาจจะสงสัยว่าประชาธิปัตย์ที่เขาเลือกจะเป็นแบบไหน เขาเลยหันไปหาทางเลือกอื่น”

 

ปรากฏการณ์รัฐบาลเสียงข้างน้อย

     “ตอนนี้ลองดูตัวเลข ต้องยอมรับว่าเสถียรภาพในรัฐบาลชุดนี้คงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่ว่าขั้วไหนขึ้นมา เราก็จะเห็นคะแนนที่เกิน 250 เสียงอยู่ไม่มาก ซึ่งในเชิงปฏิบัตินี่ยากมาก เพราะว่าเมื่อจัดตั้งจริงๆ บางคนต้องไปเป็นรัฐมนตรี บางคนต้องไปเป็นประธานสภา ตัวเลขก็เริ่มลดมาแล้ว และถ้าวันนั้นมีคนไม่สบาย มีคนติดธุระ จะเกิดอะไรขึ้น เพราะฉะนั้น เสถียรภาพคงจะหาไม่ง่าย

     “แต่ในทางกลับกัน ในวันที่รัฐบาลไม่สามารถผูกขาดอำนาจไว้ทั้งหมด ก็เป็นโอกาสที่จะหาการทำงานการเมืองแบบใหม่ที่สร้างสรรค์ ผมเคยพูดเรื่องฝ่ายค้านอิสระ เพราะอาจจะเป็นไปได้ที่จะเกิดปรากฏการณ์รัฐบาลเสียงข้างน้อย ซึ่งเป็นอะไรที่ใหม่กับการเมืองไทย แต่ไม่ใหม่ในประชาธิปไตยสากล และเมื่อจะผ่านกฎหมายอะไร ฝ่ายรัฐบาลก็จะต้องหารือ ปรึกษา ถามความคิดเห็นจากพรรคบางพรรคที่อยู่ฝ่ายค้าน ทุกครั้งที่รัฐบาลจะออกกฎหมายอะไรต้องหยุดคิดแล้ว ต่างจากรัฐบาลที่มีเสถียรภาพแน่นอน ที่จะสั่งให้ ส.ส. ยกมือยังไงก็ได้ การถ่วงดุลอำนาจก็จะมีมากขึ้น และช่องว่างตรงนี้จะทำให้พรรคฝ่ายค้านบางพรรคสามารถทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้านอิสระได้ ไม่ทำตัวเหมือนฝ่ายค้านที่เราคุ้นเคย ที่รัฐบาลเสนออะไรมาก็ค้านหมด นโยบายอะไรดีเราอาจจะสนับสนุนได้ เป็นการทำงานอย่างสร้างสรรค์เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”

 

ไอติม พริษฐ์

 

ผมอยากเห็นประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอิสระ

     “ผมพูดไปตั้งแต่หลังเลือกตั้งไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ ผมอยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านอิสระ อิสระในสองทาง อย่างแรก อิสระในการเลือกไม่ว่าขั้วไหนเป็นรัฐบาล เราจะเป็นฝ่ายค้านอิสระ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะโดนครหาว่าพอไม่ได้เป็นรัฐบาลก็ไปเป็นฝ่ายค้านร่วมกับอีกพรรค แต่เราควรจะประกาศตัวชัดเจนว่าเราจะเป็นฝ่ายค้าน ไม่ว่าฝ่ายไหนเป็นรัฐบาล อย่างที่สอง อิสระในการโหวตเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในการผ่านร่างกฎหมายต่างๆ ในรัฐสภา เป็นฝ่ายค้านที่สร้างสรรค์ ผมว่าการตัดสินใจนี้เป็นการตัดสินใจที่ซื่อตรงต่อคำมั่นสัญญาของพรรค และคำพูดที่คุณอภิสิทธิ์พูดออกไปมากที่สุด เพราะต้องยอมรับว่าไม่ว่าจะไปในทิศทางไหนพรรคประชาธิปัตย์จะถูกมองว่าเป็นการเข้าร่วมรัฐบาลกับแกนนำที่มีความสุ่มเสี่ยงในการทุจริต นี่เป็นทางออกที่ซื่อตรงต่ออุดมการณ์

     “ถ้าสมมติบทสัมภาษณ์นี้ออกไปก่อนวันที่ 15 พฤษภาคม ผมอยากให้ตัวแทนผู้สมัครทั้งสี่ที่จะขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคชัดเจนเหมือนกันว่า เลือกเขาแล้วจะนำพาประชาธิปัตย์เข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมรัฐบาล ถ้าร่วมจะอยู่ในเงื่อนไขอะไร ไม่ร่วมจะอยู่ในเงื่อนไขอะไร เห็นต่างได้ ถ้าอยากร่วมก็บอกมา แต่อยากให้ชัดเจนตรงนี้”

 

มันสำคัญว่าคุณต้องขีดเส้นจริยธรรมให้ชัดมากว่าคุณจะไม่มีวันข้ามไปตรงนั้น คุณต้องหนักแน่นมากๆ ในการเข้ามาทำงานการเมือง ไม่อย่างนั้นมันง่ายมากที่คุณเข้ามาแล้วพอเจอสถานการณ์แบบนี้คุณก็จะไหลไป ท้ายที่สุดแล้วคุณจะตกเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมเหมือนในปัจจุบัน

 

อุดมการณ์ในวันนี้ของประชาธิปัตย์

     “ผมมีความเชื่อว่าถ้าเราอยากได้รับความไว้วางใจจากประชาชน เราต้องรักษาคำพูด ต้องชัดเจนในอุดมการณ์ ต้องต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้น สำหรับผม มันชัดว่าทำอย่างไรจึงจะเรียกความมั่นใจของประชาชนกลับคืนมา แต่แน่นอนว่าอาจจะมีบางคนที่มองว่าต้องตัดสินใจไปอีกแบบหนึ่งถึงจะได้คะแนนเสียงกลับคืนมา มันเถียงกันได้ตลอด

     “แต่ท้ายที่สุดแล้ว ในวันที่เรามาเถียงกันว่าทำอย่างไรคะแนนเสียงถึงจะเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ผมกำลังคิดว่าเราตอบโจทย์ผิดอยู่หรือเปล่า เพราะแทนที่จะถามว่าทำอย่างไรให้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ทำไมเราไม่ถามว่าอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์คืออะไร หลักของประชาธิปัตย์คืออะไรกันแน่ เพราะว่าพรรคการเมืองที่ยังไม่มีตัวตนชัดเจน หรือมีตัวตนที่ชัดเจนแล้วบอกไม่ได้แตกต่างจากพรรคการเมืองอื่น ผมก็ไม่เข้าใจว่าพรรคการเมืองจะมีอยู่เพื่ออะไร เพราะฉะนั้น แทนที่จะมานั่งคุยกันว่าทำอย่างไรคะแนนถึงจะขึ้นคะแนนถึงจะลง มาหาตัวตนกันดีกว่าว่าประชาธิปัตย์ที่แท้จริงคืออะไร ถ้าคุณอ่าน 10 อุดมการณ์ของพรรคที่อยู่บนเว็บไซต์หรือที่จารึกอยู่บนประวัติศาสตร์พรรค มันตอบดีกว่าว่าสิ่งเหล่านั้นนำไปสู่การตัดสินใจอย่างไร ผมคิดว่าตรงนี้มันซื่อตรงกว่า”

 

บทเรียนจากการเลือกตั้ง

     “ผมตั้งคำถามมาตลอดว่าคุณสมบัติของนักการเมืองคืออะไร ถ้าผมจะต้องเตรียมพร้อมและพัฒนาตัวเองเพื่อเป็นนักการเมืองที่ดีที่สุดผมต้องทำอะไร ผมคิดมาตลอดว่าคำตอบคือความรู้ ผมจึงอยากเก็บเกี่ยวความรู้ที่เกี่ยวข้อง ผมจบปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดมา ผมก็เข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษานโยบายของรัฐบาลในหลายประเทศ หลายอุตสาหกรรม เพื่อที่จะเก็บความรู้ที่กว้างและครอบคลุม ทั้งด้านการท่องเที่ยว การศึกษา เศรษฐกิจ หรือสาธารณสุข แต่พอผมได้เข้ามาเป็นผู้สมัคร ส.ส. เขตจริงๆ แล้ว ผมมีความรู้สึกว่าความจริงนั่นไม่ใช่คุณสมบัติที่สำคัญที่สุด

     “สิ่งที่สำคัญกว่าคือความแน่วแน่ในอุดมการณ์ ความแน่วแน่ในจริยธรรม เพราะต้องพูดความจริงว่าในการเมืองไทย ในการเลือกตั้ง ยังมีปัญหาการทุจริตอยู่เยอะมาก ผมเลือกตั้งเสร็จก็มีชาวบ้านวิ่งเข้ามาบอกว่าคุณพริษฐ์รู้ไหม คืนก่อนวันเลือกตั้งมีอะไรๆ เกิดขึ้นบ้างที่ทำให้คนเปลี่ยนใจ และผมคิดว่านักการเมืองทุกคนพอมาเจอความเป็นจริงตรงนี้ก็จะต้องเจอคำถามที่ตัวเองต้องตอบให้ได้ ว่าคุณจะทำตามแบบนั้นไหม แน่นอน ถ้าคุณทำตาม ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะดีขึ้น แต่มันเป็นการผิดจริยธรรม มันสำคัญว่าคุณต้องขีดเส้นจริยธรรมให้ชัดมากว่าคุณจะไม่มีวันข้ามไปตรงนั้น คุณต้องหนักแน่นมากๆ ในการเข้ามาทำงานการเมือง ไม่อย่างนั้นมันง่ายมากที่คุณเข้ามาแล้วพอเจอสถานการณ์แบบนี้คุณก็จะไหลไป ท้ายที่สุดแล้วคุณจะตกเป็นหนึ่งในปัญหาของสังคมเหมือนในปัจจุบัน”

 

ไอติม พริษฐ์

 

ไฟที่ยังคงอยู่ และชีวิตจริงที่ต้องรับผิดชอบ

     “ไฟตรงนั้นยังมีอยู่ คือต้องไปดูว่าแก่นแท้ที่ทำให้ผมเข้ามาทำงานทางการเมืองคืออะไร แก่นแท้คือผมอยากเข้ามาทำงานเพื่อสังคม ความต้องการที่จะเห็นระบบการศึกษาเราดีขึ้น โอกาสทางการศึกษา โอกาสในการรักษาพยาบาลที่กระจายไปอย่างเท่าเทียม อยากจะเห็นเศรษฐกิจเราก้าวหน้า มีการนำเอานวัตกรรมมาใช้ มีอะไรที่ทันสมัยเทียบเท่ากับต่างประเทศ นั่นคือประเทศไทยในฝันที่ผมอยากมีส่วนร่วมสร้างมันขึ้นมา

     “ถามว่าวิสัยทัศน์ตรงนั้นจำเป็นไหมที่ต้องทำผ่านอาชีพการเมือง ต้องบอกว่าไม่จำเป็น แต่ที่ผมเลือกมาเดินในทิศทางการเมือง เพราะผมเชื่อว่าการเป็นนักการเมืองจะสามารถทำให้สิ่งที่ผมฝันไว้ตรงนั้นเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด และซื่อตรงต่อความต้องการของประชาชนมากที่สุด เพราะการเป็น ส.ส. คุณมีอำนาจในการร่าง ในการเปลี่ยนกฎหมาย คุณต่อสู้แทบตายนอกสภา แต่คุณเปลี่ยนกฎหมายแป๊บเดียวก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากกว่า ผมเลยคิดว่าอาชีพทางการเมืองเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ความฝันนั้นมากที่สุด แต่ ณ เวลานี้ก็ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าผมไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. และนอกเหนือจากความฝันแล้ว ผมก็มีชีวิตส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบเหมือนกัน”

 

หน้าที่ของประชาชนในวันนี้และวันข้างหน้า

     “ผมคิดว่าขั้นต่อไป พวกเราทุกคนรวมทั้งผมต้องเป็น Active Citizen เป็นพลเมืองที่ตื่นตัว แต่ละคนจะมีสิ่งที่ไม่เคยมีมานานคือตัวแทนในพื้นที่ของคุณ ไม่ว่าจะอยู่ในเขตไหนก็ตาม อำเภอไหนก็ตาม ทุกจังหวัดมีตัวแทนที่ถูกเลือกตั้งเข้ามา เพราะฉะนั้น ทำหน้าที่ให้เต็มที่ในการตรวจสอบตัวแทนในพื้นที่ว่าเขาทำตามสิ่งที่เขาพูดในวันที่หาเสียงหรือเปล่า เขาช่วยเหลือประชาชนจริงไหม มีการใช้งบประมาณอย่างสุจริตจริงหรือเปล่า ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ที่เราสามารถทำได้ในฐานะพลเมืองประชาธิปไตย

     “ยิ่งไปกว่านั้น ผมคิดว่าในวันนี้ พื้นที่ในการตรวจสอบรัฐบาลจะมีมากขึ้น ซึ่งเป็นสิทธิ์ที่เราควรมีตลอดเวลาที่ผ่านมา และไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งครั้งต่อไปเมื่อไหร่ อีกกี่ปี เราในฐานะประชาชนก็ควรออกมาลงคะแนนกัน เพื่อตัดสินว่าสิ่งที่เลือกไปนั้นคุณพอใจ ไม่พอใจ หรืออยากเห็นการเมืองไปในทิศทางไหน”