โตเกียวมารีนประกันภัย

โตเกียวมารีนประกันภัย | ประกันวินาศภัยที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น กับเส้นทาง ‘To Be a Good Company’ ที่ไม่มีคำว่าสิ้นสุด

เพราะเป้าหมายของธุรกิจที่ดีอาจไม่ใช่แค่การคำนึงถึงเรื่องรายได้หรือผลกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการขับเคลื่อนองค์กรที่เติบโตไปพร้อมๆ กับการพัฒนาสังคมและผู้คนรอบข้าง นั่นคือสิ่งที่ ฮิโระโนะริ คิริว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตเกียวมารีนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ยึดมั่นเสมอมา

เป็นเวลากว่า 30 ปีที่ชายคนนี้ทุ่มเทการทำงานให้กับโตเกียวมารีนฯ บริษัทประกันวินาศภัยที่มีชื่อเสียงยาวนานและเก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ดังนั้น เมื่อเขามารับตำแหน่งหัวเรือใหญ่ในไทย คุณคิริว หรือคิริวซัง (ที่พนักงานโตเกียวมารีนฯ เรียกชื่อเขา) ไม่ลืมที่จะนำวิสัยทัศน์ ‘To Be a Good Company’ มาปรับใช้ในการบริหารงานทุกมิติขององค์กร คุณคิริวมีความเชื่อว่า “การจะเป็นบริษัทที่ดีได้นั้น คนที่เป็นหัวหน้าต้องเป็นแบบอย่างที่ดีก่อน”

     กลุ่มบริษัทโตเกียวมารีน 38 ประเทศทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย ยึดถือวิสัยทัศน์การเป็น ‘To Be a Good Company’ ในการบริหารงาน โดยแนวคิดนี้ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ หนึ่ง Look Beyond Proffiit คือ มองไกลกว่าผลกำไร สอง Empower Our People คือให้ความสำคัญกับบุคลากร และสุดท้ายคือ Deliver on Commitments การปฏิบัติตามคำมั่นสัญญากับลูกค้าและคู่ค้าของเรา เส้นทาง ‘To be a Good Company’ ไม่มีคำว่าสิ้นสุด การที่ธุรกิจของกลุ่มบริษัทโตเกียวมารีนมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าทั่วโลก นั่นเป็นเพราะว่า “เราคำนึงและยึดถือหลักการและการดำเนินงานบนพื้นฐานของความถูกต้องอยู่เสมอ นอกจากจะทำสิ่งที่ถูกต้องแล้ว ยังต้องทำสิ่งที่ดีให้กับสังคมและผู้คนในประเทศด้วย

 

โตเกียวมารีนประกันภัย

 

จุดมุ่งหมายที่มากกว่าแค่ผลกำไร

     แน่นอนว่ากำไรเป็นเรื่องสำคัญสำหรับธุรกิจ แต่อาจไม่ใช่จุดหมายปลายทางในการสร้างความสำเร็จขององค์กร สำหรับผม กำไรของบริษัทเปรียบเสมือนอากาศ ถ้ามนุษย์ขาดอากาศก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้ จุดมุ่งหมายของชีวิตมนุษย์ไม่ใช่การเกิดมาหายใจเท่านั้น แต่เรายังพยายามที่จะทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่าและมีความหมาย เช่นเดียวกับโตเกียวมารีนประกันภัย เราไม่ได้มองแค่ผลกำไร แต่เรายังมุ่งตอบแทนกลับสู่สังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ นอกเหนือจากการส่งมอบสินค้าและการบริการที่ดีแล้ว ผลกำไรที่เราได้จากการประกอบธุรกิจก็ควรจะนำมาต่อยอดสู่การพัฒนาสังคมให้ดียิ่งขึ้นไปด้วย

 

สนับสนุนการศึกษาเพื่อพัฒนาประเทศ

     สำหรับโตเกียวมารีนฯ เราดำเนินกิจกรรม CSR มากมาย เช่น ให้การสนับสนุนมูลนิธิเมาไม่ขับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 รณรงค์การขับขี่อย่างปลอดภัย ผ่านการสนับสนุนเสื้อยืดและป้ายรณรงค์ลดอุบัติเหตุช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่

     และทุกปีเราจะมอบทุนการศึกษาแก่เหยื่อและทายาทของเหยื่อเมาแล้วขับ เพื่อช่วยเหลือและเป็นขวัญกำลังใจ, โครงการมอบหมวกกันน็อกสำหรับนักเรียน, กิจกรรม ‘รักโตเกียวมารีนประกันภัย รักษ์น้ำ รักษ์ป่า รักต้นน้ำลำธาร’ ซึ่งร่วมกับสมาคมภูมินิเวศพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะผู้บริหาร พนักงานจิตอาสา คู่ค้า และตัวแทน ด้วยการสร้างฝายต้นน้ำลำธาร สร้างพลังชุมชนให้เกิดการขับเคลื่อนกิจกรรมการอนุรักษ์จัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในเชียงใหม่ และที่สำคัญ เรายังมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนของสภาสังคมสงเคราะห์ทั่วประเทศ ซึ่งมีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพราะผมเชื่อว่าการศึกษาคือกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ

 

สร้างสังคมที่ดีผ่านการร่วมมือ

     โตเกียวมารีนฯ ของเราก่อตั้งมานานถึง 139 ปี นับว่าเป็นบริษัทประกันวินาศภัยที่เก่าแก่ที่สุดในญี่ปุ่น ผมคิดว่าส่วนสำคัญที่โตเกียวมารีนฯ ยืนหยัดมาได้นับร้อยปี ได้รับความมั่นใจและไว้ใจจากลูกค้าทั่วโลก เพราะเราไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อผลกำไรเท่านั้น แต่สามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้จริงๆ ผมเชื่อว่าการเป็นบริษัทที่ดีจะช่วยสร้างสังคมที่น่าอยู่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นมันจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยถ้าขาดความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร คู่ค้า ลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้เสีย เราทุกคนสามารถร่วมสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้

 

โตเกียวมารีนประกันภัย

 

ผู้นำที่ดีต้องเป็นรากฐานที่แข็งแรงให้ทีมงาน

     แม้ว่าใครจะวางให้ผู้บริหารอยู่บนจุดสูงสุดของพีระมิด แต่สำหรับผม ผมไม่ชอบและไม่เห็นด้วยสักเท่าไร ผมคิดว่าผู้นำที่ดีควรจะอยู่ส่วนล่างที่สุด เพื่อเป็นรากฐานที่แข็งแรง คอยสนับสนุนพนักงานทุกๆ ระดับ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา พวกเขาต้องมีความสุขและพึงพอใจกับงานของเขาก่อน เขาถึงจะไปสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้าได้

     นอกจากนี้ผมไม่ได้มองว่าผู้นำต้องทำได้ทุกอย่าง ต้องเป็นคนที่ออกคำสั่งให้คนอื่นทำตาม มันสำคัญมากที่ผมต้องเรียนรู้จากทีมงานและลูกน้อง เพื่อเรียนรู้ว่าสิ่งไหนที่ตัวเองทำไม่ได้หรือยังไม่เข้าใจ เราจะได้แก้ไขและปรับปรุงเพื่อช่วยเหลือให้การทำงานราบรื่นยิ่งขึ้น

 

ธุรกิจต้องเข้าใจความรู้สึกของคนและสังคม

     ผมเริ่มต้นการทำงานกับโตเกียวมารีนฯ ที่ญี่ปุ่น จากนั้นก็ย้ายไปบราซิล และล่าสุดก็ในประเทศไทย สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานหลายๆ ประเทศคือ เราต้องยอมรับความแตกต่างของผู้คนเสมอ เพราะแต่ละประเทศมีวัฒนธรรม ภาษา และสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน ตอนอยู่บราซิลผมต้องเรียนพูดโปรตุเกสและต้องปรับตัวอย่างมาก ผมเรียนรู้ว่า การเข้าไปทำธุรกิจไม่ใช่แค่เพียงคิดแต่เรื่องธุรกิจ เราต้องเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของคนประเทศนั้น เข้าใจวัฒนธรรมของเขา ธุรกิจของเราต้องเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่กับผู้คนและสังคม

 

บทเรียนจากการแลกเปลี่ยนและเรียนรู้วัฒนธรรมไทย

     ผมคิดว่าคนไทยสุภาพมาก ยิ้มตลอดเวลา และมีความเห็นอกเห็นใจสูง โดยเฉพาะกับคนญี่ปุ่น ผมสัมผัสได้เลยว่าคนไทยชอบคนญี่ปุ่น แล้วไปเที่ยวญี่ปุ่นกันบ่อยมาก จนอดสงสัยไม่ได้ว่าไปทำอะไรกันนัก (หัวเราะ) ทุกวันนี้ผมเรียนภาษาไทยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง แต่ผมยอมรับเลยว่าภาษาไทยยากมาก (ลากเสียง) ถึงอย่างนั้นผมก็ไม่คิดจะหยุดเรียน นอกจากนี้ผมก็เรียนมวยไทยและจะเริ่มเรียนเซปักตะกร้อด้วย เพื่อจะได้เข้ากับวัฒนธรรมไทยได้ดีขึ้น