400 คือตัวเลขกลมๆ ของจำนวนคนบนโลก เทียบจาก 7 พันกว่าล้านคน คิดเป็น 0.000000057% เท่านั้น ที่พิชิตยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกทั้ง 7 ลูกใน 7 ทวีป ยอดเขาเหล่านี้ประกอบด้วย เอเวอเรสต์ (ทวีปเอเชีย) อากองกากัว (ทวีปอเมริกาใต้) เดนาลี (ทวีปอเมริกา) คิลิมันจาโร (ทวีปแอฟริกา) เอลบรุส (ทวีปยุโรป) วินสันแมสซิฟ (ทวีปแอนตาร์กติกา) และปุนจักจายา (ทวีปออสเตรเลีย)
การพิชิตยอดเขาทั้งเจ็ด ผู้ที่ทำได้เป็นคนแรกคือ นายริชาร์ด เบส นักธุรกิจชาวอเมริกาที่ทำสำเร็จไปในปี 1985 หรือเมื่อราว 34 ปีที่แล้ว ในขณะที่ ‘หมออีม’ – นภัสพร ชำนาญสิทธิ์ เป็นหญิงไทยคนแรกที่ทำได้ เธอทำสำเร็จมาหมาดๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมานี้เอง เรื่องราวประสบการณ์ความเหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า น่าท้อแท้ใจของเธอที่ฟันฝ่ายอดเขาทั้ง 7 ลูกมา กลับกลายเป็นเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมายในการฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตที่เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้า และน่าท้อแท้ใจเช่นกัน
เราทุกคนล้วนมียอดเขาสูงของตัวเอง เรามีปัญหาหรืออุปสรรคต่างๆ ในชีวิตประจำวันที่ต้องเผชิญ ต้องฟันฝ่าไป เมื่อเราเหนื่อยมากๆ เราก็ท้อ เราไม่รู้ว่าจะดำเนินชีวิตไปทางไหนต่อ จริงๆ มันก็มีอยู่แค่สองทางให้เลือก หนึ่ง เราอาจจะถอยหลังกลับ หลีกหนีความยากลำบากต่างๆ กลับไปสู่พื้นที่ปลอดภัยของเรา หรือสอง เลือกที่จะเดินต่อไปเรื่อยๆ
หมออีมเลือกข้อสอง เธอเดินแบบนับก้าวไปก้าวต่อก้าว แต่ละก้าวคือความสำเร็จ แต่ละก้าวคือสติและการอยู่กับปัจจุบันขณะ จนสามารถพิชิตยอดเขาอันเป็นเป้าหมายได้ เมื่อกลับลงมา เธอเติบโตและกลายเป็นอีกคน คนที่เต็มเปี่ยม ตื่นรู้ และเข้าใจธรรมชาติที่แท้จริงของชีวิต ว่ามันไม่ต่างจากการปีนเขาเหล่านั้นเลย
การพิชิต 7 ยอดเขาที่สูงที่สุดในโลกใน 7 ทวีปนั้นสนุกสนานหรือเหน็ดเหนื่อยอย่างไรบ้าง
ความเหนื่อยล้า ความท้อใจ เรื่องพวกนั้นเราเตรียมใจไว้แล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าตอนช่วงขาขึ้น เราจะรู้สึกว่ามันเหนื่อยมากๆ เลย เหนื่อยแบบ เฮ้ย! ทำไมถึงเหนื่อยขนาดนี้ เหนื่อยจนจะทนไม่ไหวแล้ว แต่เอาเข้าจริงเราก็ยังเดินไหวอยู่ เรายังไปต่อได้อยู่ เวลาปีนภูเขาสักลูกที่มีความสูงมากๆ เขาจะมีแคมป์อยู่เป็นระยะ เหมือนเป็นเช็กพอยต์ที่พอขึ้นไปแล้วก็ยังพอกลับลงมาได้ มีจุดพักนี้ไม่ต่ำว่า 3-4 แห่ง เพื่อปรับสภาพร่างกาย ถ้าใจเราไม่สู้ บอกตัวเองว่าไม่ไหว เราสามารถหันหลังกลับลงมาได้เลย แต่ตอนนั้นเราก็ก้าวต่อไปเรื่อยๆ ถึงแม้ร่างกายเราจะรู้สึกว่าเหนื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้วก็ตาม
อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณเดินต่อไป ทั้งที่ในใจก็คิดว่ามันไม่ไหว มันเหนื่อยมากแล้ว
หลายๆ ครั้งเวลาที่เราจะไปให้ถึงจุดหมายปลายทาง เรามักจะมองไปที่จุดหมายอย่างเดียวเลย ถ้ามองแบบนี้ เราก็จะรู้สึกว่ามันไกลมาก มองออกไปเท่าไหร่ก็ไม่เห็นอยู่ดี ไปไม่ถึงสักที พอเป็นแบบนี้ก็จะลดทอนกำลังใจเรา พอถึงจุดหนึ่ง เราบอกกับตัวเองว่าไม่ต้องมองเป้าหมายอะไรให้ไกล เป้าหมายของเราอยู่แค่ก้าวต่อไป ก้าวตรงนี้ ก้าวไปเรื่อยๆ เรามุ่งมั่นอยู่แค่ปัจจุบันขณะ เราก้าวให้สำเร็จ ณ ขณะนั้น ทุกๆ ก้าวคือความสำเร็จ คิดแค่นั้นจริงๆ เราพบว่าการคิดอะไรมากมายนั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลย การไม่คิดกลับช่วยเราได้มากกว่า เพราะว่าจะได้ไม่ไปฟุ้งซ่านอยู่กับอนาคตที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราไม่ต้องไปกังวลกับอะไรอย่างอื่นเลย เราอยู่แค่ก้าวปัจจุบัน
ถึงแม้จะไม่ได้มองไปที่จุดหมายไกลๆ แต่มีบ้างไหมที่คุณนึกเสียใจกับการตัดสินใจออกเดินทางทริปนี้ ทำไมฉันไม่นั่งทำงานที่โรงพยาบาลดีๆ ฉันออกมาเดินเขาทำไม
(หัวเราะ) ใช่ค่ะ บ่อยเลย ระหว่างที่เดินอยู่ เราก็จะคิดย้อนว่าทำไมไม่นั่งทำฟันอย่างมีความสุขอยู่ที่โรงพยาบาล แต่มันน่าแปลกนะ ตอนที่เรานั่งทำฟันอยู่ที่โรงพยาบาล เรากลับคิดว่าอยากขึ้นไปบนภูเขาจัง นี่คือสิ่งหนึ่งที่จะบอกได้ว่าเรามักจะไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบันสักเท่าไหร่ มักจะคิดถึงความสุขในอดีต หรือคาดหวังถึงสิ่งที่เราจะได้ทำในอนาคตอยู่เสมอ ซึ่งเราคิดว่าการอยู่กับปัจจุบันโดยที่ไม่คิดถึงเรื่องราวในอดีตหรือในอนาคต อาจจะเป็นสิ่งที่ยากกว่าการปีนเขาเสียอีก
คุณปีนเขามา 7 ลูก ทุกๆ ครั้งที่กลับลงมาแล้วกลับขึ้นไปอีก คุณเคยถามตัวเองไหมว่าทำไม
เราไม่สามารถหาคำตอบได้ว่าทำไม ตอนอยู่บนนั้นเราทรมานเหลือเกิน เราบอกตัวเองว่าจะไม่เอาอีกแล้ว แต่เราก็ยังกลับไป กลับไปหาสิ่งที่เราเคยคิดว่าจะไม่กลับไปอีก อาจจะเป็นเพราะว่าช่วงเวลาที่ได้อยู่ข้างบนนั้นเราได้อยู่กับตัวเอง เป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งเลย แม้จะทุกข์ทรมาน แต่ก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ตอนที่อยู่ข้างล่าง เราใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แล้วก็มักจะหลุดลอยไป เรามีความสะดวกสบายในชีวิต แต่ทำไมเรากลับไม่มีความสุขเลย แต่พอเราไปอยู่ในสภาวะหรือในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เรากลับพอใจมากกว่า
สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ เพียงแค่ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตง่ายๆ ก็ทำให้เรามีความสุขได้แล้ว พอเราลำบาก พอเราทุกข์ เราถึงได้รู้สึกว่าสิ่งที่สำคัญกับชีวิตจริงๆ นั่นคือสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา ทุกอย่างที่อยู่ตรงหน้าเลย เมื่อเราอยู่กับความสะดวกสบายข้างล่าง เราไม่เคยอยู่กับปัจจุบัน เราหลุดลอยไปในอนาคต หรือไม่ก็คิดถึงเรื่องราวในอดีต เราไม่เคยรู้สึกเลยว่าสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้มีค่าและดีแค่ไหน แต่พอขึ้นไปอยู่บนยอดเขา เรารู้สึกว่ามีชีวิตอยู่ เราได้ชื่นชมกับทุกย่างก้าว เรารู้สึกว่าความสุขนั้นเกิดขึ้นได้ง่ายมากข้างบนนั้น ทั้งๆ ที่เราทุกข์ทรมาน เราสามารถเข้าถึงสิ่งนั้นได้ ทุกที่ ทุกขณะ มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการเข้าถึงสิ่งนั้น เพียงแต่เราอาจจะถูกเมฆหมอกบางอย่างบดบังจิตใจของเรา ความจริงทุกคนมีจิตใจที่สามารถเข้าถึงความจริงของธรรมชาติได้
หลังจากที่ปีนยอดเขามาครบทั้ง 7 ลูก ชีวิตคุณได้สิ้นสุดลงแล้วหรือเปล่า ทุกสิ่งทุกอย่างสำหรับคุณมันได้จบลงแล้วหรือเปล่า
ความรู้สึกระหว่างตอนที่จบยอดเขาเอเวอเรสต์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว กับตอนที่จบยอดเขาเดนาลีลูกล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วนั้นแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ตอนเอเวอเรสต์ เราปีนด้วยความฝัน เราไปยึดเหนี่ยวว่าเอเวอเรสต์คือทุกอย่างของเรา เราตื่นขึ้นมาทุกวันๆ เพื่อที่จะทำทุกอย่าง เพื่อที่จะไปให้ถึงความฝันนั้น พอเราทำสำเร็จ ก็รู้สึกเหมือนทุกอย่างหายไปเลย สิ่งที่เราเคยยึดเหนี่ยวมาโดยตลอดนั้นหายไป เอเวอเรสต์หายไป ความฝันหายไป เราตื่นขึ้นมาในเช้าอีกวันด้วยความรู้สึกที่ไร้เป้าหมายในชีวิต เราจะทำอะไรต่อไป ทำไปเพื่ออะไร ความฝันจบลงแล้ว มันเคว้งคว้างมาก เหมือนเป็นโรคซึมเศร้าเลยล่ะ ไม่รู้ว่าจะไปคุยกับใครดี จะมีใครเข้าใจเราไหม ในใจเราก็สงสัย เอ๊ะ ก็ทำสำเร็จแล้วนี่ จะมานั่งห่อเหี่ยวทำไม
เรามีความรู้สึกแบบนี้อยู่นานมาก จนกระทั่งเราได้แบ่งปันเรื่องราวนี้กับคนอื่น ทำให้เราเห็นว่ามันมีประโยชน์ เรื่องราวของเราไปบันดาลใจให้หลายๆ คนลงมือทำอะไร อะไรที่เขาไม่คิดว่าเขาจะทำได้ สิ่งนั้นกลับมาเป็นพลังให้เรา พลังเหล่านี้ที่เราส่งต่อให้คนอื่นไปก็ย้อนกลับมาเป็นพลังให้แก่เราด้วย เรารู้สึกได้ว่าสิ่งที่เราทำนั้นมีประโยชน์และไม่ได้ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียว
หลังจากนั้นเราก็มีโครงการขึ้นมาใหม่ คือการปีนอีก 6 ลูกที่เหลือให้ครบ เป็นการได้กลับไปทำในสิ่งที่รักอีกครั้ง หลังจากจบยอดเขาเดนาลีลูกสุดท้าย เราไม่มีความรู้สึกแย่ๆ แบบนั้นอีกเลย เราทำเป้าหมายนี้สำเร็จแล้ว แต่เราก็จะมีชีวิตต่อไปอีก เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่ว่าจะต้องไปมองหาภูเขาลูกไหนๆ เพื่อที่จะปีนต่อไปอีก
เราได้เรียนรู้ว่าสิ่งสำคัญในชีวิตคือทำอย่างไรที่เราจะสามารถอยู่กับตัวเองได้โดยไม่ต้องหาสิ่งภายนอกมาทำให้เรารู้สึกดี เราสามารถอยู่กับตัวเองได้ทุกสถานที่ ทุกสถานการณ์ ภูเขาทั้ง 7 ลูกทำให้เราเรียนรู้สิ่งนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าไม่ต้องหาภูเขามาเติมเต็มความรู้สึกอีกแล้ว เราเพียงแต่ปีนเขาต่อไป ปีนด้วยความรักในสิ่งที่ทำ แล้วเราก็รู้สึกทุกครั้งเลยว่าเราได้ขัดเกลาตัวเองมากขึ้น เป็นเหมือนการบังคับให้ตัวเราอยู่สถานการณ์ที่ยากลำบาก เลือกอะไรไม่ได้นอกจากเรียนรู้ไปกับมัน เราไม่ได้ต้องการการเติมเต็มแบบเดิมอีกต่อไป
เมื่อก่อน เราพยายามหาอย่างอื่นมาเติมเต็มเพราะรู้สึกว่าเราขาด เราหาความหมายของชีวิต หาอะไรบางอย่างในชีวิต เราหาคำตอบว่าเกิดมาทำไม เกิดมาเพื่ออะไร เคยคิดว่าทำไมชีวิตมีแค่เกิด แก่ เจ็บ ตาย แค่นี้เองเหรอ เรารู้สึกว่ามันจะต้องมีอะไรมากกว่านี้สิ แต่วันนี้รู้ว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อที่จะหาความหมายที่ยิ่งใหญ่อะไรในชีวิต ความจริงนั้นไม่ได้ยิ่งใหญ่อะไรเลย เราเกิดมา ดำรงอยู่ ณ ชั่วขณะนั้น ทำสิ่ง ณ ขณะนั้น ถ้าเรามัวแต่ไปวุ่นวายถือสาหาความก็จะไม่มีวันเจอ เรารู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องหาอะไรอีกต่อไป เพียงแต่ใช้ชีวิต ณ ขณะนั้น อยู่กับชั่วขณะนั้น เอเวอเรสต์ของเรามีได้เรื่อยๆ เอเวอเรสต์ของเราในตอนนี้คือเราอยากเข้าใจให้มากกว่านี้ ตื่นจากอวิชชาให้ได้มากกว่านี้
มนุษย์เรามีศักยภาพแค่ไหน เราสามารถที่จะเติมเต็มตัวเองและปลุกตัวเองให้ตื่นแบบนี้ได้ไหม
เราว่ามันเหมือนกับการปีนเขา การเผชิญสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองเพียงลำพังไม่มีทางทำได้ เราต้องการพลังจากคนอื่นเยอะมาก เราต้องพึ่งพาคนรอบข้าง อาศัยพลังและความช่วยเหลือเยอะแยะมากมายจากคนรอบข้าง จนเรารู้สึกว่าลำพังตัวเราเองนั้นไม่สามารถทำอะไรได้เลย ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน อย่างหนึ่งที่สำคัญเลยคือพลังแรงใจ คนที่คอยให้กำลังใจ คนที่คอยสนับสนุน ตอนขึ้นยอดเขาเอเวอเรสต์ที่เหนื่อยมากๆ ไม่อยากจะไปต่อแล้ว ถ้าเราคนเดียว เราก็คงไม่ไปต่อแล้ว เราก็คงจะกลับลงมา ความฝันนั้นไม่มีค่าอะไรแล้วในความรู้สึก ณ ตอนนั้น เพราะเราเหนื่อยมาก แต่พอนึกถึงคนอื่นที่คอยช่วยเหลือเรามาตลอด เรากลับมีแรงเดินต่อ
เราเคยมีโอกาสได้คุยกับพี่หนึ่ง (วิทิตนันท์ โรจนพานิช) ก่อนที่จะปีนขึ้นเอเวอเรสต์ พี่หนึ่งเป็นคนไทยคนแรกที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ พี่หนึ่งบอกว่า พอออกจากแคมป์ที่สี่ อีมไม่ต้องคิดอะไรแล้ว อีมคิดอย่างเดียวว่าอีมเดินเพื่อคนอื่น ตอนนั้นเราไม่เข้าใจว่าพี่หนึ่งจะบอกอะไรเรา มาเข้าใจเอาตอนที่รู้สึกเหนื่อยมากๆ เราได้ใช้ประโยคนี้จริงๆ เราไม่ได้เดินเพื่อตัวเอง เราเดินเพื่อคนอื่น สิ่งนี้มีพลังมากกว่า
สามปีที่แล้ว คุณเคยให้สัมภาษณ์กับ a day BULLETIN หลังจากที่พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ได้ ว่าการทำอะไรเพื่อคนอื่นเป็นสิ่งที่ดีมาก อยากให้คุณช่วยขยายความหน่อย
เพราะเราได้รับมาเยอะ ตอนนี้เราเลยอยากให้บ้าง สิ่งหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองจะทำได้คือการให้แรงบันดาลใจกับผู้คนจากเรื่องราวของเรา เราอยากจะส่งต่อประสบการณ์และแรงบันดาลใจหรืออะไรสักอย่าง เพื่อที่จะให้ใครแม้สักคนมีแรงบันดาลใจในสิ่งที่เขาคิดว่ามันยาก สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ให้เขารู้ว่าเขามีศักยภาพอยู่ในตัวเอง การมาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งที่เราทำได้
มีคำแนะนำอะไรถึงคนที่กำลังเผชิญกับชีวิตที่เหน็ดเหนื่อย น่าท้อแท้ใจบ้าง
ก่อนหน้านี้ เรารู้สึกว่าเราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างต้องถูกใจ ถ้ามีอะไรไม่ตรงกับใจขึ้นมาเราจะเป็นทุกข์เมื่อนั้นเลย และเราสามารถทุกข์ได้ตลอดเวลา แต่ถ้าเราได้เรียนรู้ว่าตัวเองไม่ใช่ศูนย์กลางของอะไรเลย เราเป็นสิ่งที่เล็กน้อยมาก หลังจากที่ได้เดิน ได้ภาวนา ได้อยู่กับตัวเอง เรารู้สึกว่าแกว่งน้อยลง ก่อนหน้านี้ เวลาที่เราดีใจหรือเสียใจ เราก็จะดีใจหรือเสียใจมากๆ ความรู้สึกจะแกว่งมาก แต่ตอนนี้มันแกว่งน้อยลง ลูกตุ้มความรู้สึกนั้นแกว่งน้อยลง สักวันหนึ่งหวังว่ามันจะนิ่ง
แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถออกไปเดินป่าเดินเขาเหมือนคุณ เรามีหน้าที่การงาน มีภาระรับผิดชอบ มีเงื่อนไขในชีวิตที่รัดตัวอยู่ เราจะสามารถหาเอเวอเรสต์ของตัวเองเจอได้อย่างไร
สภาวะที่วุ่นวายยากลำบากนั้นเป็นสภาวะที่ฝึกเราได้เยอะมาก เพียงแต่ถ้าเรารู้ตัวไปกับความยากลำบากเหล่านั้น เราจะได้ฝึกฝนไปกับมัน แต่ถ้าเราสุขอยู่ตลอดเวลา แล้วจู่ๆ เราไปเจอความทุกข์สักครั้งหนึ่งนี่แย่เลยนะ เพราะเราสุขมาตลอด เราไม่เคยเตรียมความพร้อมที่จะต้องเจอกับความทุกข์อะไร การที่เราได้เจอกับความทุกข์บ่อยๆ เจอปัญหาในชีวิต มันจะเป็นภูมิคุ้มกันให้เราได้อย่างดี ถ้าเราอยู่กับความยากลำบากอย่างรู้เท่าทัน
มีคนเคยบอกว่า บางคนชีวิตเลือกไม่ได้ แต่ความจริงแล้วเราเลือกได้บางส่วน เราเลือกที่จะจัดการตัวเองได้ เลือกที่จะจัดการความรู้สึกภายในตัวเราเองได้ ปัจจัยภายนอกเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ แต่ชีวิตมนุษย์เราสามารถดำรงอยู่ได้โดยมีเพียงแค่ปัจจัยพื้นฐาน การมีชีวิตได้ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมากไปกว่านั้น คนทุกคนสามารถอยู่ได้ และอาจจะอยู่ได้อย่างมีความสุขเลยด้วย