เกริก มีมุ่งกิจ

Money and Life: พึ่งพาตัวเองเพื่อเข้าใจความสุขที่แท้จริง โดย ดร. เกริก มีมุ่งกิจ

เมื่อเราเติบโตขึ้นเรื่อยๆ พบกับความรับผิดชอบที่มากมายตามลำดับ หน้าที่การงานต่างๆ โปรเจ็กต์สำคัญที่ต้องมุ่งมั่นทำให้จบเพื่อแลกกับรายได้ในตอนสิ้นเดือน ใช้ชีวิตอย่างเหนื่อยล้าในแต่ละวัน เริ่มโหยหาความสงบจากธรรมชาติผ่านต้นไม้สีเขียวสดชื่น และเริ่มคิดว่าอยากจะย้ายตัวเองออกจากเมืองที่วุ่นวายไปใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายให้ได้สักที แต่สุดท้ายเราก็จบด้วยการกลับมานั่งอยู่ในห้องนอน เปิด Little Forest ดูวนไปเพื่อเยียวยาจิตใจ หรือเล่นเกมปลูกผักอย่าง Harvest Moon เพื่อชดเชยในสิ่งที่ตัวเองไม่สามารถทำได้ เพราะรู้ว่าการออกไปทำเกษตรในชีวิตจริงเป็นเรื่องยากต่างจากภาพฝันที่ในหัว 

        เราจะยอมให้ชีวิตเป็นอย่างนี้เรื่อยไปอย่างนั้นหรือ นี่เป็นคำถามของตัวเองที่สำคัญหลังจากที่เราได้พูดคุยกับ ดร. เกริก มีมุ่งกิจ เกษตรกรที่ทำให้เราเห็นถึงความสำคัญว่าทำไมเราถึงต้องอยู่ด้วยการพึ่งพาตัวเองให้ได้ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการใช้ชีวิตที่เนิบช้า แต่กลับหมายถึงการมีความสุขที่แท้จริงของชีวิต 

        เงินมากมายทำให้เรามีความสุขได้ก็จริง แต่เราต้องดิ้นรนกันขนาดไหนกว่าจะได้เงินจำนวนนั้นมา และเมื่อเราใช้เงินซื้อความสุขย่อมต้องแลกด้วยการทำงานอย่างหนักเพื่อหาเงินนั้นกลับมาวนเวียนต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด แนวคิดของการพึ่งพาตัวเองที่เราได้เรียนรู้ในครั้งนี้จึงไม่เพียงสอนเราว่า การยืนด้วยขาของตัวเองให้ได้นั้นมีความสำคัญต่อตนเองและคนรอบข้างขนาดไหน ที่สำคัญยังสอนให้รู้ว่า อย่างไรก็ตามชีวิตต้องเจอกับความท้าทายและการทำงานที่เหนื่อยยากกันอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ลองเลือกที่จะทำงานที่หนักหนาในอีกรูปแบบ เพื่อสร้างความสุขที่แท้จริงให้กับตัวเองอย่างยั่งยืนกันดูบ้าง 

 

เกริก มีมุ่งกิจ

เริ่มต้นวางแผนให้ยืนด้วยตัวเองกันได้แล้ว

        เราเชื่อมาตลอดว่าเงินตราคือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเงินคือสิ่งที่เราจะได้มาซึ่งอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค เป็นหลักประกันในความมั่นคง ไม่ต้องคิดไปไกลถึงการมีบ้านหลังใหญ่หรอก แค่ประคองตัวเองให้ผ่านพ้นไปแต่ละเดือนได้แบบไม่ขัดสน จับจ่ายใช้สอยได้บ้างแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว แต่คำพูดหนึ่งที่ ดร. เกริกสะกิดให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่องนี้กันใหม่คือการที่เขาถามเราว่า ถ้าเกิดว่าวันหนึ่ง เงินที่อยู่ในมือเรานั้นหมดค่าไปแล้วจะทำอย่างไร 

        “เงินคือสิ่งที่มนุษย์สมมติกันขึ้นมาเพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนสิ่งของแก่กัน แต่ถ้าวันหนึ่งเงินทั้งหมดที่มีหมดความหมายเหมือนตอนที่ทางเขมรมีสงคราม ธนาคารของที่นั่นถูกยกเลิก คนที่มีเงินเยอะๆ จะมีค่าแค่เพียงกระดาษที่เขาเอาใส่ในกระป๋องแล้วก็ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดไฟผิงหน้าบ้านในฤดูหนาวเท่านั้น ตอนนั้นผมเอาข้าวสารถังหนึ่งกับยาแก้ปวดไปแลกทอง 1 บาทกับเขามา ข้าวสารในราคาเท่ากับทองคำ 1 บาท”

        เรานั่งอึ้งไปพักใหญ่ๆ จากนั้นจึงถามเขาว่าแล้วอะไรกันแน่คือสิ่งที่มั่นคงที่สุดในชีวิต 

        “สิ่งที่มั่นคงที่สุดของชีวิตคือปัจจัย 4 อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค” เขาตอบ

        “จริงๆ คำว่าเกษตรแปลว่าอาหาร ไม่ได้หมายถึงชาวไร่ชาวนา การทำการเกษตรคือการผลิตปัจจัย 4 ดังนั้น วิถีเกษตรไม่ใช่ว่าคุณต้องมาเป็นชาวนา ถ้าคุณผลิตปัจจัย 4 ได้ นั่นหมายความว่าชีวิตมีความมั่นคงแล้ว ไม่ต้องมองไกลไปที่เรื่องของเขมรก็ได้ ลองดูตอนน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ปี 2554 สิ เงินที่เรามีแทบไม่มีความหมาย ไปซูเปอร์มาเกต เมื่อก่อนหิวน้ำก็ซื้อน้ำมาดื่มได้เลย พอน้ำท่วมกรุงเทพฯ ครั้งนั้น คนมาเหมาน้ำไปหมด ทุกเชลฟ์ที่เป็นอาหาร พืชผัก ไข่ เนื้อสัตว์ แทบไม่มีเหลือเลย ตลาดก็ไม่มีอะไรขาย”

        การทิ้งงานประจำที่ตัวเองเบื่อหน่ายแล้วหันหน้าออกไปใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ สำหรับคนที่เกิดและโตในกรุงเทพฯ กว่าจะเก็บเงินซื้อที่ดินได้สักผืน ต้องมาเรียนรู้เรื่องการทำเกษตร ซึ่งกว่าจะทำให้ทุกอย่างลงตัวต้องใช้เวลาแค่ไหน แล้วมันจะคุ้มค่าไหนโดยเฉพาะกับคนที่ผ่านการใช้ชีวิตมาแล้วว่าครึ่งค่อนชีวิต

        “ผมว่าคุ้ม เพราะประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมว่าใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี คุณก็เริ่มตั้งตัวได้แล้ว ปีแรกเป็นเวลาสำหรับฝึกฝนการพึ่งพาตัวเองให้ได้ อยู่แบบใช้เงินบ้างนิดหน่อย ปีที่สองจะเป็นการสร้างความชำนาญในการทำการเกษตร ปีที่สามก็ค่อยๆ ขยายผล และปีที่สี่เป็นต้นไปก็เริ่มขายผลผลิตของเรา  

        “ตั้งแต่เด็กเราเรียนชั้นอนุบาลจนถึงปริญญาตรี คุณใช้เวลากี่ปี 19 ปีใช่ไหม เรียบจบก็มาทำงานรับเงินเดือนสองหมื่น คุณใช้เวลา 19 ปี เพื่อแลกกับเงินเดือนเดือนละสองหมื่นบาท แล้วดอกเบี้ยตลอด 19 ปีที่ผ่านมาล่ะ ผมว่านั่นขาดทุนที่สุด และที่เรียนมาเป็นสิบปีนั้นคุณพึ่งพาอะไรตัวเองได้บ้าง เมื่อเทียบกับการเรียนรู้การเกษตรแค่ห้าปีที่อาจจะเหนื่อยยากหน่อย แต่พอผ่านช่วงนั้นแล้วจะเป็นความสุขสบาย ตรงที่เราก้าวข้ามความเหนื่อยยากได้ ตอนนั้นก็จะชินและก็มีความสุขจริงๆ เพราะบั้นปลายชีวิตของคนเราพอหลังเกษียณจากงาน ชีวิตแทบไม่มีความหมายเลย ต้นทุนที่เราเรียนมาเป็นสิบปีเพื่อได้เงินตอบแทน และเราก็ชินกับการได้เงินตอบแทน พออายุหกสิบปีเราไม่ได้เงินแล้ว พึ่งพาตัวเองก็ไม่ได้ คุณว่าชีวิตเราน่าสงสารไหม”

        แง่คิดสำคัญที่ ดร. เกริก กำลังบอกเรานั่นคือ ทุกคนล้วนแต่มีหน้าที่ของตัวเอง แต่ต้องถามตัวเองด้วยว่าชีวิตต้องการอะไร แล้ววางแผนชีวิตของตัวเองให้ดี เรียนจบมาแล้วจะทำงานกี่ปี อย่าใช้ชีวิตด้วยการทำงานที่ตัวเองไม่ได้พอใจ ซึ่งความจริงที่น่าเจ็บปวดคือมีหลายคนที่ไม่พอใจในงานของตัวเอง แต่ต้องทนไปจนอายุหกสิบปี 

        “ถึงตอนนั้นก็ใกล้วันตายแล้ว ทั้งชีวิตเกิดมาอยู่กับการทนทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบ

        “หลายครั้งเราอาจรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่ แต่เราก็ต้องทำ เพราะเรามีเป้าหมายในการทํางานคือเพื่อเงิน ถ้าเขาไม่จ้างเราเป็นเงิน คุณจะทำกันไหม” ความจริงนี้เป็นสิ่งที่เราก็โต้แย้งไม่ออก 

        “ตามหลักของพุทธศาสนา การเดินทางของชีวิตคือเรื่องของการเกิด แก่ เจ็บ และตาย ถ้าเราเกิดมาเพื่อจะใช้ชีวิตให้มีความสุข ก่อนตายเราทำให้ดีที่สุดในชีวิตนี้ ดีทั้งต่อตัวเอง ดีต่อครอบครัว ดีต่อชุมชนสังคมแล้วก็ตายไป เราเกิดมาเพื่อตาย 

         “ดังนั้น ก่อนตายเราจะทำอย่างไรให้ชีวิตมีคุณค่าที่สุด มีความสุขที่สุด คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อทุกข์ เราเกิดมาเพื่อสร้างความสุขให้กับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน ดังนั้น จึงต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน”

 

เกริก มีมุ่งกิจ

พึ่งพาตัวเองเพื่อชีวิตที่มั่นคง

        ความจริงที่เป็นอยู่คือทุกวันนี้เราต่างเห็นแก่ตัวต่อกัน ทำทุกอย่างเพื่อความสุขของตัวเอง คนอื่นเดือดร้อนก็ช่าง ไม่สนใจ แม้กระทั่งเกษตรกรด้วยกันเองที่ปลูกพืชผลเพื่อจำหน่าย ก็ฉีดยาฆ่าแมลง ฉีดยาฆ่าหญ้าอย่างหนัก คนกินจะเป็นอย่างไรไม่รู้ ขอให้ฉันขายได้ก่อน ขอให้ฉันได้เงินก่อน เอาตัวเองเป็นหลัก นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราถูกปลูกฝังความเห็นแก่ตัวนี้ไว้โดยไม่รู้ตัว

        “เราถูกสอนมาตั้งแต่เป็นนักเรียนว่าต้องเรียนให้เก่ง ต้องสอบให้ได้ที่หนึ่ง ต้องเรียนให้ชนะ ถ้าเราชนะก็แสดงว่าต้องมีคนแพ้ เราถูกสอนให้เอาชนะมาโดยตลอด เราเห็นแก่ตัวกันมาโดยตลอด แล้วเราถูกสอนให้เป็นส่วนหนึ่งของกลไก ฟันเฟืองตัวหนึ่งในอุตสาหกรรม ใช้ชีวิตในสังคมที่ถูกสมมติขึ้น ทำให้เราเก่งแค่เพียงด้านเดียวและไม่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เป็นคนเรียนภาพยนตร์มาคุณก็จะเก่งแต่ด้านการทำภาพยนตร์ แต่ทำการเกษตรไม่เป็นเลย หุงหาอาหารไม่เป็น พึ่งพาตัวเองไม่ได้เลย  เราถูกสอนให้แต่ละคนเก่งในงานเฉพาะทาง และมารวมตัวกันจนเป็นสังคมอุตสาหกรรม”

        เขากำลังอธิบายถึงกลไกของการทำงานในปัจจุบันที่แต่ละอาชีพต้องทำงานเพื่อซัพพอร์ตกันและกัน เช่น เรียนการตลาดให้เก่งที่สุด ฝ่ายผลิตสินค้าก็ทำออกมาให้ดีที่สุด แต่ถ้าฝ่ายผลิตไม่มีฝ่ายการตลาดก็จบ หรือฝ่ายการตลาดไม่มีฝ่ายการผลิตก็ทำอะไรต่อไม่ได้ เขากำลังตั้งคำถามว่าวิธีการสอนแบบนี้กำลังทำให้ชีวิตของคนเดินไปในทางที่ผิดหรือเปล่า

        “การอยู่กับธรรมชาติไม่จำเป็นว่าต้องทำการเกษตรไปเสียทั้งหมด คนที่ไม่สามารถผลิตอาหารขึ้นมาได้ก็มี แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาพึ่งพาตัวเองไม่ได้ เพียงแต่ว่าเขามีหน้าที่ของตัวเองในสังคม เช่น คนที่เป็นครู ทหาร ตำรวจ คนทอผ้า คนทำรองเท้า คนทำนาฬิกา คนเหล่านั้นอาจจะไม่มีโอกาสทำการเกษตร ก็จำเป็นต้องใช้เงินซื้อ แต่ไม่ได้หมายความว่าอาชีพเหล่านี้จะทำการเกษตรไม่ได้ ทุกคนทำการเกษตรได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยึดการเกษตรเป็นอาชีพได้

        “ครูคนหนึ่งก่อนไปโรงเรียนตอนเช้าก็ตีแปลงปลูกผัก หั่นหยวกกล้วยเลี้ยงหมู เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แล้วก็ไปโรงเรียน ไปสอนหนังสือ ตอนเย็นกลับมาก็รดน้ำต้นไม้ ทำอาหาร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ แค่นี้ก็คือการพึ่งพาตัวเองแล้ว แต่คนที่พึ่งตัวเองไม่ได้จริงๆ คือคนที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เขาต้องเข้าทำงานตั้งแต่แปดโมงเช้าเลิกงานห้าโมงเย็น เดินทางไปกลับวันละสี่ชั่วโมง เขาไม่มีเวลา เมื่อได้เงินมาเขาก็จะต้องมาซื้ออาหาร ดังนั้น เงินจะมีเข้ามาหลังจากที่เรามีความมั่นคงแล้ว และไม่ต้องใส่ใจว่าเงินที่ได้จะมากหรือน้อย เพราะเราไม่ได้ใช้ เรามีอยู่มีกินมีใช้อย่างพอเพียง เราก็แทบไม่ใช้เงินแล้ว”

 

เกริก มีมุ่งกิจ

เกริก มีมุ่งกิจ

 

        “ยกตัวอย่าง ผมปลูกผักชีแปลงเล็กๆ ปลูกคะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง เอาไว้เพื่อเป็นอาหาร เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ไว้กินไข่ ถึงเวลาผมก็กิน เพราะผมต้องการปลูกมาเพื่อกิน กินผักในแปลงนั้นไปเรื่อยๆ จนพบว่าผักที่ปลูกเรากินไม่หมด จะทิ้งไว้ก็เสีย ใครที่ผ่านไปผ่านมาผมก็เรียกให้เขาช่วยเอาไปกิน เอาไปเยอะๆ เลย เพราะเรากินไม่ไหวแล้ว เราอิ่มแล้ว ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เกิดขึ้นทันที”

        “ถ้าเราลองเอาเงินเป็นตัวตั้งดูบ้าง เช่น คุณทำงานได้เงินเดือนเดือนละสองหมื่นบาท เดือนนี้หัวหน้าเห็นว่าคุณทำงานหนัก เพิ่มเงินให้อีกหนึ่งหมื่นบาท จะมีใครคิดไหมว่าเราได้เงินเกินมาตั้งหนึ่งหมื่นบาท เอ้า! คุณมาช่วยเอาไปใช้หน่อย คุณทำได้ไหม” เราหัวเราะออกมาทันทีกับเมื่อถูกถามจี้ใจดำแบบนี้ 

        “ถ้าเอาเงินเป็นตัวตั้งก็คือการทำอะไรที่เห็นแก่ตัว ต่อให้มีเงินเพิ่มขึ้นเป็นสามหมื่นหรือห้าหมื่นบาท เราก็ไม่ยอมให้ใครหรอก” นี่คือการยกตัวอย่างเพื่อให้เราเข้าใจได้ง่ายที่สุดว่าการทำงานเพื่อหาเงินเพียงอย่างเดียวของคนในทุกวันนี้คือความเห็นแก่ตัว เราได้เงินมากขึ้นแต่ได้รับน้ำใจจากคนอื่นน้อยลง 

        แต่เราก็ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่ใช้เงินเลย แม้เราจะมีอาหารการกินที่เพียบพร้อมก็ตาม กับของบางอย่างที่เราไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ก็ต้องใช้เงินซื้อหามาอยู่ดี แล้วถ้าเป็นแบบนี้จะทำอย่างไร เราถามเรื่องนี้กับเขาแบบไม่อ้อมค้อม 

        “ไม่ต้องถึงกับต้องละทิ้งเงินไป ความจริงแล้วการที่อยู่กับธรรมชาตินั่นคือเราจะอยู่กับธรรมชาติอย่างไร หลักการก็คือต้องปรับตัวเองให้เข้ากับธรรมชาติมากที่สุด เพราะมนุษย์คือธรรมชาติ เราไม่ได้ถูกโคลนขึ้นมา เราไม่ได้เป็นหุ่นยนต์หรือเครื่องจักร มนุษย์เป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เราต้องฝึกอยู่กับธรรมชาติกันหน่อย ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะมีเงินไม่ได้ เงินมีบ้างไม่ต้องมีมากก็ได้ เราไม่ต้องเอาเงินมาเป็นปัจจัยหลักในการมุ่งหาเงิน

        “ความมั่นคงของชีวิตอยู่ที่ปัจจัย 4 เรามีอาหารพอเพียงสำหรับตัวเอง ครอบครัว ชุมชน มีที่อยู่อาศัยที่อยู่แล้วสุขสบาย มั่นคง อบอุ่น พ่อ แม่ ลูก ปู่ ย่า ตา ยาย อยู่ด้วยกันเป็นสังคมใหญ่ ยารักษาโรคส่วนใหญ่มาจากสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นยาทางเคมีก็สกัดจากสมุนไพรทั้งสิ้น ถ้าเราเรียนรู้ว่าจะรักษาตัวเราเองได้จากขิง ข่า กระชาย โหระพา ซึ่งพืชเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสมุนไพรที่ทำให้ร่างกายสมบูรณ์ขึ้น ยาเป็นเพียงปลายเหตุที่เอามาใช้บำบัด เอามาชะลออาการเท่านั้นเอง แต่ต้นเหตุของความเจ็บป่วยมาจากอาหารการกินของเราทั้งนั้น ซึ่งเป็นอาหารที่สมบูรณ์ไม่มีสารพิษเข้าไป

        “เงินจะมีไว้ใช้หลักๆ แค่ซื้อนาฬิกา ซื้อเสื้อผ้า ซื้อรองเท้ามาใส่  มนุษย์อยู่กันเป็นสังคมพึ่งพาอาศัยกัน แต่ไม่ใช่ว่าเราจะพึ่งพากันไปเสียทุกเรื่อง อะไรที่เราพึ่งพาตัวเองได้ก็ทำก่อน เช่น เรื่องอาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค ต้องพึ่งตัวเองให้ได้ก่อน มีต้นไม้เพื่อทำระบบวนเกษตรก็เท่ากับเรามีปัจจัย 4 ของตัวเองแล้ว” 

 

เกริก มีมุ่งกิจ

พื้นที่สีเขียวของคนเมือง

        ทุกวันนี้ความแออัดในเมืองเกิดขึ้นจากการหลั่งไหลของผู้คนในจังหวัดต่างๆ ที่เข้ามาเพื่อทำงานหาเงิน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำงานในกรุงเทพฯ จะได้ค่าตอบแทนที่มากกว่า โอกาสในการมีงานทำสูงกว่า ซึ่งการจัดการของระบบสังคมเมืองก็ไม่ได้ออกแบบมาให้ดีพอเพื่อรองรับคนจำนวนมากแบบในทุกวันนี้ เมื่อความแออัดรวมเข้ากับชีวิตที่กดดันก็ทำให้เกิดภาวะที่คนเมืองอยากออก คนนอกอยากเข้ามา

        “ดังนั้น เราควรมีจุดประสงค์ที่ชัดเจนในชีวิต ถ้าเป็นคนนอกก็ต้องรู้ว่าเราจะเข้าไปทำงานในเมืองนานแค่ไหน ถ้าจะใช้วิถีของการพึ่งพาตัวเองมาแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องเริ่มจากการตั้งเป้าหมายว่าเราเข้าไปทำงานเพื่อหาเงินสักก้อน ตั้งเวลาให้ชัดเจน เช่น อยากจะมีเงินทุนเพื่อเอาไปใช้ตั้งตัวทำการเกษตรประมาณห้าแสนบาท ก็ขอเข้าไปในเมืองหรือขอทำงานสักประมาณห้าปี พยายามเก็บเงินให้ได้ปีละหนึ่งแสนบาท ทุกวันนี้ที่คนไม่มีเงินเก็บเพราะเขาตั้งใจทำงานหาเงินก็จริง แต่เขาก็ตั้งใจที่จะใช้เงินด้วย ทำให้เงินหมดไปในแต่ละวัน แต่ละเดือน โดยที่ไม่มีเงินเหลือเก็บ แบบนี้คือการใช้ชีวิตแบบไม่มีจุดมุ่งหมาย โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดที่บ้านของตัวเองมีที่ดินอยู่แล้วก็ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะเข้าไปหาเงินทุนสักก้อนหนึ่ง เมื่อได้เงินทุนแล้วก็กลับมา เมื่อทุกคนคิดอย่างนี้ได้ในเมืองก็จะไม่แออัด

       “คนที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมาตั้งแต่เกิดก็ไม่อยากจะออกไปไหน คนนอกที่เข้ามาก็ไม่ได้จะอยู่ไปตลอด ขอเข้ามาแค่ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น ถ้าเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนว่าจะเก็บเงินภายในสามปี ห้าปี หรือสิบปี แล้วก็ออกจากเมืองกลับไปพัฒนาบ้านเกิดของตัวเอง ทุกจังหวัดในประเทศไทยก็จะพอดีได้ ไม่มีที่ไหนจะแออัดอีกต่อไป คนกรุงเทพฯ ตั้งแต่เกิดก็อยู่ในเมืองได้อย่างมีความสุข แล้วเขามีที่ว่างพอที่จะทำอะไรก็ได้”

        แม้ว่าที่อยู่อาศัยของเราในทุกวันนี้จะมีพื้นที่น้อยลงไปทุกที แต่ด้วยแนวคิดของการพึ่งพาตัวเองก็ทำให้รู้ว่าเรายังทำการเกษตรแบบเล็กๆ ในพื้นที่จำกัดได้บ้าง โดยจะเห็นได้จากแนวคิดของการปลูกผักตรงระเบียง การทำสวนแนวตั้ง หรือบางคนก็ใช้พื้นที่บนหลังคาในการสร้างเป็นสวนผักลอยฟ้าขึ้นมา 

        “คุณอย่าลืมว่าสมัยก่อนในกรุงเทพฯ ไม่ได้มีคอนโดมิเนียมเกิดขึ้นมากมายขนาดนี้ และทุกวันนี้คนที่อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมก็เป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในเมือง เมื่อเราเคยอยู่อาศัยในบ้าน 2 ชั้น พอคนเข้ามาเยอะขึ้น ที่อยู่อาศัยก็ต้องเพิ่มขนาดให้สูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อจำนวนคนในเมืองลดลง คอนโดมิเนียมหรืออพาร์ตเมนต์ก็จะมีพื้นที่เพิ่มขึ้น ตอนนั้นเราอาจจะมีพื้นที่ส่วนกลางที่มีกิจกรรมให้ทำมากขึ้น ได้ออกมาทำความรู้จักกันในกลุ่มลูกบ้าน ใครขาดเหลืออะไรก็แบ่งปันของให้แก่กันและกัน เพราะอย่างไรก็ตามทุกคนคือสัตว์สังคมเหมือนกันไม่ว่าจะเป็นคนเมืองหรือคนต่างจังหวัด”

 

เกริก มีมุ่งกิจ

ผ่านพ้นความเจ็บปวดของยุคสมัย

        สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักอย่างสำคัญของการพึ่งพาตัวเองให้ได้ ไม่ได้อยู่ที่เราจะมีชีวิตสุขสบาย มีไลฟ์สไตล์สโลว์ไลฟ์เก๋ๆ แบบในภาพยนตร์เรื่อง Little Forest แต่คือการเตรียมความพร้อมในสิ่งที่คาดการณ์ไม่ได้ในอนาคต ถ้าหากวันหนึ่งเกิดภัยธรรมชาติหรือแม้แต่ภัยจากมนุษย์ด้วยกันเองขึ้นมา

        “ในอนาคตถ้าเรายังอยู่กันแบบนี้ต่อไป เราทำอาหารการกินเองไม่ได้ ไม่รู้จักว่าวัตถุดิบนี้คืออะไร เด็กสมัยนี้หลายคนไม่รู้ว่ารวงข้าวเป็นอย่างไร หน้าตาแครอตที่แท้จริงเป็นแบบไหน ไม่รู้จัก เพราะเคยเห็นแต่แครอตที่ถูกฝานเป็นฝอยๆ ต่างคนต่างเก่งแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เป็นแค่เรื่องเดียวเรื่องอื่นไม่เป็นเลย ทั้งที่ความจริงมนุษย์เกิดมาควรจะเป็นหลายๆ อย่าง มนุษย์เกิดมาควรจะมีทักษะ 10 อย่าง แต่ตอนนี้เราเก่งแค่เรื่องเดียว ขาดไปอีก 9 อย่าง นี่คือหลักการสำคัญที่ทำให้เราพึ่งพาตัวเองไม่ได้

        “ถ้าวันหนึ่งเกิดภัยพิบัติร้ายแรงขึ้นมา เชื่อเลยว่าเราไม่สามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้ แค่พื้นฐานง่ายๆ เช่น เรื่องอาหารการกิน เมื่อเราปรุงอาหารไม่เป็น ทำอาหารไม่เป็น เราก็จบแล้ว แต่ที่ทุกวันนี้เราอยู่กันได้เพราะวันนี้เรามุ่งแต่หาเงิน ได้เงินมาก็ไปซื้อข้าวกินที่ร้านอาหาร เราจ่ายเงินเพื่อให้ได้อาหารมา เมื่อถึงวันที่มีเงินแต่ไม่มีอาหารขายจะเป็นอย่างไร”

        เรื่องนี้น่าคิดเพราะสงครามในโลกยุคปัจจุบันที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นสงครามเพื่อยึดครองอำนาจเป็นหลักแบบในอดีตอีกแล้ว แต่ในหลายๆ พื้นที่ของโลกที่เกิดสงครามนั้นมาจากการเข้าชิงเพื่อยึดครองทรัพยากรกันทั้งนั้น

        “ลองคิดกันดูเล่นๆ นะว่าในโลกนี้มีเกือบ 200 ประเทศ มีประเทศที่ทำการเกษตรหรือส่งออกอาหารกระจายออกไปจำนวน 22 ประเทศนี้ ประเทศที่เหลือแทบจะพึ่งพาตัวเองไม่ได้ ทุกวันนี้เขาอยู่กันได้เพราะ 22 ประเทศคอยผลิตอาหารให้ ถ้าวันหนึ่งเกิดภัยพิบัติขึ้นมา ประเทศที่เคยส่งออกอาหารก็ต้องเลี้ยงคนในประเทศตัวเองก่อน อีกร้อยกว่าประเทศจะเกิดปัญหาทันที และเป็นเรื่องใหญ่ด้วย ลองคิดกันดูว่าประเทศจีนมีคนตั้งกี่พันล้าน อินเดียเท่าไหร่ ฝั่งยุโรปอีกตั้งเท่าไหร่ ถ้าเกิดอะไรขึ้นมาประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้นด้วย เพราะบ้านเรามีแดดตลอดทั้งปี ปลูกพืชปลูกผักอะไรก็ขึ้น แต่เรากำลังลืมไปว่าเราเป็นแหล่งอาหารที่ดีที่สุดในโลก

 

เกริก มีมุ่งกิจ

 

        “การเพาะปลูกไม่ใช่แค่การสร้างอาหาร แต่การเพาะปลูกคือการสร้างจิตวิญญาณของความเป็นมนุษย์ด้วย” ดร. เกริก กล่าวทิ้งท้ายกับเราเมื่อเข้าสู่ช่วงเวลาบ่ายคล้อย 

         “เมื่อเราหย่อนเมล็ดพันธุ์ลงไปในดิน ได้เห็นต้นอ่อนงอกขึ้นมาในใจ เราก็ผูกพันไปกับต้นไม้ เราจะรู้สึกดีใจ รู้สึกสดชื่นที่ได้เห็นต้นไม้ค่อยๆ เติบโตขึ้น นี่คือการบ่มเพาะความเป็นมนุษย์ในจิตใจของคน”

        “การพึ่งพาตัวเองก็เช่นเดียวกัน เราคงไม่สามารถตื่นนอนขึ้นมาแล้วหยิบจอบหยิบพลั่วออกไปขุดดินปลูกต้นไม้ได้ในทันที ทุกอย่างต้องใช้เวลาบ่มเพาะไปทีละขั้นเหมือนกับต้นไม้ที่ค่อยๆ แทงยอดอ่อนขึ้นมาจากดิน เรียนรู้ไปทีละเล็กละน้อย เข้าใจหลักการไปทีละวัน สั่งสมไปเรื่อยๆ อย่างอดทน

        “เหมือนกับที่พระมหาชนกมีความเพียรในการว่ายน้ำในมหาสมุทร และสุดท้ายเราจะเจอว่าความสุขของตัวเองคืออะไร อาจจะเป็นการไปอยู่กับธรรมชาติอย่างเต็มตัว ทำการเกษตรแล้วใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย หรือยังเป็นคนเมืองแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ แต่รู้ว่าจะมีความสุขกับการใช้ชีวิตอย่างไร อย่างน้อยในวันนี้เราก็ปลูกต้นมินต์ในกระถางเล็กๆ ได้ และเด็ดใบของมันมาชงเป็นชามินต์หอมๆ จิบตอนเช้าก็เป็นการเริ่มต้นวันใหม่ที่ดีได้เหมือนกัน