1.
หนุ่มสาวราวสิบคนนั่งล้อมวงสนทนากัน ในนั้นมีผมผสมโรงด้วย หากตัดผมออก อายุเฉลี่ยในวงสนทนาน่าจะประมาณ 22 ปี ผมเอ่ยถามด้วยความใคร่รู้ว่า “เวลาเจ็บปวด สับสน หรือผิดหวังกับชีวิตรุนแรง พวกเราหันหน้าไปหาใคร” ทุกคนตอบตรงกันด้วยคำตอบที่ผมแปลกใจว่า “โซเชียลมีเดีย” คำอธิบายคือ ลองโพสต์ความรู้สึกลงไปแล้วจะมีคนเข้ามาให้กำลังใจผ่านช่องทางต่างๆ คอมเมนต์ ทวีต ไดเรกต์เมสเสจ อะไรทำนองนั้น แล้วพวกเขาจะรู้สึกว่ามีเพื่อน
พ่อแม่ ครอบครัว ชุมชน ศาสนา มิใช่สิ่งพึ่งพาของหนุ่มสาวเหล่านี้ เมื่อลองโยนทางเลือกเหล่านี้ไป ผมเห็นแต่ความว่างเปล่าในสายตาพวกเขา
ผมไม่กล้าตัดสินว่าวิธีและวิถีที่พวกเขาใช้ในการเยียวยารักษาแผลใจนั้นเป็นวิธีที่ดีหรือไม่อย่างไร หากเพียงสงสัยว่า มันช่างเป็นการเยียวยาที่โดดเดี่ยวและห่างไกลเสียเหลือเกิน ในยามที่เราอาจต้องการอ้อมกอดจริงใจและแววตาที่จ้องมาเพื่อทำความเข้าใจและแบ่งเบาทุกข์ ผมอดสงสัยไม่ได้ว่าความทุกข์และบาดแผลจะถูกเก็บไว้ส่วนไหนของหัวใจ และเมื่อสะสมบ่มเพาะเนิ่นนานมันจะกลายร่างไปเป็นอะไร
เรามักได้ยินคำกล่าวทำนองว่า “เจ็บปวดเพื่อเติบโต” ซึ่งถูกพูดกันซ้ำๆ ราวสัจธรรมชีวิต กระนั้นก็น่าตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าคำกล่าวนี้เป็นเพียงมายาคติที่สร้างขึ้นเพื่อให้เรายอมรับความโหดร้ายของชีวิตอันโดดเดี่ยวและว่างเปล่าโดยมีรางวัลล่องหนล่อใจว่าคุณจะได้รับบางสิ่งเมื่อผ่านความเจ็บปวดนั้นเพียงลำพัง จะเป็นอย่างไร
เป็นไปได้ไหมว่า “No pain, no gain” เป็นเพียงคำหลอกให้มนุษย์ผู้โดดเดี่ยวทนทุกข์ทรมานอย่างมีความหวังมากกว่าเดิม และเมื่อเชื่อเช่นนี้แล้วก็ไม่ต้องตั้งคำถามว่า เรามีทางที่จะ ‘ได้รับ’ โดยไม่ ‘เจ็บปวด’ ได้หรือไม่
2.
สำหรับผม, ความเจ็บปวดทรมานนั้นเชื่อมโยงกับความโดดเดี่ยวของมนุษย์ เราอาจเป็นสัตว์ที่มีความทุกข์ทางใจมากที่สุดในโลก ซึ่งอาจเป็นเพราะเราเป็นสิ่งมีชีวิตที่รู้จักนิยามตัวเองและแยกตัวออกจาก ‘ทั้งหมด’ เราชี้นิ้วมาที่ตัวเองแล้วบอกว่า “นี่คือฉัน” พลันชี้นิ้วออกจากตัวแล้วบอกว่า “นั่นคือโลก”
‘ฉัน’ จึงไม่ใช่ ‘โลก’ และ ‘โลก’ ก็ไม่ใช่ ‘ฉัน’
สิ่งที่ตามมาคือ “นี่คือฉัน นั่นคือแก” ฉันกับแกจึงไม่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เรามีเส้นแบ่งกันชัดเจน เพื่อความอยู่รอด ฉันจึงต้องแข่งขันกับแกอยู่ตลอดเวลา ถ้าฉันถูก แกต้องผิด ไม่มีแก ฉันก็มีชีวิตอยู่ได้ ทั้งชีวิตเราเวียนวนอยู่กับทัศนคติและโลกทัศน์แบบนี้ ถ้าไม่เจ็บปวดสิแปลก เพราะมันคือทัศนะของนักรบที่พร้อมจะก่อสงครามแย่งชิงทรัพยากรและเอาชนะคะคานตลอดเวลา
ถ้าชนะ, เราจะบอกกับคนอื่นว่า “เจ็บปวดเพื่อเติบโต” ถ้าแพ้, เราจะบอกตัวเองว่า “No pain, no gain”
รากลึกของความคิดเช่นนี้อาจเกิดขึ้นตั้งแต่มนุษย์กลุ่มหนึ่งเริ่มป่าวประกาศว่าแท้จริงแล้วโลกนี้มีพระเจ้าเพียงพระองค์เดียว นับแต่นั้นพระเจ้าองค์อื่นจึงกลายเป็นเพียงของปลอม และเส้นแบ่งถูก-ผิดก็ถูกขีดขึ้นอย่างชัดเจนพร้อมกับเส้นแบ่งดี-เลว จริง-เท็จ และงาม-ไม่งาม สิ่งนี้ค่อยๆ กลายเป็นรากฐานของวิธีคิดแบบตะวันตกซึ่งค่อยๆ ส่งผ่านไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก แม้ไม่ได้ส่งผ่านความเชื่อหรือศาสนาไปได้ทั่ว แต่โลกทัศน์แบบการขีดเส้นแบ่งที่แยกนู่นนี่ออกจากกันนั้นถูกแพร่กระจายอย่างได้ผล รวมถึงการแบ่ง ‘ฉัน’ ออกจาก ‘คนอื่น’
ก่อนนั้นในสังคมชนเผ่าซึ่งมีเทพเจ้ามากมายหลายหน้าตา แต่ละเผ่าก็มีพระเจ้าของตัวเอง ทุกคนนับถือพระเจ้าของตนได้ ไม่มีใครประกาศสัจธรรมว่าพระเจ้าของฉันเท่านั้นที่จริง และของคนอื่นไม่จริง เพราะในสังคมแบบนี้ไม่มีความคิดเรื่องความถูกต้องแท้จริง พระเจ้าทุกองค์ล้วนสำคัญ
ในสังคมชนเผ่า สายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสายสัมพันธ์ที่ไม่มีวันแยกขาด เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นองคาพยพเดียวกัน
‘สิ่งศักดิ์สิทธิ์’ หรือ ‘พระเจ้า’ ที่ว่านั้นมิได้อยู่นอกตัวมนุษย์ หากเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ศาสนาในฝั่งตะวันออกอย่างฮินดูยังเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก็มีคุณสมบัติของพระเจ้าอยู่ในตัวเขา เช่นนี้แล้วจึงควรเคารพตัวเองและเคารพเพื่อนมนุษย์เหมือนที่เคารพพระเจ้า
3.
แนวความคิดขีดเส้นแบ่งและตัดสินทุกสิ่งทุกคนบนโลกนี้อาจมีรากฐานยาวนานมาตั้งแต่สองพันกว่าปีก่อน แล้วมนุษย์ทั่วโลกก็ค่อยๆ ถูกครอบและคลุมไปด้วยแว่นตาที่พร้อมจะขีดเส้นแบ่งให้กับทุกสิ่งอย่าง พร้อมจะตัดสินดี-งาม-จริงโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราเกิดมาพร้อมโลกทัศน์เช่นนี้ และหายใจใช้ชีวิตอยู่ในโลกทัศน์เช่นนี้เสียจนหลงเชื่อไปว่านี่คือความจริงของโลกและชีวิต โลกก็เป็นเช่นนี้ มีได้-มีเสีย มีเจ็บปวด-มีเติบโต มีฉัน-มีแก โดยไม่อาจจินตนาการถึงโลกแบบอื่นออกเลยว่า โลกที่ไร้เส้นแบ่งและการตัดสินจะเป็นอย่างไร, หรือ—จะเป็นไปได้อย่างไร
เราไม่อาจจินตนาการถึงโลกที่เราก็ถูก-เขาก็ถูก เราดี-เขาไม่จำเป็นต้องชั่ว เราได้-เขาไม่จำเป็นต้องเสีย โลกแบบนั้นจะเป็นจริงต่อเมื่อเส้นแบ่งระหว่างเรากับเขานั้นไม่มีอยู่ นั่นหมายความว่าทั้งเราและเขาคือส่วนหนึ่งของทั้งหมด
แน่นอนว่า เราไม่สามารถทำความเข้าใจโลกแบบนั้นได้ด้วยความคิดเชิงเหตุผล หากพยายามใช้ตรรกะหรือยกเหตุผลมาถกเถียงกันก็สามารถทำได้ทั้งชีวิต รบรากันด้วยเหตุผล โกรธเกลียดกัน แล้วก็เจ็บปวดจนกว่าจะเติบโต ซึ่งไม่แน่ว่าจะเติบโตก่อนหรือล้มป่วยทางจิตใจไปเสียก่อน
แต่เราจะเชื่อว่าโลกใบนั้นมีอยู่จริงเมื่อได้สัมผัสกับเพื่อนมนุษย์บางคนที่เปี่ยมไปด้วยความรักในหัวใจ มอบความปรารถนาดี พลังงานดีๆ และความรู้สึกดีๆ ให้โดยไม่คิดว่าจะสูญเสียอะไร ราวกับหัวใจของเขากับเราเป็นหัวใจสองดวงที่หลอมรวมกันเป็นใจเดียว เมื่อเขามอบสิ่งดีๆ ให้ เขาเองก็ได้รับไปพร้อมกัน
หน้าที่ที่ผู้มีความรักในหัวใจกระทำขณะดำรงอยู่มิใช่การมองหาว่าคนที่อยู่ตรงหน้ามีสิ่งใดผิด สิ่งใดแย่ สิ่งใดเลว หากคือการดำรงอยู่ตรงนั้นเพื่อตกแต่งหัวใจคนตรงหน้าให้สวยงามยิ่งขึ้น ให้เขารู้สึกดีกับตัวเอง ให้รู้สึกดีกับชีวิต ให้รู้สึกมีความสุข หรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่เพิ่มทุกข์ให้ ผู้ที่ใช้ชีวิตเช่นนี้ได้ย่อมไม่โดดเดี่ยว เพราะเขาเชื่อมโยงกับผู้คนที่ปฏิสัมพันธ์อยู่ตลอดเวลา ไม่แบ่งแยกตัดสิน หากเจ็บปวด เราจะเจ็บปวดไปด้วยกัน รู้สึกรู้สาไปพร้อมกับคนตรงหน้า หากได้รับเราจะได้รับไปพร้อมกัน ยินดีไปพร้อมกับคนตรงหน้า ไม่มีใครแพ้ ไม่มีใครชนะ เพราะไม่มีใครแข่งขันรบรา
“เติบโตเพราะไม่เจ็บปวด” นี่คือความจริงอีกด้านของชีวิต
เมื่อเราไม่เจ็บปวดจากการเอาชนะคนอื่น ตัดสินดี-ชั่วของตนและคนอื่น ความเจ็บปวดในใจย่อมลดลง เมื่อนั้นเองเราจึงเติบโตทางจิตวิญญาณ เราจะได้รับโดยที่มิได้ถามถึงการได้รับ เพราะเราเริ่มรู้จักการมอบให้
แต่ยากเหลือเกินที่เราจะทำความเข้าใจความรู้สึกนี้ขณะที่ยังสวมแว่น “นี่คือฉัน นั่นคือโลก” หรือ “นี่คือฉัน นั่นคือแก” อยู่ เราจำเป็นต้องวางตรรกะที่ครอบความคิดมนุษย์มาสองพันกว่าปีลงก่อน แล้วเปิดหัวใจออกให้กว้างที่สุด ฝึกตนและตั้งจิตอธิษฐานว่า “ฉันจะอยู่ที่นั่นเพื่อให้คนตรงหน้าไม่เจ็บปวด”
ถ้าทำได้ เราจะพบความรัก, และไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
คำถามก็คือ เราพร้อมแล้วหรือยังสำหรับการเติบโตอย่างแท้จริง
เรื่อง: นิ้วกลม