ตลอดระยะเวลายี่สิบปีในวงการบันเทิง ชื่อ ‘น้าเน็ก’ – เกตุเสพสวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา คือแบรนด์พิธีกรระดับแนวหน้าของสยามประเทศที่ผู้ชมทุกรุ่นคุ้นเคย นอกจากไหวพริบคม ฝีปากกล้า ผู้ชายคนนี้พัฒนาขึ้นสู่การเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นปัจจุบันและแตกต่างอยู่เสมอ โดยเฉพาะผลงานล่าสุดในตำแหน่งไลฟ์โค้ชแห่งทีวีออนไลน์ชื่อดัง ‘อย่าหาว่าน้าสอน’ คาแรกเตอร์หนุ่มใหญ่ใส่แว่นกับเสื้อฮาวายผู้คอยเยียวยา ให้คำปรึกษา สร้างแรงบันดาลใจ
มาวันนี้ ‘น้าเน็ก’ ก้าวเข้าสู่ความท้าทายครั้งใหม่กับสถานะ ‘นักวิ่ง’ หลังตัดสินใจลงวิ่ง 10 กิโลเมตรแบบไม่หยุดพักในโครงการ #กล้าก้าว กิจกรรมล่าสุดจากมูลนิธิก้าวคนละก้าว ซึ่งนำทีมโดย พี่ตูน บอดี้สแลม ภารกิจวัดใจที่ต้องแลกมาด้วยความเหนื่อยยากจะทำให้คนที่เกิดมาไม่เคยแม้แต่จะออกกำลังกายนี้มีความรู้สึกอย่างไร และมันตอบแทนกลับมาเป็นสิ่งใดให้ชีวิตบ้าง ติดตามได้จากบทสนทนาที่สัมภาษณ์โดย บุญมนัสสวัสดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา น้องในไส้ที่คลานตามๆ กันมา
รู้ไหมแม่ตกใจมากเลยที่ได้ยินว่าพี่เน็กจะวิ่งสิบกิโล
เดี๋ยวนะ… ก่อนอื่นคือพี่ควรเรียกตัวเองว่าพี่หรือผมดี แล้วต้องเรียกคนถามว่าน้องหรือคุณ ไม่เคยโดนน้องสัมภาษณ์แฮะ ทำตัวไม่ถูก เอางี้ ใช้เป็นพี่กับหนูแล้วกัน คุ้นปากหน่อย ทีนี้… อย่าว่าแต่แม่ตกใจ พี่ก็ตกใจครับ ผู้ชายอายุ 50 ที่ไม่เคยดูแลสุขภาพ ทั้งกิน ทั้งดื่ม ทั้งสูบสารพัด เบี้ยวนัดเทรนเนอร์เป็นว่าเล่น จะได้เริ่มทำอะไรเพื่อสุขภาพจริงๆ สักที ทุกวันนี้ยังตกใจอยู่เลย เอ๊ะ นี่กูวิ่งจริงๆ เหรอ
อยู่ๆ ทำไมถึงตัดสินใจวิ่ง แถมยังเป็นการวิ่งในมหกรรมระดับชาติอีกต่างหาก
เล่ายาวๆ แบบนี้ว่า นี่คือการเป็นส่วนร่วมในกิจกรรมครั้งใหม่ของมูลนิธิก้าวคนละก้าว ชื่อว่า ‘กล้าก้าว’ โดยมีคนดังและประชาชนมากมายร่วมใจกันวิ่งผลัดที่ภาคใต้ ระยะทางกว่า 300 กิโลเมตร ในเวลา 4 วัน ตั้งแต่ 24-27 ตุลาคม โดยที่พี่จะวิ่งวันที่ 25 ที่กระบี่ รายได้แบบไม่หักค่าใช้จ่ายจะมอบให้ 7 โรงพยาบาลชุมชนทางภาคใต้ นั่นเป็นวัตถุประสงค์เชิงสาธารณะ แต่เหตุผลส่วนตัวมันก็มีอยู่ การวิ่งสำหรับพี่มันเป็นเหมือนก้อนประหลาดที่ติดอยู่ในใจมานาน
พี่รู้จัก ‘วิ่ง’ ครั้งแรกตอนอายุ 15 แต่คำว่าวิ่ง ณ ขณะนั้นไม่มีความจริงจังในแง่การแข่งขันหรือออกกำลังกายแม้แต่นิดเดียวนะ เป็นกิจกรรมที่มีไว้อ้างกับพ่อแม่เพื่อหาเหตุหนีเที่ยวนอกบ้านเฉยๆ พื้นเพที่บ้านเราก็อย่างที่รู้กันว่านอกจากไปโรงเรียน ไปธุระกับผู้ใหญ่แล้ว เราจะไม่ได้รับอนุญาตให้ไปแป้นแล้นเที่ยวเตร่ ซึ่งงานวิ่งเนี่ยก็ชอบจัดวันเสาร์อาทิตย์เสียด้วยสิ เหมาะกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว หาเหลี่ยมหนีเที่ยวกันเถอะ พี่ก็จะบอกพ่อแม่ว่าลงสมัครวิ่งมาราธอนเอาไว้ ต้องซ้อมต้องแข่งนั่นนี่ เพื่อจะหายหัวจากบ้านได้แต่เช้า
แล้วพ่อแม่ไม่ตามไปดูไปเชียร์บ้างเลย
เอาเวลาที่ไหนไปเชียร์ล่ะครับ สองสามีภรรยาทำงานกันรัวๆ แต่ถึงยังไงพร็อพตบตาต้องมี ป้ายตัวเลขประจำตัวนักวิ่งเอย กลิ่นยาหม่องน้ำมันมวยเอย อย่าลืมทาเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือว่าไปซ้อมไปวิ่งมาจริงนะ แต่ถ้าพ่อแม่สังเกตสักนิดจะพบว่า นี่คือการวิ่งที่ไม่เคยถึงเส้นชัยเลย รู้แค่ว่าไปวิ่ง แถบเลขประจำตัวนักวิ่งเต็มบ้าน แต่ไม่มีผลงาน ไม่เคยติดอันดับ ตอนนั้นก็หลอกบุพการีไปวันๆ หาได้รู้สำนึกใดๆ ทั้งนั้น แต่พอโตขึ้นมันก็ติดค้างอยู่ในใจ เป็นปมว่าเรานี่แม่งไม่เคยมีเส้นชัยเป็นของตัวเองสักครั้ง สิ่งนี้มันควรจะมาถึงสักทีไหมวะ ดังนั้น นี่จะเป็นการวิ่งสิบกิโลเมตรที่ใช้เวลาพิชิตนานที่สุด เริ่มต้นตั้งแต่อายุ 15 และจะมาสำเร็จตอนพี่อายุ 50 ซึ่งมันต้องสำเร็จให้ได้ ระยะทางสิบกิโลอาจจะถือว่ากระจอกสำหรับคนอื่น แต่เป็นสิบกิโลที่ยิ่งใหญ่และยาวนานมากสำหรับพี่
การวิ่งในวัย 50 เป็นยังไงบ้าง
ซ้อมวิ่งวันแรกบุ่มบ่ามมาก ไม่มีความรู้อะไรเลย รู้แค่อยากได้สิบกิโลเมตรภายในหนึ่งชั่วโมง ก็คำนวณเอาว่าหกนาทีต้องได้หนึ่งกิโลนะ บวกกับคิดง่ายๆ ว่าก็แค่วิ่ง ใครก็ทำได้ สับยับเลยครับ สับไปได้สักสี่กิโลแบบไม่หยุด ปรากฏว่าหน้ามืด ตาลาย ปากเขียว ภาพวิ้งๆ แข้งขาแปล๊บๆ ไปหมด หายใจไม่ทัน ลงไปนอนกองกับฟุตพาท หัวใจเต้นอยู่ที่ร้อยเก้าสิบเกือบสองร้อย อีกนิดก็ตายแล้ว ลูกเพจคอมเมนต์ด่ากันใหญ่ ไอ้น้ามึงจะบ้าเหรอ ใครเขาทำกัน
อีกอย่างคือพี่มีโรคประจำตัวที่เป็นมาตั้งแต่ช่วงยี่สิบกว่าๆ ชื่อโรครูมาตอยด์ เป็นแพ็กเกจเสริมที่แถมมากับโรคสะเก็ดเงิน มันจะปวดตามแข้งขา ปวดข้อ กำเริบง่ายเวลาเครียด พักผ่อนน้อย กินเหล้า ยิ่งช่วงหลังจากวิ่งเสร็จเนี่ย มันจะปวดเป็นพิเศษ แค่เนื้อผ้าบางๆ ลูบผ่านก็ปวดแล้ว คล้ายโรคเกาต์แต่ไม่ใช่ ผลคือพี่จะเดินเหมือนหุ่นกระบอก ด๊อกแด๊กๆ ไปสักพัก หายได้ด้วยการกินยาแก้ปวดขั้นรุนแรง นอนพักตื่นเช้ามาก็ปกติ ดังนั้น การตัดสินใจจะวิ่งตอนอายุเท่านี้และเป็นโรคนี้อีก จึงเป็นด่านทดสอบจิตใจอย่างมาก วิ่งแล้วต้องทรมานขนาดนี้ทุกครั้งเนี่ย เส้นแบ่งระหว่างเอาเว้ยกับช่างแม่ง ไม่ทำละ ใกล้กันนิดเดียว จนบางวันที่วิ่งเสร็จแอบคิดเหมือนกัน ถ้ารู้ล่วงหน้าว่าแก่ไปจะเป็นรูมาตอยด์นะ กูจะวิ่งชิงโล่ชิงเหรียญตั้งแต่อายุ 15 เลย รู้อะไรไม่สู้รู้งี้
หลังจากซ้อมมาร่วมเดือน ชีวิตมีอะไรเปลี่ยนแปลงบ้าง
ทฤษฎี 21 วันกล่าวว่า ถ้าเราทำอะไรติดต่อกันเกิน 21 วัน สิ่งนั้นจะกลายเป็นนิสัยหรือทำให้เสพติดได้ ทุกวันนี้เป็นแล้วนะครับ เสพติดการวิ่งมาก หุ่นดีขึ้น น้ำหนักอาจไม่ได้ลงเยอะ แต่มวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้น หลับง่าย ตื่นแล้วไม่เป็นซอมบี้ วันไหนไม่วิ่งนอนไม่หลับ แต่ระบบของพี่คือซ้อมแบบวันเว้นวันเพื่อไม่ให้หนักเกินจนบาดเจ็บ ดังนั้น วินัยข้อแรกเลยคือต้องวิ่งตามแผนให้ได้ จะฝนตกแดดออกพายุลงก็ต้องซ้อม ตอนอยู่สตูลวิ่งกลางฝนเลย สักพักกลายเป็นวิ่งกลางแดด ได้เรียนรู้ว่าถ้าแดดแรงคุณภาพการวิ่งจะลดลง สิ่งที่เคยเป็นอุปสรรคขัดขวางการออกกำลังให้ล้มเหลวมาทั้งชีวิตอย่างความขี้เกียจ โกงตัวเอง ผัดวันประกันพรุ่ง เลิกทำให้หมด
อีกอย่างที่เห็นชัดคือเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาขึ้นอย่างมาก เพราะการเตรียมตัวที่ดี รู้ขีดจำกัดของตัวเอง ช่วยให้การซ้อมเป็นไปตามเป้า ไม่เจ็บตัว รู้จักดูอัตราการเต้นหัวใจให้อยู่ในระดับที่เหนื่อยแต่รับได้ ฝึกวอร์มอัพคูลดาวน์จนเป็นนิสัย อยู่ๆ จะมาวิ่งเลยไม่ได้นะ ต้องยืดเหยียดก่อน-หลังการวิ่งเสมอ ซึ่งวันแรกที่ฝึกก็พบว่าการยืดเหยียดควรถูกจัดเป็นอีกหนึ่งทุกรกิริยาได้นะ เหยียดตรงไหน เจ็บตรงนั้น แต่ทุกวันนี้สบายมาก
ปฏิกิริยาของคนรอบข้างเป็นยังไงบ้าง
พอประกาศไปว่าจะซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง ทุกคนก็ตื่นเต้นตามไปด้วย เพื่อนฝูงโอบอุ้มให้กำลังใจในแบบที่แตกต่างกัน พี่ตูนให้นาฬิกาสำหรับนักวิ่ง เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทำให้การวิ่งสนุกขึ้น เราจะรู้ระยะทาง ความเร็ว อัตราการเต้นหัวใจพวกนี้ หมออาคเนย์หนึ่งในทีมแพทย์ของพี่ตูนให้รองเท้าวิ่งที่ช่วยซัพพอร์ตสรีระเป็นพิเศษ ถ้าใช้รองเท้าปกติวิ่งเดี๋ยวเดี้ยง ก็ได้รู้ว่า เออ รองเท้าที่ถูกต้องช่วยป้องกันการบาดเจ็บได้ ก้อย รัชวิน แฟนพี่ตูน ให้อาหารเสริมมากินจะได้มีแรงวิ่ง พวกเอเนอร์จี้ดริงก์ เพาเวอร์บาร์ที่กินก่อนออกกำลังต้องมี หนุ่ย พงศ์สุข ให้โทรศัพท์เครื่องใหม่ อันนี้ไม่ได้ช่วยเรื่องวิ่งโดยตรง แต่พี่เพิ่งทำโทรศัพท์หล่นแตกระหว่างวิ่ง หนุ่ยเห็นเลยสงสาร ให้เครื่องใหม่มาใช้ อะไรพวกนี้ก็เป็นกำลังใจที่ดี
สุดท้ายนี้อยากบอกอะไร
ถ้าวันลงวิ่งจริงเป็นจุดหมายปลายทาง ชีวิตพี่ก็อยู่กับระหว่างทางไปแล้วกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ นั่นคือการซ้อม วินัย ความอดทนที่ได้มาพร้อมความเจ็บปวด เหน็ดเหนื่อยหรือยากลำบากทั้งหมด ในสิ่งเหล่านี้ก็ยังมีมิตรภาพจากผู้คนดีๆ มากมายรวมอยู่ด้วย ในวันที่ 25 นี้ จะเปรียบเสมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้ความตั้งใจของพี่สำเร็จ ลบล้างปมงี่เง่าบางอย่างที่ติดอยู่ตั้งแต่อายุ 15 ทิ้งไป เชื่อเถอะว่าวินาทีที่ได้เข้าเส้นชัยต้องมีซีนน้ำตากันบ้าง และในฐานะที่พี่ทำคอนเทนต์สร้างแรงบันดาลใจให้สังคม ถ้าสิ่งที่พี่หมั่นทำอยู่นี้จะเป็นเรื่องเดียวกัน ก็หวังว่านั่นจะทำให้คนอีกมากมายที่อาจจะมีชีวิตเฮงซวย ไม่เคยริเริ่มทำอะไรเพื่อสุขภาพร่างกายตัวเองเลยแบบพี่ ได้เห็นแล้วลุกขึ้นมาเริ่มดู งานนี้มีกิมมิกสำคัญคือคนดังส่วนใหญ่เคยผ่านการวิ่งมาแล้ว ครั้งนี้จะต้องเป็นการวิ่งให้ไกลขึ้นกว่าที่ตัวเองเคยวิ่งมา ทำลายสถิติตัวเองกัน ส่วนพี่ก็จะเข้าเส้นชัยแรกของตัวเองให้ได้ด้วยเช่นกัน กับสิบกิโลเมตรแรกในชีวิตที่ต้องใช้เวลาตั้งแต่อายุสิบห้าจนถึงห้าสิบ
เรื่อง: เกตุเสพย์สวัสดิ์ และ บุญมนัสสวัสดี ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา