นอสตราดามุส

เมื่อ adB สวมบทเป็นนอสตราดามุส ทำนายความทุกข์ในทศวรรษข้างหน้า

“ก้าวที่สองของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ โลกร้อนแต่ภายในร้อนกว่า ไม่รู้ว่าตื่นหรือฝัน ภาพมายานั้นจริงยิ่งกว่าครั้งไหน โรคระบาดกลายเป็นโรคประสาทระเบิดจากขั้วหัวใจ ต้อนมนุษย์นั้นไซร้จนมุม ถูกรายล้อมด้วยปัญญาสังเคราะห์ หากอยากอยู่รอดจงร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ปฏิวัติทักษะให้ครอบคลุม ยังพออยู่ได้ในโลกยากไร้ ซึ่งความมั่งคั่งยังกระจุกอยู่เพียงมุมหนึ่งของจักรวาล”

        Michele de Nostredame หรือที่เรามักคุ้นชื่อสั้นๆ ในนาม ‘นอสตราดามุส’ (Nostradamus) แพทย์และนักเขียนชาวฝรั่งเศส ผู้มีชีวิตอยู่ในคริสตศตวรรษที่ 16 เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นนักพยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่ และทิ้งร่องรอยของการทำนายไว้ในปี 1555 จากผลงานเขียนที่ชื่อ Les Propheties หนังสือที่นักทฤษฎีสมคบคิดทั้งหลายต่างชื่นชอบและคิดว่ามันคือคำทำนายอันแม่นยำถึงอนาคต ด้วยวิธีการเขียนคล้ายกวี เต็มไปด้วยสัญลักษณ์กว้างๆ ที่ถูกนำไปสวมทับตีความในเรื่องใดก็ได้ ผู้สนับสนุนคำทำนายของนอสตราดามุสต่างเชื่อว่าเขาได้ทำนายเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ในลอนดอนในปี 1666 และการเถลิงอำนาจของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในปี 1933 ได้อย่างแม่นยำ a day BULLETIN ในบทความนี้ จึงอยากลองสวมรอยเป็นนอสตราดามุสดูสักครั้ง ปล่อยให้วิญญาณของเขาสิงสู่ และเขียนคำทำนายถึงความเจ็บปวดของผู้คนในทศวรรษข้างหน้าขึ้นมาในทำนองเดียวกับนักพยากรณ์ผู้ยิ่งใหญ่

ก้าวที่สองของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ โลกร้อนแต่ภายในร้อนกว่า

        ‘ก้าวแรกของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์มนุษย์’ ประโยคนี้ถูกอ้างซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากเหล่านักเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม นักเศรษฐศาสตร์ หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์เอง ข้อมูลเชิงประจักษ์มากมายล้วนแสดงให้เห็นว่าโลกของเรานั้นร้อนขึ้นทุกวันด้วยปรากฏการณ์ climate change หรือ global warming ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จนทำนายไม่ยากว่ามันจะส่งผลกระทบทั้งต่อชีวิตความเป็นอยู่ ภาคเกษตรกรรมที่สภาพผืนดินจะเปลี่ยนแปลง หรือภาคประมงที่อาหารจากท้องทะเลจะหาได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน มนุษย์ก็ยังไม่ทิ้งสันดานแห่งความขัดแย้ง แบ่งขั้วแบ่งฝ่าย และเกิดสงครามทางความเชื่อ ภายใต้จุดประสงค์ซ่อนเร้นทางการเมืองและผลประโยชน์อยู่เนืองๆ

        บทความอันแสนเสียดสีและเขียนได้ยอดเยี่ยมของ The New Yorker เตือนผ่านน้ำเสียงยั่วล้อ โดยสมมติให้โลกเป็นพื้นที่หรืออุปกรณ์หนึ่ง และบริษัทผู้ผลิตได้อัพเดตคู่มือการใช้งานว่า “คุณมีโลกแค่หนึ่งดวง ถ้าคุณทำร้ายโลกของคุณอย่างถาวร คุณจะไม่สามารถแลกโลกใบใหม่ได้” / “ผลิตภัณฑ์นี้ถูกใช้งานมาก่อนล่วงหน้า แต่ไม่ได้รับการตกแต่งให้ดูใหม่ มันถูกรักษาให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณ์เมื่อราว 4.5 พันล้านปีก่อน กรุณารักษามันไว้ในสภาพเช่นนั้น” / “ในการอาศัยอยู่ในโลก คุณต้องตระหนักว่าคุณใช้ผลิตภัณฑ์ที่ร่วมอยู่กับเผ่าพันธ์ุมากกว่า 8 ล้านสปีชีส์ จงเคารพเพื่อนร่วมโลก กรุณากินพวกเขาในเวลาที่คุณจำเป็นเท่านั้น” ฯลฯ  ซึ่งหากไม่ทำแบบนี้ มันคงทำนายได้ไม่ยากว่าในทศวรรษข้างหน้าเรากำลังจะก้าวสู่ ‘ก้าวที่สองของการสูญสิ้นเผ่าพันธุ์’ อย่างแน่นอน

ไม่รู้ว่าตื่นหรือฝัน ภาพมายานั้นจริงยิ่งกว่าครั้งไหน

        ลำพังแค่คิดเล่นๆ ว่าการมีอยู่ของเราอาจเป็นเพียงความฝันของผีเสื้อตัวหนึ่ง ตามคำกล่าวของจวงจื่อ นักปรัชญาชาวจีน หรือคิดว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในโลกเมทริกซ์ก็ทุกข์ใจจนอยากตายไปเสียให้พ้นๆ อยู่แล้ว แล้วจะเป็นอย่างไรถ้าโลกที่เรายังไม่รู้ว่าจริงหรือฝันมีความลวงที่ซับซ้อนมากกว่านั้นเพิ่มขึ้น เมื่อผู้คนอัพโหลดตัวเองสู่ออนไลน์มากขึ้นและมากขึ้น สวาปามความลวงและอคติอย่างตะกละตะกลาม เกลียดชังกันและกันมากขึ้นมากกว่าพยายามทำความเข้าใจ และด้านลบของสิ่งเหล่านี้ก็ดูเหมือนจะมีแพลตฟอร์มรองรับให้เราตกหลุมลงลึกไปเรื่อยๆ ทั้งความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์ และ machine learning ที่กำลังพัฒนาวิดีโอหรือคอนเทนต์ปลอมๆ แบบลงลึกอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผู้คนทำหรือพูดสิ่งที่พวกเขาไม่เคยพูดและทำได้อย่างแนบเนียน สิ่งที่น่ากลัวมากกว่านั้นคือทั้งหมดนั้นยากจะมองเห็นด้วยตาเปล่า และผลงานศึกษาด้านสมองก็ยังระบุว่าข่าวลวงเหล่านี้จะถูกทำให้แข็งแกร่งขึ้นด้วยความลักลั่นย้อนแย้งของการจำผิดๆ ด้วยศักยภาพความจำในตัวมนุษย์นั่นเอง

โรคระบาดกลายเป็นโรคประสาทระเบิดจากจากขั้วหัวใจ ต้อนมนุษย์นั้นไซร้จนมุม

        ไม่ต้องไปไกลถึงทศวรรษข้างหน้า เอาแค่ในปัจจุบัน การฆ่าตัวตายจากภาวะของโรคที่เกี่ยวข้องกับจิตใจนั้น กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ สูงขนาดที่เป็นเหตุผลที่สองของความตายในคนช่วงวัย 15-24 ปี มากกว่าโรคหัวใจหรือโรคมะเร็งเลยทีเดียว และมากกว่า 50% ของผู้ที่ตัดสินใจฆ่าตัวตายก็เนื่องมาจากความทนทุกข์จากโรคมีชื่อเรียกอย่างโรคซึมเศร้า (major depression) เสียด้วย อัตราของโรคเกี่ยวข้องทางจิตทั้งโรควิตกกังวล แพนิก ไบโพลาร์ มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ด้วยทริกเกอร์อันได้ผลของโลกแห่งการแข่งขันในระบบทุนนิยม และในทศวรรษข้างหน้ามันอาจกลายเป็นเหตุผลอันดับหนึ่งของความเจ็บปวดของมนุษย์ยิ่งกว่าโรคทางกายก็เป็นได้

ถูกรายล้อมด้วยปัญญาสังเคราะห์ หากอยากอยู่รอดจงร่วมเป็นส่วนหนึ่ง

        อีลอน มัสก์ เรียกยุคสมัยที่กำลังดำเนินไปนี้ โดยบอกว่า “พวกคุณถูกทำให้เป็นไซบอร์กกันหมดแล้ว” ทั้งสมาร์ตโฟนที่ปรับปรุงความคิดและทัศนคติ ช่วยควบคุมอัตราเต้นของหัวใจ และอื่นๆ สภาพแวดล้อมของสังคมมนุษย์โดนเชื่อมต่อด้วยสัญญาณไร้สายและตัวเลขดิจิตอล เทคโนโลยีที่ 50 ปีก่อนเราทำได้เพียงฝันหรือจดจารมันลงในนิยายไซ-ไฟถูกสร้างขึ้นจริงบนโลกใบนี้ ทั้งดีและร้าย หวังและไร้หวัง มันได้กลายเป็นอุปกรณ์ที่กำหนดพฤติกรรมของเราไปโดยปริยาย แต่ความกังวลเหมือนนิยายไซ-ไฟที่โลกจะถูกยึดด้วยเผ่าพันธุ์โรบอตนั้นก็ยังมีอยู่

        “ไม่นานเกินรอ ปัญญาประดิษฐ์จะยึดครองโลก เพราะพวกมันเติบโตได้ด้วยตัวเอง คุณไม่ต้องการความท้าทายทางปัญญาของมนุษย์อีกแล้ว” ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2006 เคยให้สัมภาษณ์ adB ไว้เช่นนั้น ส่วน แจ็ก หม่า เจ้าของอาณาจักรอาลีบาบาผู้โด่งดัง ก็บอกว่า “อีก 30 ปีข้างหน้า หน้าปกนิตยสาร Time ที่นำเสนอเรื่องราวของซีอีโอแห่งปีจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ เพราะมันจดจำได้ดีกว่าคุณ นับเลขได้ดีกว่า แถมมันไม่โกรธคู่แข่งอีกด้วย” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยชื่อดังของอิสราเอลก็เขียนข้อเขียนไว้ว่า “อีกไม่เกิน 12 ปี AI จะยึดครองทุกหน้าที่การทำงาน ด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ” สิ่งเหล่านี้กำลังดำเนินไป ผู้เข้าแข่งขันเผ่าพันธุ์ใหม่กำลังลงสนาม คำถามคือคุณจะต่อต้าน หรือเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่ง?

ปฏิวัติทักษะให้ครอบคลุม ยังพออยู่ได้ในโลกยากไร้

        ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ดูเหมือนจะกลายเป็นเทรนด์ที่ถูกพูดถึงมากในโลกแห่งความทุกข์ระทมนี้ มันถูกนำเสนอเพื่อเป็นตัวช่วยในการอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ ผ่าน 3 คีย์หลัก คือ 1. การเรียนรู้และมีทักษะด้านนวัตกรรม ซึ่งต้องพ่วงด้วยการมีความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหา การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและทำงานร่วมกัน 2. การมีทักษะในการแยกแยะโลกดิจิตอล เพื่อช่วยในการทำความเข้าใจข้อมูลอันมากมายที่มาจากการพัฒนาของเทคโนโลยี และ 3. ทักษะด้านชีวิตและการงาน นั่นคือการรู้จักยืดหยุ่นและประยุกต์ใช้ความรู้ต่างๆ นอกจากนั้นคือความคิดริเริ่มที่จะกำหนดหนทางของตัวเอง ในสังคมและวัฒนธรรมที่หลากหลาย บวกด้วยการสร้างผลผลิตในการทำงานที่สามารถอธิบายมันได้ แต่มากไปกว่านั้น ถึงเวลาหรือยังที่เราควรจะพูดถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 22 ไว้บ้าง เมื่อพิจารณาว่าเด็กที่เกิดในวันนี้จะต้องใช้ชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 22 และเราอาจต้องมองถึงอนาคตไกลๆ ข้างหน้าเกินกว่าปี 2099 แน่นอนว่า การส่องทางของอีกหลักการเรียนรู้ที่ถูกพูดถึงในวงกว้างในทศวรรษนี้อย่าง 4 Cs อันประกอบด้วย Critical Thinking, Creativity, Collaboration, และ Communication คือสิ่งสำคัญ แต่มันอาจไม่เพียงพอ ทั้งนี้ เราอาจจะต้องเพิ่มบริบทของคอนเทนต์ความรู้ต่างๆ ว่ามันสำคัญอย่างไรต่อผู้คนในเจเนอเรชันใหม่ๆ นอกเหนือไปจากการมุ่งเน้นไปที่การแข่งขันเชิงเศรษฐกิจ เราอาจต้องคำนึกถึงสุขภาพของชุมชนมนุษย์ โครงสร้างสังคมและสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งความมั่งคั่งกระจุกอยู่เพียงมุมหนึ่งของจักรวาล

        คนรวยจะยิ่งรวยขึ้น คนจนจะยิ่งจนลง นี่คือผลพวงจากระบบทุนนิยมที่ครอบคลุมไปทั่วโลก และมันมีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ หากเราไม่ทำอะไรสักอย่าง คำทำนายที่เฉียบคมที่สุดนั้นอยู่ในบทสัมภาษณ์ของ ดร. มูฮัมหมัด ยูนุส คนเดิม ผู้บอกกับเราว่า “มนุษยชาติจะสูญพันธ์ุจากหลากหลายเหตุผล อาจในช่วงเวลาแค่ไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษข้างหน้าด้วยซ้ำ หนึ่ง—จากสิ่งแวดล้อมในทิศทางที่เคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วจนเราใช้ชีวิตอยู่กันไม่ได้ โลกใบนี้จะไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิต สอง—คือปัญหาการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง (Wealth Concentration) ความมั่งคั่งหรือเงินทองเกือบทั้งหมดในโลกนี้อยู่ในมือของคนแค่ 1% และหมายความว่าผู้คน 99% ที่เหลือมีทรัพย์สินแค่ 1% ของที่มีอยู่ทั้งโลก และในทุกๆ วันก็แย่ลงเรื่อยๆ ดังนั้น จึงเหมือนระเบิดเวลา ซึ่งความตึงเครียดและความโกรธแค้นของสังคมเช่นนี้จะระเบิดออกมาในที่สุด” 

 


อ้างอิง: