ชีวิตคนเรานี้ เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ก็เอาจริงเอาจัง เคร่งเครียด พบความทุกข์โศก ผิดหวัง ทำให้กลายเป็นมองโลกในแง่ร้ายมากขึ้น แล้วก็กลายเป็นว่าเราหาความสุข ความเบิกบานใจได้ยากขึ้นไปเรื่อยๆ
คอนเซ็ปต์เรื่องการคิดบวก มองโลกในแง่ดี มองหาความงามของสิ่งเล็กๆ และค้นพบความสุขง่ายๆ สำหรับบางคนที่ตัวตนของเขาแข็งแกร่งเกินไปแล้ว อาจจะมองว่ามันเป็นความไร้เดียงสาแบบเด็กๆ คนที่นำเรื่องนี้มาพูดถึงนั้นช่างไร้สาระ ทั้งที่จริงแล้ว เรื่องนี้จะยิ่งทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น และมีความแข็งแกร่งในจิตใจมากขึ้นด้วยซ้ำ
การมองโลกคือกระบวนการทางความคิดของบุคคลที่เกิดจากการรับรู้และแปลความหมาย ถ้ามองในแง่ดี ก็จะแปลไปในทางที่ดี ช่วยทำให้เราสามารถยอมรับความเป็นจริงและมองสิ่งต่างๆ ด้วยความเข้าใจ รวมถึงยอมรับด้านลบของปัญหาและความทุกข์ที่เข้ามา ซึ่งอาจหาได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว บางทีอาจจะเป็นเพียงแค่สิ่งเล็กๆ ที่เราคาดไม่ถึงก็ได้เช่นกัน
เราสามารถเรียนรู้เรื่องนี้ได้จากเด็กๆ การฝึกมองโลกผ่านมุมมองของเด็ก ทำให้เราเห็นความเป็นจริงในมุมใหม่ที่อาจจะให้คำตอบของปัญหาและความทุกข์ในชีวิตตอนนี้ สังเกตไหมว่าเด็กมีกระบวนความคิดที่ไม่ซับซ้อน และมองทุกอย่างเป็นเรื่องน่าสนุก น่าตื่นเต้นไปเสียหมด
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ ‘ครูหยก’ – วรรณวนัช บูรพาเดชะ อดีตคุณครูใจดี ถึงแม้จะยังดูหน้าเด็ก แต่วันนี้เธอแต่งงานมีครอบครัว มีความรับผิดชอบ มีธุรกิจที่ต้องดำเนินไป เธอเป็นตัวอย่างของผู้ใหญ่ที่ยังมีความเป็นเด็กซ่อนไว้ เพราะจากประสบการณ์ทำงานเป็นครูอนุบาลและประถมฯ เธอได้รับบทเรียนและมุมมองดีๆ มากมาย
“เราเคยคิดว่าจะไปสอนเขา แต่เราพบว่าพวกเขาก็สอนเราเยอะ บทเรียนสำคัญที่สุดที่ได้รับจากเด็กๆ คือทำให้เราย้อนกลับไปสู่รากฐานดั้งเดิมของทุกสิ่ง เราพบว่าสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดชีวิต ตั้งแต่แรกเกิดมาจนถึงทุกวันนี้ สิ่งที่เราได้ใช้ประโยชน์จริงๆ คือเรื่องพื้นฐานง่ายๆ เมื่อนำเรื่องราวต่างๆ ไปคุยกับเขาไปสอนเขา ก็ทำให้ย้อนกลับมาคิดถึงการปฏิบัติตัวของเราเองเหมือนกัน”
เป็นตัวคุณ
“มักจะมีคนชอบถามว่า เป็นครูยากไหม เพราะคิดว่าอาจจะต้องเจอเด็กดื้อ สำหรับเรา เราไม่เรียกว่าดื้อ แต่เรียกว่าเด็กแต่ละคนมีลักษณะเฉพาะของตัวเองมากกว่า
“สิ่งที่ผู้ใหญ่อย่างเราสัมผัสได้เมื่อปฏิสัมพันธ์กับเขา ก็คือทำความเข้าใจสิ่งที่เป็นเขาจริงๆ เมื่อมองแบบนี้ การเป็นครูจะเรียบง่ายขึ้น เราจะเหมือนคนให้คำแนะนำมากกว่าคนที่ต้องรู้ทุกอย่าง ด้วยความที่ห้องเรียนหนึ่งมีเด็กไม่มาก มีครูประจำชั้นสองคน เราจึงแบ่งหน้าที่กันดูแลเด็กแต่ละคนได้
“เราต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็ก เช่น ถ้าเขาไม่ได้เป็นเด็กชอบพูด แล้วเราพยายามไปทำให้เขาพูดเก่ง ก็เป็นไปไม่ได้ เด็กเหมือนต้นไม้ ดอกไม้ คือมีเวลาของเขา บางคนอาจจะรอเวลานานหลายปีมาก การที่เด็กคนหนึ่งตอนอนุบาลนิ่งๆ เงียบๆ ซึ่งก็ไม่ใช่สิ่งผิดอะไร แต่พอถึงจุดหนึ่งในวัยประถมฯ เขาอาจจะอยากลุกขึ้นมาบอกว่ากิจกรรมนี้ผมอยากเป็นพิธีกรนะ ผมอยากจะทำ ครูก็ชื่นใจ เพราะรู้สึกว่าเขาเหมือนดอกไม้ที่บาน
“เมื่อเราเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความคิดแบบเรียบๆ ง่ายๆ อาจจะหายไป พอเราโตขึ้น บางทีความเป็นตัวเป็นตน ระบบความคิด อคติมันแข็งแรงมาก เราไม่ยอมรับคนแบบนี้ รู้สึกเขาไม่โอเค ไม่ตรงกับมาตรฐานของเรา แบบนี้จะทำให้ชีวิตยากขึ้น ความเป็นตัวตนของเราก่อตัวมากขึ้น เรียกว่ามีตัวตนมากขึ้น เด็กอนุบาลบอกว่าไม่กินผัก อาจเพราะเหตุผลง่ายๆ คือมันขม แต่ถ้าเราโตขึ้น เราไม่กินอะไร อาจไม่ใช่เพราะขมหรือไม่ขม แต่เพราะตัวตนของเราบอกว่าไม่ชอบ เราจึงไม่กิน ดูซับซ้อนกว่า”
ปล่อยไปตามหัวใจ
“ในกระบวนการเติบโตขึ้นมานั้น เราได้เรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ ถ้าเราหยิบบางประสบการณ์ร้ายๆ มาเป็นข้อจำกัดของตัวเองก็อาจจะเป็นปัญหาได้ ผู้ใหญ่อาจจะเป็นอย่างนี้ แต่เด็กๆ เขามักจะไม่นำเรื่องราวต่างๆ มาเป็นข้อจำกัดตัวเองสักเท่าไหร่
“ตรงนี้เองที่เด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เราได้ผ่านขวบปี ผ่านประสบการณ์มากมาย จนในบางกรณีเราไม่สามารถถอดถอนความคิด จิตใจ จากสิ่งที่เรียนรู้หรือกรอบความคิดเดิม ทำให้เราเดินต่อไปไม่ได้ ปล่อยวางไม่ได้
“เปรียบกับเด็ก เช่น เมื่อวิ่งเล่นแล้วหกล้ม เขาลุกขึ้นมาแล้วก็วิ่งต่อ เหมือนไม่ได้สนใจเลยว่าเพิ่งหกล้มไปเมื่อสักครู่ เมื่อเขาเจอปัญหา มีสิ่งอันตรายที่อาจจะทำให้เขาบาดเจ็บ เขาก็จะไม่กลัว ไม่ติดอยู่กับมันนาน เขาไม่กำปัญหาเอาไว้แน่น เขาก็จะร้องไห้เพียงแป๊บหนึ่ง แล้วก็ลุกขึ้นไปทำอย่างอื่นต่อเลย”
จงร้องไห้ออกมา
“เราถือว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติสำหรับเด็ก ถ้าเด็กคนไหนไม่ร้องไห้ ครูกลับรู้สึกกังวลว่าทำไมเขาไม่ยอมแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึก
“เด็กบางคนร้องไห้โยเยที่หน้าโรงเรียนในวันเปิดเทอม เราถือเป็นเรื่องปกติ และก็จะหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจ หากิจกรรมอย่างอื่นให้ทำ บางทีเขาร้องไห้ไปด้วยและทำกิจกรรมไปด้วย เราเพียงแค่มีกิจกรรมให้เขาทำ พอถึงจุดที่เขาร้องไห้จนรู้สึกว่าพอแล้ว เขาก็จะหยุดได้เองและเรียนรู้ โดยที่ครูไม่ได้เข้าไปโอ๋
“เวลาที่เด็กร้องไห้ เสียใจ ทุกข์ใจ เราเพียงแค่อยู่กับเขา แต่ไม่ได้บอกเขาว่า โอ๋ๆ อย่าร้องไห้ แต่เมื่อเขาร้องไห้ เราก็ อ๋อ นี่คือหนูเศร้า ตอนนี้รู้สึกอารมณ์เป็นอย่างนี้ เมื่อเขาแสดงอารมณ์ออกมา สักพักมันก็จะหายไปเอง พออารมณ์มันหายไป สำหรับเด็กที่โตสักนิด เมื่อหายเศร้า คุณครูก็จะไปหาเขาแล้วจะชวนคิดว่า ตอนนี้มันไม่ได้เศร้าแล้วเนอะ หนูไม่ได้เศร้าเหมือนตอนแรกใช่ไหม เขาเรียนรู้เรื่องของอารมณ์ว่ามีเกิดขึ้นและมีดับไป
“เคยมีเหตุการณ์หนึ่งที่เราเองมีความทุกข์อยู่ช่วงหนึ่ง นอนร้องไห้ เสียใจ คุยกับคนข้างๆ คุยกับเพื่อน บอกเล่า แชร์ เราคิดว่าคนมีความทุกข์สามารถขอความช่วยเหลือได้ สามารถบอกคนรอบตัวได้ว่าตอนนี้ไม่สบายใจเรื่องอะไร บางทีเขาก็รับฟังเฉยๆ บางคนเขาอาจจะมีความปรารถนาดี อยากจะช่วยแก้ไข
“วันนั้นที่รู้สึกทุกข์มาก เราหันไปมองดูต้นไม้ที่ข้างหน้าต่างต้นหนึ่ง เป็นต้นบอนไซเล็กๆ ที่เหมือนตายไปแล้ว ใบมันร่วงไปหมดเลย ก่อนนั้นเราเคยสงสัยว่ามันตายหรือยัง คิดว่าจะเอาไปทิ้ง แต่ในที่สุดก็ไม่ทิ้งดีกว่า วางไว้ตรงนั้น แล้วก็เอากรรไกรไปเล็มเขา เวลาก็ผ่านไปน่าจะเป็นเดือนได้แล้ว แต่วันนั้นเขาแตกใบออกมาได้ มีจุดสีเขียวเล็กๆ งอกออกมา
“เปรียบกับตัวเองตอนนั้นที่กำลังเศร้ามาก รู้สึกแห้งเหี่ยว ไม่มีอะไรดีเลย พอได้เห็นต้นไม้ที่งอกกลับมาใหม่ มีสีเขียวๆ เล็กๆ ความรู้สึกที่ดีก็เกิดขึ้น วันนั้นเราถ่ายรูปต้นบอนไซแล้วส่งให้น้องที่เราคุยปรับทุกข์กับเขาดู เฮ้ย ดูสิ มันดีมากเลย เป็นเรื่องเล็กๆ ที่เป็นกำลังใจ”
สุขได้ง่ายๆ
“เวลาที่เด็กๆ มีความสุข ได้อ่านหนังสือ เล่นของเล่น เล่นกับเพื่อนในสนามเด็กเล่น มันเป็นความสุขแบบที่เขาจะไม่สนใจอย่างอื่นเลย เขารู้สึกสนุกสนานอย่างไรก็แสดงออกทางอารมณ์มาแบบนั้น
“ความสุขแบบเด็กๆ คือความสุขแบบง่ายๆ พวกเขามีความสุขแม้เพียงแค่เรื่องเล็กน้อย ในโรงเรียนอนุบาลจะมีสถานการณ์เล็กๆ ที่ผู้ใหญ่เห็นแล้วอาจคิดว่าไร้สาระ เช่น บางทีเด็กจะเดินมาฟ้องครูว่าเพื่อนคนนั้นแกล้ง เพื่อนคนนี้ทำอะไรแปลกๆ การได้เดินมาฟ้องครู มาทำหน้าที่อะไรบางอย่าง แค่นี้ทำให้เขาแฮปปี้แล้วนะ เขามีความสุขจากการได้บอกเล่า
“ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้เรื่องความสุขได้จากเด็ก สำหรับครูเอง ในวันที่เราเหนื่อยและท้อ มีงานเยอะๆ การที่มีเด็กตัวเล็กๆ คนหนึ่งเดินมาหา แล้วเราได้กอดเขา ทำให้เรามีความสุขมาก เหมือนเขาเป็นแบตเตอรี่ชาร์จพลัง ความเป็นเด็กสามารถมอบพลังงานที่ดีให้กับผู้ใหญ่ได้
“อาจจะคล้ายกับคนเป็นพ่อแม่ ที่หลายคนพูดตรงกันว่า ทำงานมาเหนื่อย หลังเลิกงานแล้วกลับบ้านไปเจอหน้าลูก แค่นี้ก็หายเหนื่อยแล้ว เราเชื่อว่าความสุขง่ายๆ คือพลังงานดีๆ ในตัวของเด็กที่ทำให้ผู้ใหญ่เรามีความสุขไปด้วย”
เราสูญเสียความเป็นเด็กไป
“เราทุกคน ครั้งหนึ่งย่อมเคยเป็นเด็กมาก่อน เคยเป็นแบบพวกเขามาแล้ว แต่พอโตขึ้นมาบางทีก็มีอะไรเข้ามาครอบงำมากขึ้นเรื่อยๆ มีดราม่ารายวัน มีเรื่องเครียด มีปัญหา ทำให้ลืมไปว่าเราเคยมีความสุขอย่างไร
“บางคนอาจจะมีภาระหน้าที่ มีความรับผิดชอบ พักผ่อนไม่เพียงพอ มีเรื่องราวต่างๆ เข้ามาในชีวิตมากมาย การที่ต้องดูแลคนนั้นคนนี้ สิ่งเหล่านี้อาจเรียกว่าความเป็นผู้ใหญ่ ความรับผิดชอบคือพาร์ตที่ดีของการเป็นผู้ใหญ่ แต่เราต้องพยายามไม่ให้ความเป็นเด็กหายไป
“เมื่อเติบโต เราอาจจะฉลาดขึ้นในบางเรื่อง แต่ขณะเดียวกันก็โง่ลงในบางเรื่องด้วย ผู้ใหญ่เราอาจคิดมากเกินไปในสิ่งที่จริงๆ แล้วมันไม่มีอะไร ยกตัวอย่างคำว่าเพื่อน เราเอาความหมายหรือคำบัญญัติของสิ่งหนึ่งมาใส่ในความคิดเรา เช่น ความเป็นเพื่อนคืออย่างนั้นอย่างนี้ เรากำหนดไปเองว่าต้องเริ่มต้นจากการทักทายแนะนำตัวก่อน แล้วค่อยให้นามบัตร ทำให้การเป็นเพื่อนกันมีขั้นตอน ทั้งที่จริงๆ แล้วเด็กๆ ไม่มีว่าเป็นเพื่อนจะต้องเริ่มจากเดินเข้าไป พูดสวัสดี ทักทาย มันไม่มีไง เขานั่งอยู่ข้างกันเขาก็เล่นเลย
“อย่างไรก็ตาม ความเป็นเด็กไร้เดียงสาก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียก็อย่างเช่น เด็กอาจจะไม่มีความยับยั้งชั่งใจ อาจจะไม่มีการรู้จักป้องกันตัวเอง เราเป็นผู้ใหญ่เราจะรู้ว่าตรงนี้สูง ถ้าพลัดตกลงไปอาจตายได้ เราก็จะไม่เดินเข้าไป แต่เด็กๆ เขาไม่รู้ เด็กจึงมีความกล้าในทุกมิติ เมื่อเขาไม่คิดอะไรมาก เขาก็พุ่งไปเลย”
ตื่นแต่เช้าเพื่อไม่ใช่แค่อีกเช้า
“เปรียบเหมือนตอนเป็นเด็กๆ ที่เราไม่อยากไปโรงเรียน บางทีการอยู่บ้านเสาร์อาทิตย์คือความสบาย ได้นอน ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ ตอนเช้าๆ เราอยากตื่นขึ้นมาเพื่อไปทำงานไหม ก็มีบางวันที่ขี้เกียจ
“แต่ถ้าลองคิดแบบเด็กๆ บางทีการตื่นขึ้นมาในตอนเช้าอาจเกิดจากความรู้สึกเล็กๆ บางอย่างเองนะ เช่น เมื่อวานทำงานดึกมาก เช้านี้เลยง่วงมาก ขี้เกียจมาก แต่พอเรานึกถึงความสุขเล็กๆ เช่น น้องในทีมเขานัดกันว่าจะใส่เสื้อลายเหมือนกันมาออฟฟิศ แบบนี้ก็จะทำให้ตอนตื่นเช้ามาเราตื่นเต้น อยากเล่นสนุก คิดว่า เฮ้ย วันนี้ได้ใส่เสื้อลายมาเล่นกับเพื่อนที่ออฟฟิศ วันนี้เรามีเรื่องสนุกด้วยกัน
“ชีวิตแต่ละวันๆ ย่อมมีโมเมนต์ที่มีความสุขและความทุกข์ เราเคยคุยกับสามีว่าความสุขคืออะไร คำตอบที่ได้คือ ความสุขคือการที่เราสามารถผ่านเรื่องราวความทุกข์ไปได้ทุกวันโดยที่ไม่เจ็บปวดกับมันมากมายเกินไป เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกวันจะเป็นวันที่ดี ไม่มีปัญหาอะไรเลย
“เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าความสุขคือการมีชีวิตที่ดี ได้กินอาหารอร่อย ได้ไปเที่ยว ได้นอนอยู่บ้าน ไม่ต้องทำงาน แต่ในที่สุดก็พบว่านี่ไม่ใช่ความสุข เพราะมันเหมือนตื่นมาแล้วไม่รู้ว่าจะทำอะไรทุกวัน ออกไปกินอะไรอร่อยๆ แค่นี้เหรอ แบบนี้คงไม่ใช่
“ความสุขคือทุกวันที่ตื่นมาแล้วเราอยากจะทำอะไรสักอย่าง เรามีความสุขเพราะมันมีประโยชน์อะไรบางอย่าง เหมือนเรามาถึงที่ทำงาน แล้วคนนี้เขารอเราอยู่นะ หรืออย่างงานที่เราทำทุกวันนี้ก็เป็นงานแวดวงศิลปะ เรารู้สึกได้ทำให้แวดวงนี้ดีขึ้นนะ ทำให้ทุกวันมันดี ตัวเราเองก็ดีด้วย”
นำความเป็นเด็กกลับคืนมา
“ก็ต้องรู้จักแบ่งเวลาบ้าง อาจจะเป็นการแบ่งอยู่ภายในตัวเรา ว่าในขั้นตอนนี้เราจริงจังกับงาน แต่ว่าไม่ต้องจริงจังแบบทุกๆ วินาทีจะต้องเครียดทุกลมหายใจเข้าออกเลย เพราะว่าภายในของเราต้องการความแข็งแรง ต้องการการผ่อนคลาย เพื่อที่จะมุ่งหน้าทำงานต่อไปได้
“รักษามุมที่เป็นเด็กที่สุดของเรา อย่างเช่นการล้อเล่น มีมุกตลกแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เราชอบเล่นมุกอะไรก็ได้กับเพื่อน ไม่ต้องคิดมาก ไม่กลัวว่ามันจะตลกหรือไม่ตลก ไม่ต้องวางฟอร์ม ไม่ต้องคิดว่าพูดแบบนี้แล้วฉันจะดูเจ๋งหรือเปล่า จะเท่หรือเปล่า เหมือนเด็กๆ เวลาเขามาเล่นมุกกับเรา เขาไม่คิดมากหรอก เขาไม่สนหรอกว่าครูจะขำหรือไม่ขำ แต่เขาตลกของเขามันก็เจ๋งของเขาแล้ว แต่ครูฟังแล้วจะแบบ ฮะ? อะไรนะ?
“สิ่งสำคัญคืออารมณ์ขัน รักษาอารมณ์ขันของคุณเอาไว้”