หญิงสาวร่างบางในชุดรัดรูปเตรียมพร้อมชก แทรกแนวความคิดที่อยู่ในใจระหว่างการพูดคุยเรื่องการต่อสู้ และพลังของผู้หญิง ผ่านอาชีพการเป็นนักกีฬา Martial Art ที่ต้องใช้ทั้งแรงกาย แรงใจ ผ่านการฝึกฝนอย่างหนักในเส้นทางสังเวียน พบกับความพ่ายแพ้ ยินดีกับชัยชนะ อดทนต่อคำดูแคลน เปลี่ยนคำถากถางให้เป็นแรงผลักดัน ปรับทัศนคติเรื่องความเท่าเทียมชายหญิง การลุกขึ้นมาต่อสู้กับความคิดของตัวเองและชี้ให้เห็นถึงพลังของผู้หญิงคนหนึ่ง จนกลายเป็นมวลพลังเล็กๆ ส่งต่อให้กับผู้หญิงและผู้ชายอีกมากมายที่ได้รู้จักกับเธอ
หญิงสาวคนนั้นคือ… ริกะ อิชิเกะ นักกีฬา Martial Art ระดับโลก
“
จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่เราที่พิสูจน์ความสามารถ แต่ผู้หญิงที่เป็นผู้นำประเทศ หรือมีอาชีพต่างๆ อีกมากมาย ต่างพิสูจน์ให้เห็นถึงพลังของผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงอะไรได้หลายๆ เหมือนกัน
”
ROUND 1 : Beat your Weakness
“ผมเจอริกะครั้งแรกเมื่อราว 4 ปีที่แล้ว ตอนนั้นเธอผอมบาง ตัวเล็กกว่าตอนนี้มาก” มอร์แกน เพิร์คกินส์ เจ้าของยิม Bangkok Fight Lab กล่าวขึ้น จากผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่เคยมีอุดมคติว่าอยากหุ่นบาง น้ำหนัก 45 กิโล แขนขาเล็กเหมือนผู้หญิงไทยทั่วไป แต่เมื่อเธอตัดสินเป็นนักกีฬาMartial Art มืออาชีพ สิ่งแรกที่เธอต้องทำคือการเพิ่มน้ำหนักและกล้ามเนื้อ เพื่อจะได้ชกอย่างทัดเทียมกับคนอื่น
“ช่วงแรกๆ ยอมรับว่าร่างกายเป็นอุปสรรคมาก คู่ซ้อมหญิงแทบไม่มี ส่วนใหญ่ต้องฝึกกับคู่ซ้อมผู้ชายที่น้ำหนักต่างกันเกินสิบกิโล” ริกะเล่าด้วยน้ำเสียงสดใส
“แต่พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจเลยว่า ไม่มีท่าทางหรือเทคนิคไหนที่ผู้หญิงทำไม่ได้หรอก ถึงแม้ว่าในด้านร่างกายผู้หญิงจะอ่อนแอกว่าผู้ชาย เพราะมีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่า แต่ในด้านของการต่อสู้ ผู้หญิงทำได้ทุกอย่าง ถ้าฝึกหนักมากพอ แถมเรายังตัวอ่อนกว่าผู้ชายด้วย กลายเป็นได้เปรียบเสียอีก”
เธอบอกว่าความตั้งใจทำให้มนุษย์เราสามารถก้าวข้ามความจำกัดด้านร่างกายได้เกือบทุกอย่าง ทั้งเรื่องเพศหรือเรื่องอายุ ซึ่งเธอได้ยกตัวอย่างนักกีฬา Martial Art หญิง May Ooi ชาวสิงคโปร์วัย 41 ปีที่ได้แชมป์ด้วยการเอาชนะคู่ต่อสู้อายุ 20 กว่าปีมาได้
“ไม่ได้หมายความว่าแก่แล้วจะทำอะไรไม่ได้ มันขึ้นการฝึกฝน ใช้เทคนิค และสะสมประสบการณ์” ริกะย้ำ
ROUND 2 : Boost your Courage
‘สิ่งสำคัญในชีวิตอาจไม่ใช่แค่การมีร่างกายที่แข็งแรง แต่เป็นการมีจิตใจที่เข้มแข็งต่างหาก’ แนวคิดสำคัญจากภาพยนตร์เรื่อง Into the Wild อธิบายการต่อสู้ภายในจิตใจของริกะได้เป็นอย่างดี
“พอมาเป็นนักกีฬามืออาชีพ สภาพจิตใจของตัวเองเปลี่ยนไปมาก เพราะหลายคนดูถูกเรื่องผู้หญิงมาต่อยมวย เราคงทนไม่ได้ไม่นานก็เลิก แต่เราก็นำมาเป็นแรงผลักดัน ซึ่งใช้ได้ผลดีทีเดียว อีกอย่างเมื่อก่อนขี้อาย ไม่ค่อยชอบคุยกับคนอื่น ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง แต่การมาฝึก Martial Art ทำให้ได้เจอกับคนเยอะ ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนเชื้อชาติต่างๆ ทั่วโลก ทำให้ได้เรียนรู้มากขึ้น และมีหลายสิ่งที่รอให้ออกไปเผชิญตลอดเวลา”
เธอหยุดคิด และพูดต่อด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“การตัดสินใจของเราก็ดีขึ้นมากอย่างเห็นได้ชัด เพราะ Martial Art ไม่ใช่กีฬาป่าเถื่อนอย่างที่หลายคนเข้าใจ มันคือการผสมผสานเทคนิคหลายอย่างเพื่อเอาตัวรอด และต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดในทุกจังหวะ”
แต่เธอยังต้องการคงที่พึ่งพิงทางจิตใจ ซึ่งได้รับจากชายข้างกายอย่าง ‘ครูตอง’ – ชนนภัทร วิรัชชัย นักกีฬา Martial Art หนึ่งในพลังสำคัญที่คอยเติมไฟให้เธอ โดยเฉพาะในวันที่การแข่งขันไม่เป็นไปอย่างที่คาดคิด
“แมตช์ที่ริกะแพ้ เขาเดินลงเวทีมาด้วยหน้าบวมตุ่ย คำแรกที่เราบอกกับเขาคือ ‘ไม่เป็นไร ทำได้ดีแล้ว’ หลังจากวันนั้น เราจึงค่อยบอกจุดที่ทำให้เขาพลาดในแมตช์นั้นทีหลัง ในเวลานั้นเราต้องปกป้องความรู้สึกของเขาก่อน ซึ่งทุกครั้งเธอก็เข้าใจดีอยู่แล้วว่าการแพ้ชนะเป็นเรื่องปกติ และยังได้เรียนรู้จากคำว่าแพ้มาด้วย”
ROUND 3 : Break Social Norms
เมื่อร่างกายแข็งแกร่ง จิตใจพร้อมรับทุกสถานการณ์ สิ่งที่เธอต้องก้าวข้ามให้ได้คือ เรื่องค่านิยมของสังคม
“หลายคนยังติดว่า การชกมวยเป็นเรื่องผู้ชาย เพราะต้องใช้แรง ไม่ต่างจากครอบครัวที่เป็นห่วงผู้หญิงตัวเล็กๆ ต้องมาเจ็บตัว หน้าตาบวม หรืออาจเกิดแผลแตกจากหมัด หากเป็นพนักงานออฟฟิศคงไม่ต้องเจ็บตัว หรือเป็นกังวลเรื่องอนาคต แต่ท้ายสุดเราเลือกแล้ว และทำให้เห็นว่า เราทำได้ดี พวกเขาก็คลายความกังวลลงไปได้เยอะ
“ส่วนการชกบ่อยๆ หลายคนอาจคิดว่าจะกระทบกระเทือนสมองอย่างหนัก เราคิดว่า โอกาสที่เราจะนอนน้ำลายไหล เอ๋อๆ (หัวเราะ) มีน้อยมาก และมีโอกาสเกิดขึ้นกับการต่อยมวยสากลมากกว่า เพราะมีตั้ง 12 ยก MMA มีเพียง 3 ยก รายการแข่งขันก็น้อยกว่ามาก MMA แข่งปีละประมาณ 3-4 เท่านั้น”
ในขณะเดียวกันสังคมยังวิพากษ์วิจารณ์ถึงการชกมวยแบบนี้ว่า ไม่ต่างจากหมูกัดกัน ผู้หญิงตบกัน หรือเป็นการต่อสู้แบบมั่วๆ และยังคงยึดติดภาพการต่อสู้ลักษณะนี้คือ มวยไทย
“มันไม่ใช่เลย” ริกะพูดเสียงดังฟังชัด
“สิ่งที่จะทำให้เราก้าวข้ามความคิดของคนอื่นไปได้ก็คือ ทำให้เขาเห็นต่อไปเรื่อยๆ”
มาถึงวันนี้เธอทำสำเร็จแล้ว หลังจากการเอาชนะในยกแรกของแมตช์ล่าสุดจนเป็นแชมป์โลก เธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับสาวๆ อีกหลายคน รวมทั้งคุณแม่ลูกหนึ่ง ที่ชื่นชอบทุกอย่างที่เป็นเธอ ถึงกลับตั้งชื่อว่าริกะ นี่คือพลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งทำให้เธอชื่นใจและรับรู้ได้ทันทีว่า พลังที่เธอสร้างส่งผ่านได้การกระทำจริงๆ
End the Game of Inequality
สิ่งที่ริกะเล่าให้ฟังมาจนถึงตรงนี้ ทำให้เรานึกถึงภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ซึ่งเป็นเรื่องราวกลุ่มผู้หญิงผิวสีที่ทำงานเป็นนักคณิตกรอยู่ในองค์กรนาซ่าช่วงยุค 60s เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความแกร่งทางด้านร่างกาย ให้พลังทางจิตใจ วิธีการก้าวข้ามจุดอ่อนของความเป็นผู้หญิง ความเท่าเทียมระหว่างชายหญิง และบทพิสูจน์ที่ทำให้คนรอบข้างและสังคมยอมรับในอาชีพ ซึ่งมักจะเข้าใจว่า จะต้องเป็นผู้ชายเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ เช่นเดียวกับอาชีพนักกีฬา Martial Art และริกะเองก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างจากในอดีตที่ผ่านมา
“ตอนแรกๆ คนจะมองภายนอกก่อน เช่น ผู้ชายชกมวย จะมองกันที่ความสามารถ แรงหมัด ชั้นเชิง แต่พอเป็นผู้หญิง กลับมองรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่า เช่น ความสั้นของชุดที่ใส่ชก ติเรื่องอ้วนขึ้นผอมลง กระทั่งเรื่องเป็นสิว แม้ตอนนี้จะยังติอยู่ แต่ก็น้อยลงมาก และสำหรับเรา เรายืนยันว่า มวยคืออีกสิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกัน ผู้ชายทำได้ ผู้หญิงก็ทำได้ ไม่ได้แค่สวยไปวันๆ อย่างแน่นอน”
ด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นของริกะ หากมีเพลงสนุกๆ อย่าง able จากภาพยนตร์เรื่อง Hidden Figures ที่มีร้องว่า Don’t you know that we’re able? Yes, we can! คงยิ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้หญิงทุกคนได้เป็นอย่างดี