วิชัย

วิชัย มาตกุล | Creative Director แห่ง Salmon House ชีวิตสมดุลทุกด้านด้วยการตั้งปณิธานปีใหม่

คงไม่ช้าเกินไปสำหรับสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม ถ้าเราอยากชวนคุณไปสำรวจปณิธานปีใหม่ทั้ง 4 ด้านของ วิชัย มาตกุล นักเขียนสุดกวน คุณพ่อของเด็กชายวัย 3 ขวบ และ Creative Director ไฟแรงแห่งแซลมอนเฮาส์ ผู้เผยว่า ปีที่ผ่านมาทำงานหนักจนต้องรีเซตสุขภาพกันยกใหญ่ และถึงแม้ว่าเขาจะบอกกับเราอย่างอารมณ์ดีว่า “เราถึงวัยที่อยากรีเซตอะไรก็ไม่เวิร์กแล้ว” แต่เขาก็มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิต เพื่อหาจุดสมดุลด้านการงาน การเงิน สุขภาพ และความสัมพันธ์ที่พอเหมาะพอดีกว่าปีที่ผ่านมา

 

ร่างกายของเราคือเครื่องมือ คนใช้คืออารมณ์กับสภาพจิตใจ ถ้าเครื่องมือมันไม่ดี สภาพจิตใจเราก็ไม่ดีตาม

วิชัย

HEALTH

     สมัยเรียนค่อนข้างเชื่อว่าตัวเองเป็นคนแข็งแรง ถ้าไม่นอนสักคืนสองคืนคงไม่น่าเป็นเรื่องใหญ่ พอเริ่มทำงานสายเอเจนซีโฆษณาก็สามารถเข้างานสิบโมง เลิกตีสอง ทำงานที่บ้านต่อถึงตีสี่ และตื่นไปทำงานตอนสิบโมงเช้าได้แบบไม่หนักหนาอะไร ซึ่งจริงๆ ก็รู้แหละว่ามันไม่ดี เลยมีช่วงหนึ่งลาออกไปเขียนหนังสือที่บ้าน และคุณภาพชีวิตก็ดีขึ้นมาก แต่พอเริ่มมาทำงานที่แซลมอนเฮาส์ ทุกอย่างก็กลับมาลูปเดิมอีก ทำงานหนักมาก

     จนกระทั่งปีที่แล้วป่วยเป็นโรค Bell’s Palsy (โรคหน้าเบี้ยว หรือปลายท่อประสาทอักเสบ) อาการคือหน้าด้านซ้ายของเราชาจนไม่รู้สึกอะไรเลย หลับตาไม่สนิท เคี้ยวข้าวข้างซ้ายไม่ได้ กินน้ำก็ไหลออกมาหมด พูดไม่ชัด ซึ่งมันเกิดมาจากความเครียดสะสมและพักผ่อนไม่เพียงพอ นั่นยังไม่นับว่าเราเป็นออฟฟิศซินโดรมเรื้อรัง ไมเกรน รองช้ำ (อาการเจ็บที่ส้นเท้า) แล้วก็เป็นแผลในกระเพาะอาหารด้วย มันมาถึงจุดที่ว่า ไม่ได้แล้ว เราต้องทำอะไรสักอย่าง

     เราพยายามปรับการทำงานใหม่ ซื้อโต๊ะเก้าอี้ใหม่ และที่สำคัญมาก คือซื้อที่ตั้งคอมพิวเตอร์ จริงๆ เราเห็นมานานแล้ว แต่ก็คิดว่า เพ้อเจ้อ ทำไมคอมพิวเตอร์มันต้องมีที่ตั้งอะไรให้วุ่นวายด้วยวะ สุดท้ายวันนั้นก็ต้องไปซื้อมาใช้ (หัวเราะ) แล้วค้นพบเลยว่ามันดีมาก (ลากเสียง) พอตั้งคอมในระดับสายตา ก็จะไม่ปวดคอ ไม่ปวดไหล่ ทำให้เราเข้าใจว่าอะไรที่มันอยู่เรานานๆ ก็ควรลงทุนกับมันหน่อย เพราะอุปกรณ์ในการทำงานมันควรจะช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น ไม่ใช่สร้างความเจ็บปวด

     ส่วนในด้านร่างกายเราก็ไปฝังเข็มจริงจัง และฝังเข็มบ่อยขึ้น ทำกายภาพบำบัด พักผ่อนให้เพียงพอ ง่ายๆ คือรู้ว่ามีอะไรต้องซ่อมก็ซ่อมให้หมด ซึ่งมันส่งผลให้สภาพจิตใจดีขึ้นด้วย ทุกอย่างมันสัมพันธ์กันหมด เหมือนร่างกายของเราคือเครื่องมือ คนใช้คืออารมณ์กับสภาพจิตใจ ถ้าเครื่องมือมันไม่ดี สภาพจิตใจเราก็ไม่ดีตาม แต่ถ้าเครื่องมือมันดี ทั้งสภาพจิตใจ การงาน และอีกหลายๆ อย่างก็จะดีตามไปด้วย

วิชัย

CAREER

     งานครีเอทีฟเป็นงานที่ต้องสู้กับความไม่เชื่อของคน อย่างของแซลมอนเฮาส์ สิ่งที่ยากที่สุดคือการทำให้ลูกค้าเชื่อไอเดียของเรา วิดีโอเกือบทุกคลิปที่คนดูแล้วพูดว่ามันตลก ก็แทบไม่มีลูกค้าคนไหนเลยที่พูดว่ามันตลกตั้งแต่เสนอครั้งแรก ทำให้งานแบบนี้เป็นงานที่ใช้เวลานาน และดูดพลังชีวิตไปเยอะ แต่ในขณะเดียวกันเราก็เชื่อว่ามันมีการบริหารที่ทำให้ไม่ต้องทำงานหนักขนาดนี้ แค่คิดงานให้แม่นขึ้น โฟกัสกับงานมากขึ้น และเล่นกันน้อยลง อีกอย่างคือ ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา เรากับเบนซ์ ธนชาติ วางแผนกันว่าจะเริ่มกลับบ้านตอน 2 ทุ่ม งานเสร็จไม่เสร็จช่างมัน ไปทำต่อที่บ้าน หรือทำพรุ่งนี้ก็ได้ ตั้งใจว่าถ้าทำงานคือทำงาน ถ้าหยุดคือหยุดจริงๆ

วิชัย

WEALTH

     ก่อนมีลูก ส่วนตัวไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเงินเท่าไหร่ เรียกว่ามีเงินเก็บ มีเงินใช้ แต่พอมีลูก แล้วภรรยาต้องออกจากงาน เงื่อนไขการใช้เงินก็มีเยอะขึ้น ถ้ามีคนมาถามเราว่า แรงขับดันหรือแรงบันดาลในการทำงานของเราเกิดจากอะไร เรามักจะบอกว่า หนี้สินและกิเลสครับ คนที่บอกว่าเงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในชีวิต มีอยู่แค่ 2 ประเภท คือคนที่มีเงินมากพอแล้ว กับคนที่ ณ ตอนนั้นยังไม่ต้องใช้เงิน ส่วนปีนี้ก็วางแผนการใช้เงินให้มากขึ้น เพราะต้องต่อเติมบ้าน และอยากพาครอบครัวไปเที่ยวญี่ปุ่น 2 รอบ

วิชัย

LOVE & RELATIONSHIP

     ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เรามักเลือกที่จะทำงานก่อน แต่พอมีลูก และภรรยาไม่ทำงานแล้ว เราพบว่าเวลาของเราสำคัญกับพวกเขาเช่นกัน ดังนั้น ตอนนี้กลับบ้านคือหยุดงาน วันหยุดคือหยุด ถ้าต้องทำงานก็รอให้ลูกหลับก่อน เราว่าครอบครัวมันเหมือนทีมบอลนะ กองหน้ายิงประตูได้เยอะแค่ไหน ถ้าไม่มีผู้รักษาประตูก็แพ้ หรือผู้รักษาประตูเก่งแค่ไหน แต่ไม่มีตัวทำประตูก็ไม่ชนะ ในขณะที่เราทำงานหนักหาเงินคนเดียว ภรรยาก็เลี้ยงลูกอยู่บ้าน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นงานที่ไม่เบาเลย… เราไม่ได้ทำงานหนักคนเดียวแหละ เขาก็หนักเหมือนกัน ปีหน้าเราจึงอยากมีเวลากับพวกเขาให้มากขึ้น ไม่แน่ใจว่าจะทำได้จริงๆ หรือเปล่า แต่จะพยายาม

  • คำว่า リセット หรือ Reset เป็นหลักการคิดหนึ่งที่อยู่ในวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่น พวกเขาจะรีเซตชีวิตในด้านต่างๆ กันทุกครั้งที่ตัวเองกำลังรู้สึกล้มเหลวหรือเจอทางตัน ซึ่งคนญี่ปุ่นนั้นมีความผูกพันกับวิดีโอเกมมาอย่างยาวนาน และทุกครั้งที่เล่นแพ้หรือ Game Over ก็จะทำการ Reset เกมเพื่อเล่นใหม่ เรียนรู้ ข้อผิดพลาด และฝ่าฟันไปจนถึงด่านสุดท้าย ซึ่งเขามองว่าชีวิตนั้นก็มีลักษณะเดียวกัน ถ้าล้ม เราก็ลุกขึ้นมา และปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่อีกครั้ง