ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ถึงแม้วันนี้จะไม่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ได้มีหน้าที่ดูแลการคมนาคมขนส่งของประเทศนี้มานานสามปีกว่า แต่สิ่งที่เขาเคยพูดแถลงไว้ต่อสภาฯ เรื่องพระราชบัญญัติอนาคตของชาติ นั้นมันช่างจับใจ เขาบอกว่าสิ่งที่มีค่าที่สุดของประเทศเรา คือ “เวลา” มันไม่ใช่แค่ปัญหาในระดับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาระดับปัจเจกแต่ละคนอีกด้วย เรากำลังใกล้วันตายเข้าไปทุกทีๆ ในขณะที่เราแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากรถติดตอนเช้าสองชั่วโมง รถติดตอนเย็นสองชั่วโมง ระหว่างวันก็นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือไปเรื่อยเปื่อย ประเทศชาติบ้านเมืองไม่ได้เดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานมานานเท่าไร ปล่อยเวลาผ่านไปแต่ละวินาทีคือการพลาดโอกาส และพ่ายในการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน
บนเวที เก(ล)า ทอล์ค จัดโดยองค์กร World Peace Initiative และ PIPO Club เมื่อปีที่ผ่านมา เขาไปเป็นวิทยากรให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้เห็นค่าของเวลา เขาชี้ให้เห็นว่าเวลากำลังไหลเรื่อยไป และฆ่าทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่เลือกหน้า ไม่ปรานีปราศรัย สิ่งที่เราทำได้ คือการเรียงลำดับสิ่งสำคัญในชีวิต สุขภาพ ครอบครัว การงาน การพักผ่อน แล้วก็บริหารเวลาที่จำกัด และก็ใช้ชีวิตของเราอย่างคุ้มค่า ลองมาดูบทเรียนจากประสบการณ์ทำงานทั้งชีวิต ด้านโลจิสติกส์ งานการเมือง และจนปัจจุบันมาเป็นผู้บริหารของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ เขายืนยันอย่างชัดถ้อยชัดคำ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีมิติของเวลาแฝงอยู่ เวลาคือต้นทุนที่แพงที่สุดของประเทศเราและของชีวิตเรา
“เราสนใจเรื่องอะไร ก็อ่านหรือศึกษาเรื่องนั้นไป อ่านหนังสือแนวไหนแล้วชอบ ก็อ่านไปเรื่อยๆ หนังสือที่ผมอ่านอยู่ตอนนี้ ผมไม่ได้อ่านหนังสืออสังหาริมทรัพย์เลยนะ ผมอ่านอะไรให้ทาย ผมอ่านเรื่องธุรกิจแนวใหม่ บิทคอยน์ บล็อกเชน ฟินเทค อ่านแล้วสนุก อยากอ่าน และอีกแนวที่ชอบมากคือ Behavior Science ก็อ่านไปเรื่อยๆ ถามว่าอ่านเพราะรู้ใช่ไหมว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น ผมบอกว่าไม่รู้หรอก แต่มันช่วยเปิดโลกทัศน์ ทำให้เรามีความรู้กว้างๆ แต่ละคนชอบอะไรไม่เหมือนกันอยู่แล้ว ผมอยู่ในแวดวงธุรกิจ ผมก็อ่านธุรกิจอะไรใหม่ๆ ต้องรู้เตรียมไว้”
Zero to One
“ปีเตอร์ ทีลส์ หนึ่งใน Paypal Mafia เล่มนี้สอนให้เราคิดย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น คือการสร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ธุรกิจบ้านเราไม่ได้คิออะไรใหม่ เป็นการทำซ้ำของเก่าแต่เพิ่มจำนวนขึ้น หรือ ที่เขาเรียกว่า หนึ่งถึงเอ็น (1 to n) อย่างเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เมืองไทยเราทำงานผลิตรถยนต์แล้วส่งออกไปขายต่างประเทศ นี่คือคิดจากหนึ่งไปถึง N เพิ่มจำนวนแต่ไม่มีอะไรใหม่ แต่ระบบเศรษฐกิจในยุคต่อไป จะขึ้นอยู่กับคนที่ทำงานตั้งแต่จุดศูนย์ถึงหนึ่ง (Zero to One) หมายถึงผู้คิดค้นนวัตกรรมขึ้นมา ก่อนจะมาเป็นสินค้าและธุรกิจ”
“ปีเตอร์ ทีลส์ ไม่เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ (globalization) เพราะเขาถือว่านั่นคือการขยายตัวออกไปเพื่อหาแหล่งผลิตที่ต้นทุนต่ำที่สุด สุดท้ายแล้วราคาจะลดต่ำลงไปเรื่อยๆ แต่เขาเห็นด้วยกับการพัฒนาด้วยเทคโนโลยี และ นวัตกรรม ทิศทางการพัฒนาประเทศจะต้องหันมาให้ความสำคัญกับนวัตกรรม ความมั่งคั่งและความเจริญจะมาจากการคิดค้นตั้งแต่ศูนย์ ในตอนนี้ ปีเตอร์ ทีลส์ กลายมาเป็นที่ปรึกษาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ทันทีเมื่อทรัมป์เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี สิ่งแรกๆ ที่เขาทำคือการยกเลิกข้อตกลงทางการค้า TPP และหันมาใช้วิธีการเจรจาแบบทวิภาคีแทน”
Thank You for Being Late
“เล่มนี้เหมาะอย่างยิ่งกับคนทำงานสร้างสรรค์ ผู้เขียน Thomas L.Friedman คนเขียน The World is Flat เขาเป็นนักเขียนประจำของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทมส์ เขาบอกว่าเวลามีค่ามาก และเราทุกคนต้องใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบให้ทันนัดหมายต่างๆ ผู้เขียนทำงานสัมภาษณ์ผู้คนมากมาย ในการนัดหมายส่วนใหญ่คนจะมาช้ากว่ากำหนด เขาพบว่าช่วงเวลาระหว่างการรอคนนัดหมาย เขาสามารถทำงานสร้างสรรค์ คิดและเขียนงานออกมาได้มากมาย เขาจึง Thank You for Being Late เพราะเวลารอนัด เป็นเวลาที่เราได้อยู่กับตัวเองจริงๆ เราสามารถได้เวลานั้นมาฟรีๆ เป็นเวลาว่างที่เรามีได้โดยไม่ได้คาดไว้ก่อน เพื่อใช้คิดเรื่องราวต่างๆ แล้วบีบบังคับตัวเองให้ทำงานเสร็จสักชิ้น กลายเป็นเวลาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาแทนจะปล่อยไปกับการรอคอยอย่างเปล่าประโยชน์”
Platform Revolution
“หนังสือเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ ปัจจุบันเรากำลังเจอสถานการณ์เช่นนี้กันอยู่ คือมีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากมาย จนธุรกิจดั้งเดิมปรับตัวตามไม่ทัน เมื่อก่อนเราทำงานเป็นเส้นตรงเหมือนท่อ (Pipeline) ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ โดยมีคนคั่นกลางเป็น Gatekeeper แต่เมื่อมีแพลตฟอร์มใหม่เกิดขึ้นกระจัดกระจายไปทั่ว ผู้ขายกับผู้ซื้อไม่จำเป็นต้องเดินตามทาง Pipeline และไม่ต้องมี Gatekeeper อีกต่อไป ยกตัวอย่างแท็กซี่ที่มี Uber และ Grab เป็นแพลตฟอร์มใหม่เข้ามา เมื่อก่อนเรามีกรมขนส่งเป็น Gatekeeper คอยควบคุมแท็กซี่ ในอนาคต สภาพแบบนี้จะเกิดขึ้นกับทุกธุรกิจ”
“วงการสื่อมวลชนก็เช่นเดียวกัน เมื่อก่อนมีองค์กรสื่อเป็น Gatekeeper แต่ในทุกวันนี้เราทุกคนเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและเสพเนื้อหา ผ่านทางแพลตฟอร์มใหม่ๆ สิ่งสำคัญของสตาร์ทอัพพวกนี้คือการขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว (Scalability) ยกตัวอย่าง ร้านก๋วยเตี๋ยวที่เป็นกิจการขนาดเล็ก มีข้อจำกัดเรื่องจำนวนเก้าอี้นั่ง ทำเลร้าน การขยายสาขา ไม่สามารถ Scale ได้ แต่พอมี Platform ที่คนทั่วกรุงเทพสามารถสั่งอาหารผ่าน APP โดยใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว”
Thinking Fast & Slow
“เขาพูดไว้ดีนะ สมองคนเรามีสองส่วน คือส่วนที่คิดเร็วและส่วนที่คิดช้า ส่วนที่ช้าก็คือการใช้เหตุผล ส่วนที่เร็วก็คืออารมณ์ บ้านเราใช้อารมณ์เยอะ มันคือการโต้ตอบโดยสัญชาตญาณ ผมว่าก็เหมือนหลักของพุทธศาสนาเรา ที่สอนให้ใช้โยนิโสมนสิการ คือท่านให้เราใช้เหตุผลนั่นเอง หัดไตร่ตรองอย่าใช้แต่อารมณ์ แต่เราสมัยนี้คิดแต่เร็วๆ ยิ่งพอมีอินเทอร์เน็ตกัน เรื่องราวต่างๆ มาไว้ ไปไว เราก็เลยใช้แต่อารมณ์กันเยอะ กลายเป็นว่าเราต้องรีบด่าทอ และต้องรีบบอกต่อ สำหรับคนอื่นๆ อาจจะไม่เป็นปัญหาร้ายแรง แต่สำหรับผม การส่งต่อเรื่องพวกนี้ออกไป จะอาจจะกลายเป็นปัญหาให้ผมไปทั้งชีวิตเลย ผมเองไม่เคยรีบตอบ ไม่เคยรีบส่งต่อ เพราะรู้ดีว่าถ้าใครแคปหน้าจอเราต่อไป เราตามล้างตามลบไม่ได้อีกเลย”
“อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่าสังคมไทยเราเหมือนเป็น Feeling & Believing Society คือเราใช้สมองส่วนคิดเร็วกันเยอะ เน้นความรู้สึก เน้นอารมณ์ ความเชื่อ แต่ถ้าจะให้เราลดความขัดแย้งลง เราคงจะต้องพยายามใช้สมองส่วนคิดช้าให้มากชึ้น อยู่กันด้วยเหตุผล เรียนรู้ และ ไตร่ตรอง เพื่อให้เป็น Learning & Thinking Society ให้มากขึ้น”