ห้วงบทเพลงพระราชนิพนธ์ รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ สมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์

พระอัจฉริยภาพในการประพันธ์เพลงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียงแต่เป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลกถึงความไพเราะ แต่ในแง่ของการเป็นนักดนตรีนั้น พระองค์ท่านก็ทรงมีฝีมือในการเล่นแซกโซโฟนระดับมืออาชีพด้วยเช่นกัน โดยยืนยันได้จากคำบอกเล่าของ รศ.ดร.ภาธร ศรีกรานนท์ หนึ่งในสมาชิกวง อ.ส.วันศุกร์ ผู้ที่เข้าถวายตัวเล่นดนตรีกับในหลวงมาตั้งแต่อายุ 12 ขวบ

01

อ.ส.วันศุกร์ วงดนตรีของพระองค์

ผมมีโอกาสได้เข้าเฝ้าในหลวงเป็นครั้งแรกช่วงที่เรียนชั้นอนุบาล 2 เพราะคุณพ่อพาไปที่วง อ.ส.วันศุกร์ พอท่านเริ่มทรงดนตรีผมก็กลับบ้านเพราะจะดึกเกินไป ต่อมาเมื่อผมกำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ผมมีโอกาสได้เข้าเฝ้าพระองค์และได้อยู่ดูพระองค์ทรงดนตรี เราชอบเสียงแซกโซโฟนของพระองค์มาก ลักษณะท่าทางที่พระองค์ทรงดนตรีนั้นแสนสง่างาม ทำให้เราอยากเล่นให้ได้แบบพระองค์บ้าง จนตัดสินใจเริ่มหัดเล่นแซกโซโฟน และฝึกฝนมาโดยตลอด จนโอกาสดีๆ มาถึง คุณพ่อพาเข้าไปถวายให้เล่นในวงอ.ส.วันศุกร์ ซึ่งจริงๆ แล้ววง อ.ส.วันศุกร์ ไม่ได้เป็นวงดนตรีที่เป็นนักดนตรีมืออาชีพ แต่นักดนตรีแต่ละคนที่มาเล่นด้วยกันก็เพื่อแบ่งปันความสุขให้กันและกันทุกวันศุกร์มากกว่า

02

สถานที่ที่พระองค์ทรงดนตรีร่วมกับวงอ.ส.วันศุกร์

ตอนที่พระองค์ทรงดนตรี เป็นช่วงเวลาที่พระองค์ทรงได้เป็นตัวของตัวเองจริงๆ โดยสถานที่ที่เราเล่นดนตรีนั้น ถ้าเป็นที่กรุงเทพฯ ก็จะอยู่ที่วังสวนจิตรดา ซึ่งจะมีห้องทรงดนตรี และเป็นห้องออกอากาศของสถานีวิทยุ อ.ส. จนประมาณ 17 ปีที่แล้ว พระองค์ทรงแปรพระราชฐานไปประทับที่หัวหิน พวกเราจึงไปเข้าเฝ้าพระองค์ที่พระราชวังไกลกังวลทุกวันเสาร์ และทรงดนตรีกันที่ท้องพระโรงศาลาเริงแทน

03

แจ๊ส แนวดนตรีทรงโปรด

พระองค์ชื่นชอบดนตรีแจ๊ส และเพราะเป็น ‘ดนตรีปลดแอก’ เวลาเล่นจึงต้องมีการด้นสดตลอดเวลา ทำให้ผมต้องฝึกฝนทักษะทางด้านนี้ ดนตรีแจ๊สทำให้เราถ่ายทอดความรู้สึกออกมาจากใจได้ และใช้เป็นเครื่องหมายของการประกาศเสรีภาพ โดยเฉพาะ New Orleans Jazz ซึ่งเป็นแนวดนตรีที่พระองค์ทรงโปรดเป็นอย่างยิ่ง ก็จะยิ่งแตกต่างออกไปอีก เพราะทุกคนต้องเล่นร่วมกันโดยที่ไม่มีโน้ตเพลง ดังนั้นเราต้องฟังทั้งคนรอบข้าง และฟังตัวเราเอง ต้องมีการตอบโต้กันไปมา ซึ่งก็เหมือนเราคุยกันผ่านการเล่นดนตรี

04

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นทุกอย่างในชีวิต

ผมเห็นถึงสิ่งที่พระองค์ผ่านการทรงดนตรีคือ การใช้ชีวิตทุกด้านของพระองค์ราวกับว่าพระองค์กำลัง improvise ชีวิตของพระองค์ โดยที่ไม่รู้ว่าในแต่ละวันอะไรจะเกิดขึ้น ไม่รู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจะเป็นอย่างไร สิ่งสำคัญที่พระองค์ทำคือ การอยู่กับสิ่งตรงนั้น และจัดการ ในหลวงร.9 เป็นทุกอย่างสำหรับผม ผมเกิดมาก็อยู่กับพระองค์ ถึงแม้ว่าตอนเด็กๆ เราจะไม่รู้ว่าคนๆ นี้คือกษัตริย์ของประเทศไทย แต่พระองค์ก็ทรงให้ความเมตตา ทรงดูแลเหมือนลูกเหมือนหลาน ซึ่งไม่มีอะไรดีไปกว่านี้อีกแล้ว และครั้งศึกษาต่อต่างประเทศ พระองค์ก็มอบทุนการศึกษาให้ พอกลับมาพระองค์ก็สอนเราในอีกหลายๆ เรื่อง พระองค์ทรงเป็นทุกอย่างของผม เป็นทั้งครู พ่อ หรือแม้กระทั่งพี่ชายที่แสนดี

05

ดนตรีสร้างคน

ดนตรีนั้นมีพลังสามารถช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สงบ หรือทำให้เราเครียดมากขึ้นก็ได้ ดนตรีสร้างคนให้เป็นคนเลวก็ยังได้ เพราะเสียงดนตรีมีความเชื่อมโยงกับสภาวะจิตใจของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับว่ามิติที่เราสัมผัสอยู่ในระดับไหน ดนตรีที่เราฟังเพื่อความบันเทิงก็เป็นแบบหนึ่ง แต่ดนตรีอีกประเภทอย่างเช่น ศิลปะ ก็จะมีความรู้สึกที่แตกต่างออกไป ตอนที่พระองค์ประทับอยู่ที่ยุโรปก็พบว่าดนตรีนั้นมีผลต่อคนที่นั่นมาก มีหลายประเทศที่ดนตรีเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการปฎิวัติ

06

ดนตรีเยียวยาหัวใจที่อ่อนล้าให้แข็งแกร่ง

ดนตรีสามารถปลุกใจคนให้เกิดความฮึกเหิม ตอนที่พระองค์ประชวร ดนตรีก็ช่วยขับกล่อมท่าน ทำให้สบายพระทัย เหมือนเวลาที่เราร้องเพลงกล่อมให้เด็กนอน ซึ่งในหลักการวิทยาศาสตร์พอเราเกิดความเครียด หัวใจก็จะเต้นเร็ว และสิ่งที่สามารถช่วยบรรเทาความเครียดนี้ได้คือเสียงดนตรี ถ้าเราเล่นดนตรีที่มีจังหวะอัตราใกล้เคียงกับการเต้นของหัวใจ หัวใจจะปรับอัตราการเต้นให้เข้ากับจังหวะของเสียงดนตรี เมื่อหัวใจเต้นช้าลง การสูบฉีดเลือดก็ลดลง ความดันในร่างกายก็ลดลง ซึ่งดนตรีก็คือยาชั้นเลิศที่พระองค์ท่านใช้ในการผ่อนคลาย

07

เพลงพระราชนิพนธ์สะท้อนความรู้สึกของพระองค์

ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงใช้เพลงพระราชนิพนธ์ในเรื่องต่างๆ เช่น เพลงพระราชนิพนธ์บทแรกๆ อย่าง ยามเย็น ใกล้รุ่ง หรือสายฝน เป็นเพลงที่ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลาย เพลงใกล้รุ่งเป็นเพลงลีลาศ ท่านประพันธ์ขึ้นมาเพื่อใช้เต้นรำ เพราะช่วงนั้นเราเพิ่งผ่านสงครามกันมา มีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย ประชาชนมีความเครียด พระองค์ท่านจึงทรงใช้เพลงเหล่านี้ทำให้ประชาชนผ่อนคลาย และนี่เป็นสาเหตุหลักที่พระองค์ไม่โปรดให้พระราชทานเพลงแสงเทียนออกมาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นเพลงแรกที่พระองค์ทรงพระราชนิพนธ์ เพราะเพลงนี้เป็นดนตรีแนวบลูส์ จึงมีความเครียด เป็นการระบายออกถึงความอัดอั้นตันใจ

 

08

ปลุกใจด้วยเพลงความฝันอันสูงสุด หรือเพลงเราสู้

ช่วงปีพ.ศ. 2514 เป็นช่วงที่บ้านเมืองไม่ค่อยสงบสุข ก็จะมีเพลงความฝันอันสูงสุด หรือเพลงเราสู้ ซึ่งเป็นเพลงปลุกใจ พระองค์ทรงใช้เพลงพระราชนิพนธ์ให้กำลังใจคน อย่างเพลงยิ้มสู้ พระองค์ก็พระราชทานให้กับคนตาบอด แต่ละเพลงของพระองค์มีเรื่องราว มีโลกของตัวเองอยู่ในนั้น หรือแม้แต่เพลงอย่าง Kinari Suite ทรงประพันธ์เป็นสไตล์คลาสสิกตะวันตก โดยสมัยนั้นไม่เคยมีใครทำเช่นนี้มาก่อน ทั้งยังใช้เป็นเพลงนี้เป็นฑูตในการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศได้อีกด้วย

09

เพลง ในดวงใจนิรันดร์ เป็นเพลงที่พระองค์ทรงโลโซ่แซกโซโฟน

เพลง ในดวงใจนิรันดร์ โดยวง อ.ส.วันศุกร์ เป็นเพลงที่มีความหมายสำหรับผมมาก ผมจึงนำต้นฉบับของเพลงนี้ที่เป็นแผ่นเสียงเมื่อ 50 ปีก่อนมาบันทึกใหม่ลงแผ่นซีดีเพื่อแจกให้กับคนที่มาเข้าชมงานคีตรัตนบรมราชานุสรณ์ ธ สถิตกลางใจราษฎร์นิรันดร์เมื่อปี 2559 โดยเพลงนี้คุณพ่อของผมเป็นผู้ขับร้อง บรรเลงดนตรีโดยวงอ.ส.วันศุกร์ และพระองค์ทรงเป่า แซกโซโฟนโดยเฉพาะท่อนโซโล่ ที่เป็นเอกลักษณ์ พลิ้วไหว ราวกับนักดนตรีอาชีพ ผมจำความโดดเด่นนั้นได้ดี แต่เพราะบนปกของแผ่นเสียงเดิมไม่ได้ระบุไว้ว่าพระองค์ทรงดนตรีด้วย ทำให้คนอื่นไม่รู้

10

ดนตรีของพระองค์จะเชื่อมใจเรา และความจงรักภักดีต่อพระองค์ไปตลอดกาล

ตอนนี้ผมเชื่อว่าการที่จะทำให้เพลงพระราชนิพนธ์ของท่านคงอยู่ตลอดไป และให้คนทุกรุ่นสัมผัสได้ เราจะต้องทำให้เพลงมีความคลาสสิก มีความขลังในตัวเอง เหมือนกับดนตรีของโมสาร์ท หรือบีโธเฟ่น ที่ผ่านมากี่ปีก็ยังมีความเป็นอมตะ ซึ่งเอกลักษณ์ของเพลงพระราชนิพนธ์ที่ผมพยายามวิเคราะห์ออกมา จากข้อมูลที่ศึกษา รวมถึงข้อปรับปรุงต่างๆ ที่ท่านทรงลงลายพระอักษรไว้ในสมุดโน้ตเพลงของผม ผมได้ลองทำเพลงพระราชนิพนธ์ขึ้นมาเป็นสไตล์ New Orleans Jazz เพราะเป็นสไตล์ที่พระองค์ทรงโปรดที่สุด และถ้าเยาวชนคนรุ่นหลังๆ สามารถเข้าถึงภาษาของดนตรีนี้ได้ เขาก็จะรู้จักพระองค์มากขึ้น