ก่อเกียรติ ทองผุด ผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่สมกับพระเกียรติของพระเมรุมาศ

พระเมรุมาศ เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระมหากษัตริย์ ซึ่งสร้างไว้ ณ ท้องสนามหลวง เพื่ออัญเชิญพระบรมศพจากพระบรมมหาราชวัง ด้วยขบวนพระราชอิสริยยศออกไปประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงบนอาคารพระเมรุมาศ โดยประเพณีนี้ถูกสืบทอดมาตั้งแต่สมัยอยุธยา (พ.ศ. ๑๘๙๓-๒๓๑๐)

คติการสร้างพระเมรุมาศจึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบมาเสมอในแต่ละยุคสมัย แต่ยังคงแกนหลักของคติความเชื่อที่ว่าพระมหากษัตริย์คือสมมติเทวราช เมื่อถึงวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพก็ต้องเสด็จกลับยังเทวภิภพ และผู้ที่เข้ามารับผิดชอบในการออกแบบพระเมรุมาศเพื่ออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไปยังภพแห่งความดีงามอันมีดินแดนอยู่ที่เขาพระสุเมรุครั้งนี้ ก็คือหน้าที่รับผิดชอบของ อาจารย์ก่อเกียรติ ทองผุด นายช่างศิลปกรรมชำนาญการ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร และทีมงานที่ช่วยกันลงแรงกันอย่างสุดความสามารถเพื่อให้พระเมรุมาศนี้ยิ่งใหญ่สมกับพระเกียรติที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ได้สร้าง และมอบคุณประโยชน์มหาศาลไว้ให้กับปวงชนชาวไทย

พระเมรุมาศถือเป็นงานออกแบบที่ยิ่งใหญ่ มีหลายฝ่ายเข้ามาช่วยเหลือมากมาย อยากรู้ว่าสุดท้ายอาจารย์สรุปรูปแบบของพระเมรุมาศของในหลวง รัชกาลที่ ๙ นี้ อย่างไร

พระเมรุมาศครั้งนี้เป็นงานที่ใหญ่และมีรายละเอียดเยอะมาก หลังจากร่างพระเมรุมาศเสร็จ ผมก็ให้สมเด็จพระเทพฯ คัดเลือก พอได้ภาพรวมแล้วจึงตั้งโจทย์ไว้ ๒-๓ ข้อ แล้วส่งให้ทุกคนออกแบบ ถ่ายความรับผิดชอบ โดยทำคอนเซ็ปต์ไว้สองคอนเซ็ปต์ อย่างแรกคือ ในหลวงเป็นรามาธิบดี หมายถึงเป็นสมมติเทพ ในที่นี้คือพระนารายณ์ เรานำศาสนาพุทธมาใช้เป็นรูปแบบหลัก และมีครุฑมาเป็นส่วนประกอบ อย่างที่สอง เรามองว่าในหลวง รัชกาลที่ ๙ ท่านเป็นพระโพธิสัตว์ เพราะท่านบอกไว้ตอนขึ้นครองราชย์ว่าจะใช้หลักทศพิธราชธรรม ซึ่งเป็นหลักของศาสนาพุทธ เราก็นำเรื่องนี้มาตีความด้วย จั่วทั้งหมดของอาคารจะมีลักษณะเป็นเหมือนพระพุทธรูป มีส่วนที่เป็นศีรษะ ไหล่ และเข่า ทุกหลังในมณฑลพิธีจะเป็นแบบนี้หมด แต่ลักษณะของพระที่นั่งทรงธรรมจะเป็นช่อฟ้ามอญ ใบระกา สีของพระเมรุจะใช้สีขาว เทา ทอง เป็นสีราชนิยมที่เกิดในรัชกาลที่ ๙ ก่อนหน้านี้ไม่มีการใช้สีโทนนี้ และเน้นสีทองมากที่สุด เพราะเป็นสีประจำพระองค์ท่าน

บรรยากาศที่รายล้อมพระเมรุมาศ เราทราบเบื้องต้นว่าจำลองให้เป็นเหมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเรื่องนี้เกียวข้องอย่างไรกับตัวพระเมรุมาศ

เขาพระสุเมรุอยู่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งตั้งอยู่ตรงกึ่งกลางของจักรวาล นี่คือความเชื่อของไตรภูมิที่เรานำมาใช้ออกแบบพระเมรุมาศ และในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ก็เป็นที่ประทับของพระอินทร์ เราจึงจำลองเขาพระสุเมรุขึ้นมา เพราะธรรมเนียมพระราชพิธีโบราณระบุไว้แล้วว่าสำหรับพระมหากษัตริย์ พิธีถวายพระเพลิงคือการชำระพระวรกายของพระองค์ให้สะอาด และส่งท่านขึ้นไปสู่สวรรค์ชั้นดุสิตเพื่อเตรียมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต โดยรวมแล้วเราจึงสร้างให้เทียบเคียงกับเขาพระสุเมรุ มีสัตว์หิมพานต์ และสระอโนดาตโดยรอบ

ความเชื่อดั้งเดิมที่มีมาแต่ยาวนานอาจารย์นำมาปรับให้อยู่ร่วมกับบริบทของยุคสมัยของในหลวง รัชกาลที่ ๙ อย่างไร

ถ้าเราดูผังเมืองของกรุงเทพฯ จะเป็นได้ชัดเจนว่าบริเวณกรุงเก่าจะถูกแบ่งออกเป็นแต่ละส่วน นั่นคือทวีปของสรวงสรรค์ แล้วเราจะเข้าใจว่าทำไมวังจิตรลดาถึงตั้งอยู่ในเขตดุสิต ซึ่งการเทียบเคียงนี้ถูกนำมาใช้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก่อนแต่ละเขตก็จะมีต้นไม้ประจำเขตด้วย แต่ความเชื่อนี้ก็ค่อยๆ หายไป พระเมรุมาศของในหลวง รัชกาลที่ ๙ จึงมีการผสมผสานทั้งคติความเชื่อและเรื่องของประโยชน์การใช้สอย ดังนั้น การออกแบบจึงไม่มีสูตรตายตัว แต่สิ่งที่เราต้องยึดถืออย่างเคร่งครัดคือพระเมรุของพระมหากษัตริย์ต้องเป็นทรงบุษบกเท่านั้น แต่ทรงบุษบกนี้จะมีการลดหรือเพิ่มรายละเอียดอย่างไรก็ได้อยู่ที่ความงาม และเรื่องของความรู้สึก

อาจารย์บอกว่าการออกแบบพระเมรุมาศไม่มีสูตรตายตัว ถ้าอย่างนั้นอะไรคือมาตรฐานที่เป็นแกนหลักของงานครั้งนี้

มาตรฐานในการมองรูปแบบพระเมรุมาศนั้นมองได้หลายมุม มองในเรื่องความเชื่อ มองในเรื่องความงาม มองในเรื่องประโยชน์ใช้สอย หรือมองในเชิงพระราชประเพณีก็ได้ อยู่ที่เราให้ความสำคัญกับเรื่องไหน เพราะท้ายที่สุด พระเมรุมาศคือทุกเรื่อง คือศูนย์กลางที่รวมทุกอย่างของในหลวง รัชกาลที่ ๙ เป็นพระเมรุมาศที่ยิ่งใหญ่ และทุกคนให้ความสนใจมากที่สุด

อาจารย์สรุปความคิดของตัวเองอย่างไรภายใต้ความกดดันครั้งนี้

เราต้องทำความคิดให้ออก อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี ท่านเคยสอนผมว่า การออกแบบพระเมรุมาศใช้หลักการแค่ข้อเดียวคือ ออกแบบให้ใคร ใครเป็นคนใช้ ซึ่งข้อเดียวนี้เราต้องคิดให้ออก อะไรคือสิ่งที่ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ท่านทรงสร้างให้กับโลกนี้ อะไรคือสิ่งที่เป็นบารมีของพระองค์ท่าน และอะไรคือสิ่งที่ทำให้พวกเราคิดถึงท่าน เมื่อรู้ว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร ภาพการออกแบบในหัวจะผุดขึ้นมาเป็นฉากๆ เลย ข้อต่อมาคือคิดแล้วต้องทำออกมาได้ ถ้ามือ สายตา และสมองของเราไม่สัมพันธ์กัน เราจะกลายเป็นแค่นักพูดแต่ปฏิบัติงานไม่ได้ สื่อสารกับใครก็ไม่ได้ และสุดท้ายคือทำให้ถูกต้อง เรื่องนี้ทางกรมศิลปากรให้ความสำคัญมาก ถูกต้องในที่นี้หมายถึงถูกต้องตามฉันทลักษณ์และองค์ประกอบอื่นๆ ตามลักษณะของสถาปัตยกรรมไทย

ลักษณะพิเศษของพระเมรุมาศที่แสดงถึงศิลปะยุคนี้

งานศิลปะเมื่อสร้างยุคไหน ก็ย่อมบ่งบอกความเป็นยุคนั้นอยู่แล้ว ตอนนี้เราอยู่ในสมัยของรัชกาลที่ ๑๐ แต่พระเมรุมาศเป็นของรัชกาลที่ ๙ ความชัดเจนคืออาคารจะมี ๙ ยอด ซึ่งสื่อถึงนัยยะนี้อยู่แล้ว เราใช้สีเหลืองมากถึง ๗๕% เพราะท่านประสูติวันจันทร์ และเป็นสีประจำพระองค์ สีขาว หมายถึงพระบรมราโชวาทและปัญญาของพระองค์ที่ได้ให้ไว้กับราษฎร บวกกับหลักธรรมทศพิธราชธรรมที่ท่านใช้ในการปกครองก็เป็นหลักของศาสนา ซึ่งก็เป็นสีขาวเช่นกัน ทั้งยังแทนค่าของเพชร และเป็นสีที่ทำให้สีทองไม่ทึบจนเกินไป นอกจากนี้ยังมีสีเขียวที่พูดถึงความอุดมสมบูรณ์ที่พระองค์ทรงมอบให้เรา ทั้งเรื่องการเกษตรและสิ่งแวดล้อม สีน้ำเงิน เป็นสีโทนเข้มที่นำมาใช้เพื่อให้เกิดน้ำหนักสูงต่ำ และเป็นสีที่แทนค่าพระมหากษัตริย์ ส่วนสีชมพู ครั้งหนึ่งเราเคยใส่เสื้อสีชมพูตอนที่พระองค์ไม่สบาย เป็นสีมงคลที่แสดงถึงความทรงจำตอนนั้น สรุปแล้วสีที่นำมาใช้หลักๆ ทั้งหมดมี ๕ สี และแต่ละสีก็มีอิทธิพลและรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป โดยมีภาพรวมเป็นสีขาว เทา ทอง เป็นสีโทนอุ่นที่ดูสง่างาม

ภาพ : รัชต์ภาคย์ แสงมีสินสกุล

โครงสร้างของพระเมรุมาศต้องออกแบบแค่ไหนเพราะต้องรองรับการเข้ามาถวายบังคมของประชาชนจำนวนมาก

สำหรับอาคารสถาปัตยกรรมไทย การสร้างเมรุครั้งนี้เป็นการสร้างรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นโครงสร้างเมรุขนาดใหญ่ เมื่อก่อนจะใช้ไม้ แต่ได้รับการพัฒนามาเป็นโครงสร้างเหล็กในช่วงของสมเด็จย่า ครั้งนี้โครงสร้างเสาของพระเมรุมาศเป็นการหล่อคอนกรีต ใช้เป็นฐานแผ่และรวบกันไว้ทั้งหมด เป็นโครงสร้างเหล็กสมัยใหม่สำหรับสร้างอาคารชั่วคราว ไม่ได้ตอกเสาเข็มลงไปในพื้นที่จริง ซึ่งการออกแบบเราจะต้องคำนึงถึงจำนวนคนที่มา ต้องคำนวณน้ำหนักรวม เพราะในเชิงวิศวกรรมนั้นความปลอดภัยต้องมากที่สุด ความเสี่ยงต้องเป็นศูนย์ ความผิดพลาดเกิดขึ้นไม่ได้เลย และเนื่องจากพื้นข้างล่างสนามหลวงเป็นดินเหลว ถ้ามีน้ำเข้ามามากๆ ก็อาจยุบตัวได้ เลยต้องป้องกันด้วยการหล่อคอนกรีตไว้ และสูบน้ำออกจากบริเวณฐานพระเมรุมาศ

เรื่องไหนในการออกแบบพระเมรุมาศที่อาจารย์จะไม่ยอมให้ใครมาเปลี่ยนแปลงได้

ชั้นพื้นที่อยู่ตรงระเบียงโดยรอบของพระเมรุมาศ ตอนประชุมมีการแนะนำว่าน่าจะรอบรั้วให้เหลือแค่ ๓ ชั้น เพื่อจะได้ไม่กินพื้นที่มาก ผมก็ชี้แจงว่าผมไม่อยากให้ตัด อยากให้ได้ ๔ ชั้น เหมือนที่ตั้งใจไว้ ซึ่งรั้วนี้จะแสดงความเป็นขอบเขตให้เห็นเป็นเส้นชัดเจน และ ๔ ชั้นจะแสดงถึงสวรรค์แต่ละชั้น พระองค์อยู่ในสวรรค์ชั้นดุสิต ซึ่งเป็นชั้นที่สี่ อีกทั้งยังทำให้พระเมรุมาศมีความสง่างามและสมพระเกียรติมากกว่า ถ้าไปตัดก็เหมือนการสร้างบ้านที่ไม่มีรั้ว เราต้องสร้างให้มีชานออกมา ซึ่งทำให้ทรงของพระเมรุมาศสมบูรณ์แบบ

อะไรคือความปลื้มปีติที่คุณได้ทำงานรับใช้ในหลวง รัชกาลที่ ๙ ครั้งนี้

ย้อนกลับไปตอนที่ผมออกแบบ แล้วต้องเข้าไปกราบบังคมทูลสมเด็จพระเทพฯ ซึ่งตอนนั้นกำลังคัดเลือกแบบของพระเมรุมาศครั้งสุดท้ายซึ่งมีงานของนักออกแบบท่านอื่นรวมอยู่ด้วย พอถึงตอนที่ผมต้องถวายการรายงานสมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงตรัสขึ้นมาว่า “จำคุณได้” ซึ่งคำพูดสั้นๆ นี้ก็ทำให้ผมตื้นตันไปหมดแล้ว เมื่อผมอธิบายงานให้พระองค์ฟังจนจบ ท่านก็ทรงตรัสว่าทรงบุษบก ๙ ยอดพิเศษนั้น “ดูสวยงาม ยอดดูเป็นอิสระ” นี่คือสิ่งที่พระองค์เลือก เพื่อถวายให้กับในหลวง รัชกาลที่ ๙ ส่วนความรู้สึกของผมนั้นไม่สามารถบรรยายออกมาได้เพราะมีทั้งความภูมิใจ ความตื้นตัน และความดีใจที่จะได้ทำงานถวายท่านและในหลวง รัชกาลที่ 9 ผสมกันไปหมด