เรื่องนี้ทฤษฎี Cognitive Dissonance ให้คำตอบกับเราได้ !!
การที่จิตใจของเราท่องเที่ยวเตร็ดเตร่ไปกับหน้าจอบนฝ่ามือตลอดทั้งวัน ล่องลอยอยู่ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่มีจำนวนมากมายมหาศาลและไหลบ่าอย่างรวดเร็ว มีทั้งจริง-เท็จ ทั้งที่เป็นข้อมูล-ความคิดเห็น จากตัวเราเอง-จากคนอื่น ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าภายใน หรือเรียกว่า Information fatigue syndrome ที่วันๆ ถึงแม้จะไม่ได้ทำอะไร แต่กลับรู้สึกเหนื่อย เครียด วิตกกังวลกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ อันเกิดจาก Information overload คือมีโลกภายนอกเข้ามารบกวนใจตลอดเวลา
นอกจากความเหนื่อยล้าภายในแล้ว ข้อมูลข่าวสารจำนวนมากๆ ยังทำให้เกิดปัญหากับระบบคิดของตัวเราเอง ทำให้การใช้เหตุผลบิดเบือนไป หรือเรียกว่าอคติทางการรับรู้ (Cognitive bias) และกลายเป็นคนที่มีนิสัยชอบแสดงความคิดเห็นกับเรื่องนั้นเรื่องนี้ตลอดเวลา ซึ่งมักจะเป็นความคิดเห็นที่มีรูปแบบเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งเสมอ โดยไม่ทันรู้ตัวและไม่สามารถทบทวนตรวจสอบความคิดตัวเองได้
จิตใจคนเรามีวิธีเฉพาะในการรับรู้และทำความเข้าใจ มันพยายามปรับจูนให้ข้อมูลข่าวสารจากภายนอก สอดคล้องลงรอยกันกับความคิดภายในใจที่มีอยู่เดิม ข้อมูลใหม่ที่เข้ามาถ้าไม่สอดคล้อง ก็จะสร้างความอึดอัดกระอักกระอ่วน เราจำเป็นต้องบรรเทาความรู้สึกนี้ด้วยการอ้างเหตุผลมาอธิบายมันเสียใหม่
ยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกกระอักกระอ่วนเมื่ออ่านข่าวการเมือง แล้วเห็นนักการเมืองที่เราสนับสนุนอยู่กระทำความผิด หลังจากนั้นเราจะยิ่งโกรธ อดรนทนไม่ได้เมื่อเห็นเพื่อนของเรานำข่าวนี้มาประจานด่าทอ แล้วแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างไปจากเรา ในทางตรงกันข้าม เราจะรู้สึกดีขึ้น เมื่อวันต่อมาได้อ่านข่าวนักการเมืองคนนั้นหรือพวกพ้องของเขาออกมาแก้ตัว ให้ข้อมูลข่าวสารชุดใหม่ที่สอดคล้องกับความคิดเดิมของเรา เราก็จะเอาข่าวสารใหม่นี้มาแสดงความคิดเห็นเพื่อตอบโต้กลับไปยังเพื่อนของเราที่มีความเห็นต่าง
วัฏจักรของความรู้สึกกระอักกระอ่วนและความรู้สึกดีขึ้น วนเวียนไปเรื่อยๆ แบบวันต่อวัน ข่าวสารที่ไม่ลงรอยกับความคิดเดิมจะทำให้เรารู้สึกแย่ เราต้องหาทางอธิบายหรือแสดงออกให้มันกลับมาลงรอยอีกครั้ง กลายเป็นพฤติกรรมการเสพข้อมูลข่าวสารของยุคสมัยปัจจุบันที่เรียกว่า ‘เงิบ’ และ ‘ดริฟต์’
เงิบ คือความรู้สึกกระอักกระอ่วนอย่างฉับพลัน เมื่อจู่ๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับความคิดที่มีอยู่เดิม
ดริฟต์ คือการหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง แล้วแสดงออกอย่างยืนกราน ไม่ว่ามันจะถูกต้องหรือสมเหตุสมผลหรือไม่ก็ตาม เพื่อจะได้กำจัดความเงิบออกจากใจ
ความเงิบและการดริฟต์ เกี่ยวข้องอย่างยิ่งกับ ทฤษฎี Cognitive Dissonance เป็นการศึกษาจิตวิทยา โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด Leon Festinger ทำการศึกษาเรื่อง A Theory of Cognitive Dissonance เมื่อปี ค.ศ. 1957
(เรียบเรียงรายละเอียดจากหนังสือ สุนทรียะแห่งความเหงา)
ลองจินตนาการว่าคุณเข้าร่วมการทดลองด้านจิตวิทยาเรื่อง Measures of Performance ผู้วิจัยบอกเล่าจุดประสงค์การทดลองว่าเป็นการศึกษาความคาดหวังที่มีต่องาน ว่าจะส่งผลกระทบกับการทำงานของอย่างไร โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม กำหนดให้ทำงานเหมือนกัน แต่ที่แตกต่างกันคือ กลุ่มหนึ่งลงมือทำงานโดยไม่มีความคาดหวังใดๆ อีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับการบอกเล่าเกี่ยวกับงานก่อนเริ่มทำ ว่ามันน่าสนใจมากๆ เพื่อให้เกิดความคาดหวังเสียก่อน
การทดลองเริ่มต้นโดยคุณถูกกำหนดให้เป็นกลุ่มแรก งานที่ได้รับมอบหมายคือให้นำหลอดด้ายวางเรียงบนถาด แล้วก็ให้หยิบหลอดด้ายออกจากถาด แล้วก็นำกลับมาเรียงใหม่ ทำวนไปวนมาแบบนี้ไปเรื่อยๆ ต่อมาคุณได้รับมอบหมายให้ทำงานใหม่ คือการนำหมุดมาปักเรียงบนบอร์ด แล้วก็ให้หมุนหัวหมุดวนไปวนมา จนคุณจะเริ่มคิดในใจว่ามันช่างเป็นงานที่น่าเบื่อเหลือเกิน
ผู้วิจัยแจ้งว่าการทดลองสิ้นสุดลงแล้ว เขาจะกล่าวขอบคุณ และบอกคุณว่าผลการทดลองกับคุณนั้น สอดคล้องกับผลของคนส่วนใหญ่ที่บอกว่าการทำงานเก็บหลอดด้ายและการปักหมุดนั้นน่าสนใจ คุณจะแอบนึกอยู่ในใจ ว่ามันน่าเบื่อจะตาย! ทำไมคนอื่นๆ ถึงบอกว่ามันน่าสนใจ แต่คุณก็ไม่ได้ใส่ใจมากนัก
การทดลองที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด เป็นเพียงขั้นตอนหลอก การทดลองที่แท้จริงกำลังจะเริ่มขึ้น และมันดำเนินไปโดยที่คุณไม่รู้ตัว และไม่ได้รับการบอกกล่าวใดๆ ล่วงหน้า
ผู้วิจัยแสร้งทำสีหน้ากังวลใจ เขาเล่าให้คุณฟังว่ามีทีมงานคนหนึ่งลาป่วยกระทันหัน เขาจึงต้องการให้คุณมาเป็นผู้ช่วยชั่วคราว โดยคุณมีหน้าที่ไปบอกกับกลุ่มตัวอย่างอีกคนหนึ่ง ซึ่งกำลังรอเริ่มต้นการทดลองอยู่ในอีกห้องหนึ่ง ว่างานที่เขากำลังจะลงมือทำนั้นเป็นงานที่น่าสนใจมาก เพราะอาสาสมัครคนนี้จัดอยู่ในกลุ่มที่สอง ต้องเริ่มทำงานด้วยความคาดหวังว่างานนี้น่าสนใจ โดยคุณจะได้ค่าแรงในฐานะที่เป็นผู้ช่วยวิจัย 1 เหรียญฯ และเขาบอกว่าจะจ้างให้คุณมาทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยแบบนี้อีกในการทดลองครั้งต่อไป
ด้วยความเกรงใจ คุณไม่ได้เห็นแก่เงินค่าจ้างแค่ 1 เหรียญฯ นั่น แต่คุณก็ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะปฏิเสธงานนี้ คุณจึงเข้าไปบอกอาสาสมัครที่กำลังนั่งรออยู่ ว่าคุณขอรับรองว่างานนี้น่าสนใจแน่ๆ คอนเฟิร์ม! ด้วยการยกเหตุผลมากมายมาอธิบายให้เขาฟัง เช่น การปักหมุดทำให้เกิดลวดลายสวยงาม เรื่อยไปจนถึงว่าการทำงานแบบนี้ช่วยฝึกสมาธิได้ดี
เมื่อกลุ่มตัวอย่างคนนั้นเริ่มลงมือทำงาน คุณก็เดินออกมาจากห้องทดลอง เพื่อรับเงินค่าแรง 1 เหรียญฯ แล้วผู้วิจัยก็ค่อยเฉลยกระบวนการทดลองครั้งนี้ ว่าแท้จริงแล้ว มันแบ่งออกเป็น 2 ขยัก ขยักแรกเป็นการหลอกล่อ ขยักที่สองคือการทดลองจริง แล้วเขาก็พาคุณเข้าไปในห้องสัมภาษณ์เพื่อสอบถามอย่างละเอียด ว่าความคิดของคุณที่มีงานนั้นเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
มีผู้เข้าร่วมการทดลองนี้ 71 คน แต่ถูกคัดออกไป 11 คน ด้วยเหตุผลว่า 5 คนจับไต๋ได้เสียก่อน 3 คนปฏิเสธไม่ยอมรับจ้างทำงานนี้ 2 คนแอบบอกกับอาสาสมัครที่มาใหม่ตามตรงว่าพวกเขาถูกจ้างมา และอีก 1 คนแอบขอเบอร์โทรศัพท์ของอาสาสมัครที่มาใหม่ เพื่อจะได้โทร.ไปบอกความจริงกับเขาหลังการทดลองเสร็จสิ้นไปทั้งหมดแล้ว
ผลการทดลองที่ทำให้ทุกคนแปลกใจคือ คนที่เหลืออีก 60 คน ที่ยอมรับจ้าง เมื่อการทดลองถูกเฉลยแล้ว ยังยืนยันว่าการเรียงหลอดด้ายและการหมุนหัวหมุดนั้นน่าสนใจจริงๆ
การทดลองยังซ่อนงำไว้อีกขยัก คือกลุ่มตัวอย่างที่รอให้คุณเข้าไปโกหกนั้น แท้จริงแล้วคือหนึ่งในทีมงานวิจัย เขาจะแกล้งถามคุณเกี่ยวกับงานหลายคำถาม และแอบบันทึกเสียงการสนทนาของคุณเอาไว้ ว่าคุณโกหกเขาอย่างไร ใช้น้ำเสียง ใช้ถ้อยคำบรรยายความน่าสนใจของงานนั้นอย่างไร
นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างในการทดลองครั้งนี้ ถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มๆ แต่ไม่ได้แบ่งเป็นกลุ่มที่ไม่มีความคาดหวังต่องาน กับกลุ่มที่มีความคาดหวังต่องานดังที่ผู้วิจัยเคยบอกคุณไว้แต่แรก แท้จริงแล้ว เขาแบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับเงิน 1 เหรียญฯ อย่างที่คุณได้ กับอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ได้เงิน 20 เหรียญฯ ต่างหาก
ผลการวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเงินค่าจ้าง 20 เหรียญฯ ตอบคำถามในการสัมภาษณ์ขั้นตอนสุดท้าย ว่าเขาไม่คิดเลยว่างานนี้น่าสนใจ เขายอมไปโกหกเพราะถือว่ามันเป็นงาน และเป็นการทำตามหน้าที่ของทีมงานวิจัย
เทียบกับกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับเงิน 1 เหรียญฯ ตอบคำถามในการสัมภาษณ์ขั้นตอนสุดท้าย หลังจากที่ได้รับการเฉลยว่าถูกหลอกให้มานั่งทำงานน่าเบื่อ 1 ชั่วโมงเต็มๆ ถูกหลอกให้ไปโกหกคนอื่นอีกต่อหนึ่ง และถูกกดขี่ค่าแรงเมื่อเทียบกับคนอื่นที่ได้กันไป 20 เหรียญฯ แต่ก็ยังยืนยันคำตอบว่างานนี้มีความน่าสนใจจริงๆ
คำตอบของกลุ่มที่ได้เงินไป 20 เหรียญฯ นั้น แสดงให้เห็นการกระทำตามเหตุผลเรื่องของผลประโยชน์ คือเมื่อเขาลงมือโกหกก็จะได้รับเงินรางวัลไป จึงไม่ต่างไปจากการฝึกสุนัขให้ยืนสองขาด้วยการป้อนขนม นับเป็นผลการวิจัยที่ไม่ได้อยู่นอกเหนือความคาดหมาย แต่สำหรับคำตอบของกลุ่มที่ได้เงินเพียง 1 เหรียญฯ นั้น ได้แสดงให้เห็นถึง Cognitive Dissonance ซึ่งถือว่าแปลกใหม่มากสำหรับวงวิชาการจิตวิทยา เมื่อ 50 ปีก่อน
การทดลองนี้แสดงให้เห็นว่าความคิดของคนเราซับซ้อน การที่จะตัดสินว่าสิ่งใดดีหรือเลว ไม่ได้เป็นไปด้วยการใช้เหตุและผลเพียงชั้นเดียว แต่มันจะต้องผ่านกระบวนการจัดการความขัดแย้งทางความคิด หรือจัดการกับ Cognitive Dissonance ในหัวของเราเสียก่อน
สรุปการทดลอง Cognitive Dissonance
1. คุณเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงว่างานนี้น่าเบื่อ
2. แต่คุณได้รับข้อมูลจากภายนอก ว่าคนส่วนใหญ่เห็นว่ามันน่าสนใจ ทำให้เกิด Cognitive Dissonance
3. คุณลด Cognitive Dissonance โดยการทำให้ผลการทดลองของคนอื่นๆ สอดคล้องกันกับคุณ คุณจึงโกหกเขา และโกหกตัวเองไปพร้อมๆ กัน
ถึงแม้ขั้นตอนการทดลองทั้งหมดจะถูกเฉลย ความคิดและการกระทำอันไร้เหตุผลของตัวคุณถูกตีแผ่ออกมา คุณ ‘เงิบ’ แต่คุณก็จะยังคง ‘ดริฟต์’ ต่อไป เพราะ Cognitive Bias ภายในใจ สั่งให้คุณกำจัด Cognitive Dissonance ออกไป
ดังนั้น เวลาเราติดตามข้อมูลข่าวสารจำนวนมากๆ ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสพข่าวรายวันทางโซเชียลมีเดีย เราจะเกิด Cognitive Dissonance ในหัวตลอดเวลา กระอักกระอ่วน และโกรธเคืองคับแค้น (เงิบ) จึงต้องคอยสรรหาเหตุผลสารพัดมาคัดง้าง และแสดงความเห็นออกไปโต้ตอบ (ดริฟต์)
ทั้งหมดเราทำไปด้วยพิษสงของอคติในการรับรู้ของตัวเอง