เบื้องหลังชีวิตสัตว์อุตสาหกรรม ≠ สัตว์เลี้ยง กับความเชื่อผิดๆ ที่คนคิดว่าน้องแฮปปี้

        เริ่มต้นบทความนี้ อยากชวนท่านผู้อ่านลองสวมบทบาทสมมติ

        ว่าตนเองเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ที่เกิดขึ้นในฟาร์มอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง

        ตัวคุณเกิดจากการคัดเลือกสายพันธุ์ให้ต้องเติบโตเร็วที่สุด เนื้อเยอะที่สุด และน้ำหนักมากที่สุด คุณสมบัติความเจ้าเนื้อ อ้วนท้วน และสมบูรณ์รวมตัวอยู่ในคนเดียว ด้วยรูปร่างขนาดใหญ่มากกว่าปกติ จึงทำให้ขาทั้งสองข้างของคุณแทบจะรับน้ำหนักตัวไม่ไหว อยากจะขยับเขยื้อนร่างกายไปทางไหนก็ไม่สะดวกสบาย ต้องนั่งๆ นอนๆ ติดกับที่เกือบตลอดเวลา

        ที่อยู่อาศัยของคุณคล้ายกับที่นอนค่ายกักกัน มีพื้นที่ขยับตัวประมาณขนาดกระดาษเอสี่หนึ่งแผ่น มองไปรอบข้างก็จะเจอแต่คนแบบคุณนั่งอยู่นิ่งๆ นั่งเบียดเสียดไม่มีใครลุกไปไหน

        หากวันไหนคุณรู้สึกเบื่อเหงา อยากเงยหน้าสูดอากาศด้านบนสักนิด ภาพแรกที่เห็นคงเป็นแสงหลอดไฟน้อยดวงที่แขวนอยู่ใต้หลังคาโรงงานสุดอ้างว้าง แม้ว่าจะมีเพื่อนรายล้อมอยู่รอบตัว แต่ทุกคนต่างนั่งรอเวลาให้ผ่านพ้นไปในแต่ละวัน แต่ละเวลา ก่อนจะถึงวันสุดท้ายของชีวิตที่จะกลายเป็นอาหารแก่มนุษย์

        ถ้าคุณเป็นสิ่งมีชีวิตที่เล่าไปข้างต้น ในตอนนั้นคุณรู้สึกอย่างไรกัน ?
        สำหรับเราคงรู้สึกท้อแท้ สิ้นหวัง และห่อเหี่ยวจิตใจมากทีเดียว

        เรื่องดังกล่าวเป็นชีวิตจริงที่เกิดขึ้นใน 30 วันของ ‘ไก่เนื้อ’ ตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้ายที่เกิดในฟาร์มอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ หากมันสามารถพูดได้คงบอกว่า ช่วงที่ทรมานที่สุดของชีวิตคือ ‘ตอนอยู่ในโรงงาน’ เพราะไม่มีโอกาสได้เดินเล่น ออกไปสัมผัสอากาศภายนอก และรู้สึกเครียดตลอดเวลา เพราะถูกควบคุมไม่ต่างอะไรกับนักโทษที่รอวันประหารชีวิต


“สัตว์ทุกตัวต่างมีความรู้สึกและจิตใจ
พอมันไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรม
คนจะมองว่าสัตว์ คือ ‘อาหาร’ ไม่ใช่ ‘สิ่งมีชีวิต’”

 

        “แม้ว่าปลายทางสุดท้ายของสัตว์อุตสาหกรรมจะกลายเป็นอาหารมนุษย์ แต่อย่างน้อยระหว่างที่มันมีชีวิต ก็ควรมีคุณภาพชีวิตดีตามพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต และได้เติบโตตามธรรมชาติ มากกว่าถูกมองเป็นอาหารในโรงงานอุตสาหกรรม” ความตั้งใจของ ‘องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก’ World Animal Protection ที่อยากผลักดันการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์ในประเทศไทยให้หมดไป

        เมื่อคนเองยังต้องการคุณภาพชีวิตที่ดี สัตว์เองก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่ควรได้รับเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะสัตว์ในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ที่ถูกทำเป็นอาหารแปรรูปต่างๆ เช่น ไก่ หมู วัว หรือปลา รวมถึงสัตว์ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ด้านการท่องเที่ยว เช่น ช้าง สิงโต หรือโลมา ซึ่งช่วงชีวิตของสัตว์เหล่านั้นมักจะได้รับการทารุณกรรม หรือถูกปฏิบัติเป็นสินค้าเชิงพาณิชย์มากกว่าการมองเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีลมหายใจ

        จึงทำให้การสัมภาษณ์ครั้งนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับ หนุ่ย-โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) เกี้ยว-เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม และ เบน-ฉัตรณรงค์ เมืองวงษ์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ป่า ขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) ถึงคุณภาพชีวิตของสัตว์ในอุตสาหกรรมไทยเป็นอย่างไร รวมถึงเป็นกระบอกเสียงแทนเหล่าสัตว์ให้ได้รับความเป็นอยู่ที่ดีมากกว่าเคย

สัตว์อุตสาหกรรม ≠ สัตว์เลี้ยง

        เมื่อพูดถึงคำว่า ‘สวัสดิภาพ’ ของมนุษย์ เราก็จะคิดถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิตขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ ซึ่งจำเป็นต้องครบปัจจัย 4 อย่างได้แก่ อาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย 

        แต่สำหรับสวัสดิภาพของ ‘สัตว์’ อธิบายง่ายๆ ก็คือการเลี้ยงดูพวกเขาให้มีความสุขกายและสบายใจในการใช้ชีวิต ยกตัวอย่างเช่น มีอาหารให้กินครบทุกมื้อ ไม่ทำให้น้องเจ็บป่วย น้องสามารถแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขาได้อย่างเต็มที่ หรือแม้กระทั่งพวกเขาต้องรู้สึกไม่กลัวและไม่เครียดกับคนเลี้ยงด้วยเช่นกัน

        “รู้ไหมว่า พฤติกรรมทางธรรมชาติของไก่คืออะไร” เกี้ยวถาม หลังจากอธิบายความหมายดังกล่าว

        ภาพจำไก่ในหัวตอนนั้น เรานึกถึงไก่กำลังคุ้ยเขี่ยหาอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในพฤติกรรมตามธรรมชาติที่ไก่ชอบทำเหมือนกัน “จริงๆ แล้วมันชอบปีนขึ้นไปบนคอนไม้เตี้ยๆ เพื่อหลบภัย และชอบอาบฝุ่นด้วยนะคะ ซึ่งชีวิตจริงไก่ในโรงงานอุตสาหกรรม สภาพแวดล้อมแทบจะมืดมิด เห็นแต่แสงสว่างจากหลอดไฟ ไก่ไม่มีโอกาสได้เดินออกไปบนทุ่งนา ไม่มีคอนไม้ให้เกาะ มันจะรู้สึกเครียดมากๆ ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยง่าย

        “อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เลยต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกันสัตว์ป่วย การใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไร้ความรับผิดชอบนี้ส่งผลให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยา คนกินก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย แตกต่างจากไก่บ้านที่อาจจะมีชีวิตที่ดีกว่า ได้เดินเที่ยวเล่น ได้ใช้ชีวิตตามใจชอบของมัน ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และเนื้อไก่ก็มีคุณภาพกว่าด้วย” เกี้ยวยกตัวอย่างสวัสดิภาพของไก่ฟาร์มและผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อมนุษย์


        เบนเล่าเสริมในมุมของสัตว์เชิงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่าง ‘ช้าง’ คนทั่วไปมักมีภาพจำว่า มันชอบกินแต่กล้วย อ้อยเพียงอย่างเดียว 

        “จริงๆ ช้างตามธรรมชาติกินป่าราบเลยครับ ป่าราบที่แปลว่ากินป่าเกลี้ยงจนแบนราบของจริง กินหมดทุกอย่าง กิ่งไม้ ใบหญ้า หรือผลไม้ เคยมีสำรวจด้วยว่า ช้างกินพืชได้มากกว่า 100 ชนิดในป่า แต่ที่เราเห็นว่าพวกเขากินแต่กล้วยหรืออ้อย นั่นเพราะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวหรือปางช้างหามาให้ อาจเพราะลดต้นทุน บางที่ก็ให้แค่เปลือกแตงโม แต่ไม่ให้เนื้อด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็มีเรื่องของสารเคมีเข้ามาอีก ช้างก็จะป่วยง่าย มันก็ไม่ใช่พฤติกรรมทางธรรมชาติจริงๆ ของมันสักเท่าไหร่”เบนยกตัวอย่างในมุมของสัตว์อุตสาหกรรมเชิงท่องเที่ยว

        หลังฟังชีวิตของสัตว์ในวงจรระบบอุตสาหกรรม ซึ่งมีรายละเอียดและเบื้องหลังมากกว่าสิ่งที่คนทั่วไปพบเห็น แล้วมีพฤติกรรมไหนบ้างที่สัตว์รู้สึกเครียดแต่คนมักจะไม่ค่อยรู้กัน เบนขอตอบเป็นคนแรกว่า ส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับ ‘ช้าง’ อย่างมีเคสหนึ่งที่คนอัดคลิปลงโซเชียลมีเดียเป็นวิดีโอช้างเต้น โยกซ้ายโยกขวาบนรถยนต์ระหว่างเดินทาง คนก็แห่ชื่นชอบมากมาย แต่หารู้ไม่ว่า นั่นคือสัญญาณของช้างกำลังเครียด

        “การที่ช้างเคลื่อนไหวร่างกายซ้ำๆ เช่น โยกตัวหรือแกว่งงวงไปมาแบบไร้จุดมุ่งหมาย นั่นเรียกว่า ‘Stereotyped Behavior’ แปลเป็นไทยง่ายๆ การย้ำคิดย้ำทำกับบางสิ่ง ทำซ้ำไปซ้ำมา เพราะรู้สึกเครียด เหมือนเวลาเราเครียด เราก็อาจจะเดินวนรอบห้อง ส่วนใหญ่เวลาไปเที่ยวปางช้างจะเจอช้างอาการแบบนี้ตลอดเลย แต่คนไม่รู้ คิดว่ามันเต้นน่ารัก” เบนกล่าว

        นอกจากนี้กิจกรรมของสัตว์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในไทย เบื้องหน้าเวลาเราเห็นสัตว์โชว์การแสดงต่างๆ เช่น โชว์วาดรูป อาบน้ำให้ช้าง หรือโลมากระโดดลอดห่วง ทุกกิจกรรมเหล่านี้ต้องแลกมากับการฝึกหนักและทารุณกรรมสัตว์ จนทำให้สัตว์เครียดและรู้สึกไม่มีความสุขตามไปด้วย

        เบนอธิบายว่า “ยกตัวอย่างกิจกรรมอาบน้ำช้าง แม้ว่าช้างจะชอบเล่นน้ำ แต่ถ้าต้องอาบน้ำวันละ 5 รอบเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว รอบละ 50-100 คน ช้างก็รู้สึกเครียดนะ ขนาดคนยังอาบน้ำแค่ 2 รอบและมันไม่ใช่ธรรมชาติของสัตว์ด้วย”

        “ขั้นตอนการฝึกช้างให้วาดรูป หรือให้คนขี่หลังได้ค่อนข้างโหดร้ายมากๆ มันไม่เหมือนฝึกหมากับแมว ตอนช้างเกิด 1-2 ขวบก็ถูกจับแยกแม่ลูก เพราะมันจะพยศและทำให้ฝึกยาก รวมถึงแม่ช้างก็จะไม่ยอมให้ทำร้ายลูกเขาด้วย พอแยกลูกก็เอาไปเข้าซอง ซึ่งเป็นช่องคอกไม้เล็กๆ ไว้ควบคุมลูกช้าง ผูกขาผูกหัวไม่ให้มันขยับตัวจนหมดแรงเลย”

        “จากนั้นก็เริ่มฝึกโดยใช้อุปกรณ์คือไม้ตะขอยาวๆ เขาไม่ได้เอาไว้สะกิดๆ นะ แต่เขาจะเฉาะแล้วก็ขูด สับ ฟาดลงไปให้เลือดอาบเลย ทำแบบนี้ซ้ำๆ ซึ่งที่ต้องทำแบบนี้เพราะว่าให้เขาจำความเจ็บปวดอันนี้ เพื่อควบคุมให้มันทำตามคำสั่งคนและไม่รู้สึกต่อต้าน เพราะว่าถ้าคุณไม่ทำตามคำสั่งคุณต้องเจออันนี้”

        “ช้างเป็นสัตว์ป่า ไม่ได้เกิดมาแล้วรู้วิธีการให้คนขี่ หรือรู้วิธีเต้นแร้งเต้นกา กิจกรรมเหล่านี้มันผ่านการใช้ไม้ตะขอจิ้ม ให้ช้างยกงวง ให้ยกขาหน้า ขาหลัง หรือให้เคลื่อนตัวตามที่ต้องการ สังเกตว่า เราจะเห็นตามปางช้างที่เขาใช้ของแหลมสะกิดๆ จริงๆ ถ้าเราเห็นภายนอก มันดูไม่เจ็บมากหรอก แต่ความจริงคือ มันคือการเตือนความทรงจำว่า มันจะเจ็บขนาดไหน ถ้าคุณไม่ทำ ซึ่งปัจจุบันช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต้องผ่านสิ่งนี้มาทั้งหมด ทั้งที่กิจกรรมเหล่านี้ไม่ใช่พฤติกรรมตามธรรมชาติช้างเลย

สัตว์ไทย ≠ สัตว์ต่างประเทศ

        ไม่ใช่แค่เรื่องการฝึกสัตว์ในอุตสาหกรรมที่โหดร้าย เรื่องสภาพแวดล้อมของสัตว์ก็เลวร้ายไม่แพ้กัน หากให้พวกเขาประเมินว่าการอยู่อาศัยของสัตว์อุตสาหกรรมอยู่ในระดับไหน พวกเขาตอบว่า ‘ต่ำกว่าเกณฑ์’ ถึงขั้นเคยมีวิจัยกล่าวว่า ตอนไก่ตาย พื้นที่ที่อยู่ในเตาอบยังมีพื้นที่มากกว่าตอนมีชีวิตอยู่ในฟาร์มต่อตัว หรือจะเป็นสภาพแวดล้อมการใช้ชีวิตของช้าง ทั้งความยาวของโซ่ที่สั้นประมาณ 1 เมตร (หรือน้อยกว่า) ที่ทำให้ช้างไม่สามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างอิสระ

        ส่วนสำคัญที่การเลี้ยงดูสัตว์ในอุตสาหกรรมมีคุณภาพต่ำ ส่วนหนึ่งคนอาจจะมองว่าสัตว์เป็นอาหาร หรือทำเพื่อกำไรในเชิงพาณิชยกรรม จนทำให้หลงลืมไปว่าสัตว์เหล่านี้ต่างเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก และสามารถส่งผลกระทบต่อมนุษย์ในท้ายที่สุดได้เช่นเดียวกัน เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อประคับประคองให้สัตว์ไม่ป่วยและมีชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย เป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาเชื้อดื้อยา หรือหากช้างรู้สึกไม่ดี ก็มีโอกาสที่จะอารมณ์เสียใส่ผู้คนได้บ่อยครั้ง

        เมื่อฟังปัญหาและผลกระทบดังกล่าวที่เกิดขึ้น แล้วแนวทางการจัดการเรื่องนี้ควรทำอย่างไรกัน สำหรับองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกมองว่า แรกเริ่มมีความตั้งใจอยากให้คนตระหนักถึงความเป็นอยู่ของสัตว์มากยิ่งขึ้น รวมถึงผลักดันให้กระบวนการในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นมิตรกับ คน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าเคย อย่างน้อยที่สุดสัตว์ในอุตสาหกรรมต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อนและมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติ

        หากมองในภาพใหญ่ ประเทศไทยคือแหล่งส่งออกเนื้อสัตว์ต้นๆ ของโลก รู้หรือไม่ว่า เนื้อสัตว์เกรดส่งออกต่างประเทศดีกว่าเกรดในประเทศไทยเสียอีก “เพราะต่างประเทศมีข้อกำหนดมาตรฐานการเลี้ยงสัตว์ฟาร์มที่ให้ความสำคัญด้านสวัสดิภาพสัตว์ เพราะไก่จะได้ไม่เครียด ไม่ป่วย และไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งลูกค้าฝั่งต่างประเทศให้ความสำคัญเรื่องนี้มากๆ” 

        “แต่ไก่ที่ผลิตในบ้านเรามันไม่มีกฎหมายชัดเจนที่ดูแลเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ฟาร์ม กฎหมายไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือลงลึกเชิงสวัสดิภาพของสัตว์ แต่ก็มีของกรมปศุสัตว์บอกเป็นแนวทางแนะนำ แต่ไม่มีบทลงโทษทางกฎหมาย” 

        “ดังนั้นกลไกหนึ่งที่เราพยายามผลักดันคือ สร้างความตระหนัก ความเข้าใจกับผู้บริโภคในประเด็นนี้ เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหารให้มีนโยบายด้านสวัสดิภาพสูงขึ้น เพราะผู้บริโภคในฐานะลูกค้า คือผู้ที่มีพลังมากที่สุด”

        เบนเล่าในมุมสัตว์ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่า “เราอยากให้การใช้งานช้างในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็น ‘Last Generation’ เราอยากจะดูแลพวกเขาให้ดีที่สุด เราอยากให้คนหันมาสนใจดูแลช้างบ้าง แต่อีกส่วนคือผลักดันการแก้ไขการทรมานสัตว์เชิงพาณิชย์ควบคู่กันไปตามกฎหมายด้วย เช่น ไม่มีการผสมช้างเชิงพาณิชย์ เพราะถ้าไม่หยุดผสมพันธุ์ช้าง ก็เท่ากับเป็นการเติมช้างเข้าสู่วงจรที่ย่ำแย่แบบนี้อีกไม่รู้จบ” 

        “หลักๆ ร่างเสนอให้หยุดการนิยามช้างว่าเป็นพาหนะของคน ทุกวันนี้มีกฎหมายช้างเป็นพาหนะ ช้างเป็นสินค้าเกษตร สัตว์เลี้ยง สัตว์ป่า ปัจจุบัน พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่าที่โอเค มันครอบคลุมเฉพาะช้างป่า คือการเข้าไปล่าช้างป่าหรือทำร้ายช้างในป่าทำไม่ได้ แต่ว่าช้างเลี้ยงที่ปางช้าง หรือตามท้องถนน อันนี้ไม่ถูกครอบคลุมใน พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า มีช่องโหว่เยอะมาก มันไม่มีกฎหมายคุ้มครองพวกเขาเลย”

         “สิ่งที่เราเสนอคือ เราร่าง พ.ร.บ. ใหม่ขึ้นมา โดยเสนอการดูแลและสวัสดิภาพของช้างอย่างเป็นระบบ ไม่มีการโหดร้ายทารุณ ไม่มีการบังคับแสดงโชว์ การพัฒนากองทุนสวัสดิการช้างไทย”

         “รวมไปถึงเราช่วยปรับเปลี่ยนปางช้างไทย ถ้าเขามีความสนใจ เราก็เอาเงินทุนและองค์ความรู้เข้าไปปรับเปลี่ยนปางช้างให้ดูแลช้างให้มีชีวิตที่ดีและเป็นอิสระมากขึ้น เพราะการท่องเที่ยวช้างที่เป็นมิตรต่อช้าง เราสามารถจัดท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ธรรมชาติและศึกษาชีวิตพวกเขาได้ ให้เขาอยู่กับป่าเขาอิสระ ต้นไม้ พอถึงเวลาที่พาช้างไปลงเล่นน้ำบ้าง คนก็ไปเรียนรู้ในเชิงสังเกตพฤติกรรมช้าง หรือคุยกับผู้เชี่ยวชาญอย่างปางช้างเกี่ยวกับชีวิตของมัน ฝึกทำเวิร์กช็อปทำยา หรือทำอาหารให้ช้างก็ได้ มันก็เป็นการท่องเที่ยวแบบหนึ่งที่เป็นมิตรกับช้างมากกว่า”

อดีต ≠ ปัจจุบัน

        หลังจบบทสนทนากับเกี้ยวและเบน เราได้มีโอกาสคุยต่อกับ หนุ่ย ผู้อำนวยการองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก (ประเทศไทย) เธอเล่าว่าจากการทำงานที่นี่ประมาณ 4 ปีครึ่ง ได้เห็นประเด็นและประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับสวัสดิภาพของสัตว์ไทยมากมาย มีทั้งผู้คนที่พร้อมสนับสนุนและผู้คนที่ยังไม่ได้รับข้อมูลหรือมีความเข้าใจถึงประเด็นเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ ทว่าในมุมขององค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลกยังคงมีความตั้งใจที่จะให้ทุกคนเข้าใจชีวิตของสัตว์ ผลักดันการหยุดทารุณกรรมสัตว์ และส่งเสริมสวัสดิภาพให้ดีมากกว่าเดิม

 

“อย่าลืมว่า สัตว์นั้นมีชีวิต มีจิตใจ
พวกเขารู้สึกกลัว เจ็บปวด และดีใจเป็นไม่ต่างจากคน
แต่สัตว์ไม่สามารถพูดได้แค่นั้นเอง”

 

        “ขนาดเราเลี้ยงหมาแมว เรายังรู้เลยว่าเขาชอบหรือไม่ชอบอะไร เรายังรักและเป็นห่วง ขณะเดียวกันสัตว์ในอุตสาหกรรมก็เป็นสัตว์เหมือนกัน แต่สัตว์เหล่านี้ได้รับความทุกข์ทรมาน ตั้งแต่เกิดจนตายในระบบอุตสาหกรรมทั้งอาหารและพาณิชยกรรม” 

        “ถึงเรารู้ว่าผลสุดท้ายเขาต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารคน แต่ระหว่างที่เขามีชีวิตอยู่ เขาก็เป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งเหมือนกับมนุษย์ ที่ควรจะได้ใช้ชีวิตตามธรรมชาติพื้นฐานที่ควรจะเป็น เช่น หมูไม่สมควรที่ต้องถูกตัดหาง หรือช้างไม่ควรถูกพรากแม่ลูกเพราะแค่กลัวมันจะไม่เชื่อฟังเรา”

        “สิ่งที่เราทำแค่ต้องการตั้งคำถามว่าสิ่งที่เป็นอยู่เดิม เราสามารถปรับเปลี่ยนให้ดียิ่งขึ้นได้หรือไม่ ในสมัยนี้มันมีทางเลือกมากมาย และทำให้สัตว์สามารถมีความสุขมากขึ้นได้ด้วยเช่นเดียวกัน”


เรื่อง: จารุจรรย์ ลาภพานิช ภาพ: สันติพงษ์ จูเจริญ