โรงพยาบาลวัฒโนสถ

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร คุณคือส่วนหนึ่งของการช่วยลดอุบัติการณ์มะเร็งได้

คุณอาจจะไม่สนใจถ้าคุณไม่ได้เป็นมะเร็ง คุณอาจจะเฉยๆ ถ้าไม่มีญาติพี่น้องเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เรามาเริ่มกันที่สถิติแล้วลองหันไปมอบรอบๆ ตัว นับจำนวนคน ถ้ามีคนนั่งอยู่กับคุณประมาณ 7-8 คน ขอโทษด้วยที่ต้องบอกว่า หนึ่งในนั้นคุณเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง เชื่อหรือไม่ว่า มะเร็งใกล้ตัวกว่าที่คุณคิด

     “สถิติทั่วโลกในปี 2561 มีผู้ป่วยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจำนวน 9.6 ล้านคน มีผู้ป่วยใหม่เกิดขึ้นจำนวน 18 ล้านคน และจำนวนผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 43 ล้านคนทั่วโลก ค่าเฉลี่ยทั่วโลกคนที่มีอายุ 75 ปี 1 ใน 5 คนของผู้ชายมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง และ 1 ใน 8 คนของผู้ชายมีโอกาสเสียชีวิต และ 1 ใน 6 คนของผู้หญิงมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง และ 1 ใน 11 คนของผู้หญิงมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ส่วนในประเทศไทย 1 ใน 6 ของผู้ชายไทยมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง และ 1 ใน 8 คนของผู้ชายไทยมีโอกาสเสียชีวิต และ 1 ใน 8 คนของผู้หญิงไทยมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง และ 1 ใน 12 คนของผู้หญิงไทยมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง”

     ไม่เพียงแต่จำนวนผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่นับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยใหม่ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน ในปีนี้ วันมะเร็งโลก (World Cancer Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี โรงพยาบาลวัฒโนสถ ต้องการสร้างความเข้าใจในสังคมไทยถึงอุบัติการณ์มะเร็ง ส่งต่อความรู้ที่ถูกต้องภายใต้แคมเปญสากล ‘I am and I will’ เพื่อผนึกกำลังใจและกำลังกายว่าทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหามะเร็งได้

 

โรงพยาบาลวัฒโนสถ

 

     ศาสตราจารย์พิเศษ นายแพทย์ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ เล่าถึงโรคมะเร็งไว้อย่างน่าสนใจว่า “โรคมะเร็งเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งในไทยตลอดมานับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 โดยพื้นฐานแล้วโรคมะเร็งมีความหลากหลาย การรักษาจึงมีความยุ่งยากและซับซ้อน การลงทุนในการรักษาจึงสูงทั้งเรื่องคน เครื่องมือ อีกทั้งยังใช้เวลามาก ต้องใช้ทีมแพทย์หลายสาขา หลายวิชาชีพ รวมทั้งความร่วมมือจากญาติพี่น้อง เพื่อน เพราะมะเร็งไม่ใช่แค่โรคทางร่างกายอย่างเดียว มันกระทบทั้งทางด้านจิตใจ สังคม และเศรษฐกิจด้วย เราทุกคนต้องร่วมมือกันถ้าต้องการจะชนะมะเร็ง

 

โรงพยาบาลวัฒโนสถ

 

     มีคนกล่าวว่ามะเร็งเป็นโรคของกรรม อันที่จริงก็อาจจะไม่ผิด แต่กรรมที่ว่านี้น่าจะเป็นพันธุกรรมและพฤติกรรม มีปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งคือปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายใน เช่น อายุ การที่เรามีภูมิคุ้มกันไม่ดี ประวัติครอบครัวมียีนบางอย่างที่ไวต่อการเกิดมะเร็ง ทำให้เรามีโอกาสเป็นมะเร็งง่ายกว่าผู้อื่น หรือได้รับการถ่ายทอดยีนกลายพันธุ์ที่เป็นมะเร็งได้เลย ซึ่งมีได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ แต่อีกกว่า 80-90 เปอร์เซ็นต์น้ันเกิดจากปัจจัยภายนอกซึ่งมีทั้งสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น การสูบบุหรี่ สารก่อมะเร็งจาก พฤติกรรมการกินอาหาร การติดเชื้อไวรัสหรือพยาธิบางอย่าง เป็นต้น และปัจจัยหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น สารกัมมันตรังสีอยู่ตามดิน มลพิษ เป็นต้น ส่วนเรื่องของการรักษา ปัจจุบันมีเสาหลักอยู่ 5 วิธีด้วยกันคือ หนึ่ง การผ่าตัด สอง การฉายแสง สาม การให้ยาเคมีบำบัด สี่ การให้ยาต้านฮอร์โมน และห้า การให้ยาภูมิคุ้มกัน”

 

โรงพยาบาลวัฒโนสถ   

 

     สำหรับแคมเปญประจำปีนี้ในวันมะเร็งโลก อยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ I am and I will เป็นการสื่อสารโดยตรงแก่ทุกคนบนโลกใบนี้ที่สามารถมีส่วนร่วมได้ ไม่ใช่เพียงแค่แพทย์เท่านั้น โดยนายแพทย์ธีรวุฒิได้อธิบายถึงการมีส่วนร่วมของโรงพยาบาลวัฒโนสถต่อแคมเปญนี้ว่า

     “แคมเปญนี้เน้นให้ทุกคนมีคำมั่นสัญญา (commitment) โดยการตั้งคำถามว่าฉันเป็นใคร และฉันจะทำอะไร เพื่อมีส่วนร่วมรณรงค์ได้บ้าง เป็นการตั้งคำถามที่ให้ทุกคนได้ลองฉุกคิด สำหรับโรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพวัฒโนสถเองนั้น สิ่งที่ตั้งใจจะมีส่วนร่วมในการลดอุบัติการณ์มะเร็งคือ หนึ่ง การให้ความรู้ที่ถูกต้อง ในปัจจุบันนี้มีเว็บไซต์เกี่ยวกับมะเร็งจำนวนมาก แต่เป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิดๆ สอง ต้องการสื่อสารให้ทุกคนตระหนักว่า มะเร็งเป็นโรคที่ป้องกันได้ อาจจะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อย่างน้อยหนึ่งในสามหรืออาจถึงสี่สิบเปอร์เซ็นต์ที่ทุกคนอาจลดปัจจัยเสี่ยงด้วยตัวเองได้ สาม มะเร็งไม่ใช่เรื่องที่กระทบต่อร่างกายอย่างเดียว เป็นเรื่องของอารมณ์ จิตวิญญาณทั้งหลายมาเกี่ยวข้องด้วย ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ แต่ทุกคนสามารถให้กำลังใจกันได้ สี่ มะเร็งพอเป็นแล้วมีผลต่อฐานะทางเศรษฐกิจ ต้องรักษาต่อเนื่อง หรือถ้าเราลงทุนถูกต้อง เช่น ลงทุนในการออกกำลังกาย ลงทุนตรวจค้นหามะเร็งตั้งแต่แรกเริ่ม เราก็สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งได้ เป็นการลดความเสียหายต่อเศรษฐกิจทั้งส่วนตัวและส่วนรวม ห้า รณรงค์ให้ภาครัฐควรต้องมาช่วยดูแลเรื่องโรคมะเร็งโดยจัดเป็นอันดับต้นๆ เพราะโรคนี้ต้องมีความร่วมมือสูง เพื่อให้ทุกคนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเข้าถึงการรักษาได้ทุกระดับ หก ต้องช่วยกันลดช่องว่างระหว่างความสามารถของผู้ที่ดูแลผู้ป่วย ให้การศึกษา ให้การเรียนรู้ที่ถูกต้องในการดูแลผู้ป่วย และเจ็ด ต้องร่วมกันเป็นทีมเดียว ไม่ใช่แค่คนหนึ่งคนใดแล้วทำได้ หนึ่งเดียวไม่พอสำหรับการต่อสู้มะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญคนเดียวไม่สามารถรักษามะเร็งได้”

 

 

     ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์หรือบุคลากรทางด้านสาธารณสุข การมีส่วนร่วมระดับบุคคลก็เป็นเรื่องที่ทุกคนทำได้เช่นเดียวกัน ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถ นายแพทย์ธีรวุฒิเล่าถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจในการมีส่วนร่วมต่ออุบัติการณ์มะเร็งว่า

     “As I am a doctor, I will care the patient with passion and beyond excellence. ผมจะให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยการเอาใจมาเขาใส่ใจเราเพื่อมุ่งสู่การเหนือกว่าความเป็นเลิศ ซึ่งหมายถึงว่า หนึ่ง ในมุมมองสำหรับคนไข้ การรักษามีหลายปัจจัย มีการเงินมาเกี่ยวข้อง ผมจะประสานกับหน่วยงานต่างๆ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในการเข้าถึงการรักษาที่ดีที่สุด สอง ด้านการให้บริการ ผมจะดูแลตั้งแต่การป้องกัน การค้นหามะเร็งแรกเริ่ม วินิจฉัย รักษา ฟื้นฟู ดูแลคนที่กำลังจะหาย คนที่จบการรักษาแล้วสามารถมีชีวิตต่อได้ ติดตามผลไปตลอด และสาม ด้านการบริหาร ผมยึดหลัก 5G – Good Doctor, Good Nurse, Good Service, Good Referral และ Good Technology ที่สำคัญคือเน้นคุณค่า ซึ่งดูจากปัจจัยที่ผมเรียกว่า SOS หมายถึง S-Safety ต้องปลอดภัย O-Outcome ผลลัพธ์ที่ได้ต้องน่าพึงพอใจ S-Service บริการด้วยความเป็นไทย ไม่ใช่แค่รักษาตัวโรคมะเร็ง แต่รักษาคนเป็นมะเร็งด้วย คือไม่เพียงแค่หายทางกายแต่รักษาทางใจด้วย”  

 

     สำหรับทุกๆ คนที่อยากมีส่วนร่วมในแคมเปญรณรงค์ครั้งนี้ สามารถเริ่มจากที่ตัวเราก่อน โดยนายแพทย์ธีรวุฒิได้ให้ไอเดียง่ายๆ ไว้ว่า “อันดับแรกเลยต้องเชื่อก่อนว่ามะเร็งป้องกันได้ ถ้าเราใส่ใจ แล้วก็เชื่อว่ารักษาได้ ซึ่งอาจจะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้จะไม่มีอาการก็ควรมาตรวจคัดกรอง และสอง เปลี่ยนความเชื่อที่ว่ามะเร็งบางอย่างไม่มีอาการ จริงๆ ไม่ใช่ ต้องสังเกตตัวเองด้วย มีสัญญาณเตือน มันอาจจะไม่ใช่มะเร็งระยะเริ่มต้น แต่ถ้ามีอาการสองสามอาทิตย์ไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์”

 

   

 

     และสำหรับผู้ป่วยมะเร็งนั้นขอให้เชื่อมั่นเช่นเดียวกันและมีความหวังดังที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวัฒโนสถได้ให้ความมั่นใจว่า “ปัจจุบันการรักษามะเร็งก้าวไปหลายระดับ ภูมิคุ้มกันบำบัดก็เป็นอีกทางหนึ่ง การศัลยกรรมก็ก้าวหน้า โอกาสหายมากขึ้น เจ็บตัวน้อยลง การผ่าตัดที่ใช้กล้อง ใช้โรบอต คุณภาพและประสิทธิภาพเครื่องฉายแสงดีขึ้น ยามีให้เลือกมากขึ้น ได้ผลมากขึ้น หลายวิธีต่างๆ เหล่านี้ต้องผสมผสานกัน ความหวังมีแน่นอน แต่เป็นมะเร็งแล้วต้องมีกำลังใจ ต้อง Moving life forward ต้องเชื่อมั่นว่ารักษาได้ด้วยอะไรก็ตาม ทุกคนก็มีส่วนให้กำลังใจได้ ต้องพร้อมที่จะสู้ เราจะเป็นทีมสู้จนถึงที่สุด”

 

     อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองเติมประโยคง่ายๆ ต่อท้ายชื่อแคมเปญ I am and I will ว่าคุณเป็นใคร และคุณจะมีส่วนร่วมกับแคมเปญนี้ได้อย่างไร แล้วถ้าคุณไม่อยากเสี่ยงเป็นมะเร็ง เราก็มีสูตรง่ายๆ จากโรงพยาบาลวัฒโนสถมาฝาก ท่องไว้ไม่เสียหาย

     สูตรที่หนึ่ง 5 ทำ 5 ไม่ ลดโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็ง – 5 ทำ ได้แก่ ออกกำลังกายเป็นนิจ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้ อาหารหลากหลาย ตรวจร่างกายประจำ 5 ไม่ ได้แก่ ไม่สูบบุหรี่ ไม่มีเซ็กส์มั่ว ไม่มัวเมาสุรา ไม่ตากแดดจ้า ไม่กินปลาน้ำจืดดิบ

     “สูตรที่สอง 7 สัญญาณอันตราย เสี่ยงมะเร็ง – ระบบขับถ่ายที่เปลี่ยนแปร แผลที่รักษาไม่หาย ร่างกายมีก้อนมีตุ่ม กลุ้มใจเรื่องกินเกินอาหาร ทวารทั้งหลายมีเลือดไหล ไฝที่เปลี่ยนไป ไอจนเรื้อรัง”